หลายหลากบทบาทชีวิตที่คละเคล้าไปกับช่วงวัยหนุ่มของ ‘อาร์ตยุ่น’ ธนภณ เดิมทำรัมย์ ตั้งแต่นักกิจกรรมที่สะสมเกียรติบัตรไว้มากมาย คนทำงานออกแบบกราฟิก ไปจนถึงพิธีกรหน้าเวทีเวลามีกิจกรรมมหาวิทยาลัย
กับบทบาทอย่างหลังสุดที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ‘อีสานบ่ย่านเด้อ’ ที่สวนรัชดานุสรณ์ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงกรกฎาคม 2563
วันนั้นนอกจากตัวเขาที่ขึ้นเวที ยังมี “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง 4 นักกิจกรรมและหมอลำที่ต่างไปแสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเช่นเดียวกับการชุมนุมที่ทยอยผุดขึ้นทั่วประเทศที่ว่า ให้ยุบสภา, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
.
ก่อนทั้ง 5 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมจัดชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
“พิธีกรคือคนที่จับไมค์ตลอดเวลา เป็นคนเริ่มงาน สลับเนื้อหา และปิดงาน แต่ผมไม่เป็นผู้จัดแน่นอน ไม่รู้สถานที่ ไม่รู้เวลา เป็นแค่พิธีกร ถามว่าคนจัดคือผมไหม ก็ไม่ ไม่มีอะไรที่เราเป็นคนกำหนดเลย ถ้าจะบอกว่าร่วมกันจัดก็คือไม่ใช่นะ”
อาร์ตยุ่นบอกกล่าวเรื่องราวคดีของเขาไว้ตอนหนึ่ง หลังต่อสู้ทั้งในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และที่ศาลมาเนิ่นนาน ศาลแขวงขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 15 ธ.ค. 2565 ก่อนเลื่อนเป็นวันที่ 19 ธ.ค. 2565
.
บ้านอยู่ไกลแต่ทำไมรัฐประหารถึงได้รับผลกระทบ
อาร์ตยุ่นเล่าถึงชีวิตตัวเองว่า เกิดปีหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (2540) ที่บ้านทั้งพ่อและแม่ทำกิจการร้านป้ายเล็ก ๆ ใน อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ก่อนค่อย ๆ ไต่ระดับขนาดและรายได้ของร้าน จนพอส่งเสียลูกให้เรียนหนังสือได้ จากการที่จับพู่กันเล่นเขียนป้ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ กลายมาเป็นความชอบงานด้านออกแบบและคอมพิวเตอร์กราฟิกในภายหลัง
จากวันแรกที่เข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้านถึงระดับมัธยมที่ต้องการแสวงหาโอกาสไปเรียนในเมืองใหญ่มากกว่า แต่เพราะการตัดสินใจของครอบครัว อาร์ตยุ่นจึงยังคงอยู่ในอำเภอเล็ก ๆ แห่งนั้น ที่ในระหว่างศึกษาเขาใช้เวลาหลังการเรียน คอยเก็บเกี่ยวบ่มเพาะประสบการณ์ผ่านโลกกิจกรรม เริ่มจากเป็นคณะกรรมการนักเรียนตั้งแต่ช่วง ม.1
เมื่อถึง ม.4 ครูที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแนะนำให้เขาไปร่วมโครงการอบรมเรื่องสิทธิพลเมืองกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เขาจึงพบว่าปัญหาที่แอมเนสตี้กำลังรณรงค์อยู่ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพและโทษประหารชีวิต ยังคงมีอยู่ในประเทศไทย กระทั่งอาร์ตยุ่นเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งแรกในช่วงปีเดียวกัน เมื่อ คสช. ทำรัฐประหารราวกลางปี 2557 เขาย้อนความทรงจำว่า
.
.
