“นับไปอีก 30 ปีข้างหน้า ผมอยากเป็นผู้ว่าฯขอนแก่น ที่มาจากการเลือกตั้ง” คุยกับ ‘เข้ม’ นศ.มข. ด้วยชีวิตและคดีการเมืองที่ต้องเผชิญ

ตั้งแต่อายุ 18 ปี “เข้ม” ศิวกร นามนวด ประธานนักเรียนขอนแก่นวิทยายน ก็ตัดสินใจในเส้นทางชีวิตไว้แล้วว่าจะเป็นนักการเมือง ด้วยฝันใหญ่กว่านั้น หากสังคมถึงพร้อม เขาปรารถนาจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นที่มาจากการเลือกตั้ง กระทั่งเข้าเรียนสาขาด้านการเมือง ในมหาวิทยาลัยในเมืองที่อาศัยอยู่ ผ่านพ้นชีวิตทั้งกิจกรรมและการเรียน ที่วันหนึ่งเกียรติบัตรแห่งความภาคภูมิจากการเป็นนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม ไม่ใช่สิ่งน่ายินดีที่สุดสำหรับเขา แต่หากเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่กลายเป็นสิ่งยืนยันการปรากฏตัวของผู้ที่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง เช่นเดียวกับผู้คนอีกมากมายที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2564 ที่ขอนแก่นมีการชุมนุม 2 ครั้ง ที่ทำให้เข้มตกเป็นผู้ต้องหา จากการชุมนุมไม่ให้รัฐใช้ ‘112’ ที่สวนเรืองแสง ประตูเมืองขอนแก่น และชุมนุม  “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” เพื่อประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ 

หลังการชุมนุม 2 ครั้งนั้น กลายเป็นว่ามีนักศึกษา นักกิจกรรม รวม 14 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลัก  “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในสถานที่แออัด หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และร่วมกันจัดกิจกรรมในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่จัดให้มีมาตรการตามข้อกำหนด” อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เข้ม เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดี นอกจากมหาวิทยาลัย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทั้ง สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล เป็นสถานที่ที่ไม่อยากไปเยือนนัก แต่นักเรียนการเมืองการปกครองอย่างเขาก็ต้องไปตามหมายเรียก เสมือนได้รู้เห็นประสบการณ์ทางการเมืองให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จนเมื่อ วันที่ 27 ธ.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นพิพากษายกฟ้องไปทั้งสองคดี สรุปใจความได้ว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังได้ว่า จำเลยร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมและโพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาชุมนุม เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ถึงขนาดเสี่ยงแพร่โควิดหรือกีดขวางจราจร และจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเครื่องขยายเสียง

“ผมเข้าใจว่ารัฐพยายามทำให้เราถอดใจในการทำกิจกรรมทางการเมืองโดยขั้นตอนทางกฎหมาย แต่เราก็คาดหวังจะได้เป็นอิสระจากการข้อกล่าวหาเหล่านั้นสักที” เข้มกล่าวถึงคดีเขาไว้ตอนหนึ่ง 

ประธานนักเรียนหนุนนโยบาย ‘Make Khonkaenwit Great Again’

เข้มเล่าถึงชีวิตแต่หนหลังว่า เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่รับราชการใน อ.สีชมพู อ.เล็ก ๆ ทางตอนเหนือของจังหวัด พอวัยเข้าเรียนชั้นประถมถึงมัธยมต้น เข้ามาเรียนที่ อ.ชุมแพ อำเภอใหญ่ที่มีสถานศึกษาให้เลือกมากกว่า จากเด็กกิจกรรมที่โรงเรียนชุมแพศึกษา วันเวลาของเข้มก็ไกลห่างจากบ้านเกิดมากขึ้น เมื่อย้ายมาสอบเข้าเรียนต่อช่วงมัธยมปลายที่ขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนประจำจังหวัด เข้มเปรียบเทียบว่า

“ในเมืองขอนแก่นทุกอย่างเข้มข้นกว่ามาก ๆ การแข่งขันเรื่องการเรียนสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนต่างเรียนพิเศษกันหมด จากผมเป็นคนไม่เรียนผมก็ได้เรียน แล้วรู้สึกว่าโอกาสมันน่าจะเยอะกว่าในหลาย ๆ ด้าน ”

นับแต่กิจกรรมหลายอย่างที่สนใจ ทั้งกีฬา การถ่ายภาพ จนมาเป็นกรรมการนักเรียนในช่วง ม.4 ก่อนจะสั่งสมตัวเองจนก้าวไปเป็นประธานนักเรียนขอนแก่นวิทยายนได้เมื่อขึ้น ม.5  ภายใต้นโยบายที่มาจากคติพจน์ของโรงเรียน ที่ว่า ‘มีความรู้ มีจรรยา รักษาชื่อเสียง’ แม้จะย้ายมาไม่นาน เข้มเดินหน้าหาเสียงในลักษณะ Make Khonkaenwit Great Again จนชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย จากนั้นประธานนักเรียนจากชุมแพ ก็เดินหน้ากิจกรรมด้านดนตรีและกีฬาที่มีชื่อเสียงของโรงเรียนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะการแข่งขัน ฟุตบอลและบาสเกตบอลแบบทัวร์นาเม้นต์ในโรงเรียน ไปจนถึงการจัดกิจกรรมแบบดนตรีในสวน รวมไปถึงการทำห้องซ้อมดนตรีที่ได้อุปกรณ์ส่วนหนึ่งมาจากศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงอย่างวงดนตรี Tattoo colour  

สิ่งแวดล้อมและการเก็บขยะเป็นอีกสิ่งที่เข้มสนใจ จึงเริ่มทำกิจกรรมแยกขยะในโรงเรียน และเก็บขยะทุกวัน จนขยะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด  ส่วนเรื่องวิชาการไม่ค่อยเน้นมากนักเพราะว่าโรงเรียนนี้วิชาการเป็นอันดับต้น ๆ อยู่แล้ว ประธานนักเขียนขณะนั้นเลยคิดเรื่องการผลักดันกิจกรรมให้เต็มที่แล้วส่งต่อให้กับรุ่นน้อง

จนเมื่อขึ้น ม.6 หัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างนักเรียน ม.ปลาย กับชีวิตมหาวิทยาลัย เข้มยอมรับว่าด้วยชีวิตทำกิจกรรมอยู่ตลอด เขาเองก็ปล่อยให้วันเวลาผ่านไปจนถึงเทอมสุดท้าย จึงเริ่มตัดสินใจเลือกว่าจะเรียนคณะใด

จนวันหนึ่งขณะเล่นเฟซบุ๊ก ปรากฏงานเสวนาของนักการเมืองหลาย ๆ กลุ่ม กระทั่งพบเจอกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น เข้มย้อนเล่าว่า “ผมรู้สึกประทับใจที่สุด ในบรรดานักการเมืองที่พูดวันนั้น จึงคิดตัดสินใจเลือกเรียนเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง แต่ว่าจริง ๆ เราก็อยากไปเรียนในโซนภาคกลางหรือภาคเหนือ คือที่ไม่ใช่ในขอนแก่น แต่ว่าปัจจัยเรื่องครอบครัวทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ขอนแก่นก็ได้ แล้วทีนี้เราก็มีเป้าหมายแฝงของเราอยู่การที่เลือกเรียนขอนแก่น มันมีเรื่องของในอนาคต เราอยากเป็นอะไรในขอนแก่นด้วย”

จากสมัครคัดเลือกในรอบ Portfolio ในบรรดานักเรียน 22 รายที่เข้าสอบสัมภาษณ์ เข้มกลายเป็นหนึ่งเดียวที่ผ่านการสอบครั้งนั้น กลายมาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สาขาวิชาการจัดการปกครองและกิจการสาธารณะ

