4 มีนาคม 2564 – เช้านี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม อีกเป็นครั้งที่ 4 โดยในครั้งนี้ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันคนละ 5 แสนบาท จาก #กองทุนราษฎรประสงค์ ขณะที่เพนกวินมีมารดาเป็นผู้ยื่นเป็นนายประกันด้วยตนเอง โดยใช้หลักทรัพย์รวม 1 ล้านบาท เนื่องจากถูกกล่าวหาใน 2 คดี
นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งอัยการมีคำสั่งฟ้อง และศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว ถึงวันนี้เป็นเวลา 24 วันแล้วที่ทั้ง 4 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
สำหรับเนื้อหาในคำร้องขอประกันตัวของทั้ง 4 ระบุยืนยันว่าการใช้เงินสดเป็นหลักประกันทั้งหมด 500,000 บาท ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดี
เหตุที่ถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้ง 4 ได้แสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นไปตามหลักการพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและทำอย่างเปิดเผย การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง 4 มีเจตนาทำลายสถาบันนั้นไม่เป็นดังที่โจทก์ฟ้องอย่างยิ่ง อีกทั้งจำเลยที่ 3 และ 4 (หมอลำแบงค์และสมยศ) เองก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีใดๆ อีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำอีก จึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
แม้ก่อนหน้านั้น จำเลยในคดีนี้จะโดนจับกุมตามหมายจับมาก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมที่ไม่เคยออกหมายเรียกก่อนหน้า และเป็นการจับกุมในความผิดอื่น ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 ทั้ง 4 ได้เดินทางไปตามที่เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายทุกครั้ง โจทก์เองก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว ที่มากไปกว่านั้น ทั้ง 4 เองก็เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลขนาดที่จะสามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ ทั้งยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจน สำหรับคดีที่มีความผิดลักษณะเดียวกัน จำเลยที่ 1 (เพนกวิน) เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และในคดีของศาลอาญา โดยจำเลยไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 (อานนท์) เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลอาญา และคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่งว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่หลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
หากไม่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวจำเลย ในกรณีของจำเลยที่ 1 นั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ จะต้องเข้าเรียน หากไม่ได้รับการปล่อยตัวจะไม่สามารถเข้าเรียนได้ ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการศึกษา ทั้งยังมีโรคประจำตัว ในส่วนของจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพทนายความ ต้องรับผิดชอบช่วยเหลือว่าความ หากไม่ได้รับการประกันตัวย่อมจะไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของทนายความได้ อาจกระทบสิทธิของจำเลยในคดีความที่รับผิดชอบ
จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพนักร้องหมอลำ ต้องเลี้ยงดูครอบครัว การไม่ได้ประกันตัวย่อมส่งผลกระทบ ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ขณะที่จำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพรับจ้าง ต้องหาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งยังมีอายุมาก หากไม่ได้ประกันตัวย่อมจะได้รับความเดือดร้อน กระทบถึงครอบครัว
จำเลยทั้ง 4 ยังขอเรียนต่อศาลว่า หลักประกันสิทธิอันสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือ การที่ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธินี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี สิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิที่ดังกล่าวมีขึ้นเพราะกฎหมายอาญาเป็นดาบสองคมที่รัฐอาจใช้เพื่อจัดการผู้กระทำความผิด และทิ่มแทงประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายไปในทางที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ศาลในฐานะหนึ่งในเสาหลักแห่งอำนาจอธิปไตย จึงต้องเป็นผู้คุ้มครองสิทธิของประชาชน
การควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดียังจะต้องกระทำโดยได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็น ไม่ปล่อยเนิ่นช้าจนเกินไป และต้องไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการควบคุมตัวจำเลยไว้ ทั้งนี้ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 และ 108/1 “จำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” โดย “การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ” เหตุใดเหตุหนึ่งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ อันได้แก่การหลบหนี การไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน การไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคการการสอบสวนหรือพิจารณาคดี
แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้เหตุผลที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวส่วนหนึ่งว่า “การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคล อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ 3 ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน”
