อ่านบันทึกไต่สวนกรณีจนท.เรือนจำบุกเรือนนอน 4 รอบ พยายามนำตัวแกนนำ “ราษฎร” ออกไปกลางดึก อานนท์วอน “คนที่ช่วยชีวิตผมได้มีแค่ศาล”

เมื่อวันที่ 17 และ 22 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณา 812 มีการไต่สวนอานนท์ นำภา, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องขังคดี ม.112 จากม็อบ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. 63 รวมทั้งอโนทัย ทิ้งรักษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนายแพทย์ วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 อานนท์ นำภา ทนายความและผู้ต้องขังทางการเมือง ได้เขียนคำร้องถึงศาลอาญาในระหว่างการสืบพยานในคดีคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 ระบุว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้คุมพยายามจะเอาตัว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ออกไปควบคุมนอกแดน โดยมีการพยายามมานำตัวถึง 4 ครั้งในช่วงกลางดึก และมีการอ้างเพียงว่าจะเอาตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดวิสัยโดยปกติที่จะไม่มีการนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มากลางดึกยังไม่ติดป้ายชื่อ ทำให้เขาเกรงว่าจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต ศาลจึงมีคำสั่งเรียกไต่สวนเรื่องดังกล่าว โดยการเบิกตัวอานนท์มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช้าวันที่ 17 มี.ค. 64

>> อานนท์ทำหนังสือถึงผบ.เรือนจำ เรียกร้องเปิดกล้อง-ชี้แจงกรณีจนท.พยายามนำตัว “ไมค์-ไผ่-โตโต้” จากห้องขังกลางดึก

บรรยากาศการไต่สวนในห้องพิจารณา 812 เป็นไปด้วยความเคร่งครัด โดยมีเจ้าหน้าที่ศาล, รปภ. และตำรวจศาลกว่า 10 คน คอยตรวจตราหน้าห้องและไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังการพิจารณา ขณะเดียวกันญาติ ผู้ได้รับอนุญาตให้นั่งฟังการพิจารณาและทนายความ ต้องปิดมือถือและนำมาฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ศาลด้านหน้าผู้พิพาษา แม่ไผ่, แม่ไมค์ และครอบครัวของทนายอานนท์ ได้เข้าฟังการไต่สวน ขณะที่แม่ของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังทั้งหมดมิใช่เพียงแค่สามคน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณาแต่อย่างใด

ทนายความแถลงต่อศาลว่า นักข่าวให้ความสนใจต่อกรณีดังกล่าวและอยากขอส่งตัวแทนเข้าฟังการพิจารณานี้ด้วย พร้อมทั้งกล่าวว่า การไม่เปิดให้ประชาชนเข้าฟังไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย ศาลกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในการนำเสนอชื่อและภาพของผู้พิพากษาในลักษณะกล่าวร้าย ทำให้ต้องจำกัดการเข้าฟังการพิจารณาและกล่าวถึงการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 64 ซึ่งเกิดความวุ่นวายขึ้นในห้องพิจารณาขณะที่ “เพนกวิน” ลุกขึ้นแถลงข้อความต่อศาล จนศาลต้องพักการพิจารณา โดยภายหลังปรากฎภาพถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนภาพจากกล้องวงจรปิดว่าใครเป็นผู้ถ่ายภาพ 

ก่อนทนายอานนท์ซึ่งผู้เขียนคำร้องจะขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรก ศาลกล่าวกับทุกคนในห้องพิจารณาว่าศาลจะให้ความยุติธรรมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ระบบการไต่สวนเป็นระบบที่มีผู้พิพากษาเป็นผู้ซักถาม โดยผู้พิพากษาให้อานนท์ไล่เรียงเหตุการณ์ของวันที่ 15 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ

 

จนท.ราชทัณฑ์ เข้ามาในห้องขัง 4 ครั้ง ตลอดช่วง 3 ทุ่ม-ตี 2 

อานนท์เบิกความว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 15 มี.ค. 64 ตน, พริษฐ์, สมยศ และปติวัฒน์ จำเลยในคดี  #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกนำตัวกลับจากศาลแห่งนี้ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนเข้าไปมีการตรวจอุณหภูมิที่อาคารพยาบาล โดยทุกคนมีอุณหภูมิปกติ มาตราการดังกล่าวใช้กับทุกคนที่เข้าเรือนจำ ทั้ง 4 คนถูกนำตัวไปที่แดน 2 มีเพียง 3 คนที่นั่งกินข้าวด้วยกัน เนื่องจากพริษฐ์เริ่มอดอาหารประท้วงตามที่ประกาศในวันนั้น  หลังจากนั้นพวกตนขึ้นไปโรงนอน

ห้องขังแดน 2 เป็นแดนกักโรคของเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ออกศาลจะถูกกักที่นั่น 7 วัน หลังจากนั้นจะถูกกักในแดนที่ตัวเองประจำอยู่อีก 7 วัน สำหรับผู้ต้องขังที่เข้ามาใหม่ จะถูกกักที่แดนสอง เป็นเวลา 14 วัน หลังจากครบระยะเวลาก็จะถูกตรวจโควิด ก่อนถูกจำแนกไปยังแดนอื่นๆ  สภาพแวดล้อมของแดน 2 มีเรือนขัง 2 ชั้น ชั้นบนมีห้องขังขนาดราว 4×12 เมตร 10 ห้อง ไว้ขังผู้ต้องขังเพื่อกักโรคทั้ง 10 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องขังผู้ต้องขังทั่วไป ทั้ง 4 ถูกขังในห้องหมายเลข 7 โดยมีผู้ต้องขังในห้องเดิม 9 คน ผู้ต้องขังบางคนเคยอยู่ห้องเดียวกับตน 

