อัยการยื่นฟ้อง 3 นศ. คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น กล่าวหาเหยียดหยามธงชาติไทย แม้ นศ.ขอให้เลื่อนสั่งคดี เหตุอยู่ในช่วงสอบ

22 เม.ย. 2564 เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น นักศึกษาและนักกิจกรรม #ราษฎรโขงชีมูล 12 ราย เดินทางเข้าฟังคำสั่งอัยการในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ20กุมภา และ #ม็อบ1มีนา และคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ธงฯ จากการชักธง #ปฏิรูปกษัตริย์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เพิ่งส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่ในวันที่สรุปสำนวนการสอบสวนส่งอัยการ ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ยื่นคำให้การในชั้นสอบสวน

     >> ตร.ขอนแก่น เร่งสรุปสำนวน 3 คดี ส่งอัยการ แม้นักกิจกรรม ‘ราษฎรโขงชีมูล’ ยังไม่ได้ยื่นคำให้การเพื่อต่อสู้คดี

ก่อนเข้าฟังคำสั่งอัยการ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้เลื่อนการสั่งคดี เนื่องจากนักศึกษาอยู่ในช่วงสอบปลายภาค รวมทั้งขอให้สอบเพิ่มเติมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือสื่อมวลชน ในประเด็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการชุมนุมทั้งสองครั้ง ตลอดจนมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นมีคำสั่งฟ้องนักศึกษา 3 ราย ที่ถูกกล่าวหาในคดีชักธง #ปฏิรูปกษัตริย์ ส่วนคดีการชุมนุมทั้งสองคดีมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่ม และเลื่อนฟังคำสั่งเป็นวันที่ 27 พ.ค. 2564

ทั้งนี้ ระหว่างการรอพนักงานอัยการส่งสำนวนฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่นในช่วงบ่าย นักศึกษาผู้ถูกฟ้องคดีต้องนั่งทำข้อสอบ เนื่องจากอยู่ในช่วงการสอบปลายภาค โดยมีกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าระวังโดยรอบสำนักงานอัยการฯ มีข้อมูลจากนักกิจกรรมด้วยว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้เข้าถ่ายรูปทะเบียนรถของพวกตน รวมทั้งประชาชนที่มาให้กำลังใจ โดยไม่มีเหตุอันสมควร    

เวลา 12.55 น. กลุ่มนักกิจกรรมเดินเท้าจากสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นไปยังศาลแขวงขอนแก่น เพื่อไปส่งเพื่อนที่ถูกฟ้อง โดยมีตำรวจประมาณ 10 นาย นำโดย พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสารีกิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น เดินตามเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ 

เมื่อถึงหน้าศาลแขวงขอนแก่น ทั้งหมดรวมถึงประชาชนที่มาให้กำลังใจได้ทำกิจกรรม #ยืนหยุดขัง เป็นเวลา 3 นาที เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ปล่อยเพื่อนนักกิจกรรมที่ยังถูกขังอยู่ในเรือนจำ ก่อนจะเดินเข้าไปบริเวณศาล โดยตำรวจศาลได้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องรออยู่ที่ศาลาด้านหน้าอาคารศาล อนุญาตให้เพียงผู้ถูกฟ้องคดีและทีมทนายความเข้าด้านใน 

เวลา 13.30 น. นิติกรจากสำนักงานอัยการฯ จึงนำสำนวนฟ้องมายื่นต่อศาล หลังศาลรับฟ้องได้เรียกจำเลยทั้งสาม ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ชัยธวัช รามมะเริง และเชษฐา กลิ่นดี สอบคำให้การในห้องพิจารณาคดี ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันได้ อีกทั้งจำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จำเลยยังประสงค์ต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

