8 ต.ค. 2564 นักเรียน-นักศึกษา-นักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” 10 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาของ สภ.เมืองขอนแก่น รวม 3 คดี จากคาร์ม็อบขอนแก่น “แห่ ไล่ ประยุทธ์” 3 ครั้ง ในวันที่ 17 ก.ค., 1 ส.ค. และ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งมีชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ได้แก่ พ.ต.ท.ธีรภัทร์ วงค์วิลาศ สารวัตรสืบสวน, พ.ต.ท.วิโรจน์ นาหนองขาม รองผู้กำกับสืบสวน และ พ.ต.ท.สุกฤษฎิ์ พุทธิทัยธีรธร สารวัตรสืบสวน
นักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียกในทั้ง 3 คดี มีจำนวนรวม 15 คน เป็นนักเรียนมัธยมปลาย 3 คน (อายุต่ำกว่า 18 ปี 2 คน) และเป็นนักศึกษา 7 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ 10 คน ได้แก่ ไอค่อน (นามสมมติ), ขวัญข้าว, เปค (นามสมมติ), ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, ธนสิทธิ์ นิสยันต์, ชานน อาจณรงค์, วีรภัทร ศิริสุนทร, นุ้ก (นามสมมติ), พงศธร (สงวนนามสกุล) และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์
ส่วนนักกิจกรรมอีก 5 คน ได้แก่ กรชนก แสนประเสริฐ, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, พายุ บุญโสภณ, นิติกร ค้ำชู และกุลธิดา กระจ่างกุล ติดธุระอื่น จึงเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปในวันที่ 15 ต.ค. 2564
โดยอรรถพลและภาณุพงศ์ ถูกออกหมายเรียกทั้ง 3 คดี ขณะที่ณัฏฐสกล นักศึกษาปี 1 ได้หมายเรียกถึง 2 คดี
เหมือนเช่นทุกครั้งในระยะหลังที่มีการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง สภ.เมืองขอนแก่น ได้ระดมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) 3 กองร้อย พร้อมโล่ ควบคุมพื้นที่ด้านในและรอบ สภ. โดยปิดประตูทางเข้า พร้อมทั้งตั้งแผงเหล็กกั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า นอกจากผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ไว้วางใจ และทนายความ โดยมีการเช็คชื่อและตรวจค้นกระเป๋าผู้ที่จะเข้าไปในรั้วสถานีตำรวจ และจัดตั้งเต็นท์พร้อมเก้าอี้ให้ประชาชนที่จะมาให้กำลังใจอยู่บนถนนด้านข้างทางเข้า นอกจากนี้ มีการนำผ้าซาแลนสีเขียวคลุมป้ายชื่อ “สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น” ไว้อย่างมิดชิด
ที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะพนักงานสอบสวนได้เริ่มแจ้งพฤติการณ์คดีและข้อกล่าวหาให้นักกิจกรรมทราบทีละคน
ในคดีคาร์ม็อบขอนแก่น วันที่ 17 ก.ค. 2564 ซึ่งมีผู้ถูกออกหมายเรียก 2 คน คือ อรรถพล และภาณุพงศ์ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีให้อรรถพลที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพียงคนเดียวทราบว่า กิจกรรม “คาร์ม็อบ ขอนแก่น” ในวันดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน รถยนต์ประมาณ 50 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 40 คัน ระหว่างเคลื่อนขบวนมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล และมีการหยุดชะลอรถเป็นระยะอันเป็นการกีดขวางทางสาธารณะและเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร
จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอรรถพลว่า “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท) และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ (มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท)
เนื่องจากคดีมีเพียงโทษปรับ อรรถพลจึงให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้ทำการเปรียบเทียบปรับ โดยปรับ 1,000 บาท ฐานกีดขวางทางสาธารณะ และปรับ 200 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีอาญาจึงยุติลงในชั้นนี้
ส่วนคาร์ม็อบขอนแก่น #2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 คน มีอรรถพล, ณัฏฐสกล และธนสิทธิ์ มาในครั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีว่า กิจกรรม “CAR MOB #2” ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 150 คน นํารถยนต์เข้าร่วมประมาณ 50 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 60 คัน มีการเคลื่อนขบวนรถไปในตัวเมืองขอนแก่นในลักษณะกีดขวางการจราจร บีบแตรรถส่งเสียงดัง แล้วไปหยุดที่บริเวณถนนหน้าศูนย์ราชการ มีการปราศรัยและทํากิจกรรมโจมตีรัฐบาล รวมทั้งประณามการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ กทม. ในวันนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด -19
จากนั้นแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามว่า “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันกีดขวางการจราจร และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
นอกจากนี้ ณัฏฐสกลยังถูกแจ้งข้อหา เผาภายในระยะ 500 เมตร จากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันในลักษณะที่อาจไม่ปลอดภัยแก่การจราจร อีก 1 ข้อหา เนื่องจากพนักงานสอบสวนอ้างว่า เป็นผู้ลงมือเผาหุ่นจำลองหน้าเวทีปราศรัย