ไม่เกิน 1 ทุ่ม หลังสวดมนต์ เจ้าหน้าที่นำตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์, “ไผ่” จตุภัทร์ และ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ที่ศาลอนุญาตให้ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี  เข้ามาที่ห้อง 7 ที่ตนทั้งสี่คนถูกควบคุมตัวอยู่

เวลาประมาณ 21.00 น. มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 คน มาพร้อมพยาบาล ตนเห็นว่า ไมค์, ไผ่ และโตโต้ จะถูกนำตัวไปแยกขังที่เรือนพยาบาล จึงบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า  ศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวไว้ด้วยกัน ไว้ตอนเช้าค่อยแยกขัง โดยให้ทำต่อหน้าคนอื่นๆ เพราะเกรงจะมีอันตราย เหตุที่ตนทราบว่าจะมีอันตรายเพราะทนายเล่าให้ฟังว่า คนชื่อค้อกจะส่งคนมาฆ่าให้เสียชีวิตเหมือนหมอหยองและ พ.ต.ต.ปรากรม ซึ่งมีข่าวว่า ทั้งสองเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว 

ตนคุยกับไผ่ว่า สุดท้ายแล้วหากจะถูกแยกกันก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ฟ้าสว่างก่อน และหากถูกแยกไปจริงก็จะขอให้ศาลสั่งให้นำมาขังรวมกันอีกครั้ง หลังจากเข้ามาได้ประมาณ 15 นาที ผู้คุมทั้งสามก็ออกไปจากห้องตนจำชื่อผู้คุมเหล่านั้นไม่ได้ แต่จำหน้าได้ เพราะเป็นผู้คุมที่เคยเห็นอยู่ปกติ หากศาลเรียกวีดิโอจากกล้องวงจรปิดมาแสดงก็จะเห็นหน้าตาชัดเจน เพราะพวกเขาเพียงคาดหน้ากากอนามัย

ประมาณ 23.45 น. มีผู้คุมกลุ่มเดิม 3-4 คน ซึ่งเป็นผู้คุมประจำ และเจ้าหน้าที่อีกราว 4-5 คน มายืนอยู่ข้างนอกห้องขัง บอกว่าจะนำพวกตนทั้ง 7 คนไปตรวจโควิด  พวกตนจึงเดินไปคุย ยืนยันว่ารุ่งเช้าค่อยดำเนินการ ที่ปฎิเสธการตรวจไปเพราะรู้สึกแปลกที่เจ้าหน้าที่จะตรวจแค่ 7 คน ผู้คุมจึงบอกว่าจะไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อน

เวลาประมาณ 00.15 น. มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 คน ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ชุดเดิม เดินเข้ามาบอกว่าจะนำตัวคน 16 คน ในห้องขังหมายเลข 7 ไปตรวจโควิด ซึ่งก่อนหน้านี้จะเข้ามาเอาตัวไปเฉพาะ 7 คน พวกตนยังคงปฎิเสธการตรวจ เนื่องจากเป็นยามวิกาลแล้ว และการตรวจโควิดต้องนำสำลีแหย่เข้าไปในจมูก ตนกังวลว่าหากถูกใส่ยาสลบจะเป็นอันตราย อีกทั้งไม่ทราบว่าจะถูกพาไปตรวจที่ไหน ผู้คุมจึงนำตัวผู้ต้องขัง 9 คนออกไปห้องข้าง ๆ เหลือพวกตน 7 คน อยู่ด้วยกัน

หลังจากนั้นพวกตนทั้งเจ็ดนอนไม่หลับอีกเลย กระทั่งเวลาประมาณ 02.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เข้ามาอีกครั้งตอน นอกจากผู้คุมชุดเดิม 3-4 คน ยังมีเจ้าหน้าที่อีกกว่า 10 คน แต่งกายด้วยชุดสีน้ำเงินเข้ม ไม่ติดยศและชื่อ ไผ่ลุกขึ้นถือสมุดไปจดชื่อผู้คุมที่ใส่ชุดสีกากีซึ่งมีป้ายชื่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ไม่ติดป้ายชื่อไม่มีใครยอมแจ้งชื่อ เราพูดกันทำนองว่า “มันไม่ใช่แล้ว” 

เจ้าหน้าที่กลุ่มนั้นแจ้งว่า จะเอาพวกตนทั้งหมดไปที่สถานพยาบาลราชทัณฑ์ ตนถามเจ้าหน้าที่ว่า “มันจะปลอดภัยไหม” ตนรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ดีกว่า เพราะหากออกไปนอกแดนจะไม่มีกล้องวงจรปิด ซึ่งจะถูกพาไปที่ไหนก็ได้ ตนไม่กลัวถูกเอาไปขังที่อื่นแต่กลัวถูกฆ่า เพราะโดยสามัญสำนึกแล้ว เวลา 02.30 น. ไม่ใช่เวลาย้ายห้องขัง ซ้ำเจ้าหน้าที่มามากกว่า 10 คน แต่ไม่ติดป้ายชื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ หลังจากนั้นพวกตนพากันอยู่ในบริเวณที่มีกล้องตลอดเวลา ตนยังได้เดินไปหมุนเข็มนาฬิกาให้เป็นเวลา 7 โมงเช้า เนื่องจากความกลัวอีกด้วย 

 