ก้าวสู่ผู้ปราศัย ส่องสปอตไลท์ให้การเมืองท้องถิ่น

ปีแรกของชีวิตเฟรชชี่มหาวิทยาลัยของเข้ม ส่วนใหญ่ใช้ไปกับกีฬารักบี้ อีกสิ่งที่เขาสนใจและถนัดจะทำมัน ก่อนย้อนความหลังว่า

“ปี 1 เรามีโจทย์กับชีวิตตัวเองว่า เราอยากจะทำอะไรที่ไม่เคยทำ ตอนนั้นก็สนใจเรื่องกีฬา ไปเล่นรักบี้แทบจะทั้งปี กีฬาระหว่างคณะ กีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย อยู่กับมันมามากกว่า 8 เดือน”

กระทั่งข่าวการยุบพรรคอนาคตใหม่มาถึงเมื่อต้นปี 2563 กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ปลุกให้เข้มกลับมา สนใจการเมืองอีกครั้ง ด้วยบุคคลที่เคยติดตามอย่างธนาธร และพรรคการเมืองที่เขาเลือกเอง เมื่อปี 2562 ถูดตัดสินให้หายไปจากสารบบการเมืองไทย

“เราเลยรู้สึกว่าต้องออกไปแสดงพลังบางอย่างว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคที่เราเลือกเนี่ยโดนยุบ เราก็เลยออกไปร่วมชุมนุมตอนนั้นในฐานะผู้ร่วมชุมนุม เมื่อ 26 ก.พ. 2563 บริเวณบึงสีฐาน” เข้มพูดถึงแรงผลักดันสู่การชุมนุมครั้งแรก

26 ก.พ. 2563 บริเวณบึงสีฐาน ถือเป็นปรากฏการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งแรก ๆ ใน จ.ขอนแก่น ในรอบหลายปี  เข้มเห็นความทรงพลังที่ทุกคนต่างมุ่งมั่นประณามรัฐบาล ประณามศาลรัฐธรรมนูญ หรือโครงสร้างอะไรต่าง ๆ ที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เข้มพรั่งพรูความรู้สึกของการชุมนุมด้วยว่า

“สิ่งที่เราเห็นการพูดในที่ชุมนุมทำให้เราฮึกเหิม ตอนนั้นน่าจะเป็นครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ พูดแล้วรู้สึกว่าต้องฟัง มันทรงพลัง แถมมีมุกตลกสอดแทรก เรารู้สึกว่าถ้ามีครั้งต่อไปเราก็จะมาอีก ยิ่งการชุมนุมแบบนี้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มันบรรยากาศมันครึกครื้น มีการเปิดเพลงคิดถึงทุ่งลุยลาย เสมือนเพลงชาติของ มข. ที่ทุกครั้งเวลาเปิดจะเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันบางอย่างของที่นี่ ก่อนนั้นผมไม่เข้าใจว่าชุมนุมมันควรจะมีบรรยากาศแบบไหน แต่ว่าการชุมนุมครั้งแรก ให้คะแนนเต็ม 10 เลย”

สำหรับนักเรียนการเมืองอย่างเข้ม ปัจจัยที่ทำให้การชุมนุมน่าสนใจควรมาจาก เนื้อหาปราศรัยเข้าถึงคนได้ง่าย คนมาพูดสนุก ทำให้มีความสุขเหมือนมีคนยิ้มให้ แล้วบรรยากาศโดยรวมไม่มีความรุนแรง

ก่อนเป็นสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดหนักขึ้น รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์และมหาวิทยาลัยปิดเทอม เข้มและนักศึกษาคนอื่น ๆ จึงชะงักการชุมนุมที่เริ่มจะติดไฟไว้ก่อน จนมา 24 มิ.ย. 2563 เข้มตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที ผ่านกิจกรรมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น รวมไปถึงการชุมนุมที่สวนรัชดานุสรณ์ อันเป็นที่มาคดี “อีสานบ่ย่านเด้อ” ที่มี 5 รายถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลจะยกฟ้อง 