ต่อมา ทวีศักดิ์ สุรนาถ ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี โดยอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ความว่า อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 45 และมาตรา 46 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นายกรัฐมนตรีได้วางระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ข้อ 6 ไว้ว่า ธงชาติ เป็นธงที่แสดงความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ให้ปฏิบัติต่อธงดังกล่าวด้วยความเคารพ ไม่ดูถูกเหยียดหยาม หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. จําเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันชักเอาธงชาติไทยที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ที่ผูกติดอยู่กับสายสลิงบนยอดเสาธงบริเวณหน้าตึกอธิการบดี อาคาร 1 (หลังเก่า) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงมาในลักษณะชายธงติดกับพื้นข้างล่าง โดยแสดงกิริยาไม่เคารพต่อธงชาติไทยนั้น แล้วนําผ้าพื้นสีแดงเขียนข้อความสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” ไปผูกติดสายสลิง แล้วจึงชักธงผ้าพื้นสีแดงดังกล่าวนั้นขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติไทย 

ส่วนธงชาติไทยอยู่ติดกับสายสลิงข้างล่างเสา ซึ่งอยู่ต่ำกว่าธงผ้าพื้นสีแดงดังกล่าว อันเป็นการชักธงลงมาโดยวิธีอันไม่สมควร และเป็นการไม่เคารพ ดูถูกเหยียดหยาม ทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทยตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น และเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติไทยด้วย 

โดยโจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐาน ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย, ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร และร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53(3) และ 54

ศาลยังระบุว่า ท้ายคำฟ้องโจทก์ขอให้นับโทษจำคุกวชิรวิทย์ จำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1676/2563 ของศาลนี้ (คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ”)

จากนั้น ศาลได้ถามคำให้การเบื้องต้น นักศึกษาทั้งสามให้การปฏิเสธ และวชิรวิทย์รับว่าบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 4 ในคดีที่อัยการขอให้นับโทษต่อ ซึ่งศาลยังไม่มีคำพิพากษา 

ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลา 13.30 น. จากนั้นได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี เนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษา และได้ปล่อยตัวชั่วคราวมาตลอดในชั้นสอบสวน เชื่อว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน และไม่ต้องทำสัญญาประกัน แต่ให้จำเลยสัญญาว่าจะมาศาลตามนัด

ก่อนเสร็จการพิจารณาคดี ซึ่งพนักงานอัยการผู้ฟ้องคดีเพิ่งเดินทางมาถึง ศาลระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีพฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นที่สนใจของประชาชน จึงให้รายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ทราบ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560

ภาพจากเพจ ขอนแก่นพอกันที

เหตุในคดีนี้เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 เวลา 18.40 น. กลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่นพอกันที ได้ทำกิจกรรมเชิญธงชาติลงจากยอดเสาธงหน้าอาคารสิริคุณากร ตึกอธิการบดีหลังเก่า ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนนำธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ชักขึ้นยอดเสา จากนั้นเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้โพสต์ข้อความว่า “[ ธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าตึกอธิการบดี มข. ]เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกษัตริย์ให้แล้วเสร็จ เราไม่ได้เกลียดชังธงชาติ แต่เราต้องการให้ธงชาติเป็นธงชาติที่สง่างามอย่างแท้จริง ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลนิยม”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังชักธงดังกล่าวขึ้นได้เพียง 10 นาที ตำรวจและ รปภ.ของมหาวิทยาลัย ได้มานำธงดังกล่าวเก็บออกไป ต่อมามีการออกหมายเรียกนักศึกษา 3 ราย โดยระบุวันที่ออกหมายเป็นวันเดียวกับวันที่จัดกิจกรรมดังกล่าว

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 จากเหตุชักธงสัญลักษณ์ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ คดีแรกจากกรณีที่กลุ่มนักกิจกรรมเปลี่ยนธงชาติไทยบริเวณด้านหน้า สภ.คลองหลวง และนำผ้าสีแดงที่มีข้อความ “112” สลับขึ้นยอดเสา เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ขณะไปร่วมให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย ที่เข้ามอบตัวหลังถูกออกหมายจับข้อหา 112 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่คดีดังกล่าวยังอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี

 

X