การให้เหตุผลของศาลอุทธรณ์ก่อให้เกิดคำถามว่ามีความสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงใด เพราะการให้เหตุผลลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามที่ถูกฟ้องไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เมื่อยังไม่ได้มีการพิจารณาสืบพยานจนสิ้นข้อสงสัย การวินิจฉัยการกระทำของจำเลยและหยิบข้อวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ขัดแย้งกับพันธกรณีที่ไทยมีต่อนานาประเทศ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันล้วนแต่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
จำเลยยังขอเรียนต่อศาลว่า จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาล การถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเพียงอย่างเดียว หาได้เป็นเหตุผลที่เบ็ดเสร็จเพียงพอว่าจำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดี เพราะจำเลยเชื่อมั่นว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องหลบหนีแต่อย่างใด จำเลยจึงขอศาลได้โปรดใช้ดุลพินิจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย และให้จำเลยได้มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
การใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมือง ของบุคคลที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายร่วมกัน อันเป็นวิธีในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อน และกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายแห่งรัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่พลเมืองทุกคนสามารถรวมกลุ่มเพื่อแสดงพลังแห่งเจตจำนงร่วมกัน เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุม จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับและตระหนักว่าเป็นสิ่งที่พลเมืองในแต่ละรัฐย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่เป็นผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเดือดร้อน ประชาชนได้รับความทุกข์ยากลำบากทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ระบบกฎหมายพังทลายลง ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกหย่อมหญ้า คงมีเพียงอำนาจศาลเท่านั้น ที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมิให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเป็นเสาหลักอันสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ช่วยสร้างหลักประกันสิทธิและฟื้นฟูให้ระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม
ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งสี่จึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยทั้งสี่ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ศาลยืนตามศาลอุทธรณ์ ยังคงไม่ให้ประกันตัว
เวลา 12.51 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรอีกครั้ง โดยระบุว่าคดีนี้ ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าจำเลยจะไปก่อเหตุร้ายอีก ศาลนี้เห็นว่าการที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและได้ให้เหตุผลไว้แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ย่อมเป็นการยุติว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องแล้ว
แม้กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ได้ แต่การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ซึ่งจะมีผลให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้นั้น ต้องปรากฏว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าในเหตุลักษณะคดี เช่น มีการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 อนุสอง หรือมีพฤติการณ์เกี่ยวกับจำเลย อันแสดงว่าจำเลยนั้นจะไม่หลบหนี หรือไม่สามารถไปก่อเหตุร้ายอื่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุผลที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ศาลหาจำต้องระบุเหตุผลตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ใหม่ไม่ เพราะเท่ากับจะเป็นการคัดลอกข้อความที่ศาลนี้และศาลอุทธรณ์ได้เคยมีคำสั่งไว้แล้ว ยิ่งเมื่อศาลนี้ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามต่อเนื่องกันมาหลายครั้ง หากศาลจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยไม่มีเหตุย่อมเป็นการวินิจฉัยคดีตามอำเภอใจ ไม่เป็นแนวทางที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 (เพนกวิน) มีอาการเจ็บป่วยเพราะโรคประจำตัวนั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าถึงขนาดไม่สามารถรักษาพยาบาลภายในเรือนจำได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 เป็นนักศึกษานั้น มีเพียงเหตุผลให้คาดเดาได้ว่าจะไม่สะดวกในการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างชัดเจนร้ายแรงอย่างไร ในส่วนของจำเลยอื่นที่อ้างเรื่องการประกอบอาชีพและการดูแลครอบครัว ถือเป็นความขัดข้องทั่วไปของผู้ที่ต้องคดี ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมว่าจำเลยทั้งหมดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จนถึงขนาดที่จะมีผลเพราะให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง
คำสั่งลงนามโดยนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข: การต่อสู้ของพ่อ เรื่องเล่าของครอบครัว ในวันที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอีกครั้ง
บันทึกทนายความเยี่ยม 4 ราษฎร: ผมอยากคุยกับศาลและฝากบอกว่าคิดถึง