บก.ฟ้าเดียวกันให้การคดีอานนท์ปราศรัย ชี้เปรียบเทียบ พ.ร.บ.ทรัพย์สินกษัตริย์ฯ 3 ยุค นานวันยิ่งออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ

หลังจากก่อนหน้านี้ พยานนักวิชาการ 2 ราย ได้แก่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ในคดีที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยในกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 63

>> นิธิ-สมชาย ให้การ คดีอานนท์ปราศรัยที่ มช. ชี้ กม.จัดการทรัพย์สินกษัตริย์ ถูกเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมตั้งคำถาม

จากนั้น พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้ส่งประเด็นการสอบสวนในส่วนของนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พยานที่ผู้ต้องหาขอให้สอบสวนเพิ่มอีก 1 ราย ไปยังสภ.รัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ง่ายต่อพยานในการเข้าให้การ

ก่อนที่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 ธนาพลได้เดินทางเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ โดยได้จัดทำคำให้การเป็นหนังสือสรุปถึงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกฎหมายในการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

 

จัดระเบียบทรัพย์สินกษัตริย์ แยกเป็นสามประเภท หลังปฏิวัติสยาม 2475 

ภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475  เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาณาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้เปลี่ยนสถานะของพระมหากษัตริย์จากเดิมเป็นทั้งประมุขและผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มาเหลือแต่เพียงประมุขของรัฐแต่ฝ่ายเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด  ‘ปกเกล้า ไม่ปกครอง’ หรือ ‘ทรงราชย์ ไม่ทรงรัฐ’  ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ปราชญ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้กล่าวไว้ [1] เพื่อให้ปลอดพ้นจากผลประโยชน์และคำติฉินนินทาใดๆ รัฐบาลคณะราษฎรจึงได้ออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

1) “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายถึง ทรัพย์สินหรือสิทธิอันติดอยู่กับทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้มาหลังจากครองราชสมบัติแล้วจากบุคคลใดๆ ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ หรือได้ซื้อมากเงินส่วนพระองค์

(2) “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวัง

และ (3) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายถึง ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่นอกเหนือจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้  ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เฉพาะที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง ขณะที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากนั้น ให้อยู่ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลัง โดยปรึกษาคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการอีก 4 นาย ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติ[2]

แต่การเมืองไทยได้เกิดพลิกผัน ภายหลังรัฐประหาร  8 พฤศจิกายน 2490 ที่เป็นการ “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” หรือเรียกว่าเป็นการโต้กลับการปฏิวัติ  2475 ก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ในทันที ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2490-เมษายน 2491 ได้มีการเสนอแก้ไข “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479” และต่อมาได้กลายเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491

 

แก้ไข พ.ร.บ. ปี 2491 ตั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ดูแล “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ด้วยสถานภาพทาง กม. คลุมเครือ

พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับเก่าหลายมาตรา ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงเข้มแข็งขึ้นในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขให้ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อยู่ในความดูแลรักษาของ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” จากเดิมที่เป็นกระทรวงการคลัง นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังสามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง หรือถูกฟ้องในคดีต่างๆ ได้[3]  ซึ่งผิดจากหลักการ ‘ปกเกล้า ไม่ปกครอง’ อย่างสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น ซึ่งในกรณีที่ดิน มีคดีอยู่เป็นจำนวนมากที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นโจทก์หรือจำเลย นอกจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2491 จะทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการที่เดิมเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังในการดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติ[4] ให้เรียกว่า” คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินฯ คณะกรรมการนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง แต่กรรมการอื่น ไม่น้อยกว่า 4 คนนั้น ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยหนึ่งในจำนวนนี้ ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ด้วยตัวเองได้ หลังจากมี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้มีการจัดตั้ง “สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนนี้ด้วย

ฉบับที่แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2491 นั้น ระบุว่า

“รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่กล่าวในมาตรา 5 วรรคสอง [ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลและจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งไม่ใช่เครื่องอุปโภคบริโภคที่อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง] นั้น จะจ่ายได้ก็แต่เฉพาะในประเภทที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือนบำเหน็จ บำนาญ เงินรางวัล เงินค่าใช้สอย เงินการจร เงินลงทุน และรายจ่ายในการพระราชกุศล เหล่านี้ฉะเพาะที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้นรายได้ซึ่งได้หักรายจ่ายตามความในวรรคก่อนแล้ว จะจำหน่ายใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใดๆ หรือโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฉะเพาะในกรณีเกี่ยวกับการพระราชกุศลอันเป็นการสาธารณะหรือในทางศาสนาหรือราชประเพณีบรรดาที่เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

แต่กระนั้นระหว่างปี 2518-2544 ได้มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสถานภาพของสำนักงานทรัพย์สินฯ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ถึง 5 ครั้ง คือในปี 2518, 2533, 2536, 2543 และ 2544 ซึ่งการวินิจฉัยแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป เช่น ใน 4 ครั้งแรกตีความว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ”ไม่ใช่ “ส่วนราชการ” ไม่ใช่ “หน่วยงานของรัฐ” มีครั้งหนึ่งตีความว่าเป็น “เอกชน” ด้วย โดยการตีความแต่ละครั้งมีเหตุผลสนับสนุนแตกต่างกันออกไป และไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ตลอด

