ศาลปรับ 9 พันบาท คดี “เจมส์ ประสิทธิ์” ชุมนุมไม่ถอยไม่ทน ชี้แค่โพสต์ชวนก็เข้าข่ายผู้จัด

วันที่ 5 พ.ย. 63 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ถูกอัยการฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62

ภาพจำเลย ทนายความและผู้มาให้กำลังใจในวันฟังคำพิพากษา 5 พ.ย. 63

ศาลแขวงเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่าพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 3 นาย เบิกได้ข้อเท็จจริงความทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 63 ได้มีเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” โพสต์เชิญชวนให้มีการชุมนุมวันที่ 14 ธ.ค. 63 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และในวันดังกล่าวได้มีการชุมนุมตามการนัดหมาย โดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

หลังจากนั้นจำเลยได้เข้ามาแสดงตัวว่าเป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว เห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติตามหน้าที่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี จึงไม่มีเหตุที่จะเข้ามาเบิกความบิดเบือนหรือปรักปรำจำเลย

ศาลพิเคราะห์ว่าตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง ระบุว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง” และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้โพสต์เชิญชวนดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้หนักแน่นตามฟ้อง

ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ได้เบิกตนเองเป็นพยาน ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวน แต่ไม่ใช่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว การโพสต์ของจำเลยก็เป็นการโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กสาธารณะ ไม่ใช่การโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวในนามส่วนตัว ถือว่าเข้าลักษณะเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ พยานหลักฐานจำเลยยังไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้

ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงินจำนวน 9,000 บาท แต่คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ให้ลดโทษปรับ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับเป็นจำนวน 6,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

หลังฟังคำพิพากษาจำเลยได้ทำการจ่ายค่าปรับต่อศาล แต่ยังคงประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อไป

ภาพจาก ThaiPBS

เปิดคำแถลงปิดคดีฝ่ายจำเลยก่อนพิพากษา

ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือการยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแฟลชม็อบดังกล่าว แต่กิจกรรมเกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีใครขึ้นเป็นแกนนำ จำเลยเพียงแต่เป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนในเพจ และเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ควรตีความว่าเข้าข่ายเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง

ในการสืบพยานคดีนี้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นเบิกความยังยอมรับว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม เพียงแต่ได้พบการโพสต์เชิญชวนในเพจของกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่ว่าเอกสารที่ตำรวจบันทึกภาพหน้าจอจากเพจของกลุ่มนี้ เป็นโพสต์ที่เผยแพร่ก่อนหน้าการชุมนุมไม่กี่ชั่วโมง ไม่ใช่โพสต์ที่เผยแพร่ก่อนหน้า 1 วัน อีกทั้งในระหว่างการชุมนุม เจ้าพนักงานที่เข้ามาดูแลการชุมนุมก็ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับประชาชนอีกคนหนึ่งที่ดูมีลักษณะเป็นแกนนำ เพื่อชี้แจงเรื่องการให้ยุติการชุมนุม ไม่ได้มาพูดคุยกับประสิทธิ์แต่อย่างใด

อ่าน ทบทวนปากคำพยาน ก่อนศาลพิพากษาคดี “เจมส์ ประสิทธิ์” โพสต์ชวนร่วมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน”

ก่อนหน้าการอ่านคำพิพากษาของศาล ทนายความจำเลยยังได้ยื่นแถลงปิดคดีต่อศาล เพื่อย้ำประเด็นข้อต่อสู้คดีนี้ โดยมีท่อนความตอนท้ายของแถลงปิดคดีดังกล่าวระบุว่า

“จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง และได้รับการคุ้มครองตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีอยู่ด้วย ถึงแม้จะมีข้อจำกัดของการใช้สิทธิชุมนุม ซึ่งกำหนดข้อบังคับเป็นกฎหมาย แต่การจำกัดสิทธินั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ มิใช่เพื่อแสวงหาการจำกัดการใช้สิทธิโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

“จำเลยเห็นว่าการใช้กฎหมายจำกัดสิทธิของจำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการทำลายสาระสำคัญของสิทธิพื้นฐานของจำเลย และมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวบุคคลอื่น ไม่ให้มีการร่วมชุมนุมหรือทำให้เกิดความกลัวที่จะเข้าร่วมการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จำเลยเห็นว่าข้อจำกัดการใช้สิทธิชุมนุมที่เป็นกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปในสังคมตัดสินใจได้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และจะต้องไม่มีการให้อำนาจผู้มีหน้าที่ใช้บังคับกฎหมายโดยไร้ขีดจำกัดหรืออย่างกว้างขวาง

“ในคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยอีกจำนวนมาก แต่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะดำเนินคดีกับจำเลยหรือเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการบังคับกฎหมายอย่างไร้ขีดจำกัด สามารถเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใดหรือไม่ใช้กับผู้ใดก็ได้ ซึ่งผิดหลักการในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง และไม่อาจละเลยปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวนี้ล่วงผ่านไปและยังคงมีการปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม จำเลยเห็นว่าในความขัดแย้งกันในสังคม จะยุติได้ด้วยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ เท่านั้น หากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษนอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังจะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความกลัวกังวลที่จะใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้”

X