5 นักศึกษา-นักกิจกรรม รับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้กำลังใจ “ราษฎรโขงชีมูล” หน้า สภ.เมืองขอนแก่น ระบุ ‘มีสาเหตุโกรธเคืองกับรัฐบาลชุดนี้ ที่ยึดอำนาจประชาชน’

29 กรกฎาคม 2564 ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นักกิจกรรมและนักศึกษา 5 ราย ได้แก่ ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, ณัฐพร อาจหาญ, มัฑณา ศรีจันทร์ นักกิจกรรม, ธนสิทธิ์ นิสยันต์ และอาทิตยา น้อยศรี นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีชุมนุมให้กำลังใจสมาชิกกลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูล” ในการรับฟังข้อกล่าวหาจากการจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและติดตามว่าจะมีการฝากขังหรือไม่ ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 

นอกจากทั้งนักกิจกรรมและนักศึกษาทั้ง 5 รายแล้ว ยังมี ทาคายูกิ แสนพาน นักกิจกรรมกลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์ และกุลธิดา กระจ่างกุล นักศึกษาสาขาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ถูกออกหมายเรียก โดยทาคายูกิ ติดธุระส่วนตัวในการเฝ้าญาติที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนกุลธิดานั้นไม่สามารถเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ได้เนื่องจากเที่ยวบินโดยสารถูกยกเลิก ทำให้ทั้งสองคนต้องเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปในภายหลัง 

เวลาราว 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4  สภ.เมืองขอนแก่น คณะพนักงานสอบสวน  ให้ทั้ง 5 คน แยกกันนั่งตามโต๊ะ ก่อนจะแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหา ดังนี้

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 08.50 น. ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน และอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อกิจกรรมว่า “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น โดยได้ร่วมกันประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้กําลังใจสมาชิกราษฎร โขง ชี มูล จํานวน 16 คน ในการรับฟังข้อกล่าวหาจากการจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยในพื้นที่อีสานว่าจะมีการฝากขังหรือไม่ 

ในการจัดการชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก โดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยพบว่าไม่มีมาตรการป้องกันการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันเป็นการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 18) ข้อ 7 ซึ่งบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จําเป็นสําหรับพื้นที่เฝ้าระวัง (จังหวัดขอนแก่นมีคําสั่งให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ตามคําสั่ง ศบค.ที่ 2/2564) ให้การเปิดดําเนินการกิจกรรมในเขตพื้นที่ เฝ้าระวังได้เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของทางราชการ

ซึ่งรวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ที่กําหนดห้ามผู้ใดดําเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป  โดยกําหนดให้ผู้จัดกิจกรรมจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด 

ในการร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ ผู้ต้องหาได้แบ่งหน้าที่กันทํา กล่าวคือ ดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา เป็นผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมและเป็นผู้ปราศรัยประกาศชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันเข้าไปใน สภ.เมืองขอนแก่น ส่วนธนสิทธิ์, ทาคายูกิ และกุลธิดา เป็นผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมและเป็นผู้ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ทําให้โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายมีร่องรอยแปดเปื้อนด้วยสีดังกล่าว และอาทิตยาเป็นผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมและเป็นผู้ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นบนถนนสาธารณะในที่เกิดเหตุ จนถึงเวลาประมาณ 14.14 น. จึงได้มีการเลิกการชุมนุม 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาดวงทิพย์, ณัฐพร, มัฑณา และธนสิทธิ์ รวม 3 ข้อหา คือ “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในที่ซึ่งมีประกาศ หรือมีคําสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่ได้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จําเป็นที่กําหนดไว้ตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม 2564, ร่วมกันดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ตามลำดับ

ส่วนอาทิตยา ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นบนพื้นถนน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาต่างจากคนอื่น คือ “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ, ร่วมกันดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไปฯ และพ่นสีหรือทําให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ที่บนถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ 

นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งห้าให้การปฏิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 แต่พนักงานสอบสวนนัดมารายงานตัวเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 

ทั้งนี้ ดวงทิพย์ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมทั้งเขียนข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และให้การเพิ่มเติมว่า ที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าเธอจัดชุมนุม และประกาศชักชวนให้มีการชุมนุมนั้น ไม่ได้มีการระบุพฤติการณ์ที่เป็นความผิดและพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่า เกิดจากข้อความหรือคำพูดประโยคใด ทำให้ผู้ต้องหาไม่ทราบพฤติการณ์ที่แท้จริงที่ถูกดำเนินคดีครั้งนี้ และไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

“เรายืนยันว่าการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องทำได้ และการจัดกิจกรรมที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจเพื่อนในวันดังกล่าว ก็ไม่ได้มีใครติดโควิด -19 จากการไปร่วมกิจกรรมแม้แต่คนเดียว” ดวงทิพย์กล่าว

ขณะที่ณัฐพร อาจหาญ ให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนว่า มีสาเหตุโกรธเคืองกับรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจประชาชน ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เข้ามาบริหารประเทศสร้างความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ทั้งในการจัดหาวัคซีนและมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาด เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย การที่นักกิจกรรมทั้งหมดในคดีนี้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นความชอบธรรม และเรายืนยันสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ทางด้านมัฑณา ศรีจันทร์ เปิดเผยว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด -19 เพราะปกติอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางมาทำกิจกรรมที่มหาสารคามและขอนแก่นบ้างบางครั้งคราว และเนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง จึงคาดเดาไม่ได้ว่ารถโดยสารสาธารณะจะเปิดให้เดินทางกลับไปที่สมุทรปราการได้อีกเมื่อไหร่ เป็นผลให้ต้องติดค้างอยู่ในพื้นที่ขอนแก่นอย่างไม่มีกำหนดกลับ  

สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 นักกิจกรรมภาคอีสาน “ราษฎรโขง ชี มูล” 16 ราย เข้ารับทราบข้อหาจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี คือ (1) คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสงและชุมนุมต่อเนื่องที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 (2) คดีชุมนุมที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และ (3) คดีชักธงปฏิรูปกษัตริย์ที่ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 

โดยเฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันทีประกาศกิจกรรม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา รวมถึงจับตาว่าจะมีการฝากขังหรือไม่ ที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้น โดยมีการติดตั้งลวดหนามบนรั้วด้านหน้า วางกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย โดยรอบ รวมถึงนำแบริเออร์ปิดกั้นเส้นทางเข้า และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณสถานีตำรวจ ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสิบหก จึงตั้งเต็นท์และรถเครื่องเสียงบริเวณถนนเลนในหน้า สภ.เมืองขอนแก่น 1 เลน ปราศรัยและทำกิจกรรมแสดงความไม่พอใจตำรวจที่ปิดกั้นทางเข้า โดยยืนยันว่ามาให้กำลังใจนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ไม่ได้มาชุมนุม

หลังจากชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ในวันดังกล่าวเสร็จสิ้น นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 ราย ต่างทยอยได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองขอนแก่น เช่นเดียวกับนักกิจกรรม ราษฎรโขง ชี มูล ทั้ง 16 ราย ก่อนหน้านี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ราษฎรอีสาน’ 16 ราย เจอ 3 คดี ชุมนุม #ปล่อยหมู่เฮา – ชักธง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ นักศึกษาชี้ รัฐใช้กฎหมายปิดปาก

X