คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ที่ขอนแก่น 3 นศ. ให้การปฏิเสธ ระบุเพียงแค่ชักธงสัญลักษณ์อื่นขึ้นแทน ไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ นัดสืบพยาน ส.ค. 64

วันที่ 7 มิถุนายน 2564  3 นักศึกษา ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ชัยธวัช รามมะเริง และเชษฐา กลิ่นดี เดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่น ในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดีที่ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ธงฯ จากการชักธง #ปฏิรูปกษัตริย์ ขึ้นสู่ยอดเสาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 

เวลา 13.45 น. มนัส รัตนไตรศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงขอนแก่น เป็นผู้พิจารณาคดี โดยวันนี้นัดพิจารณาในห้องประชุมศาล มีเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ พนักงานอัยการ ตำรวจศาล ทนายจำเลย และจำเลยทั้งสามอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย

ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟัง พร้อมสอบถามวชิรวิทย์ จำเลยที่ 1 เพื่อยืนยันว่าวชิรวิทย์เป็นจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1676/2563 ของศาลนี้ (คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ”) ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ 

>>> อัยการยื่นฟ้อง 3 นศ. คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น กล่าวหาเหยียดหยามธงชาติไทย แม้ นศ.ขอให้เลื่อนสั่งคดี เหตุอยู่ในช่วงสอบ

ทั้งนี้เมื่อศาลอ่านคำฟ้องจบ นักศึกษาทั้งสามยืนยันให้การปฏิเสธว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ต่อมาอัยการแถลงจะสืบพยานโจทก์ 8 ปาก โดยพยานลำดับที่ 1 เป็นผู้กล่าวหา ลำดับที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกสืบสวนติดตามการชุมนุมและดูการไลฟ์สด ลำดับที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ลำดับที่ 4 เป็นหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย ลำดับที่ 5 พนักงานรักษาความปลอดภัยผู้รู้เห็นเหตุการณ์ ลำดับที่ 6 นักวิชาการวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเรื่องธงชาติ ลำดับที่ 7 นิติกรประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ทำความเห็นเชี่ยวชาญระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยการชักหรือการแสดงธงชาติ และลำดับที่ 8 เป็นพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ทางอัยการโจทก์มีเอกสารอ้างส่งทั้งหมด 8 ฉบับ และพยานวัตถุอีก 1 ชิ้น

ทางด้านทนายความของนักศึกษาทั้งสาม แถลงจะนำสืบพยานทั้งหมด 3 ปาก โดยอ้างจำเลยทั้งสามเข้าเป็นพยาน เมื่อศาลสอบถามแนวทางการต่อสู้คดี พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามหลักฐานว่านักศึกษาทั้งสามที่ถูกดำเนินคดีจะอยู่ในที่เกิดเหตุในวันเวลาดังกล่าวจริง แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาจะเหยียดหยาม และทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อธงชาติไทยตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด 

ภาพจากเพจ ขอนแก่นพอกันที

ก่อนศาลจะกำหนดนัดวันสืบพยาน โดยให้สืบพยานโจทก์จำนวน 1 นัด และสืบพยานจำเลยอีก 1 นัด ในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2564  

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 3 กล่าวถึงความเห็นต่อคดีนี้ว่า “จากที่ขึ้นศาลเพื่อสอบคำให้การคดีนี้ ผมได้ให้การปฏิเสธ เพราะเรายังยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงออก เราไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ เพราะเรานำไม่ได้นำธงชาติมากระทำใดๆ เลย ไม่มีใครประสงค์ที่จะทำลายชาติอยู่แล้ว เราทุกคนล้วนแต่รักชาติ เราต้องการให้ชาติดีขึ้นทั้งสิ้น”

ทางด้าน ชัยธวัช รามมะเริง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า ที่ตัดสินใจให้การปฏิเสธ ในส่วนเรื่องเจตนานั้น เนื่องจากการที่ทำไปนั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามกรอบรัฐธรรมนูญ และสิทธิในการแสดงออกทางเมือง ไม่ได้มีเจตนาในการเหยียดหยามธง หรือความหมายอื่นใดในความหมายของชาติ อีกทั้งไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใด 

“ดังนั้นผมเองจึงให้การปฏิเสธไป เนื่องจากผมเองมองว่าการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมันคงไม่ได้ส่งผลในความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ในความรู้สึกของผมเองไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใดต่อรูปคดีดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้น และยืนยันจะสู้ในเจตนาอันบริสุทธิ์ในระบบยุติธรรมไทย และในฐานะนักศึกษา และประชาชนธรรมดาคนหนี่ง” 

เชษฐา กลิ่นดี นิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวอีกว่า “การชักธงแดงขึ้นแทนธงชาติ ผมมองว่ามันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพของผู้อื่น หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ถึงขั้นว่าต้องออกหมายมาจับเราเข้าคุก มันก็เหมือนงานกีฬาสี หรือ ธงกองเชียร์ฟุตบอล เราก็ใช้สัญลักษณ์ในด้านนี้เพื่อสื่อในสิ่งที่เราต้องการจะตีแผ่ เพื่อสื่อในสิ่งที่เราต้องการรณรงค์ ตามแนวทางข้อเรียกร้อง ส่วนธงชาติเราก็ยังเคารพและไม่ได้ทำการใดๆ โดยตรงต่อธงชาติที่เป็นการเหยีดหยามดูถูกใดๆ เพียงแค่ชักธงสัญลักษณ์อื่นขึ้นแทน”

สำหรับเหตุในคดีนี้เนื่องจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 กุมภาพันธ์  2564 กลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นพอกันที ได้ทำกิจกรรมเชิญธงชาติลงจากยอดเสาธงหน้าอาคารสิริคุณากร ตึกอธิการบดีหลังเก่า ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนนำธงสีแดงเขียนข้อความว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” ชักขึ้นยอดเสา 

จากนั้นเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้โพสต์ข้อความว่า “[ ธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าตึกอธิการบดี มข. ] เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกษัตริย์ให้แล้วเสร็จ เราไม่ได้เกลียดชังธงชาติ แต่เราต้องการให้ธงชาติเป็นธงชาติที่สง่างามอย่างแท้จริง ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลนิยม”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังชักธงดังกล่าวขึ้นได้เพียง 10 นาที ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ได้มานำธงดังกล่าวเก็บออกไป ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกนักศึกษา 3 ราย โดยระบุวันที่ออกหมายเป็นวันเดียวกับวันที่จัดกิจกรรมดังกล่าว

ทั้งสามคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย, ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร และร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53 (3) และ 54 ก่อนพนักงานอัยการจะสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 จากเหตุชักธงสัญลักษณ์ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ คดีแรกจากกรณีที่กลุ่มนักกิจกรรมเปลี่ยนธงชาติไทยบริเวณด้านหน้า สภ.คลองหลวง และนำผ้าสีแดงที่มีข้อความ “112” สลับขึ้นยอดเสา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ขณะไปร่วมให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย ที่เข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับข้อหา 112 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่คดีดังกล่าวอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ราษฎรอีสาน’ 16 ราย เจอ 3 คดี ชุมนุม #ปล่อยหมู่เฮา – ชักธง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ นักศึกษาชี้ รัฐใช้กฎหมายปิดปาก

 

X