22 มี.ค. 2565 เวลา 13.30 น. นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 ราย เดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่น หลังพนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นนัดหมายส่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูล” ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564
โดย ราเชนทร์ วิทยาบำรุง รองอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, ณัฐพร อาจหาญ, มัฑณา ศรีจันทร์ และทาคายูกิ แสนพาน นักกิจกรรม ธนสิทธิ์ นิสยันต์, กุลธิดา กระจ่างกุล และอาทิตยา น้อยศรี นักศึกษา ในฐานความผิด ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่เฝ้าระวัง และร่วมกันฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 เฉพาะดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา ยังถูกฟ้องฐาน ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และเฉพาะอาทิตยาถูกฟ้องฐาน พ่นสีในที่สาธารณะ ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ด้วย
หลังจากศาลแขวงขอนแก่นรับฟ้องแล้ว ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมทั้งเจ็ดระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน ระหว่างรอกระบวนการของศาล เจ้าหน้าที่ได้ให้จำเลยทั้งเจ็ดไปรอศาลที่ห้องพิจารณาคดีแทนการนำตัวไปห้องควบคุมตัวด้านหลังศาล
เวลาประมาณ 15.30 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณา โดยอธิบายคำฟ้องโดยสรุป และสอบถามเรื่องทนายความ ก่อนนัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การในวันที่ 5 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. จากนั้นได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งเจ็ดคนโดยมีประกัน แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาประกันให้ปรับคนละ 10,000 บาท
ทั้งนี้ คำฟ้องของอัยการระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 21 – 22 มี.ค. 2564 จําเลยทั้งเจ็ดกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ดังนี้
1. จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกได้ร่วมกันประกาศเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรม มีการจัดเวทีอภิปราย ติดตั้งเครื่องขยายเสียง ไฟส่องสว่าง แผ่นป้าย และป้ายชื่อกิจกรรม “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” จากนั้นได้ร่วมกันชุมนุม ปราศรัย แสดงทางการเมือง บริเวณ สภ.เมืองขอนแก่น อันเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง โดยมีประชาชนเข้าร่วมจํานวนมากในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยจําเลยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศจังหวัดขอนแก่น
2. ดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา กับพวก ได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวที่บริเวณ สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
3. อาทิตยาได้พ่นสีข้อความ ภาพ ที่บนถนนศรีจันทร์ บริเวณ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นถนนและเป็นที่สาธารณะ
การชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นเหตุให้นักกิจกรรมและนักศึกษาทั้งเจ็ดถูกดำเนินคดีในคดีนี้นั้น สืบเนื่องมาจาก สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรม “ราษฎรโขง ชี มูล” รวม 16 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี เพจ “ขอนแก่นพอกันที” จึงได้เชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา ภายใต้ชื่อกิจกรรม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางแบริเออร์และวางกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย ปิดกั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสิบหก จึงทำกิจกรรมแสดงความไม่พอใจตำรวจ โดยยืนยันว่ามาให้กำลังใจนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ไม่ได้มาชุมนุม
หลังจากนั้น นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 ราย ที่มาร่วมให้กำลังเพื่อนนักกิจกรรมก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกคดี ในชั้นสอบสวน ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยืนยันว่า เพียงแต่เข้าร่วมกิจกรรมตามที่ทราบข่าว โดยไม่ได้นัดหมายกับผู้ใด อีกทั้งไม่ได้เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม หรือจัดหาอุปกรณ์ จึงมิใช่ผู้จัดการชุมนุม และไม่มีหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันโรค อีกทั้งการชุมนุมไม่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค
ในชั้นอัยการ ทั้งหมดยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการ ขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมในที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้เบียดเสียดใกล้ชิดกัน เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศให้การรับรอง อีกทั้งในช่วงที่ชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด ทั้งหมดนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2563 ซึ่งพนักงานอัยการศาลแขวงลําปางมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
หลังคดีอยู่ในชั้นตำรวจและอัยการกว่า 7 เดือน และสำนวนคดีถูกส่งไปถึงอธิบดีอัยการภาค 4 ปริญเดช ศิริพานิช อธิบดีอัยการภาค 4 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย มีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องคดีนักกิจกรรมทั้งเจ็ดในที่สุด
“เจเจ” ธนสิทธิ์ นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาชิกพรรคปฏิวัติมอดินแดง เห็นว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ถูกดำเนินคดีและฟ้องด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ผมมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเพียงกฎหมายที่รัฐบาลบังคับใช้เพื่อกดดันการเคลื่อนไหวของประชาชนเสียมากกว่า มีการฟ้องว่า พวกเรามีส่วนในการชุมนุมมั่วสุมกันในพื้นที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด แต่จากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราเพียงแค่ไปให้กำลังใจเพื่อนของเราเท่านั้น อีกอย่าง พื้นที่ที่พวกเราอยู่ไม่ได้มีความแออัดแต่อย่างใด ตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้าก็เปิดได้ปกติ คนเยอะกว่านี้ เอาแต่จะจับแต่ม็อบอย่างเดียว ดำเนินคดีกับคนเห็นต่างอย่างเดียว เราจะหาความเป็นธรรมได้จากไหน หากประเทศของเรายังมีการกดขี่เช่นนี้อยู่”