อานนท์ นำภา: ทนายและจำเลยที่คิดถึง

“การว่าความคือความสนุก

เป็นการเสพชนิดหนึ่ง

เราลุ่มหลงกับการว่าความพอสมควร”

กับศาลและอัยการ เขาเป็นทนายหนุ่มฝั่งจำเลยว่าความคดีโต้แย้งทางสิทธิมนุษยชนให้กับจำเลยคดีการเมืองอยู่เสมอ หลายครั้งศาลไม่ให้ถามความในประเด็นที่ต้องการ เขาก็บอกเพียงว่า “ก็ถามต่อ เอาสิครับ ไม่ได้กลัวไง คือถ้าโดนขังจะยิ่งเท่ไปอีก เรามีความโรแมนติกกับตัวเอง”

กับลูกความ เขาเต็มที่กับการว่าความโดยเฉพาะคดีทางการเมือง ยิ่งหลังเหตุการณ์สลายชุมนุมพฤษภาคมปี 2553 มาจนยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคดีอยู่ในมือของ อานนท์ นำภา หลายสิบคดี “ในรุ่นเดียวกันผมว่าความเยอะสุดคือขึ้นว่าความเกือบทุกวัน” อานนท์กล่าวด้วยความมั่นใจในบทสนทนาครั้งหนึ่ง

ส่วนกับเพื่อนร่วมงาน เขาเป็นทั้งคนร่วมอุดมการณ์หัวใจเดียวกัน เมื่อพ้นไปจากนั้นเขาออกตัวเสมอว่าเป็นคอมมิวนิสต์น้อยบ้าง เป็นคนโรแมนติกบ้าง เป็นกวีบ้าง และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้เขาเห็นภาพจำตัวเองเด่นชัดที่สุดก็คงเป็น “ทนายความสิทธิมนุษยชน” อาชีพที่เขาเคยบอกว่าจะทำไปจนตาย

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สภาทนายความบรรจุให้เป็นวันรำลึกวิชาชีพทางกฎหมาย หรือ “วันทนายความ” ในฐานะอาชีพหนึ่งที่โดยหลักการแล้ว มีส่วนต่อการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เราจึงอดที่จะนึกถึง “อานนท์ นำภา” ผู้ที่เป็นทั้งทนายความและจำเลยคดีการเมืองในเวลาเดียวกันไม่ได้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อานนท์ถูกนำตัวไปขังระหว่างพิจารณาคดีหลังอัยการยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอีกหลายข้อหา จากกรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 12 วันแล้วที่เขาสูญเสียอิสรภาพ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอร่วมส่งความคิดถึงถึง “อานนท์ นำภา” ผ่านบทสนทนาที่ชวนรู้จักในอีกแง่มุมหนึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เขาและใครอีกหลายคนต้องห่างเหินไปจากพวกเรา ด้วยโซ่ตรวนที่ชื่อว่า “ม.112”

 

 

คอมมิวนิสต์น้อยของครูร้อยเอ็ดวิทยาลัย

“เด็กหนุ่มอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาเรียนสังคมวิทยาฯ ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะพบว่าตำรากฎหมายเข้ากับชีวิตเขามากกว่า จึงมุ่งมั่นเรียนนิติศาสตร์รามคำแหง กลายมาเป็นทนายความของประชาชน”

“คอมมิวนิสต์น้อย” เป็นฉายาของอานนท์ เด็กนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นพวกหลุดกรอบ หลุดจากขนบเดิม ใครๆ ก็มองว่าเขาเป็นพวกหัวรุนแรง อาจเป็นเพราะในช่วงเรียนมัธยม เขาอ่านหนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิตแล้วใฝ่ฝันอยากมีชีวิตดังเช่นในหนังสือ “เราอ่านคมทวน คันธนู ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เเละอีกหลายคน ตอนนั้นจัดโซนเนาวรัตน์เป็นกวีฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเห็นเขามีงานเขียนพวกเพียงความเคลื่อนไหว งานเกี่ยวกับแรงงานและประชาธิปไตย นอกจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนที่เราเรียนกัน ยังมีเรื่องพวกนี้ด้วย”

เมื่อขึ้นมัธยมปลาย อานนท์เริ่มเขียนบทกวีตำหนิครูในวันครู เพราะในความคิดของเขา ครูมักจะเปิดโรงเรียนสอนพิเศษให้กับนักเรียนเพื่อแลกกับการทำให้เกรดดีขึ้น “ไม่เวิร์ค มาใช้ชั่วโมง สถานที่โรงเรียน ใช้อะไรมาสอนแล้วก็ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่ได้เรียนพิเศษด้วย ผมก็เลยเขียนบทกวีวิพากษ์วิจารณ์ครูกับพวกเพื่อนและรุ่นน้อง เขียนใส่เอสี่แล้วก็ปิดรอบโรงเรียน”

จากนั้น เมื่อใกล้เรียนจบ เขาก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการล่ารายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขยายคาบเรียนจาก 50 นาที เป็นหนึ่งชั่วโมงเพื่อเอื้อกับเด็กในตัวเมือง ขณะที่เด็กต่างอำเภอบ้านไกลอย่างเขาต้องประสบปัญหาเรื่องการเดินทาง เพราะหากเลิกเรียนช้าก็จะทำให้เดินทางกลับบ้านได้ช้าลง ไม่ก็ไม่มีรถกลับบ้าน “ได้รับเสียงสนับสนุนจากเด็กต่างอำเภอเยอะมาก พอจบ ม.5 เราก็สมัครประธานนักเรียนชนะขาดเลย”

ปีของการเป็นประธานนักเรียน อานนท์ได้ริเริ่มนำประวัติศาสตร์การเมืองยุค 6 ตุลา 19 มาติดที่บอร์ดโรงเรียน ซึ่งก็ได้รับการพูดถึงจากทั้งผู้บริหาร ครู และเพื่อนนักเรียนอย่างกว้างขวาง เขานำข้อมูลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมาจากอินเตอร์เน็ต และบางส่วนก็ได้มาจากการเดินทางไปสำรวจจากสถานที่จริง “ผมพยายามจัดเสียงตามสายก็พูดให้คนมาสนใจ ซึ่งก็จะมีคนคล้ายๆ กับเรา พวกคอมมิวนิสต์น้อยก็จะตาม สุดท้ายเขาก็จะไปเป็นประธานนักเรียนต่อ”

 

 

เข้าเมืองหลวงเพื่อบ่มเพาะวิชากฎหมาย

ด้วยความสนใจบทกวี การสอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกทนายหนุ่มจึงเลือกสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนจะพบว่าบรรยากาศของสถาบันแห่งนี้ยังไม่ดึงดูดมากพอ เขาจึงสละสิทธิ์เพื่อลุ้นสอบในระบบเอนทรานซ์

เขาคิดว่าตนเองเหมาะกับธรรมศาสตร์ หลังได้อ่านงานสายการเมืองไทย เห็นดินสอโดม เป็นภาพอยู่ในสมอง ผลสอบปีนั้นปรากฎชื่ออานนท์ นำภา เป็นนักศึกษารั้วแม่โดมสมใจ แต่กลับไม่ได้เรียนในคณะนิติศาสตร์อย่างที่ตั้งใจ 

“ถ้าสังคมวิทยาฯ เราไม่ได้ชอบเลย แล้วเราจะรู้สึกโหดร้ายมากที่เราเดินไปเจอเพื่อนคณะนิติฯ ที่เขาแบบต้องไปนั่งในจุดนั้นที่เรียน เราก็มองด้วยความริษยา ทำไมไม่เป็นกูว่ะ เราก็พักหอใน เราก็ฟังมันท่องกฎหมาย ปีหนึ่งจะท่องมาตรา 4 กฎหมายแพ่ง ผมก็ฟังมันท่องอยู่อาทิตย์หนึ่ง กูจำได้แล้วไง แต่มึงยังจำไม่ได้”

