ตร. 3 สภ.จากเชียงใหม่ แจ้ง 112 เพนกวิน-อานนท์ถึงเรือนจำ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินกษัตริย์

วันนี้ (18 ก.พ. 64) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวนจาก 3 สถานีตำรวจภูธรในจังหวัดเชียงใหม่เข้าแจ้งข้อกล่าวหาแก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา จำนวนคนละ 2 คดี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 สำหรับพริษฐ์ 

ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ย้ำเป็นการใช้สิทธิ พร้อมให้การเพิ่มเติม ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม เลขาธิการพระราชวัง นายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตประเทศเยอรมนี, ผู้ประสานงานพรรคกรีน เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และขอให้สอบสวนบริษัทไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ ถึงหุ้นของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 

 

สภ.สันทรายแจ้งม.112-พ.ร.บ.คอมฯ พริษฐ์ โพสต์ถึงการนำพระแก้วมรกตไปขายตั้งแต่สมัย ร.7

ก่อนหน้านี้พริษฐ์ได้รับหมายจากสภ.สันทราย ลงวันที่ 26 ม.ค. 64 และได้กำหนดนัดหมายไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 ก.พ. 64 ส่วนอานนท์ได้รับหมายเรียกจากสภ.เมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 25 ม.ค. 64 และได้กำหนดนัดหมายไปรับทราบข้อหาวันที่ 19 ก.พ. 63 แต่ทั้งสองคนถูกคุมขังเพราะไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้พนักงานสอบสวนจากเชียงใหม่ได้ประสานนัดหมายมาแจ้งข้อกล่าวหาภายในเรือนจำ 

สำหรับคดีแรก พ.ต.ท.ชติกร ศรีเมือง รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.สันทราย ได้เข้าแจ้งข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อพริษฐ์  บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 63 นายเจษฎา ทันแก้ว ผู้กล่าวหาได้เปิดโทรศัพท์และอ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ ลงข้อความว่า “ในสมัยรัชการที่ 7 เมื่อพระองค์สละราชสมบัติไปก็พยายาม จะเอาพระแก้วมรกต(ซึ่งเป็นสมบัติชาติ) ไปขาย และถ้าเราไม่แก้ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นถ้ารัชกาลที่ 10 สละราชสมบัติ”

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ข้อความข้างต้นเป็นการตีความคลาดเคลื่อน บิดเบือนจากข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ วันที่ 22 มกราคม 2475 เพราะข่าวดังกล่าวไม่ได้ชี้ยืนยันชัดเจน ไม่มีใครสามารถรับรู้ได้ ทั้งข้อความนี้ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนําไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้

พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

 

สภ.เมืองเชียงใหม่แจ้งม.112 อานนท์เพิ่ม เหตุปราศรัยในชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ 

มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากการชุมนุมที่ประตูท่าแพ ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 ซึ่งก่อนหน้านี้อานนท์ นำภา เคยถูกจับกุมตามหมายจับในคดีนี้เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. 63 ขณะเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา และถูกนำตัวไปที่จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63 นายอภิวัฒน์ ขันทอง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีมาตรา 112 กับอานนท์ นำภาเพิ่มในข้อหาตามมาตรา 112  

ในวันนี้ พ.ต.ท.สมคิด ภูสด สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เป็นผู้มาแจ้งข้อกล่าวหาต่ออานนท์ โดยบรรยายพฤติการณ์เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63 เวลาประมาณ 17.00-20.30 น. ที่ลานเอนกประสงค์ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ พบอานนท์ นำภากับพวก ร่วมจัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ปราศรัยถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ พร้อมประชาสัมพันธ์การชุมนุมประชาชนปลดแอกในวันที่ 16 ส.ค. 63 

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่อานนท์ นำภา โดยอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้นายอภิวัฒน์ ขันทอง มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขายังเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้ลบชื่ออานนท์ ออกจากทะเบียนทนายความ

 

สภ.ภูพิงค์ฯ แจ้งข้อหา 112 พริษฐ์-อานนท์ ตามหมายจับ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินและที่ดินกษัตริย์ 

คดีที่สาม คือคดีจากกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63 โดยทั้งอานนท์และพริษฐ์ได้ขึ้นปราศรัยกล่าวถึงประเด็นทรัพย์สินของกษัตริย์ และงบประมาณสถาบันกษัตริย์ 

คดีนี้ทั้งสองคนยังไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหมายจับที่ 69/2564 สำหรับพริษฐ์ และ 70/2564 สำหรับอานนท์ ลงวันที่ 5 ก.พ. 64  อย่างไรก็ตาม ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 ทำให้พนักงานสอบสวนสภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ไม่สามารถปฏิบัติตามหมายโดยการจับกุมส่งพนักงานตามหมายจับ จึงเดินทางมาแจ้งข้อหาทั้งสองคนในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 