สถานะพิเศษของสำนักงานทรัพย์สินฯ (รวมทั้งความคลุมเครือในการวินิจฉัยสถานภาพของสำนักงานทรัพย์สินฯ) ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดจากการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ในสมัยรัฐบาลนิยมเจ้าของนายควง อภัยวงศ์ ที่ได้ให้อำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้น ซึ่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเห็นว่า นี่เป็นการยกเลิกหลักการสำคัญที่การปฏิวัติ 2475 สร้างขึ้น อันเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการปฏิวัติซ้อนหรือปฏิปักษ์ปฏิวัติ (counter-revolution)[5]

 

ยุค ร.10 แก้กม.ใหม่ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ

แต่กระนั้น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ก็อยู่มาถึงเกือบ 7 ทศวรรษ  เมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560  และตามมาด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560

พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกฉบับที่ผ่านมา แล้วจัดแบ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ใหม่ออกเป็น 2 ประเภท เหลือแค่

(1) “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ซึ่งหมายถึง “ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย” และ
(2) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายถึง “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์” นั่นหมายความว่า ทรัพย์สินที่เคยถูกจัดให้เป็นทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กล่าวคือ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น พระราชวังต่างๆ หรือสิ่งของในพิพิธภัณฑ์บางอย่างนั้น และเคยอยู่ในการดูแลของสำนักพระราชวัง จะถูกนำไปรวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด

ส่วนเรื่องการจัดการ การดูแล และการจัดหาประโยชน์ หรือการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แต่ละประเภทนั้น ไม่มีการกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าทรัพย์สินประเภทใดต้องอยู่ภายใต้การจัดการของหน่วยงานใดหรือบุคคลใด ภายใต้เงื่อนไขใด แต่ระบุไว้อย่างยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัยอย่างสมบูรณ์

สำหรับเรื่องการเสียภาษี พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ฉบับใหม่ ไม่มีการกำหนดว่าทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ต้องหรือไม่ต้องเสียภาษีอากร หากระบุเพียงว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งหมายความว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์อาจไม่ต้องเสียภาษีอากรด้วยก็ได้ หากมีกฎหมายยกเว้นให้

เมื่อเปรียบเทียบการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 3 ยุค ระหว่างยุคคณะราษฎร, ยุครัชกาลที่ 9, และยุครัชกาลที่ 10 ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฉบับ พ.ศ. 2479/2484, พ.ศ. 2491, และ พ.ศ. 2560 ตามลำดับ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นานวันเข้าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งมีแนวโน้มออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งควรแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และนำไปใช้สำหรับสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศตามหลักของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ[6]

นอกจากนั้นแล้ว นายธนาพลยังได้ส่งสำเนาเอกสาร “เปรียบเทียบการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ระหว่าง 3 ยุค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความจากวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม- ธันวาคม 2560  แนบท้ายคำให้การมอบให้กับพนักงานสอบสวนด้วย

 

 

สำหรับคดีการปราศรัยในกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” นอกจากพยานนักวิชาการแล้ว อานนท์ นำภา ยังได้ขอให้พนักงานสอบสวน สอบเลขาธิการพระราชวัง, รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของเขาในคดีนี้ด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลความคืบหน้าในส่วนของพยานอื่นๆ ว่าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนคำให้การไว้แล้วหรือไม่

ในคดีนี้ อานนท์ ได้ถูกกล่าวหาจากคำปราศรัยที่มีเนื้อถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ และประเด็นการถือหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ของรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐเป็นการครอบครองในนามของรัชกาลที่ 10

ตร. 3 สภ.จากเชียงใหม่ แจ้ง 112 เพนกวิน-อานนท์ถึงเรือนจำ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินกษัตริย์

 

———————–

อ้างอิงประกอบคำให้การ

[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2560

[2] พอพันธ์ อุยยานนท์ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ” ใน ชัยธวัช ตุลาธน, (บรรณาธิการ) พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ : เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475 นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2557หน้า 255

[3] สกุณา เทวะรัตน์มณีกุล, “การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์,” วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2543 หน้า 70.

[4] เริ่มแรกตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 กำหนดให้กรรมการนี้ (ไม่รวม ร.ม.ต.คลัง) มี 4 คน ต่อมาเมื่อมีการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2484 ได้แก้ไขให้มีกรรมการอย่างน้อย 4 คน

[5] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  “ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร? “ ใน ชัยธวัช ตุลาธน, (บรรณาธิการ) พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ : เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475 นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2557หน้า หน้า  243

[6] ชัยธวัช ตุลาธน “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์:พระราชทรัพย์ยามผลัดแผ่นดินและรัฐประหารสองครั้ง” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2560 หน้า 85-115

 

X