ความที่อยากเป็นนักกฎหมายมาตลอด ทันทีที่พ้นสองเดือนในรั้วธรรมศาสตร์ เขาเก็บข้าวของออกจากหอพักเพื่อไปเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง “คือมีเซ้นท์ว่าเราทำได้ดีกว่าเรื่องอื่น คือเรื่องเดียวกัน อาจจะไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นมาก แต่ที่ทำมาทั้งหมด อันนี้น่าจะดีกว่า เพราะว่าตอนม.5 เคยไปตอบปัญหากฎหมายระดับภาคอีสาน แล้วก็ได้ที่หนึ่งของภาค”

 

 

อดีตพันธมิตรกลับใจเพราะนายกฯ พระราชทาน

บรรยากาศทางการเมืองราวปี 2546-2547 ในแวดวงสิทธิมนุษยชนยุครัฐบาลทักษิณ คงหลีกหนีไม่พ้นข้อครหากรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อีกปัญหาที่สั่งสมอย่างยืดเยื้อที่ทำให้นักเรียนกฎหมายอินไปกับสิทธิพลเมืองมาก คือเมื่อออกค่ายโครงการท่อก๊าซไทย–มาเลย์ จวบปี 2548 และ 2549 คาบเกี่ยวด้วยกระแสต่อต้านทักษิณเริ่มขึ้น และนักกิจกรรมแทบทุกคนต่างมุ่งไปทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“เพราะว่าความเป็นพันธมิตรฯ ในช่วงแรกเขาก้าวหน้า ไม่เอานักการเมืองที่ลักษณะแบบเผด็จการ พอไปถึงจุดที่เรียกร้องนายกพระราชทาน กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ไม่เอา เราก็ออก แล้ววันรัฐประหารก็ร่วมต้านรัฐประหารตั้งแต่วันแรกๆ เลย 

“พอรัฐประหารประมาณ 2-3 วันหลังจากนั้น พี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) แกเรียกนักกิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดไปประชุมกันที่กระจกเงา ตอนนั้นเราอยู่ที่แถวๆ พญาไท ก็วางแผนจะต้านรัฐประหารยังไง รู้สึกว่าช่วงนั้นไม่รู้กี่วันนะ พวกอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ก็นัดรวมตัวไปใส่เสื้อดำที่พารากอน ผมก็ไปตอนนั้น รู้สึกเราเป็นนักกฎหมายก็ยืนดูอยู่ห่างๆ แต่พอพวกพี่หนูหริ่ง มาตั้งเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร เราก็ไปแจมกับเขาไปอ่านบทกวี มีหน้าที่อ่านบทกวี”

และนี่จึงเป็นที่มาที่บทกวีของเขาได้กลับมาทำงานอีกครั้ง จากนั้นชื่อของอานนท์ นำภา ก็เริ่มปรากฎในที่ชุมนุม กิจกรรมทางการเมือง และกวีนิพนธ์

 

 

ทนายความน้อยๆ ที่รักใคร่ของราษฎร

หลังเรียนจบปริญญาตี เขาต้องไปใช้ชีวิตเป็นทหารเกณฑ์หนึ่งปีใกล้บ้านเกิด และได้เริ่มว่าความแก้ต่างในศาลทหารร้อยเอ็ดให้กับเพื่อนที่โดนคดีวินัยจากผู้บังคับบัญชาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าอานนท์เป็นหนึ่งในทนายความที่ว่าความในคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นจำนวนมาก  

อานนท์เคยโพสต์ไว้ว่านวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ คือหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาประกอบวิชาชีพทนายความ เมื่อตัวละครเอกในนวนิยายที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2496 เล่มนี้ คือ “สาย สีมา” ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายที่มีพื้นเพมาจากชาวนาในชนบท และมีอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยาก แลดูไม่ต่างจากพื้นเพชีวิตของอานนท์ 

