“การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน​

ราว 1 สัปดาห์ก่อน ชาย 4 คนนั่งอยู่บนม้านั่งในห้องเวรชี้ของศาลอาญา ด้านในตกแต่งคล้ายกับห้องพิจารณาคดีที่เมื่อมองขึ้นไป มีบัลลังก์ผู้พิพากษาสูงชะลูดเหนือศีรษะ 

ชายที่อายุน้อยที่สุดสวมแว่นตาสี่เหลี่ยม เขายังคงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังจะเรียนจบ

คนถัดมาคือหมอลำจากจังหวัดขอนแก่น ผู้กำลังพยายามตั้งต้นชีวิตใหม่ หลังต้องถูกจำคุกสองปีเศษในคดีมาตรา 112 จากการร่วมเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2556

อีกคนหนึ่งคือทนายความสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือคดีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 

คนสุดท้ายคือชายวัยกลางคนสูงที่เคยถูกจองจำยาวนานเพราะข้อหามาตรา 112 ถึง 7 ปี จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ

พวกเขามาจากต่างพื้นเพ ต่างวัย แต่ชีวิตกลับผูกพันด้วยคดีการเมือง หลังถูกฝ่ายความมั่นคงชี้ว่าคำพูดและความคิดของพวกเขา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 2 อาทิตย์ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 4 เผชิญกับโชคชะตาที่คล้ายกันอีกครั้ง เมื่อต้องนั่งนับเวลาถอยหลัง 4 ชั่วโมงเพื่อฟังคำสั่งศาลที่จะชี้ว่า พวกเขาต้องสู้คดีในชุดนักโทษหรือจะได้ต่อสู้คดีในโลกภายนอก

ทว่ากว่า 4 ชั่วโมงในห้องเวรชี้และชีวิตเบื้องหลังกรงขังเปรียบเสมือนสิ่งรี้เร้นที่มีเพียงทนายความเป็นพยาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทนายจำเลยมาพูดคุยถึงช่วงเวลาชี้ชะตาของจำเลย ก่อนศาลชั้นต้นจะไม่ให้ประกัน ทำให้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, อานนท์ นำภา, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ แม้ศาลจะยังไม่เริ่มสืบพยานหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง

 

การดำเนินคดีที่เร่งรัด อัยการสั่งฟ้องหลังรับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนไม่ถึง 2 อาทิตย์

“เราไม่คิดด้วยซ้ำว่าวันนั้น [9 ก.พ. 64] จะสั่งฟ้องคดีเลย” ทนายเล่าแฝงความประหลาดใจที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว 

นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ของปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 64 มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกว่า 198 คดี ขณะที่คดีจำนวนมากยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอัยการเริ่มทะยอยสั่งฟ้องคดีต่อศาล แต่คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กลับแตกต่างออกไปตั้งแต่ชั้นสอบสวน

“เมื่อเดือนที่แล้ว พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามส่งหมายนัดส่งตัวอัยการให้กับผู้ต้องหาไป แต่ผู้ต้องหาต้องการเลื่อน ตำรวจก็แจ้งว่าจะไปขอหมายจับ ถึงสุดท้ายศาลจะแจ้งว่าไม่มีการออกหมายจับก็ตาม แต่เราคิดว่าถึงขั้นต้องไปออกหมายจับกันเลยหรือ ปกติตามขั้นตอนการส่งตัวอัยการก็สามารถตกลงนัดได้ตามความสะดวกของผู้ต้องหา

“เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ตำรวจสน.ชนะสงครามก็มาที่ศาลด้วย เพื่อดูว่าผู้ต้องหามาตามนัดรายงานตัวอัยการไหม ถ้าไม่มาเขาจะเตรียมไปออกหมายจับ แต่ปกติแล้วถ้าผู้ต้องหาไม่มาตามนัด อัยการจะแจ้งให้ตำรวจออกหมายจับต่อไป ไม่จำเป็นต้องรีบขอออกหมายในวันนั้นทันที”

เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.พ. 64 ทั้งสี่ตัดสินใจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอให้สอบ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และชำนาญ จันทร์เรือง ถึงประเด็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ในบริบทสังคมไทยและในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ

“ปกติแล้วถ้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการมักสั่งให้สอบเพิ่ม แล้วนัดให้ฟังคำสั่งฟ้องในนัดหน้า ในคดีอื่นๆ ที่เรายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการก็ขอให้สอบเพิ่ม ถ้าตัดสินใจฟ้องคดี สามารถสั่งฟ้องในนัดหน้าได้ สามารถเลื่อนออกไปได้ ไม่ได้มีอะไรจำกัดให้ยื่นฟ้องในวันที่ 9 ก.พ. เท่านั้น

“หลังยื่นหนังสือ รอฟังคำสั่งอัยการ เรายังคิดอยู่เลยว่าอาจเลื่อนนัดให้ฟังคำสั่งครั้งหน้า พอสุดท้ายโฆษกอัยการแถลงว่าฟ้องแน่ เราคิดแล้วว่าคงไม่ได้ประกัน แม้ตามหลักไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาก็ไปรับทราบข้อหาตามนัด ไปรายงานตัวตามนัดตลอด ไม่เคยหลบหนี”

แม้ทนายจะไม่คาดคิดว่านั่นจะเป็นวันสุดท้ายที่ทั้งสี่จะมีอิสรภาพ แต่ทั้งสี่เหมือนจะล่วงรู้หน้าอยู่แล้วว่า วันนั้นจะเป็นวันที่ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ ถึงจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้สำหรับผู้เรียกร้องความ “ยุติธรรม” 

 

“วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย”

“ก่อนหน้าวันนัด 1 วัน [8 ก.พ. 64] เราโทรคุยกับพี่สมยศว่าจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมวันพรุ่งนี้ แล้วก็คุยกันเรื่องคดี เราคิดว่ายังไม่ฟ้องหรอก อะไรจะฟ้องคดีเร็วขนาดนี้ เพิ่งส่งสำนวนไปไม่ถึง 2 อาทิตย์เลย แต่พี่สมยศคิดว่าน่าจะฟ้องเลย เพราะตำรวจบอกแกว่า คดีนี้อัยการกับตำรวจเขาทำสำนวนร่วมกัน สำนวนค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว

“ตอนที่คุยกับแกทางโทรศัพท์วันนั้น เรารู้สึกแกนิ่งผิดปกติ แกคงคาดการณ์ไว้แล้วและฝากฝังให้เราช่วยดูแลเรื่องต่างๆ พอถีงวันนัด เราเห็นแกใส่รองเท้าแตะ แกบอกกับเราว่า ‘วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย’

“ระหว่างรอผลประกัน แกคิดว่าวันนี้ศาลคงไม่ให้ประกัน พอคำสั่งศาลลงมาแล้ว เราลงจากชั้นบนของศาลไปที่ห้องเวรชี้เพื่ออ่านคำสั่งให้ฟัง แกบอกว่า แกจะอดอาหารหรืออยากจะให้แกฆ่าตัวตาย เราก็บอก เดี๋ยวก่อนพี่ อย่าเพิ่งพูดแบบนั้น ใจเย็นๆ

“ความรู้สึกของคนที่อยู่ในเรือนจำมานาน ได้รับอิสรภาพมาอยู่ข้างนอกไม่กี่ปีแล้วต้องกลับไปใหม่ อาจเป็นแบบนั้น ส่วนเมื่อวันก่อน [10 ก.พ. 64] เราเข้าไปเยี่ยมพี่สมยศที่เรือนจำ แกบอกว่า 

“ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเป็นห่วง”

 

“ผมไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย”

“ผมคิดว่าจะได้ประกันนะ เขาคงใช้เกมจิตวิทยากับเรา ทำให้เรากังวลไปเองจะไม่ได้ประกัน ผมว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ได้ประกัน ถ้าพวกเราต้องเข้าเรือนจำ จะเป็นการเร่งปฏิกริยา ทำให้คนไม่เห็นความเป็นธรรม ทำให้คนออกมาชุมนุม” เพนกวินตอบคำถามของทนายขณะรอฟังผลประกันในห้องเวรชี้ 

“วันนั้นเพนกวินเป็นคนเดียวที่คิดว่าจะได้ประกัน ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ขอให้แม่มาที่ศาลด้วย ตามปกติ แม่เขาจะตามเพนกวินไปเกือบทุกนัด” ทนายเล่า 