จากที่เฝ้ามองมาสักระยะ กระทั่งเดือนสิงหาคม 2563 งานชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ที่เข้มถือว่าเป็นครั้งแรกที่เขาจับไมค์ขึ้นปราศรัยต่อหน้าคนหมู่มาก เข้มเปรยสั้น ๆ ถึงการประสบการณ์ปราศรัยว่า

“ส่วนมากพูดเรื่องการเมืองท้องถิ่น ก็พูดในสิ่งที่เราเรียนมา ว่ามันสัมพันธ์กับชีวิตเรายังไง” 

สำหรับเข้ม การเตรียมตัวปราศรัยก็เหมือนการเตรียมนำเสนอหน้าชั้นเรียนว่าจะพูดอะไร ลำดับโครงสร้างการพูดแบบไหน อาจต้องกระตุ้นผ่านการเน้นเสียงในบางจังหวะเพื่อให้ผู้ฟังสนใจ ในทุกครั้งที่ขึ้นปราศรัยเข้มได้เรียนรู้ ก่อนนำมาปรับปรุงทุกครั้ง กับสิ่งที่อยากนำเสนอผ่านการปราศรัย คือคนดูแลหน่วยงานท้องถิ่นคือกระทรวงมหาดไทย มหาดไทยเป็นคนที่กำกับดูแลท้องถิ่น แล้วประเทศไทยมีรัฐมนตรีมหาดไทยคนเดิมมา 8 ปี ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะโครงสร้างที่ไม่เอื้อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการตนเองได้ เพียงเท่านี้ปัญหาอื่น ๆ ก็ตามมาอีกมาก เช่น ความเหลื่อมล้ำของงบประมาณที่แต่ละที่ได้ไม่เท่ากัน ก่อนนักศึกษาผู้นี้จะย้ำว่า

“เรื่องการเมืองการปกครองท้องถิ่น เราจะพูดเสมอว่า ถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตย มันไม่ใช่แค่การเมืองระดับชาติที่เราไปเลือก ส.ส. โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีก็จะเป็นอีกประตูหนึ่งในการที่เราจะได้ประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเทียบกระแสความสนใจ คนจะสนใจการเมืองระดับชาติมากกว่า เราต้องการส่องสปอตไลท์ให้ท้องถิ่นของเรา ไม่ใช่แค่ อบจ., เทศบาล มันต้องระดับ อบต. เราต้องการชูว่าแต่ละท้องถิ่นถ้าเราทำให้มันเจริญ มันก็จะเหมือนกับทำให้ประเทศไทยมันน่าอยู่ขึ้นเหมือนกัน เพราะว่ากลไกในการขับเคลื่อนประเทศจริง ๆ รากฐานคือท้องถิ่น”

การถูกดำเนินคดี เสมือนเกียรติบัตรของนักสู้

เข้มเล่าถึงเหตุในคดี 2 คดี ที่นักศึกษาอย่างเขาต้องเผชิญกับมัน เกิดขึ้นตอนต้นปี 2564 คดีแรกเกิดขึ้นเมื่อ 20 ก.พ. 2564 หลังมีศาลไม่ให้ประกันนักกิจกรรมที่โดนคดี 112 เครือข่ายราษฎรโขง ชี มูน รวมกันที่ศาลหลักเมือง ก่อนเคลื่อนขบวนจากศาลหลักเมืองไปที่สวนเรืองแสง ซึ่งเข้มได้ร่วมปราศรัย ที่ต่อมาการชุมนุมยกระดับด้วยการเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายที่ สภ.เมืองขอนแก่น 

ส่วนอีกคดีเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 เพื่อต้องการประณามการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อ 28 ก.พ. 2564 เกิดกิจกรรมชุมนุมในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนอีกครั้งไป สภ.ย่อย เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของตำรวจ 