“เป็นจุดเริ่มที่อยากออกมาเคลื่อนไหว เพราะบ้านเราอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตั้งไกล ทำไมถึงต้องกระทบไปด้วย เซเว่นปิด โรงรียนก็ห้ามไป เรารู้สึกว่าไม่ใช่ จึงสนใจปัญหาทางการเมือง และคิดว่าวันหนึ่งจะต้องทำอะไรสักอย่าง”
แม้แต่ตอนเป็นสภานักเรียนที่อยู่ในกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ อาร์ตยุ่นค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง และต่อสู้ในทางที่เห็นว่าถูกต้อง ยิ่งพอรู้จักองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านเผด็จการมากขึ้น จึงเห็นโอกาสการนำสิ่งเหล่านั้นไปเสนอในโรงเรียน แม้ช่วงเวลานั้น สังคมส่วนมากยังไม่ตื่นตัวทางการเมืองมากพอ
กับการเรียนที่ควบคู่กับกิจกรรมอันโดดเด่น ส่งผลให้เขาคว้ารางวัลเกียรติยศ ร่วม 20 รางวัล หนึ่งในนั้นคือคนดีศรีแผ่นดิน ส่วนที่ภาคภูมิใจสูงสุดคือการได้เป็นนักเรียนรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นตัวแทนจากบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงเพียงหนึ่งเดียว ไปรับรางวัลร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศราว 20 คน ที่สวนจิตรลดา
“มีการประเมิน 3 ด่านใหญ่ ๆ ผมเน้นไปที่ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แล้วสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจนอกจากรางวัลคือคนรอบข้างมาช่วยให้กำลังใจ และเราได้ใช้ความสามารถจริง ๆ”
จากที่เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่ชั้น ป.2 ไปแข่งวาดภาพด้วยโปรแกรมเพ้นท์ ตอนอยู่ ป.5 แข่งสร้างแอนิเมชั่น กระทั่ง ป.6 เริ่มทำเว็บไซต์ และจากความถนัดที่มาจากการช่วยงานที่บ้านเขียนป้ายหาเสียง ช่วยลงสีในแผ่นป้าย สกรีนผ้า อาร์ตยุ่นคิดว่ายังไงวันหนึ่งก็จะเลือกเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการออกแบบ ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้าคณะทางด้านศิลปะ ก่อนจะเลือกคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ (Visual communication Design) ที่น่าจะตรงกับสิ่งที่ตัวเองรักที่สุด
“ตอน ม.ปลาย เราไม่ได้เรียนเก่ง แต่ชอบอยู่กับสังคม สนใจคอมพิวเตอร์ รู้จักตนเองตั้งแต่ประถม เลยเลือกที่จะมาเส้นทางนี้ และต้องพิสูจน์ว่าตัวเองต้องทำได้” อาร์ตยุ่นกล่าวไว้ตอนหนึ่ง
.
ศิลปกรรมศาสตร์และการชุมนุม
เมื่อช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กกิจกรรมอย่างเขา ยังมุ่งมั่นในแนวทางนั้น ทั้งงานรับน้อง งานจิตอาสา ในบทบาททั้งทีมจัดกิจกรรมและการเป็นพิธีกร ก่อนจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะอยู่ชั้นปี 2
จนเมื่อวันหนึ่งกระแสเคลื่อนไหวทางการเมืองหนุนนำให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศ ออกมาส่งเสียงผ่านการจัดชุมนุม ยิ่งกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานศึกษาขนาดใหญ่ของภูมิภาค ก็มีพื้นที่และเหตุการณ์ชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง อดีตนักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์กล่าวอีกว่า “เราค่อนข้างจะอยู่ในกรอบในเส้นของครอบครัวมาตลอด ตอนเข้า มข.ปี 1 ก็คิดว่าจะทำกิจกรรมต่อเนื่องตามที่ต้องการ”
ด้วยความสนใจที่สั่งสมติดตัวมา อาร์ตยุ่นตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ ต้นปี 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการชุมนุมแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เขาคว้าไมค์ขึ้นเป็นพิธีกรในการชุมนุมบริเวณบึงสีฐาน แม้จะมีเสียงทัดทานและแสดงความห่วงใยต่อการตัดสินใจออกมาต่อสู้ครั้งนี้ แต่กับเขาในฐานะคนที่อยู่ในโลกกิจกรรมมองว่าการชุมนุมเป็นหน้าที่พลเมืองที่ควรศึกษาและตระหนักรู้ ทั้งรู้ดีถึงขอบเขตตัวเองในการเคลื่อนไหว
.
