ยกฟ้อง! อีก 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 12 นักกิจกรรมพ้นผิด ศาลชี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบ-ไม่แออัด ไม่ถึงกับกีดขวางจราจร 

27 ธ.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุมเมื่อต้นปี 2564 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 2 คดี คือ คดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 เรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 และคดีการชุมนุมวันที่ 1 มี.ค. 2564 ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลาย #ม็อบ28กุมภา หลังนักกิจกรรม 12 คน ถูกดำเนินคดีและมีภาระในการต่อสู้คดีมาเกือบ 2 ปี 

คดีแรกมี “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และนักกิจกรรมรวม 8 คน เป็นจำเลย ส่วนคดีที่ 2 มี “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง กับนักกิจกรรมรวม 9 คน เป็นจำเลย โดยมี 5 คน เป็นจำเลยในทั้งสองคดี 

ประมาณ 09.30 น. หลังนักกิจกรรมรวม 12 คน พร้อมทั้งทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เดินทางมาถึงศาล โดยหลายคน เช่น “นิวส์” จตุพร แซ่อึง ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดตั้งแต่เช้ามืด ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ก่อน จากนั้น จำเลยเข้าฟังคำพิพากษาต่อในคดีการชุมนุมวันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่ห้องพิจารณาที่ 3 

ศาลพิพากษายกฟ้องในทั้งสองคดี มีเหตุผลโดยสรุปว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันโรคให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งการชุมนุมไม่แออัด ไม่มีข้อเท็จจริงว่าเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิดตามฟ้อง ในคดีชุมนุมวันที่ 1 มี.ค. 2564 ที่โจทก์ฟ้องจำเลย 7 ใน 9 ราย ว่ากีดขวางจราจรและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาตด้วยนั้น ศาลก็วินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยมีเจตนา และการชุมนุมไม่ถึงขนาดกีดขวางการจราจร

คำพิพากษายกฟ้องในทั้งสองคดีนี้ ทำให้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งอัยการยื่นฟ้องแล้วรวม 4 คดี มีผลคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ ศาลยกฟ้องคดีชุมนุมให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 และคดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” เมื่อ 23 ก.ค. 2563 อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีการชุมนุมอีก 3 คดี คือ คดีชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” 20 ส.ค. 2563 และคดีคาร์ม็อบขอนแก่น 1 และ 22 ส.ค. 2564 ที่ยังอยู่ในชั้นอัยการ โดยยังไม่มีคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ 

.

พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยทั้งแปดจัดให้มีการชุมนุม และมีการรวมคนในลักษณะแออัด 

ในคดีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปสวนเรืองแสง และหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อ 20 ก.พ. 2564 อนันท์ เลิศฤทธิ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยย่อว่า 

เห็นว่า ประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ข้อ 3, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ข้อ 4 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 11 ข้อ 6 กำหนดให้เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรม เป็นผู้มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า การบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดเฉพาะเจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรม แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์คงได้ความเพียงว่า ก่อนวันเกิดเหตุมีการประกาศในเพจเฟซบุ๊ก ขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน, ภาคีนักเรียน KKC และเสรีชนคนกาฬสินธุ์ เชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรม โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งแปดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวหรือการโพสต์เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาชุมนุมแต่อย่างใด 

แม้โจทก์จะนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 พูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น, จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปราศรัย และจำเลยที่ 5 ประกาศรับสมัครอาสาสมัครดูแลความปลอดภัย แต่ก็เป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังมีการชุมนุมเกิดขึ้นแล้ว 

ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เปิดบัญชีธนาคารที่ระดมทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า มีการเบิกเงินมาใช้ในการจัดกิจกรรมหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับจำเลยทั้งสามเบิกความว่า มีการเปิดบัญชีไว้เพื่อรับบริจาคในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ก่อนหน้านี้นานแล้ว

และแม้โจทก์จะนำสืบว่า จำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ปราศรัยในที่ชุมนุม แต่ในวันเกิดเหตุก็มีผู้ปราศรัยมากกว่า 10 คน โดยจำเลยทั้งแปดนำสืบว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมแสดงความเห็น ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์จึงยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า จำเลยทั้งแปดมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุมและชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมมาตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด  

