มัฑณา ศรีจันทร์: ราชประสงค์ถึงม็อบราษฎร เรื่องราวเคลื่อนไหวการเมืองก่อนคำพิพากษา

เรื่องโดย สมานฉันท์ พุทธจักร์

วันที่ 31 ต.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่น นัดอ่านคำพิพากษาคดีนักกิจกรรม-นักศึกษา 7 คน ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูล” ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2564 การอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ถือจะเป็นการสิ้นสุดคดีที่ดำเนินมากว่า 1 ปี อันทำให้ทั้ง 7 คนต้องเทียวเดินทางมาศาลอยู่หลายนัด หนึ่งในนั้นคือ มัฑณา ศรีจันทร์ หรือ น้อย ที่ต้องเดินทางมาไกลจาก อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

แม้จะยืนยันตลอดว่าตัวเองไม่ได้เป็นแกนนำ แต่มัฑณา เป็น 1 ใน 3 คนที่ถูกฟ้องในข้อหา ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากถูกฝั่งรัฐมองว่าเป็นแกนนำ ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมัฑณามองตัวเองว่าเป็นเพียงคนธรรมดาที่ออกมาสู้กับอำนาจเผด็จการ ตั้งแต่คนเสื้อแดงมาถึงคณะราษฎรในปัจจุบัน

.

โรงเรียนราชประสงค์ บทเรียนทางการเมืองที่เจ็บปวด

หลังเรียนจบชั้นมัธยมต้น ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมชั้นหลายคน และอีกหลายชีวิตในชนบท มัฑณาต้องพักการเรียนในห้องเอาไว้ก่อน แล้วลงทะเบียนเรียนวิชาชีวิตจริง ออกจากบ้านที่ ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เข้าไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ได้งานเป็นแม่บ้านในอาคารชุดแห่งหนึ่งแถวแยกปทุมวัน ที่ทำให้ได้มีโอกาสเฝ้ามองเค้าลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มก่อตัว นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นต้นมา

จนมาถึงมีการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในปี 2549 “สิ่งที่เขาทำดีต่อคนรากหญ้า แต่ผู้มีอำนาจเสียประโยชน์ ” ถึงตัวจะอยู่ในเมืองกรุง แต่ได้โทรพูดคุยอัปเดตชีวิตกับคนที่บ้านอยู่ตลอด ทำให้เห็นว่าคนในชนบทได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยอยู่หลายอย่าง ทั้งพืชผลการเกษตรที่ราคาดี นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาสู่ชีวิต เมื่อมีการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มัฑณาจึงได้เริ่มเปลี่ยนจากผู้สังเกตการณ์กลายเป็นผู้เข้าร่วม “เลิกงาน 5-6 โมงเย็นก็ลงไปชุมนุม ต้องแอบไปหน่อย เพราะเจ้าของตึกเขาเป็นเสื้อเหลือง” นอกจากเห็นด้วยไปกับอุดมการณ์ของคนเสื้อแดง รวมถึงชอบการปราศรัยของแกนนำหลายคนแล้ว การได้พบปะและพูดคุยกับคนอีสานด้วยกันที่เดินทางมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ได้ฟังความทุกข์ร้อนของคนบ้านเดียวกันเป็นความสุขอย่างหนึ่งในการไปร่วมชุมนุม ทั้งยังได้เห็นว่าคนต่างจังหวัดถูกผู้มีอำนาจละเลยอย่างไร

ผ่านการสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ในปี 2553 ได้เห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนที่ล้มลงไป และไม่ได้มีโอกาสได้ลุกกลับขึ้นมาอีก ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความโหดร้ายของการเมืองที่ทำกับประชาชน เป็นสิ่งหนึ่งที่มัฑณาทดไว้ในใจ เป็นแรงให้ออกมาต่อสู้ในระลอกต่อมา เพราะไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่

รวมถึงช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 ที่คนเสื้อแดงชุมนุมที่ถนนอักษะ ซึ่งตอนนั้นมัฑณาก็ได้ย้ายมาทำงานอยู่แถบทวีวัฒนาไม่ห่างกัน จึงได้วนเวียนมาร่วมชุมนุมโดยตลอด เมื่อทหารประกาศยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการณ์ในขณะนั้น มัฑณาเล่าว่ามีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมอย่างที่ไม่ถูกเสนอในสื่อ มีทหารถือปืนเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เธอและเพื่อนหลายคนต่างรีบหนีออกจากพื้นที่ โดยต้องทิ้งข้าวของหลายอย่างไว้

“ยังไงประชาชนเราก็ถูกกระทำอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรจริง ๆ”

มัฑณาสรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการเมืองบนท้องถนนที่เป็นห้องเรียนของเธออีกแห่ง

.