“วันรุ่งขึ้น เราเจอแม่เพนกวินที่เรือนจำ เหมือนก่อนหน้านี้แกร้องไห้มาก่อน แกไปชะเง้อดูอยู่ด้านหน้าเรือนจำ เขาอยากเจอ อยากหาลูก อยากคุยกับลูก

“แม่แกเสียใจที่ไม่ได้ไปในวันนั้น แกเล่าให้เราฟังว่า ปกติไปกับลูกตลอด แต่ก่อนหน้า เพนกวินบอกวันที่ 9 เป็นแค่นัดรายงานตัว ‘พรุ่งนี้ ไม่มีอะไรหรอกแม่’

หลังทนายเข้าเยี่ยมเพนกวินที่เรือนจำ ทนายเอ่ยถึงผลประกันที่เขาเคยประเมินไว้ 

“ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย” เพนกวินตอบอีกครั้ง

 

“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ไม่อยากมากรุงเทพฯ อีกแล้ว”

“ตั้งแต่ที่แบงค์ถูกควบคุมตัวช่วงเดือนตุลาคม แบงค์บอกเขาไม่เข้าใจทำไมเขาถึงถูกออกหมายจับ เขาไม่ใช่แกนนำ วันนั้น [19 ก.ย. 63] เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษ 112 ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันหรืออยู่ในขบวนเดียวกันกับแกนนำ” ทนายความเล่า

“เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรม เพราะต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อล้างมลทิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้สถาบันอยู่ในสถานะที่ดีด้วย ทำให้เขาไม่เคยคิดว่าจะถูกดำเนินคดีอีกครั้ง

“แม้เราจะไม่ได้เป็นทนายแบงค์ในคดีนี้ แต่เราเคยเป็นทนายให้เขาในคดีแรก [คดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า] ระหว่างรอผลประกัน เลยคุยกับแบงค์หลายเรื่อง เรื่องปัญหาชีวิต ครอบครัว เรื่องงาน เรื่องความไม่เป็นธรรม แบงค์ร้องไห้เลย [นิ่งไปสักพัก] ตั้งแต่หลังออกจากเรือนจำในคดีแรก ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

“แม่ของแบงค์เพิ่งเสีย งานหมอลำก็แสดงไม่ได้เพราะโควิดระบาด พอมีแพลนจะทำสตูดิโอหมอลำออนไลน์ ก็ต้องมาเข้าเรือนจำอีก แบงค์คงคิดว่าเขายังไม่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สุดท้ายกลับต้องมาเข้าเรือนจำอีกครั้ง

“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มากรุงเทพฯ  ยังไงก็ได้ติดคุก ไม่อยากมากรุงเทพฯ เลย ทั้งที่มารายงานตัวตลอด แต่ก็ถูกขังทุกที” ทนายทวนคำตัดพ้อของแบงค์ในห้องเวรชี้

“หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดี แบงค์อยากคุยกับศาล อยากอธิบายถึงเจตนา อธิบายว่าเขาไม่ผิด แต่ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลคนที่อ่านคำฟ้องให้ฟังกับศาลคนที่ตัดสินใจให้ประกันตัวเป็นคนละคน อยู่คนละส่วนกัน ศาลที่มาอ่านฟ้อง เขาแค่อ่านคำฟ้องให้ฟัง แจ้งสิทธิของจำเลย ไม่ได้มีการไต่สวนหรือเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจอะไร ส่วนศาลที่ให้ประกัน เขาพิจารณาอ่านจากคำฟ้องอย่างเดียว เห็นแค่ตัวกระดาษ ยังไม่เห็นพยานหลักฐานอะไรเลย 

“ถ้ามีโอกาสให้จำเลยได้อธิบาย ได้พูดก็คงจะดี ศาลจะได้เห็น ได้เจอ ได้ฟังคำอธิบายของจำเลย พอเราไปเยี่ยมแบงค์ที่เรือนจำ เขาก็ถามว่าเมื่อไหร่เขาจะได้อธิบายให้ศาลฟัง” 

 

“อานนท์คาดการณ์และเตรียมใจเข้าเรือนจำ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำใจหรือเข้าใจได้”

