แจ้งข้อหา ครูใหญ่ – เซฟ “ขอนแก่นพอกันที” อีกคดี “จัดม็อบไล่แม่งเลย” 20 สิงหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังดำเนินคดีเพนกวิน – ไผ่ ตั้งแต่ตุลา 63

27 พ.ค. 2564  “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักกิจกรรมกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” และ “ราษฎรโขงชีมูล” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และ “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” ในวันที่ 20 ส.ค. และ 10 ก.ย. 2563 ตามที่ สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียก โดยหมายเรียกระบุว่า เป็นคดีที่มี พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกเป็นผู้ต้องหา และมี สุพัฒน์ ปัสสาคร เป็นผู้กล่าวหา 

วันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี จากการชุมนุม #ม็อบ20กุมภา และ #ม็อบ1มีนา ได้นัดผู้ต้องหารวม 14 ราย ซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรโขงชีมูล” ฟังคำสั่งในคดีทั้งสอง พร้อมกันนี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย เข้ารับทราบข้อเท็จจริงในคดีทั้งสองเพิ่มเติมด้วย 

เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมทั้ง 14 คน พร้อมทั้งทนายความจากเครือข่ายทนายสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน และทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทยอยเดินทางมาที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น  รวมทั้ง พชร สารธิยากุล นักกิจกรรมซึ่งอยู่ในระหว่างบวชเป็นพระด้วย แต่เนื่องจากอัยการให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงในคดีเพิ่ม จึงยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี และนัดหมายให้ทั้งหมดมาฟังคำสั่งอัยการครั้งต่อไปในวันที่ 30 มิ.ย. 2564

หลังจากเซ็นรับทราบวันนัดแล้ว พนักงานสอบสวนจึงเริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ด้านหลังสำนักงานอัยการฯ ซึ่งมีการจัดตั้งเต็นท์และโต๊ะเก้าอี้ไว้โดยเฉพาะ

 

“จัดม็อบไม่แม่งเลย” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุผู้จัดแจ้งการชุมนุม แต่ไม่จัดมาตรการป้องกันโควิด     

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหา “ครูใหญ่” อรรถพล และ “เซฟ” วชิรวิทย์ ในคดีการชุมนุม “จัดม็อบไม่แม่งเลย”  และ “หมายที่ไหน มีม็อบที่นั่น” บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวก ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ทั้งนี้ มีพยานหลักฐานปรากฏว่า ทั้งสองกับพวกได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และเครื่องขยายเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมโจมตีการทํางานของรัฐบาลและเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทําให้มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก อันมีลักษณะเป็นการมั่วสุมในสถานที่แออัด 

ทั้งมีพยานหลักฐานพบว่ามีการเคลื่อนผู้ชุมนุมลงจากจุดที่มีการแจ้งการชุมนุมไว้ ไปร่วมกันชุมนุมปิดถนนศรีจันทร์ซึ่งเป็นทางสาธารณะและมีสภาพแออัด ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันเป็นการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13) ข้อ 1, ข้อ 5 และประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง ผ่อนคลายมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาฯ (ฉบับที่ 18) 

ทั้งในเวลาต่อมา มีพยานหลักฐานพบว่าในการชุมนุมดังกล่าว อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวกและผู้ชุมนุม เป็นจํานวนมากได้มีการร่วมกันชุมนุมบนพื้นถนนศรีจันทร์ ลักษณะปิดเส้นทางการจราจรถนนศรีจันทร์ ซึ่งทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เส้นทางจราจรได้ตามปกติ อันเป็นการกีดขวางการจราจรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร

และในวันที่ 10 ก.ย. 2563 อรรถพลและวชิรวิทย์กับพวกยังได้จัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งใช้ชื่อกิจกรรมชุมนุมว่า “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ ต่อเนื่องถนนในเขตเทศบาลนครขอนแก่นถึงที่ทําการ สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ แต่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง โดยมีการประกาศเชิญชวนทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และในขณะจัดกิจกรรมมีการไลฟ์สด ทําให้มีประชาชนจํานวนกว่า 50 คน เข้าร่วม และเคลื่อนขบวนไปตามถนนในลักษณะปิดช่องทางเดินรถบางช่อง ทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เส้นทางการจราจรได้ตามปกติ 

และเมื่อมาถึงบริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ได้มีการรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมในลักษณะเป็นการชุมนุมใน สถานที่แออัด โดยพบว่าไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นการชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 14) ข้อ 2 และประกาศจังหวัดขอนแก่น เรื่อง ผ่อนคลายมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาฯ (ฉบับที่ 19) 

กิจกรรมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อ 10 ก.ย. 2563

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่า การกระทําของอรรถพลและวชิรวิทย์เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมหรือทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, กระทําการหรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันวาง ตั้ง หรือยื่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร” 

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ประกอบข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 

พนักงานสอบสวนยังระบุอีกว่า ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งกระทําทั้งในวันที่ 20 ส.ค. และ 10 ก.ย. 2563 ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เป็นความผิดกรรมเดียว คือในการชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563

อรรถพลและวชิรวิทย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนนัดให้มาพบเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 เวลา 14.00 น. ซึ่งยังไม่ครบกำหนดที่ทั้งสองจะยื่นคำให้การ แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่า เป็นการส่งให้ทันผัดฟ้องต่อศาลเท่านั้น หากอรรถพลและวชิรวิทย์ยื่นคำให้การก็ส่งตามหลังมายังอัยการได้

