อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์-เพนกวิน-แบงค์-สมยศ ชี้ขัดหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

11 ก.พ. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี 4 นักกิจกรรม “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รวมทั้งคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดี #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ Mobfest 

คำร้องดังกล่าว ศาลอาญาจะส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์อาจใช้เวลาพิจารณา 1-3 วัน ก่อนมีคำสั่ง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องทั้งสองคดีดังกล่าวในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 รวมทั้งข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ต่อมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดีในช้้นศาล โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท ในคดีชุมนุม 19 กันยา ส่วนในคดี Mob Fest ของพริษฐ์ ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้ตำแหน่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ก่อนที่นายเทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง” ทำให้พริษฐ์, อานนท์, ปติวัฒน์ และสมยศ ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในเย็นวันเดียวกัน 

     >> เปิดคำฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยา- คดี MobFest ก่อนศาลไม่ให้ประกันสี่แกนนำ

ทั้งนี้ การขังระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลา โดยจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นได้อีก หรือยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์ แต่หากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต จำเลยจะถูกคุมขังจนกว่าจะมีคำพิพากษา 

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว พริษฐ์, อานนท์, ปติวัฒน์ และสมยศ ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลอาญา และขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

1. การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ไม่อาจพิจารณาเพียงข้อหาหรือฐานความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น  คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจำเลยในคดีอื่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันหรือในข้อหาร้ายแรงอื่นๆ ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ดังนั้น อาศัยเพียงฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สันนิษฐานว่าเป็นคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูง และไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงไม่อาจรับฟังได้และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง   

2. พฤติการณ์แห่งคดีนี้ไม่ใช่พฤติการณ์ร้ายแรงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย  การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ทั้งนี้ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของตนได้อย่างสันติ อีกทั้งข้อเรียกร้องของจำเลยที่ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงไว้ตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจำเลยจะได้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลต่อไป                                                                    

3. ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหลายครานั้น เป็นข้อเท็จจริงอื่นนอกสำนวนคำฟ้องของโจทก์ ที่กล่าวอ้างขึ้นลอยๆ  และเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น นอกจากนี้  การกระทำของจำเลยในคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิด  และจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีตลอดข้อกล่าวหา ยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาการปล่อยชั่วคราวจากคำฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว โดยจำเลยยังไม่ได้นำสืบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย จึงต้องเป็นไปโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยอย่างยิ่ง อีกทั้งการกระทำอื่นที่ซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา ก็ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยแต่อย่างใด  ศาลจึงไม่อาจสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำความผิดได้

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า  “จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก  จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”  จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นหัวใจของกฎหมายอาญา จำเลยเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิด แต่ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาโดยที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เสมือนว่าจำเลยได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ทำให้สูญเสียอิสรภาพและได้รับความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพและการศึกษา ประการสำคัญทำให้จำเลยเสียโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง และเสียโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29  บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”  หลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1), ICCPR ข้อ 9 วรรคสาม และข้อ 14 (1) ดังนั้น  สิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริงและสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว จึงเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทางสากล โดยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้เคยให้ความเห็นว่าการคุมขังผู้ต้องหาและจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

5. จำเลยไม่มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 108/1 แต่อย่างใด กล่าวคือ

          (1) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี คดีนี้จำเลยไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้สั่งให้ควบคุมตัวจำเลยระหว่างการสอบสวน จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยจำเลยที่ 1  เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความจำเป็นต้องเข้ารับการศึกษา จำเลยที่ 2 เป็นทนายความ มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ทนายความและมีกำหนดนัดคดีที่รับผิดชอบหลายคดี จำเลยที่ 3 ประกอบอาชีพเป็นนักแสดงพื้นบ้าน ส่วนจำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพรับจ้างและมีอายุมาก มีความจำเป็นต้องดูแลครอบครัว จึงมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่าจำเลยจะไม่หลบหนีในระหว่างพิจารณาคดี    

          (2) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นและอยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการแล้ว   

          (3) จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น กล่าวคือ จำเลยเป็นนักศึกษาและประชาชนที่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสันติ ปราศจากอาวุธ การแสดงออกของจำเลยไม่ใช่การกระทำความผิดหรือก่อเหตุอันตรายแต่ประการใด จำเลยไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้าย หรือมีจิตคิดเป็นอาชญากร   

          (4) ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ จำเลยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือ หากศาลอุทธรณ์เห็นว่า  หลักประกันดังกล่าวไม่เพียงพอ  และต้องวางหลักประกันเพิ่ม จำเลยยินดีวางหลักประกันตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนด                               

          (5) การปล่อยชั่วคราวจำเลยคดีนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือพิจารณาคดีแต่อย่างใด  เนื่องจากคดีนี้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และจำเลยประสงค์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่

 

วันเดียวกัน จากกรณีการไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และประธานศาลฎีกา ขอให้สถาบันตุลาการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเรียกร้องให้ศาลยุติการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองและคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนย้ำว่า ผู้พิพากษาต้องคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม ศาลต้องเป็นหลักอันศักด์สิทธิและเป็นไม้หลักสุดท้ายในการผดุงความยุติธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมโดยเสมอภาค และต้องดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการใช้ดุลพินิจในทางที่เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้พิพากษาต้องมีความกล้าหาญในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หาไม่แล้วสถาบันตุลาการเองจะกลายเป็นสถาบันที่สร้างแต่ความอยุติธรรมให้แก่ประชาชน

 

X