ที่มาแห่งความกังวล: ผู้ถูกกล่าวหา ม.112 ทั้งผู้ลี้ภัยและผู้ต้องขังล้วนถูกฆาตกรรม

อานนท์เบิกความต่อว่า เวลา 7.00 น. ตนต้องเดินทางมาที่ศาล เนื่องจากมีนัดสืบพยานในคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 24 มี.ค. 61 หรือ คดี #​Army57  เมื่อมาถึงศาลในเวลา 8.00 น. จึงเขียนคำร้องฉบับดังกล่าวขึ้น เหตุที่เชื่อว่าจะมีคนเอาชีวิตเพราะในบรรดาผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ล้วนถูกทำให้เสียชีวิต เช่น ผู้ที่ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือผู้ต้องขัง อาทิ หมอหยองกับ พ.ต.ต.ปรากรม ทำให้ตนเป็นกังวล อีกประการที่เชื่อว่าจะถูกฆ่าในเรือนจำ คือการที่ตนไม่ได้รับการประกันตัวอย่างไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด ทั้งที่ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ตนเชื่อว่าศาลอาญาไม่ได้มีอำนาจในการสั่งขังด้วยตัวเองแต่มีผู้มีอำนาจสั่งการอีกที 

ตนเห็นว่า การตรวจโควิดโดยปกติก็ไม่ได้ตรวจกันในเวลากลางคืน และจะตรวจก่อนจะถูกแยกแดน หากเห็นว่าจะต้องตรวจทั้ง 3 คนอย่างเร่งด่วน ก็ควรแยกทั้ง 3 ไปที่แดนพยาบาลตั้งแต่ตอนรับเข้ามา แต่ทั้งสามก็ผ่านเข้ามายังแดน 2 ได้ ตนออกไปศาลบ่อยๆ ระหว่างถูกคุมขัง แต่ก็เพียงต้องกลับมากักตัวที่แดน 2 เท่านั้น การอ้างว่าจะเอาไปกักโรคที่สถานพยาบาลก็ฟังไม่ขึ้น เพราะห้อง 7 แดน 2 ก็คือที่กักโรคอยู่แล้ว

 

อานนท์ชี้ จดหมายข่าวชี้แจงจากราชทัณฑ์บิดเบือนหลายจุด

อานนท์เบิกความอีกว่า วันนี้ (17 มี.ค. 64) ทราบว่าเพจเฟซบุ๊กราชทัณฑ์มีการโพสต์จดหมายข่าว 1 ฉบับ ชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ปัจจุบันลบออกไปแล้ว ตนเห็นว่าคำชี้แจงนี้บิดเบือนหลายจุด จึงขอนำมาชี้แจงต่อศาล โดยศาลให้เจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสารดังกล่าวมาประกอบสำนวน

ประการแรก เวลาในหมายข่าวชี้แจงบอกว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตอน 23.00 น. แต่จริงๆคือ 23.45 น. ในหมายข่าวยังไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงเวลา 02.00 แต่ประการใด ทั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง จึงอยากให้ศาลเรียกดูกล้องวงจรปิดด้วย อีกประการตนทราบตอนเช้าวันที่ 16 มี.ค. ว่า ทั้งหมดเป็นคำสั่งของนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ตนไม่ได้เขียนลงคำร้องเพราะกลัวจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท เมื่อท่านแถลงข่าวรับเอง จึงขอให้ศาลเรียกนายแพทย์วีระกิตติ์มาไต่สวนด้วย 

อานนท์ยังกล่าวว่า วานนี้ (16 มี.ค.) ประมาณ 19.00 น. รองอธิบดีคนดังกล่าวกับผู้ที่แจ้งความพริษฐ์ในข้อหา 112 (ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) ได้เข้าไปในเรือนจำและถ่ายรูปพวกตนในห้องขัง นอกจากนี้ตนยังได้เห็นข่าวในเว็บไซต์ข่าว (Top news) ซึ่งทนายให้ดูว่า กรมราชทัณฑ์ได้สั่งการให้ตรวจสอบกรณีการเขียนคำร้องของตน แต่แต่งตั้งนายแพทย์วีระกิตติ์ เป็นผู้ตรวจสอบสวน ตนเห็นว่าสำนักข่าว Top News ซึ่งเอาข่าวไปรายงานนั้นมีความคลาดเคลื่อนทั้งหมด และการให้สัมภาษณ์ของนายแพทย์วีระกิตติ์ แสดงทัศนคติที่แย่ต่อผู้ต้องขังทางการเมือง 

อานนท์แถลงต่อศาลทิ้งท้ายว่า “คนที่ช่วยชีวิตผมได้มีแค่ศาล ญาติหรือทนายก็ช่วยผมไม่ได้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านกำลังนั่งอยู่ตรงหน้าคนที่กำลังจะตาย”

 

เรือนจำอ้างจำเป็นต้องแยกและตรวจโควิด ไผ่-ไมค์-โตโต้ เร่งด่วน เนื่องจากมาจากพื้นที่เสี่ยง ขณะผู้ต้องขังใหม่จากฝั่งธนฯ เช่นกันไม่ถูกแยก

บ่ายวันเดียวกัน เวลา 13.30 น. อโนทัย ทิ้งรักษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าเบิกความเป็นลำดับถัดมา  ระบุว่า ตนมารับตำแหน่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 22 ก.พ. 64 โดยปกติเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มี 8 ส่วนงาน ตามระเบียบของเรือนจำ ผู้ต้องขังตามหมายขังของศาล ต้องมีกระบวนการรับตัวและมีมาตรการป้องกันโควิด โดยแบ่งนักโทษเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ต้องขังใหม่ ที่ต้องทำประวัติในแดนแรกรับและตรวจสุขภาพ มีแดนเฝ้าระวังโควิดในแดนสอง  ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ห้องขังชั้นที่ 1 สำหรับนักโทษที่ออกไปทำงาน มีห้องสมุด ที่รับประทานอาหาร ชั้นที่ 2 สำหรับนักโทษออกศาลหรือผู้ต้องขังใหม่ สำหรับระบบรักษาความปลอดภัยมีกล้องวงจรปิด ติดหน้าห้องและบริเวณทางเดิน