สู้เคียงข้างคนรุ่นใหม่ ปกป้องฤดูใบไม้ผลิ  

เหตุการณ์ความวุ่นวายหลังการรัฐประหารเริ่มจางลง นำมาสู่การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ตัวมัฑณาเองก็ตั้งใจจะกลับมาดูแลธุรกิจเล็ก ๆ ที่เริ่มก่อตั้งไว้ก่อนนั้น จากที่ผ่านมาทุ่มเวลาไปกับการเคลื่อนไหวร่วมกับคนเสื้อแดงอยู่นาน แต่ปี 2558 ดูเหมือนว่าการต่อต้านระลอกใหม่จะกลับมาอีกครั้ง “เราก็ยังอยากเปลี่ยนแปลงอยู่ เราอยากกลับมามีรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง อยากให้ประเทศเดินหน้า”

เริ่มมีหลายกลุ่มที่เรียกร้องการเลือกตั้ง หลังผ่านการยึดอำนาจมาเกือบปีเต็ม อย่างกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว อย่างเช่น โรม รังสิมันต์ ,ไผ่ จุตภัทร์ ที่ถึงแม้จะมีจำนวนไม่เยอะเหมือนระลอกล่าสุด แต่ก็ถือว่าเป็นความหวังสำหรับความเปลี่ยนแปลงในเวลานั้น “มันดีมากที่นักศึกษาออกมา คิดว่าเขาน่าจะไปไกลกว่าเรา เพราะเขาเข้าใจสังคมได้มากกว่า” เริ่มมีการคุยกันภายในกลุ่มคนที่เคยร่วมต่อสู้ในช่วงเสื้อแดง ชวนกันออกมาเคลื่อนไหวเป็นเหมือนแนวหลังหนุนเสริมนักศึกษา เริ่มนัดหมายกันออกไปตามกิจกรรมที่กลุ่มต่าง ๆ จัด จนได้ตั้ง “กลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย” เป็นเครือข่ายของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของมัฑณาเข้มข้นยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความชื่นชอบในแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ ที่มองว่าเป็นความหวังที่จะพาประเทศออกจากวังวนเดิม ๆ “มันเหมือนรักแล้วมาอกหัก การต่อต้านมันเลยสูงขึ้น เราเลือกที่จะเดินเคียงข้างเขา” เดินสายร่วมชุมนุมตามสถานที่ต่าง ๆ พยายามสื่อกันภายในกลุ่มเพื่อจะหาวิธีหนุนเสริมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างการอาสาเป็นการ์ดในการชุมนุมต่าง ๆ

“ไม่เหมือนแต่ก่อน ทุกวันนี้ทุกเวทีเขายกย่องคนเสื้อแดง ถ้าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยพรรคไหนไม่เอาคนเสื้อแดงก็ไปไม่ได้” สำหรับมัฑณาเห็นว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ระลอกล่าสุดเป็นเหมือนการสานต่อสิ่งที่คนเสื้อแดงทำให้ไปได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งเธอก็พร้อมจะร่วมทางไปด้วย

.

กลับมาเคลื่อนไหวในอีสาน การโดนคดีเป็นเพียงการหยุดชะงักชั่วคราว

ด้วยปัญหาทางการงานและครอบครัว ทำให้ปี 2562 มัฑณากลับมาอยู่ที่บ้านในกันทรวิชัย ทำงานธุรกิจส่วนตัว พร้อมทั้งช่วยงานพรรคก้าวไกล ที่เป็นเหมือนงานที่ล่อเลี้ยงความฝันของตัวเอง โดยการเป็นกรรมการพรรคก้าวไกลประจำจังหวัดมหาสารคาม คอยประสานงานต่าง ๆ ของพรรคภายในจังหวัด  การได้ทำงานกับพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ถือเป็นอีกสนามการต่อสู้หนึ่งที่มัฑณาได้ใช้เพื่อพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง

แต่การต่อสู้บนท้องถนนของมัฑณาก็ยังดำเนินไป ไม่ต่างกับช่วงที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ยังคงวนเวียนเข้าร่วมชุมนุมตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน อย่างขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ด้วยความเชื่อว่าการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ควรจะถูกส่งต่อมาถึงคนในต่างจังหวัด

“ถ้าจะชนะเราต้องลุกมาพร้อมกันทั่วประเทศ”

มัฑณาเคยร่วมเดินเท้าไกล 112 กิโลเมตร จากนครราชสีมาไปยังกรุงเทพฯ ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า “ขอมีเงินเติมน้ำมันเราไปหมด” ถือว่าเป็นหนึ่งในขาประจำการชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ในแถบพื้นที่อีสานกลาง

ก่อนหน้านั้นระหว่างที่มัฑณาร่วมกิจกรรม “อวยพรวันเกิดประยุทธ์” ที่หมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล ได้รับข่าวจากกลุ่มต่าง ๆ ในอีสานว่า ขอนแก่นจะมีกิจกรรมการให้กำลังใจนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 คน ที่เข้ารับทราบข้อหาจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี (1) คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 (2) คดีชุมนุมที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 และ (3) คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 

จึงตัดสินใจเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงขอนแก่นในวันที่ 22 มี.ค. 2564 “มาถึงก็มีน้อง ๆ มาเตรียมงานไว้หมดแล้ว เขาก็บอกว่าพี่น้อยช่วยปราศรัยหน่อย เราก็ขึ้นไปพูด จริง ๆ ตั้งใจมาให้กำลังใจเฉย ๆ”  จึงถูกชักชวนจับไมค์ปราศรัย นำมาสู่การถูกฟ้องคดี “ก็ใช้ชีวิตได้ปกติมันเป็นคดีเล็ก ๆ คนอื่นเจอเยอะกว่าเราทั้ง 112, 116 แต่มันทำให้เราเสียเวลาไปไหนมาไหนก็ลำบาก เพราะเทียวมาขอนแก่นหลายครั้ง” หลังถูกฟ้องร้องคดีทำให้ชีวิตยากลำบากขึ้น ทั้งในด้านการงาน และการเคลื่อนไหวทางเมือง จากที่ต้องเดินทางมารายงานตัวที่ขอนแก่นอยู่หลายนัด

แต่การที่มีกองทุนราษฎรประสงค์ที่ช่วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ลดภาระค่าเรื่องค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะ แต่คนอื่นที่อยู่ต่างจังหวัดที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จะยิ่งเดินทางลำบากมากขึ้นไปอีก “จริง ๆ คดีมันไม่มีอะไร ไม่ควรจะมาเป็นคดีด้วยซ้ำ” จากที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาหลายปี คดีนี้เป็นคดีแรกของมัฑณานับตั้งแต่กลับมาเคลื่อนไหวที่อีสาน เธอสังเกตว่าตัวเองถูกจับตาจากฝ่ายมั่นคงมากขึ้น มีเจ้าหน้าที่มาถามหามัฑณากับเพื่อนบ้านอยู่หลายครั้ง แสดงให้เห็นว่ามีชื่ออยู่รายงานความมั่นคง

“อยากให้มันจบ ๆ ไป จะได้ไปทำอย่างอื่น” มัฑณามองการถูกฟ้องคดีในครั้งนี้เป็นเพียงอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น และคาดว่าผลของคดีจะไม่มีโทษร้ายแรง “จบคดีก็ยังจะเคลื่อนไหวต่อเหมือนเดิม” การพิพากษาคดีที่กำลังจะมาถึงนี้ สำหรับมัฑณาเป็นเหมือนคลายข้อจำกัดให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น

.

อ่านคดีของมัฑณาที่จะมีคำพิพากษา

7 นศ.-นักกิจกรรมสู้คดี ยืนยันใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. ให้กำลังใจ “ราษฎรโขงชีมูล” ไม่เสี่ยงแพร่โควิด ลุ้นคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมในขอนแก่นคดีแรก

X