“ในรุ่นเดียวกันผมว่าความเยอะสุด คือขึ้นว่าความเกือบทุกวัน ส่วนพวกที่ทำคดี กยศ. ทำคดีธนาคาร อาจจะได้เป็นหมื่นเป็นแสนบาทต่อคดีก็ได้นะ แต่ถ้าว่าความจริงๆ นับชั่วโมงต่อกัน ผมว่าเยอะ เพราะผมว่าความทุกวัน นับตั้งแต่ปี 2551-2552 มานี้ อาจจะตามพี่ๆ ไปเก็บประสบการณ์ เก็บชั่วโมงบินอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นเป็นไม้แรก พอปี 2552 เริ่มขึ้นแล้ว หลังพฤษภาคม 2553 ก็เริ่มเป็นทนายที่คนรู้จักในมุมทนายโรแมนติก บ้าๆ บอๆ คนหมั่นไส้เยอะ เป็นเรื่องการเมือง พอหลังปี 2553 สลายการชุมนุม ต้องสื่อสารทางการเมือง เราก็เล่าเรื่องคดี เล่าเรื่องคนที่เราไปเจอ คนโดนจับ แล้วตอนนั้นมันเป็นช่วงเริ่มของเฟซบุ๊กเลยเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ทำคดีการเมืองมาจนถึงปี 2556 กะว่าจะเลิกทำ”

กับท่าทีทีเล่นทีจริงที่ว่าจะ “เลิกทำ” แต่หลังรัฐประหาร 2557 ชีวิตอานนท์ก็ไม่สามารถเลิกทำเช่นนั้นได้ เพราะต้องรับภาระหลักในการทำงานด้านกฎหมาย ที่ใช้คำว่า “หลัก” เพราะคนที่ถูกควบคุมตัวเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง อานนท์รู้จักมักคุ้นกับคนกลุ่มนี้ เมื่อมีคดีความ คนกลุ่มนี้ก็มักจะติดต่อให้เขาไปช่วยว่าความให้

เพราะความอิ่มเอมของการทำคดีการเมือง คือการรู้ว่าตัวเองเป็นเหมือนตัวละครวรรณกรรมที่อานนท์เคยอ่าน เขาได้รู้จักนิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) และโรม (รังสิมันต์ โรม) อานนท์มองว่าคนเหล่านี้ราวกับเป็น “เสกสรรค์” สมัย 14 ตุลาฯ  “เหมือนกับประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแล้วเราไปเป็นตัวละครในนั้น เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์”

 

 

จะเป็นทนายจนวันสุดท้ายของชีวิต

กับวิชาชีพทนาย อานนท์ตอบทันทีว่า “ทำไปจนตาย ทำอย่างอื่น ไม่ได้หรอกเหมือนพระ พระพอบวชแรกๆ บวชสักยี่สิบพรรษาไม่ค่อยอยากสึกหรอก มีความขลัง แต่การว่าความมีความสนุกด้วย ไม่ได้สักว่าจะทำ การว่าความคือความสนุก เป็นการเสพชนิดหนึ่ง เหมือนอะไรที่เราเข้าไปเสพ เราลุ่มหลงกับการว่าความพอสมควร”

เขายังพูดเสมอว่า “เรามีความโรแมนติกกับตัวเอง เป็นทนายตอนนั้นไปว่าความ ชาวบ้านเอาฟักเอาแตงแบกขึ้นรถตู้ ว่าความแล้วได้ของกินกลับมาแล้วเท่ เนื้อแดดเดียวอย่างนี้ บางทีเหมือนกับเราหล่อ เป็นตัวแทน ก็คือคิดในมุมหล่อนะ แต่จะมีความสุขกับความคิด ที่หล่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกัน เขาก็ประสบความสำเร็จกันไปหมดแล้ว ก็มีเงิน ถ้าพูดเรื่องเศรษฐกิจเขาก็ไปกันสบายล่ะ ก็เหลือแต่เราที่ใช้ชีวิต ใช้ชีวิตแบบไม่ได้รวยมาก แต่ก็ไม่ได้จน”

ไม่รู้ว่าทุกวันคืนที่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายหนุ่มจะคิดถึงฉากชีวิตทนายสิทธิมนุษยชน และการว่าความของตัวเองแค่มากน้อยแค่ไหน? ในทุกที่ที่เขาอยู่ เราต่างเชื่อว่าเขาคงได้ใช้ความรู้ความสามารถทางกฎหมายอย่างเต็มปรี่ และเราคงจะรำลึกและถามไถ่ถึงกันเสมอๆ จนกว่าจะพบเจอกันอีก

—————————-

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง : “การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน >> https://tlhr2014.com/archives/25998

 

 

X