.
จากการร่วมชุมนุมครั้งแรกที่มีทั้งบรรยากาศอบอุ่นปนตื่นเต้น การเป็นพิธีกรในงานที่ต่างออกไป ทำให้นักกิจกรรมหนุ่มได้พบปะเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลากหลายขึ้น
กระทั่ง “อีสานบ่ย่านเด้อ” การชุมนุมครั้งแรกนอกพื้นที่มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 เพื่อย้ำ 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ก่อนที่เขาจะเป็นพิธีกรงานชุมนุมอีกครั้งแบบไม่ตั้งใจ
“ตอนแรกตัวเองยังไม่แน่ใจว่าจะได้ไปหรือไม่ เพราะติดงาน จนทำงานเสร็จ เลยรีบไปที่ชุมนุม คนในงานเห็นเลยจำได้ว่าเคยเป็นพิธีกร ก่อนที่จะยื่นไมค์ให้ขึ้นไปเวที”
สำหรับอาร์ตยุ่น ในทุกครั้งของหน้าที่พิธีกร คือคอยควบคุมเวลาของแต่ละคนที่จะพูด กล่าวประชาสัมพันธ์ เชื่อมเนื้อหาให้ต่อเนื่องกัน มีข่าวสารก็คอยอัพเดตบนเวที
“ตอนนั้นม็อบขอนแก่นขึ้นพร้อมกับจังหวัดอื่นๆ นอกจากข่าวความเคลื่อนไหว เราก็พูดแนะนำสินค้าให้คนที่มาขายของแถวม็อบไปด้วย และที่สำคัญประกาศให้คนใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างอยู่ตลอด” พิธีกรมหาวิทยาลัยกล่าวไว้อย่างฉะฉาน
การชุมนุมที่เปิดตัวด้วยเพลง ‘เห็นเธอที่เยอรมัน’ ของศิลปิน ไหมไทย หัวใจศิลป์ วันนั้นนำความสนุกสนานให้กับผู้มาเข้าร่วม ก่อนเข้าสู่การแสดงของหมอลำแบงค์ ตามด้วยการปราศรัยของ ไผ่, เพนกวิน, เซฟ, นักศึกษา, นักกิจกรรมอีกหลายคน แม้กระทั่งนักเรียนมัธยม ที่ต่างขึ้นปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล จากช่วงเย็นการชุมนุมวันนั้นจบลงในราว 21.00 น. ที่ทุกคนแยกย้ายกลับบ้าน
แต่แล้วหลังการรับเป็นพิธีกรโดยไม่ได้นัดหมายมาก่อนในวันนั้น อาร์ตยุ่นพร้อมทั้งผู้ปราศรัยและหมอลำรวม 5 คน กลับถูกตำรวจกล่าวหาว่า ร่วมกันจัดการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ทั้งยังใช้ไมค์ประกาศเชิญชวนให้คนเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง อาร์ตยุ่นเล่าถึงช่วงที่ถูกออกหมายเรียกว่า “ผ่านมา 2 เดือนกว่า ๆ ผมรู้จากพ่อว่ามีหมายเรียกไปถึงบ้าน แต่ทั้งพ่อแม่ไม่ได้ว่าอะไร ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ”
สำหรับความเห็นของอาร์ตยุ่นต่อข้อกล่าวหา เขาคิดว่าเดือนกรกฎาคม 2563 โควิด-19 มันระบาดไปแล้วลดลง ส่วนพื้นที่ที่ระบาดหนักอยู่ทางกรุงเทพฯ ในระหว่างที่มีชุมนุมในพื้นที่ขอนแก่นไม่มีคนติดเชื้อแต่อย่างใด
อาร์ตยุ่นกล่าวในปมสงสัยว่า “ที่โจทก์บอกว่าประชาชนในที่ชุมนุมมีการถอดแมสก์เป็นส่วนใหญ่ ผมในฐานะคนที่อยู่บนเวทีวันนั้น แทบไม่เห็นคนถอดแมสก์ เพราะเราเป็นพิธีกร ที่พยายามจะจับจังหวะอารมณ์ของคนดู ยังมองเห็นแค่ลูกตา และคาดเดาอารมณ์ผู้คนไม่ได้เลย หรือหากมีการถอดบ้างก็เป็นเรื่องปกติเวลาจะดื่มน้ำ”
สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีร่วมกันในคดีชื่อ อีสานบ่ย่านเด้อ อาร์ตยุ่นรู้จักเพนกวินจากที่เห็นในสื่อว่าเขาปราศรัยได้ดุดัน มีประวัติตอนเรียนมัธยมเคยได้รางวัลเพชรยอดมงกุฎ ส่วนเซฟเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รู้จักกันในช่วงนั้น หมอลำแบงค์ เขาก็ได้ยินข่าวมาตั้งแต่ช่วงโดนจับคดี 112 และเป็นรุ่นพี่คณะด้วย ส่วนกับไผ่รู้จักตั้งแต่ติดตามการเคลื่อนไหวในนามกลุ่มดาวดิน
“การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ผมแทบไม่มีผลกระทบอะไร แต่มหาวิทยาลัยคงจะเพ่งเล็งบ้าง ยิ่งเราเป็นตัวแทนนักศึกษา ส่วนเพื่อนในคณะศิลปกรรมศาสตร์เขาก็ทราบเรื่องเคลื่อนไหว และให้กำลังใจกันมากกว่า มีเป็นห่วงบ้าง หรือเพื่อนที่พุทไธสงอาจจะเซอร์ไพรส์บ้างที่วันหนึ่งเห็นเราไปจับไมค์และยืนตรงนั้น แต่ก็มีการชื่นชมและให้กำลังใจกันเสมอ” อาร์ตยุ่นพูดถึงเพื่อน ๆ ที่คอยเป็นกำลังใจให้เขาในตอนถูกดำเนินคดี
.
คาดหวังความเป็นธรรมและคำพิพากษาที่ดี
จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมสาธารณะทางการเมืองโดยมีการประกาศเชิญชวนนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม และมีการร่วมกันอภิปรายทางการเมืองบนเวที มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกันเป็นจํานวนมาก มีการรวมกลุ่มและร่วมกิจกรรมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 11) และไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ 8) จําเลยยังร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว (จากคำบรรยายฟ้องของอัยการ)
สำหรับการต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนที่ สภ.เมืองขอนแก่น ก่อนจะถูกอัยการสั่งฟ้อง และสู้คดีที่ศาลแขวงขอนแก่น ใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในนัดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ทั้งห้าคนต่างอ้างตัวเองเป็นพยานแก้ต่าง ในส่วนของอาร์ตยุ่นเบิกความโดยสรุปว่า ไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมที่สวนรัชดาฯ แต่ได้รับทราบผ่านเพจขอนแก่นพอกันทีขณะออกไปทำกิจกรรมกับโรงเรียน จึงสนใจเข้าร่วมชุมนุม ในฐานะสมาชิกสภานักศึกษาตนก็เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นประจํา เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักศึกษา เมื่อไปถึงที่ชุมนุม ผู้จัดงานเห็นว่าตนมีประสบการณ์ในการเป็นพิธีกร จึงเชิญให้เป็นพิธีกรช่วยพิธีกรหญิง โดยไม่ได้มีการนัดหมายกันมาก่อน