ประกอบกับ ร.ต.อ.ประยุทธ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นลักษณะที่คนทยอยกันมาร่วมชุมนุม พยานไม่ทราบจะมีการร่วมเตรียมสถานที่จัดการชุมนุมหรือมีการแบ่งหน้าที่กันทำหรือไม่  เช่นนี้ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมาในส่วนนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งแปดเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมตามประกาศดังกล่าว

นอกจากนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด หรือการกระทำที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์คงได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งแปดเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งยังได้ความว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมโดยเฉลี่ยมีประมาณ 150-180 คน 

ร.ต.อ.ประยุทธ ยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และตามคลิปวีดิโอหลักฐาน ผู้ชุมนุมเดินไปเดินมาตลอดเวลา ประกอบกับโดยสภาพการชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่มีเหตุที่ผู้ร่วมชุมนุมต้องหยุดนิ่งอยู่บริเวณหนึ่งบริเวณใดหรืออยู่รวมกลุ่มกับบุคคลอื่นเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสถานที่แออัดหรือมีการรวมคนที่มีความแออัด

พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งแปดกระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย พิพากษายกฟ้อง.

>>อ่านประมวลคดี เส้นทางนักกิจกรรม ชุมนุมเรียกร้อง #ปล่อยหมู่เฮา ต้องสู้คดีเกือบ 2 ปี 8 จำเลยยืนยัน แค่ร่วมชุมนุม-ปราศรัย ไม่มีโควิดระบาดในขอนแก่น

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจากเฟซบุ๊ก Tor Asawin

.

การชุมนุมสงบ ไม่เจตนากีดขวางจราจร ไม่มีหลักฐานว่า จำเลยทั้งเก้าจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โควิด-จัดหาเครื่องขยายเสียง 

ส่วนคดีการชุมนุมที่ลานหน้าคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนเคลื่อนขบวนไปหน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 1 มี.ค. 2564 สรรชัย รุ่งโรจน์ชนาทิพย์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยย่อว่า 

เห็นว่า ประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 29 ข้อ 3, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ข้อ 4 กำหนดให้เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดให้มีกิจกรรม เป็นผู้มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบคงได้ความเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุมีการประกาศในเพจเฟซบุ๊ก ขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน และภาคีนักเรียน KKC เชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรม โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเก้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าวหรือการโพสต์เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาชุมนุมแต่อย่างใด 

แม้โจทก์จะนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6, ที่ 8 และที่ 9 กล่าวปราศรัย, จำเลยที่ 3 เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม และจำเลยที่ 7 ถ่ายทอดสดการชุมนุม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งเก้ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุมและชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมมาตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด  

ประกอบกับตามคลิปวีดิโอเหตุการณ์ มีผู้ปราศรัยหลายคนประกาศแจ้งว่า ใครต้องการจะพูดอะไรก็ให้ขึ้นมาพูดได้ โดยไม่มีการระบุว่าต้องเป็นแกนนำเท่านั้น อีกทั้งปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นคนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ ซึ่งเดินเข้าออกด้านหลังผู้ปราศรัยตลอดเวลา และแสดงออกว่ารู้จักกับจำเลยที่ขึ้นปราศรัยมาก่อน การที่จำเลยร่วมปราศรัย จึงอาจเป็นเพียงได้รับเชิญให้ขึ้นไปปราศรัยเท่านั้น พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมาในส่วนนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งเก้าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมตามประกาศดังกล่าว

นอกจากนี้ ตามคลิปวีดิโอเหตุการณ์ปรากฏว่า จำเลยและผู้ร่วมชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย แม้ปรากฏภาพจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะปราศรัย แต่ที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง และขณะปราศัยจำเลยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมพอสมควร จึงไม่เป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่นภายหลังการชุมนุม 

ประกอบกับนายมรกต สุบิน ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการจัดกิจกรรมฉลองวันเกิดของบุคลากรในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด และในเดือนเมษายนมีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมในห้องปิดมิดชิด โดยปรากฏภาพว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่โควิดมากกว่าการชุมนุมในคดีนี้ซึ่งจัดในที่โล่งในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งเก้าเป็นผู้จัดกิจกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่นตามฟ้อง 

นอกจากนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด หรือการกระทำที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยนั้น ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์คงได้ความเพียงว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสถานที่แออัดหรือมีการรวมคนที่มีความแออัด 

อีกทั้งจำเลยเพียงแต่ปราศรัยแสดงความเห็น ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีคำพูดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ จึงเป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ โดยผู้ชุมนุมเพียงแต่เรียกร้องให้ตำรวจกล่าวคำขอโทษที่สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง นอกจากนี้ ไม่มีระเบียบของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำเลยทั้งเก้าจึงไม่ได้ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว 

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมจาก The Isaan Record

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6 ใช้ไมค์พูดปราศรัย แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเครื่องขยายเสียงโดยตรง เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงเป็นผู้ขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ขออนุญาตแล้วบุคคลอื่นก็สามารถใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใช้เครื่องขยายเสียงขออนุญาตเป็นรายบุคคลอีก ดังนั้นหากผู้ใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการจัดเตรียมเครื่องขยายเสียงย่อมไม่อาจฟังได้ว่ามีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ประกอบกับนายมรกตตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา และการจัดกิจกรรมของนักศึกษาไม่ต้องขออนุญาตในการใช้เครื่องขยายเสียง เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้จัดเตรียมเครื่องขยายเสียง อีกทั้งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในคดีอาจเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อยู่แล้วในมหาวิทยาลัย จำเลยอาจมีความเข้าใจว่า สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีเจตนากระทำความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กีดขวางการจราจร คำว่า กีดขวาง หมายถึง ขวางกั้นไว้ ขวางเกะกะ แต่ตามคลิปเหตุการณ์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นผู้สั่งการให้ผู้ชุมนุมเดินปิดกั้นถนน ถนนจากคอมเพล็กซ์ไป สภ.ย่อย มข. เป็นถนน 2 เลน ผู้ชุมนุมเดินใน 1 เลน อย่างเป็นระเบียบ แม้เดินในเลนรถสวน แต่ผู้ชุมนุมเห็นอยู่แล้วว่า ถนนมี 2 เลน จึงเดินในเพียง 1 เลน ไม่ได้มีเจตนาจะขวางกั้นถนนทั้งหมด

ส่วนถนนจากประตูยูเซ็นเตอร์ไป สภ.ย่อย มข. นายมรกตเบิกความว่า มีระยะทาง 100 เมตร ในระหว่างผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน มี รปภ.มข. และตำรวจช่วยดูแลการเดินขบวนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ประกอบกับ พ.ต.ท.ปรีชาเบิกความว่า ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่หน้า สภ.ย่อย มข. พยานกับพวกได้จัดการจราจรให้รถเบี่ยงไปเดินในเส้นทางอื่น พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักพอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีเจตนาขวางกั้นถนน ประกอบกับตามคลิปเหตุการณ์ผู้ชุมนุมพยายามเดินใน 1 ช่องทาง โดยรถยังสามารถเดินสวนได้ แม้จะมีความไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดกีดขวางการจราจร

เมื่อผู้ชุมนุมเดินถึงหน้า สภ.ย่อย มข. พบว่า ตำรวจตั้งแนวปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในลานจอดรถ และตามคลิปเหตุการณ์มีรถยนต์ติดไฟกระพริบจอดขวางถนนอยู่ ประกอบกับ ร.ต.อ.สุรศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตำรวจมีการนำรถยนต์มาจอดปิดกั้นด้วย เห็นได้ว่าผู้ชุมนุมไม่มีเจตนาปิดกั้นถนน เมื่อมีการเจรจาและตำรวจเปิดให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในลานจอดรถได้ ถนนก็โล่ง การจราจรสัญจรได้ตามปกติ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่มีเจตนากีดขวางการจราจร 

พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดจึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเก้ากระทำผิดตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย พิพากษายกฟ้อง.

>>อ่านประมวลคดี ย้อนทวน 9 นักกิจกรรมอีสานสู้คดี หลังชุมนุมใน มข. เรียกร้อง ตร.หยุดใช้ความรุนแรง ปฏิเสธเป็นผู้จัด-ไม่ได้ทำโควิดแพร่-ใช้เสรีภาพการชุมนุมตามปกติ

.

 

X