ขั้นตอนการรับตัวเข้าเรือนจำ หลังจากรับตัว สอบประวัติ วัดไข้ จะให้ผู้ต้องขังรับประทานอาหารและอาบน้ำ โดยห้องขังทุกห้องจะเปิดไฟถึงเช้า เมื่อเข้ามาในแดน 2 แล้วจะถูกขังอยู่ 14 วัน ออกมาไม่ได้ ตลอด 14 วัน ในห้องขังนั้นมีส้วมและที่อาบน้ำ อาหารมีคนจัดขึ้นไปให้ จะออกมาจากห้องได้คือตอนป่วย หากป่วยหนักจะต้องเอาออกมารักษาที่เรือนพยาบาล และเมื่อออกศาลแล้วต้องกลับเข้าไปเริ่มกักตัวใหม่

ในวันเกิดเหตุ ตนทราบจากรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.40 น. มีผู้ต้องขังมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี 3 ราย มีการรับตัว ตรวจร่างกาย ตรวจสอบทะเบียนทำประวัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่พาไปกักตัวที่แดน 2 โดยนำไปขังรวมกับผู้ต้องขังที่ออกศาลในวันนี้ ผู้ต้องขังในห้องดังกล่าวมีจำนวนรวม 16 คน 

หลังจากเจ้าหน้าที่รายงานให้ตนทราบ ตนจึงรายงานไปยังรองอธิบดี (นายแพทย์วีระกิตติ์) ว่า มีผู้ต้องขัง 3 คน มาจากพื้นที่เสี่ยงธนบุรีซึ่งติดกับย่านตลาดบางแค บางบอน นายแพทย์วีระกิตติ์จึงนำทีมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 6-7 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไปที่แดน 2 โดยเห็นว่าหากไม่ตรวจคัดกรอง 3 คนจากพื้นที่เสี่ยง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้อื่นทั้งนักโทษและเจ้าหน้าที่ ตนเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับคณะแพทย์ โดยนายแพทย์วีระกิตติ์ดูความเรียบร้อยอยู่ด้านล่าง

ศาลได้ขอตารางการเข้าเวรของคืนวันที่ 15 มี.ค. 64 เพื่อประกอบการไต่สวนด้วย โดยศาลอยากทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กี่คนและเป็นใครบ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในเวลาดังกล่าว นายอโนทัยกล่าวว่า ในวันดังกล่าวมีผู้ปฎิบัติหน้าที่หลายหน้าที่ 

นายอโนทัยเบิกความต่อว่า เวลาประมาณ 3 ทุ่ม เจ้าหน้าที่เดินทางไปแจ้งว่า จะนำตัว 3 คน ไปกักโรคที่สถานพยาบาล แต่ทั้งสามปฏิเสธ ตนและเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์จึงลงมาหารือกันและกลับขึ้นไปอีกครั้งเพื่อตรวจทั้งห้อง เนื่องจากกลัวว่าทั้ง 3 คน จะนำเชื้อมาติดคนอื่นหากมีอาการป่วย การเข้าไปในห้องขังครั้งที่ 2 สามารถนำตัวผู้ต้องขังมาตรวจ Swab (ใช้สำลีพันที่ก้านไม้แหย่เข้าไปในโพรงจมูก) ได้ 9 คน ส่วนอีก 7 คน คืออานนท์และพวกไม่ยอมไปตรวจ 

เมื่อพยาบาลนำ 9 คน ไปตรวจแล้ว จึงต้องการจะแยก 7 คน ที่ไม่ยอมตรวจไปกักตัวที่สถานพยาบาล แต่ทั้งหมดไม่ยอมไป จึงต้องนำตัว  9 คน แยกออกไปแทน แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีกำลังไม่พอ โดยมีอยู่ไม่เกิน 10 คน จึงต้องนำเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ลาดยาวมาด้วย โดยเป็นเจ้าหน้าที่นอกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ในกลุ่มเรือนจำลาดยาว ตนไม่ทราบว่ามาจากเรือนจำอะไรบ้าง แต่แต่งกายเหมือนกัน เป็นชุดปฏิบัติการพิเศษราชทัณฑ์ซึ่งมีสีกรมท่า ซึ่งในช่วงเวลาตี 2 ทีมแพทย์ไม่ได้มาด้วย

ตนเดินทางขึ้นไปกับทีมเจ้าหน้าที่ในช่วง 3-5 ทุ่ม หลังจากนั้นไม่ได้ขึ้นไปด้วย โดยยืนอำนวยการอยู่ด้านล่างที่ประตูแดน เมื่อคณะเจ้าหน้าที่แยกทั้ง 9 คน ไปอยู่อีกห้องหนึ่งแล้ว ตนก็เดินทางกลับ 

รักษาการ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เบิกความอีกว่า เรือนจำให้ความสำคัญกับการคัดกรองการแพร่เชื้อโควิด-19 ในฐานะรักษาการ ผบ.เรือนจำ ไม่สามารถรับผิดชอบหากเกิดการแพร่เชื้อ จึงต้องเข้มงวดและเป็นนโยบายรัฐบาลด้วย หากปล่อยปละละเลยให้มีคนติดเชื้อ 1 ราย จะเกิดความเสียหายต่อทางราชการ ซึ่งมีนักโทษ 3,000 กว่าคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อช่วงวันที่ 10 มี.ค. มีผู้ต้องขังมาจากศาลแขวงพระนครใต้ เพื่อรอส่งตัวไปสถานกักขังกลางปทุมธานี แต่ 2 วันถัดมา ได้รับรายงานว่าผลตรวจเป็นบวก เจ้าหน้าที่ 8 นาย จึงต้องกักตัว ผู้ต้องขังช่วยงาน 30 กว่าคนก็ต้องกักตัวที่แดน 2 เช่นกัน เพราะเหตุนี้ทีมแพทย์และพยาบาลจึงต้องเข้ามาตรวจเชื้อโควิดทันที จะปล่อยช้าไม่ได้โดยเด็ดขาด 