ตัวเข้มเองยอมรับว่าการทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นเหตุให้เขาถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว กระทั่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปถึงที่บ้าน ความคิดแรกเขาปล่อยวางเพราะก่อนหน้านั้นเพื่อนนักศึกษาหลายรายก็เจอเหตุการณ์แบบเขามาก่อน ส่วนอีกความคิดเป็นคำถามภายในใจว่า หากศาลตัดสินว่าผิดแล้วต้องเข้าคุกจริง ๆ คนทางบ้านจะเป็นอย่างไร ก่อนสะท้อนความคิดว่า

“การถูกดำเนินคดีทางการเมืองสำหรับผมขณะนั้นคือเกียรติบัตร เรามองมันเปลี่ยนไป มันคือเกียรติบัตรของนักสู้ แต่การโดนคดีครั้งนี้ทำให้เราได้รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง รู้ว่ามีคนเป็นห่วงเราที่มาทำกิจกรรม หรือแม้กระทั่งเรามีส่วนร่วมเฉย ๆ ยังไม่มีคดีก็มีคนเป็นห่วงเราเยอะ เพราะตอนนั้นมันมีข่าวอุ้มหายนักกิจกรรม ทุกคนก็เป็นห่วง แต่เราก็อยากทำต่อเพราะเรามีความเชื่อของเรา” 

จากที่ประเมินสถานการณ์เรื่องโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยอยลดลง ทั้งเข้มและคนที่ถูกดำเนินคดีร่วมกันจึงคิดว่า การร่วมชุมนุมไม่น่าจะมีปัญหานัก ยิ่งมารู้ภายหลังว่าในที่ชุมนุมทั้ง 2 ครั้งก็ไม่มีใครติดโควิด กับเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้มจึงยืนยันปฏิเสธว่าไม่เป็นอย่างนั้น ก่อนอธิบายว่า 

“กฎหมายแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐไม่ได้ใช้มาเพื่อควบคุมโรค แต่ใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง แต่ว่าในส่วนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิด พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ใช้เสียงโดยไม่ขออนุญาต อันนี้ก็คือเรามาชุมนุม เรามาแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วยกับรัฐ  มันก็เป็นปกติที่จะผิดกฎหมายพวกนี้ซึ่งเป็นกฎหมายลหุโทษ เราก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด อาจจะผิดกฎหมายก็จริงแต่ในทางจริยธรรมที่เราเข้าใจมันไม่ได้ผิด”

ฝันไกล 30 ปี จะเป็นผู้ว่าขอนแก่นที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะกำลังศึกษาชั้นปี 4 กับ 2 คดีที่เขาต้องไปตามนัดหมาย การเป็นนักศึกษาแล้วถูกดำเนินคดีเข้มมองว่าเป็นเพราะรัฐพยายามทำให้ถอดใจในการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยขั้นตอนทางกฎหมายที่ใช้เวลาเยอะ  

“เสียเวลาชีวิตมาก เสียเวลาเรียน ผมนับครั้งได้ว่า ผมต้องไปสถานีตำรวจ ไปอัยการ ไปศาลเนี่ยเกิน 6-7 ครั้ง มันเอาเวลาคาบสำคัญไปพอสมควร เราไม่ได้แค่เรียนอย่างเดียว ทำกิจกรรมด้วย ทำให้เราพลาดสิ่งสำคัญไปบางอย่างเหมือนกัน ที่สำคัญผมเป็นคนชอบเดินทาง มีเหตุให้เดินทางไปต่างจังหวัด อาจจะไปเที่ยว มันทำให้ต้องวางแผนการเดินทางใหม่ในทุกครั้งที่นัดหมายคดีเข้ามาแทรก”

กับการคาดหวังต่อคำพิพากษา เข้มกล่าวว่า “ผมก็คาดหวังให้กระบวนการมันเป็นธรรมที่สุด อย่างน้อยไม่เป็นธรรมตั้งแต่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นศาลเนี่ยให้มันเป็นธรรมที่สุด เราก็เชื่อในทนายฝั่งเราว่าจะทำให้เราพ้นข้อหาหรือว่าทำให้ศาลต้องพิจารณาให้ยกฟ้องได้ นี่คือความคาดหวังของผม เพราะว่าการมีนัดขึ้นศาลมันเหมือนมีโซ่ผูกเท้า เราไม่สามารถออกไปจากขอนแก่นได้เต็มที่ ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่มีอิสระ ก็คาดหวังว่าเราจะได้รับอิสระสักที” 

