ศาลจำหน่ายคดีละเมิดอำนาจศาล พริษฐ์ย้ำ “กม.มีเพื่อปกป้องกระบวนการ มิใช่ห้ามวิจารณ์ศาล”

วันนี้ (28 ต.ค. 63) เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล กรณี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ถูกผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหาว่า ละเมิดอำนาจศาล หลังพริษฐ์อภิปรายตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 63 เนื่องจากอานนท์ นำภา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกนำตัวมาขออำนาจศาลอาญาฝากขัง ตามหมายจับกรณีการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63

ภาพกิจกรรมหน้าศาลอาญา เมื่อ 8 ส.ค. 63 

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 63 ศาลได้เลื่อนการไต่สวนมาเป็นวันนี้ เนื่องจากผู้กล่าวหาได้ส่งพยานหลักฐานเป็นวิดีโอเหตุการณ์เพิ่มเติมเข้ามาในสำนวน แต่ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานดังกล่าว

ที่ห้องพิจารณาคดี 710 ผู้รับมอบอำนาจผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา) และทนายของผู้ถูกกล่าวหามาศาล  พริษฐ์พร้อมกับอานนท์ นำภา ซึ่งถูกขังระหว่างการสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ถูกเบิกตัวมาในฐานะผู้ถูกกล่าวหาและพยาน ตามลำดับ (หมายเหตุ: พริษฐ์ยังถูกดำเนินคดีอื่นๆ จากการขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมทั่วประเทศ อ่านเพิ่มเติม 1, 2)

ในห้องพิจารณาคดีมีอาสาสมัครจาก Clooney Foundation สื่อมวลชนอย่างน้อย 4 สำนัก พร้อมญาติและเพื่อนของพริษฐ์มาร่วมฟังการไต่สวนในวันนี้

เวลา 09.30 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยชี้แจงว่า ศาลเข้าใจถ้อยคำที่พริษฐ์พูดในวันที่ 8 ส.ค. 63 ที่หน้าศาลอาญาว่า เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น 

ด้านทนายผู้ถูกกล่าวหาแถลงว่า ทนายได้ตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว แม้พริษฐ์อาจใช้ถ้อยคำที่ฟังแล้วรุนแรง แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดี นอกจากนี้ พริษฐ์ก็ไม่ได้มีเจตนาละเมิดอำนาจศาล เพียงแค่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับอานนท์และภาณุพงศ์ที่ถูกควบคุมตัวอยู่เท่านั้น 

พริษฐ์ ได้แถลงคำขอโทษ เนื้อความของบันทึกคำขอโทษโดยสรุป คือ พริษฐ์รู้สึกเสียใจและตระหนักว่าการกระทำในวันที่ 8 ส.ค. 63 นั้นไม่เหมาะสม จึงขออภัยต่อหน่วยงาน ศาลอาญา และรับว่าจะไม่กระทำเช่นเดิมอีก 

นอกจากนี้ ศาลอนุญาตให้พริษฐ์แถลงความรู้สึกต่อศาล พร้อมย้ำไม่ให้ใช้วาจาเสียดสีสถาบันตุลาการ

ในห้องพิจารณาคดี 710 พริษฐ์แถลงต่อหน้าศาลว่า 

“ข้าแต่ศาลที่เคารพ วันนี้ข้าพเจ้ามาปรากฎต่อหน้าท่าน เพราะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดอำนาจศาล ระหว่างรอขั้นตอนกระบวนการ ข้าพเจ้าต้องพูดถึงความสำคัญของบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยหลักการละเมิดอำนาจศาล พูดถึงเจตนารมณ์และที่มาของกฎหมายนี้ว่าตั้งขึ้นหรือมีอยู่ไปเพื่ออะไร โดยหลักการละเมิดอำนาจศาลนี้มีขึ้นเพื่อให้อำนาจศาลสามารถพิจารณาคดีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย “ในบัลลังก์”​ ใช้เพื่อปรามประชาชนผู้อาจก่อความวุ่นวายให้กับกระบวนการพิจารณาคดี มิใช่นำมาใช้เพื่อห้ามวิพากษ์วิจารณ์ศาลหรือสถาบันตุลาการ

 

ภาพพริษฐ์ขณะเดินทางมาศาลอาญา เช้านี้ (จาก Banrasdr Photo)

ราว 12.00 น. ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี มีใจความ ดังนี้ 