ภาพจากเฟซบุ๊ก Save Wachirawit

ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากการชุมนุมทั้งสองครั้งในคดีเดียวกันนี้ ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา 116(2) และข้อหาอื่นๆ เช่นเดียวกับที่แจ้งอรรถพลและวชิรวิทย์ รวมทั้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ขณะทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่นที่ บก.ตชด.ภาค 1 และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อมา ยังมีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติมกับพริษฐ์ และแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116(3) เพิ่มเติมกับทั้งพริษฐ์และจตุภัทร์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา อีกด้วย (อ่านข้อมูลคดีนี้เพิ่มเติมที่ คดี 112-เพนกวิน 116-ไผ่ #ม็อบ20สิงหา ขอนแก่น)

ทั้งนี้ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ซึ่งระบุชื่ออยู่ในหมายเรียกผู้ต้องหา คือ สุพัฒน์ ปัสสาคร ประธานชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น

สำหรับการชุมนุม “จัดม็อบไม่แม่งเลย” เป็นการชุมนุมสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ส่วน “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” เป็นการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีการชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 เพื่อแสดงออกถึงความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลต้องถูกดำเนินคดี  

คดีนี้นับเป็นการถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองคดีที่ 6 ของวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 คดี ที่เหลือเป็นคดีตาม พ.ร.บ.ธง และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนอรรถพล บัวพัฒน์ ถูกดำเนินคดีเป็นคดีที่ 20 โดยมี 1 คดีเป็นคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมันใน #ม็อบ26ตุลา  

 

แจ้งเพิ่มเติม 14 นักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” ฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 18 ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ในส่วนคดีการชุมนุม #ม็อบ20กุมภา และ #ม็อบ1มีนา  ซึ่งทั้งสองคดีอยู่ในชั้นอัยการแล้ว แต่อัยการได้ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในส่วนของการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยระบุให้ชัดเจนว่าผู้ต้องหาทั้งหมด  “ร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม หรือทํากิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ในพื้นที่ซึ่งมีประกาศหรือมีคําสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่ได้ดําเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จําเป็นสําหรับพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง ที่กําหนดไว้ตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 ม.ค. 2564” (ดูข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาที่แจ้งในครั้งแรกที่ ‘ราษฎรอีสาน’ 16 ราย เจอ 3 คดี ชุมนุม #ปล่อยหมู่เฮา – ชักธง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ นักศึกษาชี้ รัฐใช้กฎหมายปิดปาก)

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ระบุเพิ่มเติมในข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่า ผู้ต้องหามีการปราศรัยปลุกระดมผู้ชุมนุมให้เคลื่อนขบวนไปตามถนน อีกทั้งในการชุมนุมผู้ต้องหามีการแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น อรรถพล บัวพัฒน์ และวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง เป็นแกนนําเพจเฟซบุ๊กขอนแก่นพอกันทีที่โพสต์ชักชวนให้คนมาชุมนุม, ปราศรัยในที่ชุมนุม, ชักชวนผู้ชุมนุมลงถนนและเคลื่อนขบวน, นิติกร ค้ำชู ไลฟ์สดเพจเฟซบุ๊กดาวดิน สามัญชน เชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรม, เจตน์สฤษฎ์ นามโคตรและอิศเรษฐ์ เจริญคง เป็นแกนนําการ์ดรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม และชักจูงผู้ชุมนุมให้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ผู้ต้องหาคนอื่นๆ อีก 5 คน ทำหน้าที่ปราศรัย หรือเตรียมผู้ชุมนุมลงถนน ในการชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564

ส่วนการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 เพื่อประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา พนักงานสอบสวนระบุเช่นกันว่า ผู้ต้องหาทั้งเก้ามีการแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น วชิรวิทย์  เป็นแกนนําเพจเฟซบุ๊กขอนแก่นพอกันทีโพสต์ชักชวนให้คนมาชุมนุม, ปราศรัยในที่ชุมนุม และชักชวนคนลงถนน, วีรภัทร ศิริสุนทร เป็นแกนนําและไลฟ์สดเพจดาวดิน ส่วนคนอื่นๆ เป็นพิธีกร ปราศรัย หรือชักชวนผู้ชุมนุมเดินขบวนไป สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นักกิจกรรมทั้งหมดที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างหนังสือขอความเป็นธรรมที่ยื่นต่ออัยการเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ ซึ่งหนังสือดังกล่าวยืนยันว่า ในการชุมนุมทั้งสองครั้ง จัดในที่โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้เบียดเสียดใกล้ชิดกัน ภายหลังการชุมนุมก็ไม่ได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งเนื้อหาปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อันเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ไม่ใช่การยุยงก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ทั้งนี้ ในจำนวนนักกิจกรรม 14 ราย ที่ถูกดำเนินคดีใน 2 คดีนี้ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นถึง 6 ราย ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, วิศัลยา งามนา, ศรายุทธ นาคมณี, วีรภัทร ศิริสุนทร และเจตน์สฤษฎิ์ นามโคตร และมี 5 ราย ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี ได้แก่ วชิรวิทย์, ศิวกร, พชร, ธนศักดิ์ และอิศเรษฐ์ 

 

X