และคาร์ม็อบขอนแก่น #3 เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 มีนักกิจกรรมถูกออกหมายเรียกถึง 13 คน เป็นนักเรียนและเยาวชน 3 คน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกไปแจ้งข้อกล่าวหาอีกห้องหนึ่ง ในส่วนที่ไม่ใช่เยาวชน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 6 นักกิจกรรมที่เดินทางมาครั้งนี้ ได้แก่ อรรถพล, ณัฏฐสกล, ชานน, วีรภัทร, นุ้ก และพงศธร โดยระบุพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีคล้ายกับคดีอื่นว่า มีการเคลื่อนขบวนรถในลักษณะกีดขวางการจราจร บีบแตรรถส่งเสียงดัง และเมื่อถึงบริเวณป้ายตํารวจภูธรภาค 4 มีการรวมกลุ่มคนประมาณ 60 คน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ทั้งมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เนื่องจากมีการปาถุงบรรจุสีน้ำใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และโล่เจ้าหน้าที่ตํารวจ
ก่อนระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันชุมนุมที่มีจำนวนมากกว่า 20 คน และ 50 คน เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันกีดขวางการจราจร และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ในคดีคาร์ม็อบครั้งที่ 2 และ 3 นั้น นักกิจกรรมทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 21 วัน บางคนไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่เขียนข้อความอื่น ได้แก่ “คนเท่ากัน” “คนยังคง ยืนเด่น โดยท้าทาย” “ประชาธิปไตยจงเจริญ III” และ “Republic of Thailand”
ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีทั้งนักศึกษาคณะนิติศาสตร์, มนุษยศาสตร์ฯ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่ถูกดำเนินคดี ได้มีรองคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์เดินทางมาร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาในฐานะผู้ไว้วางใจด้วย
กรณีนักเรียนและเยาวชน 3 ราย ไอค่อน, ขวัญข้าว และเปค พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีเช่นเดียวกับคนอื่น โดยกล่าวหาว่า ขวัญข้าวและเปคเป็นผู้ปาสีน้ำใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และถนน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาฐาน “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนไอค่อน พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าขึ้นร้องหมอลำ จึงแจ้งข้อกล่าวหา “โฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ไว้ใจเข้าร่วมรับฟัง
เยาวชนทั้งสามรับว่า ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริง พนักงานสอบสวนจริงเปรียบเทียบปรับขวัญข้าวและเปคคนละ 1,000 บาท และปรับไอค่อน 200 บาท ทำให้คดีอาญาสิ้นสุดไป
นร. – น.ศ. ไม่คาดฝัน! ถูกดำเนินคดี แม้เป็นสิทธิ ออกมาเรียกร้องสิ่งที่ดี
ภายหลังเสร็จกระบวนการทางคดี ไอค่อน นักเรียน กศน.ระดับมัธยมปลาย ซึ่งอีกด้านเป็นนักร้องวงหมอลำ หารายได้เลี้ยงตัวเอง และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมด้วยธงไพรด์ผืนใหญ่ แม้จะโล่งใจที่คดีจบ แต่ก็กล่าวว่า “งงมาก หนูร้องหมอลำก็ถูกดำเนินคดี”
ขณะที่เปค นักเรียนชั้น ม.5 สะท้อนความรู้สึกที่ถูกดำเนินคดีว่า “รู้สึกหงุดหงิดค่ะ เพราะมันเป็นสิทธิของเราที่สามารถออกไปเรียกร้องได้ รัฐควรจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทำงานห่วยพวกเราคงไม่ต้องไปไล่นะคะ หลังจากนี้ก็ยังไปชุมนุมเช่นเดิม เพราะนี่คือสิทธิของเรา รัฐควรรับฟังแล้วนำไปแก้ปัญหาไม่ใช่มาไล่จับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม”
ด้าน “อ๋า” ณัฏฐสกล นักศึกษาปี 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “ส่วนตัวผมรู้สึกงงงวยและไม่เข้าใจเป็นอย่างมากกับการกระทำของรัฐที่ทำต่อประชาชน ผมคิดว่า พวกผมและเพื่อนๆ คนอื่นได้ออกมาเคลื่อนไหวต่างมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศมันดีขึ้นกันทั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่กลายเป็นที่ทำให้รัฐสูญเสียความมั่นคง ทั้งๆ ที่เราอยู่ในประเทศที่เป็น “ประชาธิปไตย” อยู่แท้ๆ แต่ทำไมรัฐถึงไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย มิหนำซ้ำยังให้คดีให้หมายกับคนเหล่านี้”
“ผมเลยคิดว่านี่มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเลยนะ ทำไมรัฐถึงไม่เปิดรับเสียงที่แตกต่าง ทำไมรัฐถึงไม่ฟังเสียงประชาชน ทำไมรัฐถึงไม่เคารพความหลากหลายของประชาชนเลย นี่เลยยิ่งเป็นภาพสะท้อนของอำนาจเผด็จการที่ปรากฏอยู่สังคมไทยเรา และผมก็ยังจะสงสัย ตั้งคำถาม และส่งเสียงออกมากับการกระทำของรัฐบาลต่อไป”
“ยิ่งรัฐแจกหมายให้กับผู้ที่กล้าออกมาพูดมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ฟังเสียงประชาชน” อ๋าทิ้งท้าย
.