ขณะร่วมชุมนุม ก็ใส่หน้ากากอนามัย แต่เมื่อขึ้นเป็นพิธีกรผู้จัดบอกให้ถอดได้ เนื่องจากเป็นที่โล่งแจ้ง มีระยะห่างจากผู้อื่น และมีการทําความสะอาดไมค์ ในขณะนั้นยังไม่พบการระบาดของโควิดในภาคอีสาน แต่การแพร่ระบาดเกิดจากการที่รัฐบาลให้ทหารอียิปต์เข้ามาซ้อมรบที่ระยอง
มีการบีบเจลแอลกอฮอล์ให้กับนักศึกษาที่จะมาร่วมชุมนุมตั้งแต่ก่อนขึ้นรถที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งมีการแจกหน้ากากอนามัย และสเปรย์แอลกอฮอล์ ตนไม่เห็นว่ามีใครถอดหน้ากากอนามัย แต่ที่มีภาพผู้ร่วมชุมนุมบางคนถอดหน้ากากนั้น อาจจะเป็นการถอดชั่วคราวขณะกินอาหาร ผู้ชุมนุมขยับเดินไปมาได้ ไม่ได้แออัด หลังการชุมนุมไม่มีข้อมูลว่านักศึกษาที่เข้าร่วมติดเชื้อโควิด
สาเหตุที่ตนเข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่พอใจการรัฐประหาร การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งครอบครัวของตนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้ลดลง มีหนี้สิน ตนจึงเห็นว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเรียกร้องต่อรัฐบาล และเมื่อได้รับเชิญเป็นพิธีกร ตนเห็นว่าจะสามารถเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนิสัยของตนที่ทํามาตลอด
.
.
เมื่อถามถึงความคาดหวังของคำพิพากษา อาร์ตยุ่นเปรยว่า อยากได้รับความเป็นธรรม และคิดว่าจากการติดตามคำพิพากษาหลาย ๆ ศาลที่มีการตัดสินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาคาดหวังว่าจะได้รับผลคำพิพากษาที่ดีเช่นกัน
ส่วนตัวยังสนใจการเมืองตลอด ตั้งแต่ทำกิจกรรมในนามอิสระ เอาความสามารถที่มีไปช่วยขบวนการ โดยเฉพาะบทบาทพิธีกร เขาบอกกล่าวอีกว่า “ผมอาจไม่ได้เคลื่อนไหวเหมือนตอนเป็นนักศึกษาด้วยภาระการงาน แต่เราไม่ได้ทิ้งอุดมการณ์ หากพรรคการเมืองไหนที่อยู่ข้างประชาชนต้องการเสียงสนับสนุนก็พร้อมจะสนับสนุน และในอนาคตหากมีงบประมาณเพียงพอที่จะสนับสนุนคนอื่นให้เคลื่อนไหวก็จะร่วมช่วยกัน กับโอกาสข้างหน้าในเวลาที่เหมาะสมผมก็จะมีส่วนช่วยทางการเมืองมากขึ้นต่อไปตามแต่วาระ”
หลังฟังคำพิพากษา อาร์ตยุ่นที่จบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 มองไปหนทางข้างหน้ากับชีวิตวัยทำงาน ที่วันหนึ่งเขาฝันจะกลับไปทำกิจการร้านป้ายของที่บ้านด้วยมีต้นแบบคือพ่อ “พ่อผมเป็นคนที่ทำให้รู้จักศิลปะผ่านงานในร้านป้าย การไม่ยอมแพ้ ความเชื่อมั่นในตนเอง และการไม่ท้อถอยง่าย ๆ ส่วนแม่จะเป็นความอบอุ่นความละเอียดอ่อนที่ส่งถึงตัวผม” นักกิจกรรมและนักออกแบบหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
นักกิจกรรม “ขอนแก่นพอกันที” ยืนยันชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ไม่เสี่ยงโควิด-ใช้สิทธิตาม รธน.
.