“วันนั้นอานนท์สวมเสื้อกันหนาวทับเสื้อยืด คงประเมินไว้บ้างแล้วว่าต้องเข้าเรือนจำ พอมีคำสั่งฟ้องคดี เราคุยวางแผนกันว่าต่อไปจะเอายังไง ขั้นตอนต่อไปคืออะไร จะทำอะไรต่อในทางคดี จะยื่นอุทธรณ์ไหม เมื่อไหร่

“เขาคงรู้ว่าถึงเวลาก็คงต้องเข้าเรือนจำ แต่ถามว่าเข้าใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราว่ามันไม่มีใครเข้าใจ  ถึงอานนท์จะรู้ล่วงหน้า เตรียมใจไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำใจได้ คงไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมต้องเข้าเรือนจำเพราะเรื่องนี้ ทั้งที่ไปรายงานตัวตลอด เราคิดว่าไม่มีใครเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นอานนท์หรือคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ยังไม่เข้าใจ

“การเข้าเรือนจำมันไม่ยุติธรรมหรอก คำสั่งศาลระบุเหตุผลว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา เราคิดว่าเป็นคำสั่งที่มีอคติต่อการแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตย  ประเด็นแรกคือการกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นความผิดด้วยตัวของมันเอง การปราศรัยยังเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อีกประเด็นคือ จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ การปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดแบบเปิดเผยสุจริต ไม่ได้ไปลักลอบกระทำความผิด ดูจากคำพูดแล้ว เนื้อหาไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่น แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะด้วยคำพูดที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ 

“ทีนี้ยิ่งศาลวินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงการกระทำครั้งอื่นๆ ด้วยว่าการกระทำนั้นอาจผิดเหมือนกัน ก็เหมือนวินิจฉัยไปก่อนว่าทุกการปราศรัยมีความผิด ศาลรู้แล้วหรืออว่าแต่ละการชุมนุมพูดถึงประเด็นไหน เขาอาจจะพูดประเด็นอื่นหรือมีพยานหลักฐานที่พิสูจน์หักล้างกันได้

“การไม่ให้ประกันทำให้จำเลยถูกกักขังระหว่างการพิจารณา ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิด ในทางกฎหมาย อย่างในป.วิอาญา เขาก็ระบุว่าการประกันตัวเป็นสิทธิ เพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยไม่ให้ถูกพิพากษาไปก่อนว่าเป็นคนผิด ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ICCPR ที่ให้ความคุ้มครองด้านนี้อยู่แล้ว

“ตอนเราลงไปห้องเวรชี้ อ่านคำสั่งศาลให้ฟัง ทุกคนนิ่ง เพราะไม่รู้จะพูดอะไรอีกแล้ว เพราะมันเป็นการโต้แย้งบนคนละฐานความคิด

“เรื่องยากที่คนยอมรับและเข้าใจ โดยเฉพาะจำเลย” 

ก่อนจบบทสนทนา เราถามทนายถึงโอกาสที่ทั้งสี่คนจะหวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง 

“เราอาจจะตอบคำถามเหมือนคนมีปม ตอนที่เป็นทนายให้แบงค์ในคดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ยังอยู่ในยุค คสช. ที่ขอประกันสักกี่ครั้งก็ไม่เคยได้ ทำให้แบงค์และกอล์ฟตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด เพราะถ้าสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 1 ปี ถ้าสำหรับคดี 112 จำเลยรับสารภาพ ศาลอาจลงโทษ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่ง ถือเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน ดีไม่ดีอาจจะได้ออกเร็วกว่าคนที่ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี” 

เรื่องราวคดี 112 ในยุค คสช. เหมือนถูกนำมาเล่าซ้ำเดิม อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวทั้งสี่คน ระบุอัตราโทษสูง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย-ส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้งคำปราศรัยยังกระทบกระเทือนจิตใจของชาวไทยผู้จงรักภักดี หากได้รับการปล่อยตัว อาจหลบหนี

จนถึงตอนนี้ เรายังคงไม่รู้แน่ชัดว่าอีกกี่วันหรือกี่ปีที่เราจะเห็นทั้งสี่คนในโลกภายนอกอีกครั้ง

 

X