ศาลถามว่า ในการจับนักโทษแยกกันเป็นระเบียบหรือเป็นดุลยพินิจ เหตุใดไม่แยกตั้งแต่เข้าเรือนจำ 

นายอโนทัยเบิกความตอบว่า ตนและรองอธิบดีไม่ได้สั่งให้แยกตั้งแต่แรก เมื่อได้รับรายงานว่าทั้งสามถูกส่งตัวไปแดน 2 จึงสั่งให้แยกไปสถานพยาบาล ตนไม่ทราบว่าทำไมไม่แยกในทันที ทั้งนี้ ในการแยกผู้ต้องขังไปกักตัวมีกรอบมาตรการกำหนดไว้ แต่ไม่ได้มีระเบียบบังคับ การสั่งแยกเป็นความเห็นและการหารือของคณะแพทย์ พยาบาล โดยตนเป็นผู้สั่งตามอำนาจหน้าที่รักษาการ

ศาลถามอีกว่า วันที่ 15 มี.ค. 64 นอกจากไผ่ ไมค์ โตโต้ มีผู้ต้องขังเข้าใหม่มาจากฝั่งธนฯ เช่นกัน ทำไมไม่แยกคนเหล่านั้นด้วย นายอโนทัยตอบว่า เนื่องจากเขามีอุณภูมิปกติ โดยก่อนหน้านั้น นายอโนทัยก็เบิกความตอบศาลว่า ไมค์ ไผ่ โตโต้ ผ่านการตรวจอุณหภูมิเบื้องต้นโดยไม่พบว่าผิดปกติ

สุดท้าย รักษาการ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตอบคำถามศาลว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วงตีสองไม่มีป้ายชื่อติด เนื่องจากป้ายชื่อซึ่งเป็นตีนตุ๊กแกอาจจะหลุด หรือเจ้าหน้าที่อาจจะลืมติด 

 

ไมค์-ไผ่ เบิกความ ถูกวัดอุณหภูมิ 3 รอบ ไม่พบไข้ ก่อนเข้าแดนต้องไปเรือนพยาบาลแต่ไม่ถูกกักตัวไว้ตั้งแต่แรก

ต่อมา วันที่ 22 มี.ค. 64 ศาลนัดไต่สวนพยานอีก 3 ปาก ประกอบด้วย ไมค์, ไผ่ ซึ่งเข้าเบิกความในช่วงเช้า และนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เบิกความในช่วงบ่าย วันดังกล่าวยังคงมีการเก็บโทรศัพท์ทุกคนในห้องพิจารณา และมีตำรวจศาลถือเครื่องตรวจจับโลหะ พร้อมทั้งยืนเฝ้าอยู่บริเวณห้องพิจารณาราว 10 คน มีการจำกัดให้เฉพาะญาติของไผ่และไมค์เข้าร่วมฟังการไต่สวน แต่อนุญาตให้นักข่าวเข้าได้ 4 คน   

ไมค์ เบิกความเป็นคนแรก หลังจากไมค์เบิกความเสร็จแล้ว ไผ่จึงถูกตัวมาที่ห้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า หลังถูกฟ้องในวันที่ 8 มี.ค. 64 จากคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีระหว่างวันที่ 8 – 15 มี.ค. 64 เป็นเวลา 8 วัน โดยวันที่ 8 มี.ค. มีการซักประวัติ 2 รอบ มีการนำตัวไปแดนกักโรค มีการวัดไข้ แต่ยังไม่มีการตรวจหาโควิด อุณหภูมิของพวกตนเป็นปกติ 

หลังจากนั้นมีการแยกพวกตนให้อยู่คนละห้องกัน ไมค์เบิกความว่าตนอยู่ในห้องที่มีทั้งหมด 10 คน แต่จำเลขห้องไม่ได้ ส่วนไผ่อยู่ในห้องหมายเลข 9 ซึ่งมีผู้ถูกคุมขัง 9 คน เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการตรวจโควิดในวันที่ 9 มี.ค. 64 ต่อมา เช้าวันที่ 9 มี.ค. มีเจ้าหน้าที่มาตรวจโควิดที่หน้าห้องขัง มีเก้าอี้นั่ง เจ้าหน้าที่ใช้สำลีแหย่จมูก นำสารคัดหลั่งไปตรวจ และแจ้งให้รอผลตรวจ 2 วัน แต่ตนก็ไม่ได้ทราบผลตรวจ ทุกวันผู้ช่วยเจ้าหน้าที่จะมาตรวจวัดไข้ ตลอดช่วงกักตัวเพื่อควบคุมโควิด ไผ่เล่าว่าไม่ได้ออกจากห้องขังเลย ยกเว้นการไปรับของที่มีคนซื้อให้ 1 ครั้ง 

เมื่อถึงวันที่ 15 มี.ค. ทั้งสอง รวมทั้งโตโต้ ได้ถูกเบิกตัวมาศาล ช่วงเย็นจึงถูกนำตัวกลับไปเรือนจำพิเศษธนบุรีด้วยรถตู้ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อปั๊มลายนิ้วมือและเซ็นเอกสารฝากเอาเงินออก ก่อนทั้งสามถูกย้ายไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามที่ศาลอนุญาต โดยขณะนั้นยังไม่ค่ำ ไมค์สังเกตว่าท้องฟ้ายังสว่างอยู่  

