6 ส.ค. 2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ทาคายูกิ แสนพาน นักกิจกรรมกลุ่ม “เสรีชนคนกาฬสินธุ์” และกุลธิดา กระจ่างกุล กลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และนักศึกษาคณะสถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ซึ่งถูกออกหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุมให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูล” ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาหลังเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 5 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว
10.30 น. พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ในคดีให้ทาคายูกิและกุลธิดาทราบ มีเนื้อหาเช่นเดียวกับที่ได้แจ้งคนอื่นไปแล้ว กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เชิญชวนให้ประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กําลังใจสมาชิกราษฎร โขง ชี มูล จํานวน 16 คน ในการรับฟังข้อกล่าวหาจากการจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก และไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีการแบ่งหน้าที่กันทํา โดยทาคายูกิและกุลธิดา เป็นผู้ร่วมกิจกรรมและเป็นผู้ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ
พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองว่า “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในที่ซึ่งมีประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุม โดยไม่ได้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนด (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 ม.ค. 2564 ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ทาคายูกิและกุลธิดาให้การปฏิเสธ โดยกุลธิดาเขียนข้อความ “ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร” แทนการลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสองจะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 4 ก.ย. 2564 แต่พนักงานสอบสวนนัดมารายงานตัวเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 20 ส.ค. 2564 พร้อมกับ 5 คนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อน
ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหานี้ ทาคายูกิและกุลธิดาต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการเดินทางสาธารณะถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด กุลธิดาต้องเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากถูกยกเลิกเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ มาครั้งหนึ่งแล้ว และในครั้งนี้ต้องเดินทางโดยรถไฟซึ่งมีเพียงวันละ 1 เที่ยว ใช้เวลาเดินทางกว่า 10 ชม. ทั้งต้องรีบเดินทางกลับในทันที เนื่องจากต้องพรีเซนต์รายงานในวันจันทร์
กุลธิดาแสดงความเห็นต่อการถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรกว่า “เป็นการใช้ข้อกฎหมายที่ลำเอียง ตำรวจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แสดงออกตรงข้ามกับรัฐบาล เพื่อให้มาเสียเวลารายงานตัว ขณะที่บางกรณีหรือคนบางกลุ่มก็มีการรวมกลุ่มเช่นกัน แต่ไม่เห็นมีการดำเนินคดี นอกจากนี้ เราก็แสดงออกอย่างสันติ ทุกคนก็พยายามป้องกันตัวเองจากโควิดอยู่แล้ว รวมถึงการพ่นสีสเปรย์ก็เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างสันติวิธี เนื่องจากตำรวจไม่ให้เราเข้าไปใช้พื้นที่ในสถานีตำรวจในการรอให้กำลังใจเพื่อน ทั้งที่สถานีตำรวจควรมีไว้ใช้บริการประชาชน”
เหตุในคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 นักกิจกรรม “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 ราย เข้ารับทราบข้อหาจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี กลุ่มขอนแก่นพอกันทีจึงประกาศกิจกรรม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น เชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางแบริเออร์ปิดกั้นทางเข้า วางกำลังชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณสถานีตำรวจ ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสิบหก จึงตั้งเวทีปราศรัยและทำกิจกรรมแสดงความไม่พอใจตำรวจบนถนนหน้าสถานีตำรวจโดยสงบ รวมถึงมีการมอบดอกกุหลาบให้ชุดควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย