นิธิ-สมชาย ให้การ คดีอานนท์ปราศรัยที่ มช. ชี้ กม.จัดการทรัพย์สินกษัตริย์ ถูกเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมตั้งคำถาม

พยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญสองคน ได้แก่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ทยอยเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนสภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ในคดีที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 64 จากการกล่าวปราศรัยในกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63

ในคดีนี้ อานนท์ นำภา ได้ถูกกล่าวหาจากคำปราศรัยที่มีเนื้อถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ และประเด็นการถือหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ของรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐเป็นการครอบครองในนามของรัชกาลที่ 10

ในการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่ไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำ อานนท์จึงได้ขอให้สอบพยานเพิ่มเติม ทั้งนักวิชาการ, เลขาธิการพระราชวัง, รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของเขาในคดีนี้ด้วย

>> ตร. 3 สภ.จากเชียงใหม่ แจ้ง 112 เพนกวิน-อานนท์ถึงเรือนจำ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินกษัตริย์

ต่อมาช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และนายธนาพล อิ๋วสกุล  พยานนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ที่ถูกอานนท์ขอให้สอบสวนเพิ่มเติมทยอยได้รับหมายเรียกพยานจากพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จึงได้ทยอยเข้าให้การกับพนักงานสอบสวน

.

.

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” กลายเป็น “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” ซึ่งจะถูกใช้ “ตามพระราชอัธยาศัย” หรือไม่

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน เกี่ยวกับกฎหมายในการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

กรณีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560) และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561) กฎหมายทั้งสองฉบับมีความแตกต่างในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง เปลี่ยนจาก ชื่อ พ.ร.บ. เดิมที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์” มาเป็น “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

สอง มีการแก้ไขนิยามศัพท์ใหม่ ได้แก่ คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” แก้ไขเป็น “ทรัพย์สินในพระองค์”, คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แก้ไขเป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” (มาตรา 4) รวมทั้งชื่อ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แก้ไขเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” (มาตรา 6) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 ที่ใช้คำว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

ในคำนิยามที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 มีการแก้ความหมายที่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560 คือ ส่วน ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2560 คำว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ (มาตรา 4) แต่ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 คำว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

สาม มีการเพิ่มข้อความว่า “ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย” (ถูกระบุไว้ในมาตรา 5)

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้งสองฉบับที่มีความแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านี้ (พ.ศ. 2479, 2484, 2491) และนำมาซึ่งข้อสงสัยให้เกิดขึ้นก็คือ

ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ก่อนหน้านี้ ได้มีการจำแนกประเภททรัพย์สินไว้ 3 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้ง พ.ศ. 2560 และ 2561 กำหนดให้มีทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีเพียงทรัพย์สิน 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ กล่าวโดยสรุป ส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ ก็คือทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง หรือทรัพย์สินอื่นที่ใช้ในประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ได้ถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

การจำแนกให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดินให้กลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงอย่างสำคัญว่าอำนาจการบริหารจัดการทรัพย์สินประเภทดังกล่าวนั้นจะมีลักษณะเช่นไร เนื่องจากในกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 6) จากแต่เดิมที่การดูแลจัดการทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รัฐบาลโดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังจะเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้ง 2560 และ 2561 ได้กำหนดให้เป็นเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งไม่มีอยู่ในรูปแบบหรือองค์กรที่ชัดเจน

บทบัญญัติที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจึงอาจไม่มีความชัดเจนและทำให้เกิดความสงสัยขึ้นแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำหรับกรณีทรัพย์สินที่เป็นของส่วนพระองค์ย่อมมีความชัดเจนว่าอยู่ภายใต้พระราชอำนาจที่ดำเนินการได้ แต่สำหรับทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ไม่มีความชัดเจนว่าผลในทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร ทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งตาม พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 2561 ได้กลายเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นั้น จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในมรดกที่ตกทอดไปแก่รัชทายาทหรือบุคคลอื่นๆ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 หรือไม่ หรือในด้านของการบริหารจัดการจะเป็นไปในลักษณะเช่นไร ซึ่งควรจะได้มีการชี้แจงให้กระจ่างเนื่องจากแต่เดิมมาทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จะมิได้เป็นของบุคคลคนใดคนหนึ่งหากเป็นของสังคมโดยรวม

ต่อกรณีปัญหาดังกล่าว รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีการให้คำอธิบายหรือคำชี้แจงที่ชัดเจนออกมาในทางสาธารณะ จึงยิ่งเป็นการทำให้เกิดข้อสงสัยสะสมเพิ่มพูนมากขึ้น

การตั้งคำถามขอบเขตและความหมายของ พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ ทั้งสองฉบับ จึงย่อมเป็นสิ่งที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถกระทำได้ตามหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างชัดเจน

.

.

การแบ่งแยกทรัพย์สิน “ส่วนพระองค์” และ “ส่วนพระมหากษัตริย์” ที่ใช้มา 69 ปี ถูกเปลี่ยนแปลง -คำกล่าวปราศรัยของอานนท์วิจารณ์กฎหมาย และผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดย ศ.ดร.นิธิ ได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. คํากล่าวทั้งหมดของผู้ต้องหาจะมีความหมายและหนักเบาอย่างไร ขึ้นอยู่กับสองปัจจัย หนึ่ง คือประวัติความเป็นมาของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พ.ศ.2560 และ 2561 และ สอง บริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมืองในขณะที่กล่าวคํานั้น ซึ่งมุ่งจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของพ.ร.บ.ใหม่ทั้งสองฉบับนั้นว่าจะเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มากกว่าเป็นคุณ นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2563 ยังเป็นช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งทําให้มีบรรยากาศ เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การกระทําของคณะรัฐประหาร คสช. ได้อย่างปลอดภัยขึ้นด้วย

2. การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (อันเป็นสมบัติของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคล) ได้เริ่มอย่างเป็นจริงในประเทศไทย เพื่อแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ใน “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479″ โดยจัดแยกพระราชทรัพย์ซึ่งถือว่า เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากที่เป็นของส่วนพระองค์อย่างชัดเจน

มักเข้าใจกันว่าการแยกทรัพย์สินเช่นนี้ทํากันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2433 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อทรงตั้งกรมพระคลังข้างที่ขึ้นในกระทรวงการคลัง แต่ที่มาของรายได้กรมพระคลังข้างที่ปะปนกันกับเงินแผ่นดินหรือได้มาด้วยอํานาจแผ่นดินเป็นอันมาก อันเป็นปรกติธรรมดาของระบอบปกครองสมัยนั้นที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมด การแยกสินทรัพย์นี้ออกจากกันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาซึ่งอาจโต้แย้งกันได้ในสมัยนั้น สืบมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ทรงเห็นว่า “เพราะเป็นการยากที่จะแบ่งแยกว่า อะไรเป็นของส่วนพระองค์ อะไรเป็นของแผ่นดิน ด้วยปนเปเช่นนี้มานานแล้ว” (พระราชหัตถเลขาถึงพระยาราชวังสันลงวันที่ 20 ก.ย. 2477)

3. พ.ร.บ.เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง และแม้ว่าใน พ.ร.บ.ที่แก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังบางฉบับ (เช่น ฉบับ 2491 แก้ไขเพิ่มเติม 2479) แต่ที่จริงแล้วได้เปลี่ยนเนื้อหาไปเกือบจะสิ้นเชิง คือการแก้ไข เพิ่มเติมหลังการรัฐประหาร 2490 ได้เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์เข้ามาจัดการสินทรัพย์ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มที่

แม้กระนั้น ก็ยังรักษาหลักการสําคัญของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือแบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้อย่างชัดเจน หลักการอีกประการหนึ่งที่ยังยืนยันอยู่ก็คือ การจัดการทรัพย์สินนั้นแม้ในทางปฏิบัติเป็นพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด แต่ประธานของคณะกรรมการทรัพย์สินฯ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตําแหน่งเสมอ แม้ว่ากรรมการที่เหลือล้วนมาจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็ตาม แต่อย่างน้อยก็มี “ฝ่ายการเมือง” รู้เห็นการจัดการนั้น ในฐานะประธานอยู่ด้วยเสมอ ความเป็นทรัพย์ของแผ่นดินจึงปรากฏอยู่ในเชิงสัญลักษณ์เป็นอย่างน้อย

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ใน พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ. 2479 นั้น ได้แยกทรัพย์สินออกเป็นสามส่วน คือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณะ (เช่น วัง, วัด, เครื่องราชูปโภค) และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินสองส่วนหลังนี้ไม่ต้องเสียภาษี และที่น่าจะหมายถึงด้วยก็คือ ทรัพย์สินสาธารณะย่อมไม่ถูกนําไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (เช่น เอาไปค้ำประกันเงินกู้) เพราะเสี่ยงที่จะสูญได้ เนื่องจากแม้เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ แต่ก็ทรงใช้ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศเท่านั้น

การแยกให้ชัดเจนเช่นนี้จึงยิ่งทําให้เห็นชัดว่าจุดมุ่งหมายของการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น กระทําเพื่อรักษาสินทรัพย์ของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคล

แม้ว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2491 ไม่ได้แยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกเป็นทรัพย์สินสาธารณะ แต่การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานของคณะกรรมการ และการยกเว้นภาษีให้แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ทําให้เห็นได้ชัดในทํานองเดียวกันว่า ทรัพย์สินส่วนนี้ทั้งหมดเป็นของสถาบันไม่ใช่ของบุคคล เพื่อใช้ประโยชน์แก่แผ่นดิน

ไม่ว่าจะมีข้อดีข้อด้อยอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับ 2491 นี้ใช้สืบมาถึง 69 ปี

4. ใน พ.ศ. 2560 และ 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. ได้ผ่านพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (หรือแก้เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใน พ.ร.บ. ฉบับหลัง) โดยการถวายให้การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดเป็นพระราชอํานาจแต่เพียงฝ่ายเดียว โดย “ฝ่ายการเมือง” ไม่เกี่ยวข้องเลย จนทําให้แยกได้ไม่ชัดว่าอะไรเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ อะไรเป็นทรัพย์สินส่วนสถาบัน และยังไม่แยกให้ชัดว่าพระราชอํานาจนั้นต้องถูกจํากัดไว้อย่างไร ในกรณีที่อาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของสถาบัน เราต้องไม่ลืมด้วยว่า สินทรัพย์จํานวนมากของสํานักงานทรัพย์สินฯ นั้น ถูกนําไปใช้เพื่อหาผลกําไร ซึ่งหากคิดในหลักทุนนิยม ก็ถูกต้องแล้ว เพราะมีจํานวนมากจึงไม่มีประโยชน์ในการเก็บไว้เปล่าๆ โดยไม่ใช้อะไรเลย และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจเกิดความเสียหายได้ และในความเป็นจริงก็เคยขาดทุนอย่างย่อยยับมาแล้วในรัชกาลที่ 6 และในวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 อันไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ สถานะทางการเงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของชาติในอนาคต แต่โชคดีที่ผู้บริหารทรัพย์สินฯ และธุรกิจสามารถกอบกู้สถานการณ์กลับคืนมาได้

อันตรายของ พ.ร.บ. สองฉบับที่เปลี่ยนสถานะของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอย่างสุดโต่งนี้เห็นได้ชัด แต่ในเวลาของการปราศรัยสาธารณะระยะสั้น จะชี้แจงความซับซ้อนของกฎหมายและประวัติการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ผู้ฟังเห็นได้ยาก จึงต้องยกกรณีสุดโต่งเป็นตัวอย่าง ดังที่ผู้ต้องหากระทําด้วยการสมมติว่า ถ้าทรัพย์สินเหล่านั้นถูกครอบครองโดยไม่ถ่ายโอนแก่สถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป ก็จะเป็นอันตรายต่อพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตได้อย่างไร

ไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันจะทรงกระทําเช่นนั้นอย่างแน่นอน เป็นเพียงกรณีตัวอย่างสมมติให้เข้าใจได้ง่ายเท่านั้น

5. ในประเพณีการปกครองของไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แม้ในยามที่ประเทศถูกคณะรัฐประหารยึดอํานาจและตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เลย ย่อมถือเสมอว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพ.ร.บ.ใด ๆ ก็ตาม คือ ผู้รับผิดชอบต่อคุณและโทษของ พ.ร.บ. นั้น พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบด้วย เพราะทรงทําหน้าที่ของประมุขประเทศเท่านั้น มิได้เป็นผู้ริเริ่มผลักดันกฎหมายใดๆ (ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์หาได้มีพระราชอํานาจที่จะบังคับให้รัฐบาลหรือ สภาต้องผ่านกฎหมายใดๆ ได้) ดังนั้นเมื่อกฎหมายใดผ่านสภาออกมา ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบ – ในทางกฎหมายหรือทางการเมืองก็ตาม – ข้อนี้เป็นที่เข้าใจกันอย่างทั่วถึงมานานแล้ว

คํากล่าวของผู้ต้องหาคือการคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ. ดังกล่าวทั้งสองฉบับ และโดยประเพณีการปกครองของไทย ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง แต่เมื่อตัวพ.ร.บ. มีเนื้อหาไปเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จึงจําเป็นต้องยกตัวอย่างสมมติให้เป็นการกระทําของพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

X