เมื่อถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทุกคนต้องล้างมือและได้รับการวัดไข้ ก่อนถูกตรวจค้นถุงผ้าที่นำมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีและตรวจร่างกาย  เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ จึงถูกส่งไปที่เรือนพยาบาล มีการตรวจวัดไข้ที่เรือนพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าปกติ หลังจากนั้นมีการนั่งรอถ่ายรูป ทำประวัติ ตรวจสุขภาพ สอบถามเรื่องการแพ้ยา แพ้อาหารเบื้องต้น หลังทำประวัติเสร็จแล้ว ก็ถูกนำตัวไปที่แดน 2 ซึ่งเป็นแดนกักโรค

เมื่อเข้าไปถึงแดน 2 มีการรายงานตัวว่าพวกตนมาถึง 3 คน จากนั้นมีเจ้าหน้าที่มาวัดไข้และให้ล้างมืออีกครั้ง ซึ่งเป็นการวัดไข้ครั้งที่ 3 ผลการตรวจพบว่าปกติ พวกตนถูกพาไปห้องควบคุมที่ 7 ชั้น 2 ในห้องมีประมาณ 18 คน จำเวลาไม่ได้ว่าเข้าไปกี่โมง แต่ไปถึงก็ต้องปูที่นอน นอนดูหนัง เวลา 21.30 น. เจ้าหน้าที่ปิดทีวี ไมค์นอนอยู่ใกล้นาฬิกา จึงทราบเวลาตอนนั้น หลังจากปิดทีวีแล้วราว 21.35 น. มีเจ้าหน้าแต่งชุดสีกากีเดินเข้ามาที่ห้อง 7 หลายคน แต่จำไม่ได้ว่ากี่คน แจ้งว่าจะแยกไมค์ ไผ่ โตโต้ไปที่เรือนพยาบาล พวกตนทั้งสามปฏิเสธ เพราะดึกแล้วและง่วง ต้องการพักผ่อน จึงบอกเจ้าหน้าที่ว่า ให้ย้ายในเวลาปกติของวันพรุ่งนี้ 

หลังเจ้าหน้าที่ไป ทั้งหมดก็เข้านอน เวลา 5 ทุ่มกว่าๆ มีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดกากีและชุดดำ รวมถึงพยาบาลมา ตนเห็นพยาบาลใส่ชุดขาว หญิง 1 ชาย 1 และเจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งจำไม่ได้ว่ามากี่คน เจ้าหน้าที่พยาบาลจะมาขอตรวจโควิดด้วยการใช้สำลีแหย่ในโพรงจมูก ตนปฏิเสธอีกครั้งเนื่องจากดึกแล้ว และตรวจวัดไข้มา 3 รอบแล้ว อีกทั้งกลัวสำลีที่จะแหย่เข้ามาว่าจะมีอะไรหรือไม่ โดยได้ขอให้มาตรวจวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่และพยาบาลจึงออกจากห้องควบคุมอีกครั้ง 

ประมาณไม่เกิน 00.15 น. เจ้าหน้าที่และพยาบาลมาอีกรอบ จำนวนมากกว่าเดิม และสั่งให้ทุกคนในห้องออกไปตรวจโควิดโดยการใช้สำลีแหย่โพรงจมูก พวกตน 7 คน ไม่ยินยอม แต่คนอื่นที่เหลือยอมให้ตรวจ เมื่อตรวจเสร็จ ทุกคนที่ตรวจก็กลับเข้ามาห้อง 7 พวกตนคิดว่าเรื่องจบแล้วจึงพักผ่อน แต่แล้วประมาณตี 2 กว่าๆ ผู้คุมชุดดำและชุดกากีมากกว่า 15 นาย ซึ่งรอบนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่ถือกล้องวีดิโอ 2 ตัว และกล้องภาพนิ่ง 1 ตัว ไผ่พยายามเดินเข้าไปจดชื่อเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในห้อง แต่เจ้าหน้าที่ที่ใส่ชุดสีดำไม่มีป้ายชื่อและไม่ยอมแจ้งชื่อให้ทราบ 

ไผ่เบิกความว่า รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดวิสัย เนื่องจากหากทบทวนดูจะพบว่าเจ้าหน้าที่พยายามที่จะเอาพวกตนแยกออกจากกันให้ได้ตลอด 6 ชั่วโมง จึงรู้สึกว่าการตรวจโควิดเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจะเอาพวกตนออกจากห้องขัง ทำให้ตนกังวล ตนพยายามถามว่าทำไมย้ายเวลานี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ตอบ 

ไผ่ยังกล่าวต่อว่า เพื่อนในเรือนจำเคยเล่าให้ฟังว่ามีคนโดนซ้อม โดยเบิกตัวไปตอนดึก บางคนไม่ได้กลับมา บางคนกลับมาแล้วบาดเจ็บ เพื่อนไม่ได้เห็นคนเหล่านั้น แต่ได้ยินเสียงร้อง ตนเชื่อว่ามีเพียงเหตุผลเดียวที่จะนำพวกคนออกไปในยามวิกาล ซึ่งเรือนจำพิเศษธนบุรีเองก็ไม่ได้ทำเช่นนี้เพราะตรวจตอนกลางวัน 

ขณะที่ไมค์ระบุว่า เจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าจะแยกทั้ง 7 คนไปเรือนพยาบาล ซึ่งตอนแรกจะแยกแค่ 3 คน แต่ตี 2 กว่ามาแจ้งว่าจะแยกไป 7 คน พวกตนจึงปฏิเสธเพราะเคยได้ข่าวการทำร้ายผู้ต้องขัง โดยการนำออกจากห้องขังยามวิกาลและข่าวหมอหยอง ปรากรม ซึ่งทั้ง 2 คนเสียชีวิตภายในเรือนจำ 

หลังตี 2 โตโต้ เป็นผู้อาสาอยู่เวรเฝ้าจนเช้า ซึ่งตอนเช้าพวกตนก็ไม่ได้ถูกจับแยกกัน ชีวิตหลังจากนั้นปกติดี โดยมีการตรวจโควิดอีกครั้งวันที่ 19 มี.ค. พร้อมทั้งเอ็กซเรย์ปอด