ร.ต.อ.สมโภช น้อยคง รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้บรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กล่าวหาได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าติดตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้บันทึกเทปปราศรัย

ในเวลาต่อมา เมื่อ 19.55 น. พริษฐ์ได้ปราศรัยถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ด้วยประโยค ดังนี้ “ไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่จะสนองพระราชประสงค์ได้เพียงนั้น ไม่เคยมีหมาตัวไหนเลยที่จะจงรักภักดีต่อเจ้านายได้ขนาดนี้และรับใช้มันได้ขนาดนี้”

จากนั้น อานนท์ นำภาได้ขึ้นปราศรัยในเวลา 20.20 น. ถึงประเด็นทรัพย์สินกษัตริย์ และประเด็นการถือหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ของรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐเป็นการครอบครองในนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 

ผู้กล่าวหาเห็นว่า คำปราศรัยข้างต้นมีเนื้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จึงประสานเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตํารวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ให้ถอดเทปคำปราศรัยและทำรายงานถึงกิจกรรมนี้ เสนอไปยังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น 

ต่อมา คณะกรรมการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตํารวจภูธรภาค 5 ได้มีมติเห็นชอบให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดตามมาตราดังกล่าว และผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ผู้กล่าวหามาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคําร้องขอให้ศาลออกหมายจับ

อานนท์และพริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

ในชั้นสอบสวนทั้งคู่ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ถ้อยคําดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

 

เพนกวินขอให้เรียกพยานผู้เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา ให้การถึงประเด็นมาตรา 112, ทรัพย์สินและงบประมาณสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและออกหมายเรียกพยานเอกสาร ดังนี้

1. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาล ที่ 10 ได้เคยมีพระราชดํารัสไม่ให้ใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จริงหรือไม่ ปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงมีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่ และในคดีนี้พระองค์ได้มีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่

2. ให้สอบถามเลขาธิการพระราชวังว่า ข้อความตามที่กล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ สร้างความเสียหายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่

ขอให้สอบสวนรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. จนถึงปัจจุบัน คณะรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง

ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักนายกรัฐมนตรี สํานักงบประมาณแห่งชาติ สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2564

3. ขอให้สอบสวนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงาน ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในประเด็นว่าตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2564 ได้มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละปีเป็นจํานวนเท่าใด ใช้จ่ายไปเท่าใดบ้าง และคงเหลือเท่าใด

4. ขอให้ออกหมายเรียกผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาสอบถามในประเด็นว่า นับตั้งปี 2557 ถึงปี 2564 ได้มี การจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะจํานวนกี่ลํา และเป็นเงินจํานวนเท่าใดและขอให้สอบถามประเด็นว่า ได้มีการโอนย้ายกําลังพลของทหารไปเป็นกําลังพลในสังกัดของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

5. ขอให้สอบนายอนุทิน ชาญวีรกุล ในประเด็นว่าเหตุใดถึงเลือกบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ จํากัดให้เป็นผู้ ได้รับการผลิตและจําหน่ายวัคซีนต่อต้านโรคโควิด 19 พร้อมทั้งขอให้ส่งเอกสารประกอบ อันได้แก่ หนังสือ เสนอราคา หนังสือประกวดราคา สัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทดังกล่าว

6. ขอให้ออกหมายเรียกสอบถามเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย ในประเด็นว่าในหลวง รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่ปี 2559 พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับที่โรงแรมในประเทศเยอรมนีหรือไม่ เป็นจํานวนกี่ครั้ง ในการเสด็จประทับดังกล่าวใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนหรือไม่ เป็นจํานวนเงินเท่าใด มีการใช้พระราชพาหนะของแผ่นดินหรือไม่ และมีการใช้กําลังพลเจ้าหน้าที่รัฐไปดูแลที่ประเทศเยอรมันนีหรือไม่

7. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทําหนังสือ หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังพรรคกรีน ของประเทศเยอรมนี เพื่อขอข้อมูลการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยทั้งหมด ซึ่งพรรคกรีนได้อภิปรายในการประชุมสภาประเทศเยอรมันนี และรายละเอียดอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้ง 7 ข้อ

ด้านอานนท์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ข้อความดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่อ้างถึงในพฤติการณ์คดีนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นไปบนพื้นฐานข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นไปโดยสุจริต โดยมีความมุ่งหวังเพื่อที่จะปกปักรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าหากมีการโอนที่ดินของรัฐเปลี่ยนชื่อให้เป็นของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิซึ่งจะเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็อาจจะทําให้ในอนาคต ไม่มีทรัพย์สินส่วนกษัตริย์หรือส่วนของราชบัลลังเหลืออยู่อีกต่อไป และอาจจะทําให้ที่ดินของรัฐที่เป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมายลักษณะมรดก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

หรือหากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช้ทายาท ทรัพย์สินทั้งหมดก็จะตกเป็นของบุคคลภายนอกจนไม่สามารถนํากลับมาคืนได้ ดังนั้น คำปราศรัยดังกล่าวจึงเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

 

อานนท์ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง สอบเรื่องทรัพย์สินประเภทต่างๆ และที่ดินเกี่ยวกับกษัตริย์

นอกจากนี้ อานนท์ยังขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและออกหมายเรียกพยาน ดังต่อไปนี้

1. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียก ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาให้การเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

2. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียก นายธนาพล อิ๋วสกุล มาให้การเกี่ยวกับประเด็นประวัติศาสตร์ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

3. ขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนออกหมายเรียกรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล มาให้การเกี่ยวกับประเด็นการตีความบทบัญญัติกฎหมายเนื้อหาของพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่าย พระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 รวมทั้งเจตนารมณ์และความเป็นมาของพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย และขอให้สอบสวนในประเด็นเปรียบเทียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น เปรียบเทียบกับประเทศไทย และประเด็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหานี้

4. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) มาให้การในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เป็นจํานวน เท่าใดและได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่เมื่อวันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด มีผลกําไร ขาดทุนอย่างไรบ้าง พร้อมขอให้ส่ง เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาในคดี

5. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG มาให้การในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวหรือไม่ เป็นจํานวนเท่าใดและได้เข้าถือหุ้นตั้งแต่เมื่อวันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด มีผลกําไร ขาดทุนอย่างไรบ้าง พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาในคดี

6. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอธิบดีกรมที่ดินมาสอบสวนในประเด็นว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 และสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ทรงถือครองที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ เป็นจํานวนเท่าใด และขอให้ส่งสารบบที่ดินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยรับรองสําเนาถูกต้องเข้ามาในสํานวนคดี

7. ขอให้ออกหมายเรียกไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกเอกสารดังนี้ สําเนาโฉนดที่ดินและสารบบที่ดิน ฉบับรับรองสําเนาถูกต้อง ซึ่งมีชื่อสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์และสําเนาโฉนดที่ดินและสาระบบที่ดินฉบับรับรองสําเนาถูกต้องที่มีชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์

8. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนในประเด็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เคยมีพระราชดํารัสไม่ให้ใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จริงหรือไม่ ปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงมีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่ และในคดีนี้พระองค์ได้มีพระราชดํารัสให้ใช้หรือไม่

9. ให้สอบถามเลขาธิการพระราชวังว่าข้อความตามที่กล่าวหาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ สร้างความเสียหายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่

ขอให้สอบสวนรองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. จนถึงปัจจุบันคณะรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการขยายพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง

และขอให้พนักงานสอบสวนดําเนินการออกหมายเรียกพยานเอกสารไปยังสํานักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้อง เพื่อขอเอกสารงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2564

10. ขอให้สอบสวนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในประเด็นว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2564 ได้มีการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละปีเป็นจํานวนเท่าใด ใช้จ่ายไปเท่าใดบ้าง และคงเหลือเท่าใด

11. ขอให้ออกหมายเรียกผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาสอบถามในประเด็นว่า นับตั้งปี 2557 ถึงปี 2564 ได้มี การจัดซื้อเครื่องบินพระราชพาหนะจํานวนกี่ลํา และเป็นเงินจํานวนเท่าใดและขอให้สอบถามประเด็นว่า ได้มีการโอนย้ายกําลังพลของทหารไปเป็นกําลังพลในสังกัดของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พร้อมขอให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

12. ขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทําหนังสือ หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังพรรคกรีน ของประเทศเยอรมนี เพื่อขอข้อมูลการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยทั้งหมด ซึ่งพรรคกรีนได้อภิปรายในการประชุมสภาประเทศเยอรมนี และรายละเอียดอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้ง 12 ข้อ

ทั้งนี้ ทั้งคู่ยังขอลงข้อความในเอกสารบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นบุคคลตามหมายจับ และได้ปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนให้ทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ดังนั้น หมายจับดังกล่าวจึงสิ้นผลตามกฎหมาย ไม่สามารถนํามาใช้จับกุมหรืออายัดตัวผู้ต้องหาได้อีก และขอให้พนักงานสอบสวนไปยื่นคำร้องเพิกถอนหมายจับดังกล่าว

ปัจจุบัน อานนท์และพริษฐ์ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลา 10 วันแล้ว จากคดีมาตรา 112-116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 

ตั้งแต่ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 63 จนถึงวันที่ 18 ก.พ. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 59 ราย ใน 45 คดี และมีถึง 23 คดีที่เป็นกรณีประชาชนเข้าแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย จึงสังเกตได้ว่าการเปิดช่องว่างให้ประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหานี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งทางการเมืองได้ง่าย 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

“การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน​

 

X