ศาลได้ไต่สวนผู้อำนวยการประจำศาลอาญาแล้ว ยืนยันว่ามีการออกประกาศข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือก่อให้เกิดความรําคาญ หรือกระทําการในลักษณะที่เป็นการส่งเสริม ยั่วยุ สนับสนุนใด ๆ ในการกระทําดังกล่าวในบริเวณศาล และห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดัง อันเป็นการรบกวนการดําเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล โดยในวันดังกล่าว มีการปิดประกาศข้อกำหนดไว้หน้าศาลอาญา ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาในบริเวณศาลอาญาย่อมเข้าใจถึงกำหนดนี้ 

ศาลยังได้สอบผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้กล่าวหาแถลงว่าขณะนี้มีอายุ 22 ปี กําลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้พูดถ้อยคําตามที่ปรากฏในคําร้องและแผ่นซีดีแนบท้ายคําร้องจริง แต่ถ้อยคําที่กล่าวไปนั้น ไม่ทันคิดไตร่ตรอง อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวหามิได้มีเจตนาขัดขวางหรือก้าวล่วงการดําเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงขอโอกาสศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายจากการกระทําดังกล่าว โดยจะแถลงขอโทษแสดงความรู้สึกเสียใจต่อการกระทําของตน รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคําขอโทษ ฉบับลงวันที่วันนี้

ส่วนผู้กล่าวหาแถลงว่า หากผู้ถูกกล่าวหาสํานึกผิดในการกระทําครั้งนี้แล้ว ก็ไม่ติดใจดําเนินคดีนี้กับผู้ถูกกล่าวหาอีก ทั้งนี้ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาอย่ากระทําในลักษณะเดียวกันกับการกระทําในครั้งนี้อีก และขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหามีอายุเพียง 22 ปี กําลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวข้อความไปโดยสําคัญผิดคิดว่ามีสิทธิที่จะกระทําได้ ทั้งเป็นการกล่าวถ้อยคําด้วยอารมณ์ชั่ววูบ มิได้ไตร่ตรองถึงความถูกต้องและเหมาะสมในการกระทําของตน แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้หยุดกล่าวถ้อยคําในทันที่ที่ถูกห้ามปราม แต่เมื่อภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้น มีเวลานึกคิดอย่างรอบคอบ ก็ทราบได้ว่าเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิได้กระทําในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก 

เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ยอมรับแล้วและพยายามแก้ไขบรรเทาความเสียหาย และผู้กล่าวหาไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ศาลจึงเห็นว่ากรณีนี้ไม่เป็นประโยชน์ที่จะดําเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอํานาจศาลกับผู้ถูกกล่าวหาอีกต่อไป 

แต่เพื่อธํารงไว้ซึ่งหน้าที่ประการสําคัญของศาลยุติธรรมในการอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้ประชาชนทุกกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถใช้สิทธิทางศาลได้อย่างเท่าเทียมกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ศาลจึงต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ไม่ให้ผู้เห็นต่างเกิดความเกรงกลัวจนถึงขนาดเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิทางศาล

ศาลจึงเห็นควรว่ากล่าวตักเตือนผู้ถูกกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหากล่าวคําปฏิญาณต่อหน้าศาลว่าจะไม่กระทําการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปในคดีนี้

ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา

แม้ว่าศาลอาญาสั่งจำหน่ายคดีละเมิดอำนาจศาล แต่พริษฐ์ยังคงถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในระหว่างการสอบสวนในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แม้ทางทนายความจะวางเงินประกันจำนวน “500,000” บาทแล้วก็ตาม หลังเสร็จสิ้นกระบวนการวันนี้ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จึงนำตัวพริษฐ์และอานนท์กลับไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง โดยจนถึงวันนี้ พริษฐ์และอานนท์ถูกคุมขังเป็นเวลา 2 อาทิตย์แล้ว หลังถูกจับกุมขณะมีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

จับตา ศาลอาญานัดไต่สวนคดี “เพนกวิน” ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล เหตุวิจารณ์อำนาจตุลาการ

ศาลเลื่อนไต่สวน “เพนกวิน” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุผู้กล่าวหาส่งพยานหลักฐานชิ้นใหม่

ว่าด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล: มาตรการเพื่อสร้างสถิตความยุติธรรม หรือคือเครื่องมือทางการเมือง

X