ไมค์ยังกล่าวถึงความกังวลกับศาลว่า เมื่อมาทราบภายหลังว่าผู้ที่จะให้นำตัวพวกตนไปคือ นพ.วีระกิตติ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตอนที่หมอหยองเสียชีวิต ท่านดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงกังวลเรื่องความปลอดภัย

 

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันทำไปเพื่อความผาสุกของเรือนจำ การตรวจโควิดตอนกลางคืนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ 

ช่วงบ่ายนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้าเบิกความเป็นปากสุดท้าย ระบุว่า ปัจจุบันรับผิดชอบด้านการแพทย์ กองบริการทางการแพทย์ กองทัณฑวิทยา กองตรวจพิสูจน์ และยังดูแลทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ บังคับบัญชาเรือนจำภาคเหนือและภาคตะวันตกบางจังหวัด เรือนจำนนทบุรี ทัณฑสถานหญิงกลาง และรับหน้าที่ในเหตุการณ์พิเศษ หลังมีเรื่องเผารูปก่อให้เกิดความเสียหายหน้าคลองเปรม จึงมีการตั้งคณะทำงานรักษาความปลอดภัย การเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุการณ์ในเรือนจำกลุ่มลาดยาว เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงาน 

เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แม้ตนไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ด้วยอำนาจของคำสั่งเรื่องคณะทำงานรักษาความปลอดภัยข้างต้น ตนจึงมีอำนาจดูแลเรือนจำ ประกอบกับช่วงวันที่ 15-16 มี.ค. ไม่มีผู้บังคับบัญชาระดับ ผบ.เรือนจำที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ เวลานั้น 

วันที่ 15 มี.ค. 64 ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจแถวรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เรือนจำลาดยาวและชุดปฏิบัติการพิเศษ ในเวลา 19.00 น. ทราบว่ารถเรือนจำพิเศษธนบุรีมาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว โดยเป็นการทราบด้วยวาจาจากผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อทราบแล้วจึงได้โทรศัพท์ประสานไปยังเรือนจำ ผอ.ส่วนทัณฑปฏิบัติ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า อย่าลืมจัดพื้นที่ให้เหมาะสมและแจ้งให้ทราบถึงแนวทางที่ได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 โดยได้ถามกำชับว่า เรือนจำพิเศษธนบุรีอยู่ใกล้พื้นที่ตลาดบางแคและกลุ่มผู้ต้องหาเหล่านี้เข้าข่ายเป็นกลุ่มผู้ต้องหาที่ต้องแยกกักโรคที่สถานพยาบาลชั้น 2 

นายแพทย์วีระกิตติ์เบิกความอีกว่า ผู้ที่จะถูกนำไปกักโรคที่สถานพยาบาลมี 2 กลุ่ม กลุ่ม 1 ผู้ที่มีอาการไข้ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจติดขัดไว้ กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดบางแค ซึ่งมีข่าวว่ากลายเป็นพื้นที่ระบาด โดยข้อกำหนดนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป มีหนังสือออกมาตั้งแต่ 15 ม.ค. 64 รายละเอียดอยู่ในเอกสารที่อ้างส่งศาล ส่วนมาตราการป้องกันโควิดโดยทั่วไปของเรือนจำในช่วงเวลานี้ คือการงดเยี่ยมญาติ 

หลังจากตนตรวจแถวเสร็จก็เดินทางกลับบ้านพัก ขณะอยู่ที่บ้านได้รับรายงานจาก รักษาการ ผบ.เรือนจำฯ นายอโนทัย ว่า การจะแยกผู้ต้องขังใหม่ 3 คนนั้น ได้รับการปฏิเสธว่าจะไม่ย้าย ตนสอบถามรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร นายอโนทัยแจ้งว่า กังวลว่าหากใช้กำลังบังคับจะเป็นประเด็นอ่อนไหวในอนาคต ตนจึงจะใช้แนวทางทางการแพทย์ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ โดยประสานไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้จัดชุดทีมแพทย์และสหวิชาชีพ พร้อมทั้งชุดตรวจสารคัดหลั่งในช่วงเวลาใกล้ 4 ทุ่ม ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ ตนเคยทำการตรวจช่วงกลางคืนหลายครั้ง เช่น วันที่ 14-15 ต.ค. 63 เคยตรวจหาเชื้อในเวลากลางคืน 27 ราย ซึ่ง 1 รายเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ปัจจุบันด้วย โดยตรวจถึงตี 1 ครึ่ง 

ในวันที่ 15 มี.ค. 64 มีการเตรียมอุปกรณ์โดยต้องใช้เวลาพอสมควร การดำเนินการนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังทุกราย โดยผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง ตนได้ออกจากบ้านพักมาเรือนจำอีกครั้งในเวลาเกือบ 23.00 น. มีผู้รายงานว่า ทีมแพทย์เข้าไปที่อาคารกักโรคแดน 2 แล้ว โดยได้มีการเจรจาเพื่อให้มีการตรวจกลุ่มผู้ต้องขังทั้งสิ้น 16 ราย ปรากฏว่า ผู้ต้องขัง 7 รายยืนกรานปฏิเสธ ไม่ขอรับการตรวจ ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงรายงานตนซึ่งอยู่ในห้องอำนวยการควบคุมแดน 2 (ห้อง CCTV) ตามหลักการแพทย์ ตนเห็นว่าต้องสร้างความผาสุกในเรือนจำ จึงมีการเจราจาให้ตรวจอีกครั้ง 9 คน ยินยอมตรวจ ภารกิจจึงจบคณะแพทย์จึงออกจากเรือนจำราว 24.45 น.