ปัจจุบันนอกจากทำพรรคปฏิวัติมอดินแดง ชีวิตก็โฟกัสเรื่องเรียนควบคู่กันไปด้วย เข้มเล่าถึงวิชาในมหาวิทยาลัยที่เขาสนใจ เช่น วิชาการจัดการความขัดแย้ง “เวลาที่เราพูดถึงความขัดแย้งเรามักจะมองว่า เป็นสิ่งที่สร้างความวุ่นวาย แต่ในวิชานี้เขาพยายามจะสื่อว่าความขัดแย้งคือนวัตกรรมของการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า มันก็สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง มีความขัดแย้งเป็นสิ่งปกติที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผมมองการชุมนุมว่า มันมีคนหลากหลายกลุ่ม หลายความคิด ถ้าเราสามารถจัดการความขัดแย้งได้มันจะเกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น”  

หรืออย่างวิชาปรัชญาการเมืองที่เข้มยกตัวอย่าง “สอนให้เราเถียงคนเป็น อย่ายอม อย่าตกอยู่ในการครอบงำของรัฐ”   

สุดท้ายวิชาจริยธรรมกับวิชาการจัดการเครือข่าย เข้มมองว่า “จริยธรรมเป็นวิชาที่วัดคุณค่าความดีงามอะไรบางอย่าง อะไรคือความดีงาม อะไรคือความถูกต้อง ซึ่งเราก็มาใช้สนับสนุนขบวนการชุมนุมว่า สิ่งที่ทำมันอาจจะถูกต้องในความคิดเรา มันอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกจริยธรรม แต่มันผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่าเราผิดนะ กฎหมายก็ไม่ใช่ว่าถูกเสมอไป เราก็เลยคิดว่ามันมีความชอบธรรมอะไรบางอย่าง ถ้าเราสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ หรือว่าให้อีกฝ่ายมองคุณค่าความถูกต้องเหมือนกับเราได้ มันทำให้เรามองจริยธรรม มองความเคลื่อนไหว ได้ชัดมากขึ้น” 

อนาคตอันใกล้หลังเรียนจบ เข้มตั้งเป้าว่า น่าจะทำงานเปลี่ยนอาชีพไปเรื่อยเพื่อหาความสงบสุขของชีวิต ก่อนบอกความฝันทิ้งท้ายว่า “ผมมีธงสูงสุดนับไปอีก 30 ปีจากนี้ อยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นที่มาจากการเลือกตั้ง ระยะสั้นกว่านั้นอาจจะเป็นสมาชิกสภาเทศบาล พูดง่าย ๆ เราอยากมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะว่าเราเชื่อว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งเท่กว่ามาจากการแต่งตั้ง แล้วก็ต้องทำตามนโบายตามสิ่งที่เคยพูดเอาไว้ด้วย”

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ย้อนทวน 9 นักกิจกรรมอีสานสู้คดี หลังชุมนุมใน มข. เรียกร้อง ตร.หยุดใช้ความรุนแรง ปฏิเสธเป็นผู้จัด-ไม่ได้ทำโควิดแพร่-ใช้เสรีภาพการชุมนุมตามปกติ 

ฟ้องแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! 7 นักกิจกรรมอีสานชุมนุม ‘ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน’ 1 มี.ค. 64 หวังเรียกร้องรัฐหยุดใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

ฟ้อง! 8 ราษฎร ‘โขงชีมูล’ ชุมนุมไม่ให้รัฐใช้ ‘112’ อีก 2 รายไม่ร่วมกระบวนการ หวัง จนท.หยุดใช้ กม.กลั่นแกล้งประชาชน

X