ทั้งนี้ ตนยังอยู่บัญชาการต่อไป เนื่องจากเป็นผู้บริหาร นโยบายด้านโควิดในเรือนจำ ตนได้แจ้งแก่ส่วนควบคุมในเวลาดังกล่าวว่าเป็นความถูกต้องเหมาะสมทางสาธารณสุขที่จะแยกผู้ต้องขัง 9 ราย ออกจาก 7 ราย การควบคุมผู้ต้องขัง 9 รายต้องมีการรักษาความปลอดภัย จึงต้องมีการสนธิกำลัง โดยมีเจ้าหน้าที่ราว 9 คน ทั้งเรือนจำ ตนเห็นว่ามีกำลังน้อยจึงต้องสนธิกำลังกับเวรรักษาความปลอดภัย เป็นการสนธิกำลังมา 2 นาย เพื่อให้มีกำลังทั้งสิ้น 10 นาย 

ชุดเครื่องแบบปฏิบัติการพิเศษ (เครื่องแบบแขนยาวสีดำ) ไม่ได้กำหนดให้ใส่ชื่อเป็นเหตุผลทางทัณฑวิทยา ยกเว้นเพียงหัวหน้าชุดต้องติดชื่อ  เวลาตี 1 เศษ มีการเข้าไปในเรือนจำอีกครั้งเพื่อย้ายทั้ง 9 คน ที่ตรวจเชื้อแล้วออกไปอีกห้อง ตนอยู่ที่ห้อง CCTV เป็นห้องอำนวยการข้างล่างเห็นการดำเนินการทั้งหมด การพกกระบองของเจ้าหน้าที่เอาไว้คุ้มกันตนเอง ในการย้ายผู้ต้องขัง 9 คน ต้องควบคุมผู้ต้องขังไปยังห้องขังและควบคุมโรคที่ได้เตรียมไว้อีกห้องหนึ่งทีละคนจนครบทั้ง 9 คน ซึ่งไม่มีใครขัดขืน ส่วนอีก 7 คน ยังยืนกรานจะอยู่ด้วยกันและไม่ยอมให้ตรวจโควิด ตนจึงให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่และกำชับไม่ให้ใช้กำลังใดใด เนื่องจากทราบอยู่แล้วว่าอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ 

ภารกิจดังกล่าวเสร็จในเวลา 02.00 น.เศษจึงถอนกำลังออกมาจากพื้นที่ห้องกักโรค นพ.วีระกิตติ์ยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจโควิดจะทำการตรวจโดยเปิดเผยตรงทางเดินห้องโถงหน้าห้องกักโรค ผู้ต้องขังอื่นมองเห็นการตรวจได้ทั้งหมดมิได้จะพาไปตรวจยังสถานที่อื่น ตามหลักหากไม่ยอมตรวจต้องแยกผู้ต้องขังเข้าใหม่ 3 คน ออกจาก 4 คนเดิม ไปกักตัวที่สถานพยาบาลชั้น 2 เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนผู้อื่น แต่ในคืนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากกว่านั้น

นายแพทย์วีระกิตติ์กล่าวในช่วงท้ายของการเบิกความว่า เหตุการณ์ในอดีตไม่เคยมีการปฏิเสธการตรวจคัดกรอง กรมราชทัณฑ์ได้ประชุมกันว่าหากมีการปฏิเสธเช่นนี้อีกคงต้องกักนานขึ้นเป็น 21 วันหรือ 28 วัน แต่คงขังเดี่ยวไม่ได้ เนื่องจากอาจกดดันผู้ต้องขัง 

ในห้องพิจารณายังมีการเปิดวิดีโอจากกล้องวงจรปิดซึ่งศาลได้ขอให้ราชทัณฑ์นำมาประกอบการไต่สวน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ เวลา 21.30 น., 23.00 น., 00.05 น. และ 02.00-03.00 น. รองอธิบดียังให้การเพิ่มเติมว่าการตรวจโควิดตอนกลางคืนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การตรวจโควิดเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก สามารถตรวจตอนกลางคืนได้และทำอยู่เสมอ เพื่อคัดกรองผู้มาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ 

ล่าสุดมีการตรวจในเรือนจำจังหวัดสมุทรสาครกว่า 600 ราย โดยประสานกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจเสร็จ 3 ทุ่มเศษ ในเรือนจำพิเศษธนบุรีก็มีการประสานมหาวิทยาลัยมหิดลไปตรวจ วันจันทร์ อังคาร หรือพฤหัสบดี แล้วแต่วันและเวลา แต่กรณี 15 มี.ค. 63 มีการใช้เวลาเจรจานานมาก เวลาจึงล่วงเลยมา โรคนี้ผู้ที่แสดงอาการ 10% เท่านั้น การคัดกรองเพื่อทราบล่วงหน้าจึงสำคัญมาก 

ศาลกล่าวกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ ศาลเคยไต่สวนมาหลายครั้ง เพื่อที่คนจะได้ไม่ครหาว่าเข้าไปแล้วกลายเป็นแดนสนธยา พร้อมย้ำว่ายามวิกาลอย่าไปทำอะไรที่เกินเลยไป นพ.วีระกิตติ์ยืนยันว่า เนื่องจากมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรีจึงต้องตรวจในคืนนั้น

ภายหลังเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 มี.ค. 64 เวลา 13.00 น. ซึ่งช่วงเช้าจะเป็นนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ผู้ที่ถูกคุมขังเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์จึงจะถูกเบิกตัวมาศาล ทั้งนี้ ศาลเปรยว่า จะอนุญาตเพียงญาติของผู้ต้องคุมขังเข้าฟัง ส่วนประชาชนที่มาให้กำลังใจอาจจะมีการจัดห้องและถ่ายทอดสัญญาณภาพบรรยากาศในห้องพิจารณาให้ชม

 

X