จับตา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี “เจมส์ ประสิทธิ์” ชุมนุมไม่ถอยไม่ทน – เปิดคำอุทธรณ์โต้ 6 ประเด็น คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ในวันที่ 31 พ.ค. 64 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่มีนัดหมายอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีที่ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” บัณฑิตจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ถูกอัยการฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62

ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือการยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแฟลชม็อบดังกล่าว แต่กิจกรรมเกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีใครขึ้นเป็นแกนนำ จำเลยเพียงแต่เป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนในเพจ และเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ควรตีความว่าเข้าข่ายเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 63 ศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง โดยชี้ว่าการโพสต์เชิญชวนไปร่วมการชุมนุมในเพจเฟซบุ๊กสาธารณะ ถือว่าเข้าลักษณะเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว และได้พิพากษาลงโทษปรับจำเลย เป็นเงินจำนวน 9,000 บาท แต่คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ให้ลดโทษปรับ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับเป็นจำนวน 6,000 บาท

อ่านทบทวนการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย พร้อมคำพิพากษาของศาลแขวงเชียงใหม่ ในคดีนี้ ได้ที่

>> ทบทวนปากคำพยาน ก่อนศาลพิพากษาคดี “เจมส์ ประสิทธิ์” โพสต์ชวนร่วมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน”

>> ศาลปรับ 9 พันบาท คดี “เจมส์ ประสิทธิ์” ชุมนุมไม่ถอยไม่ทน ชี้แค่โพสต์ชวนก็เข้าข่ายผู้จัด

หลังจากนั้นในวันที่ 24 ธ.ค. 63 จำเลยและทนายความได้เข้ายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวทั้งในส่วนของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมีประเด็นโต้แย้งใน 6 ประเด็น ดังนี้

ไม่ปรากฎพยานหรือเอกสารยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์หรือเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งการชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบตามเจตนารมณ์กฎหมาย

ประเด็นแรก จำเลยเห็นว่าคดีนี้มีความผิดและโทษทางอาญา การที่จะพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์จะต้องนำสืบตามฟ้องให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดจริง

การที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาว่า พันตํารวจตรีชวาพล พันตํารวจโทไพบูลย์ และพันตํารวจโทคมสันต์ พยานฝ่ายโจทก์ เป็นเจ้าพนักงานซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์จากการปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ และคําเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสาม มีรายละเอียดและสอดคล้องกับที่ต่างเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่ต้องให้การหรือมาเบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จําเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องนั้น จำเลยไม่เห็นด้วยเนื่องจากทางนำสืบของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลรับฟังให้สิ้นสงสัยได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องจริง ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ตามคำให้การพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง เบิกความต่อศาลถึงขณะที่ตนไปปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยการชุมนุมดังกล่าว ได้พูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “จุ๋ม” โดยแจ้งว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการแจ้งการชุมนุมว่า “เหตุที่ข้าฯ แจ้งให้คนชื่อจุ๋ม ทราบเนื่องจากดูลักษณะภายนอกแล้วคาดว่าเป็นผู้นำการชุมนุมคนหนึ่ง” ทั้งยังปรากฏภาพถ่ายของบุคคลชื่อจุ๋ม พร้อมรายละเอียดอยู่ในเอกสาร ที่ระบุว่าเป็น “กลุ่มแกนนำที่เดินทางมาถึงบริเวณลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ เวลาประมาณ 16.00 น.”

ประกอบกับคำให้การพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.คมสันต์ พิมพันธ์ชัยยบูลย์ ที่ให้การตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “ข้าฯ ไม่เคยออกหมายเรียกบุคคลตามภาพถ่ายให้มาเป็นพยานในคดีนี้” นอกจากนี้พยานปากนี้ยังเบิกความอีกว่า “ข้าฯ ไม่ได้ตรวจสอบว่าการโพสต์ของนายธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) นั้น จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการโพสต์ของเพจสมัชชาเสรีฯ ในคดีนี้” ซึ่งขัดแย้งกับบันทึกข้อความและรายงานประกอบภาพถ่ายเอกสาร

อีกทั้งตามพยานเอกสารโจทก์ปรากฏข้อมูลรายละเอียดจำนวนมากเกี่ยวกับการชุมนุมเหตุตามฟ้อง แม้จะมีเอกสารบันทึกข้อความจัดทำโดย พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ระบุไว้ว่า “..โดยการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีบุคคลใดเป็นแกนนำในการดำเนินกิจกรรม” แต่เอกสารบันทึกข้อความรวมถึงภาพถ่าย กลับปรากฏชื่อและภาพของบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากจำเลยเป็นจำนวนมาก โดยระบุว่าเป็นมวลชนและแกนนำในการชุมนุมดังกล่าว รวมถึงการระบุว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้นัดหมายการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน

เห็นได้ว่า ในทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีพยานเอกสารฉบับใดหรือพยานโจทก์ปากใดให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์หรือเป็นผู้จัดการชุมนุม หรืออยู่ในคณะผู้จัดการชุมนุมร่วมกับบุคคลใดที่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการชุมนุม การขอใช้สถานที่และเครื่องขยายเสียง หรือเบิกความทำนองว่าหลงเชื่อหรือมีผู้หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ที่จะต้องทำหน้าที่แจ้งการชุมนุมแต่อย่างใด

2. พยานโจทก์ทุกปากให้การสอดคล้องกันว่าการชุมนุมตามฟ้องเป็นไปโดยสงบและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว โดยตามคำให้การพยานโจทก์ปาก พ.ต.ต.ชุวาพล ชัยสาร ว่า “ในการชุมนุมวันดังกล่าวดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อยดี” ซึ่งให้การสอดคล้องกับคำให้การพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง ที่ให้การต่อศาลว่า “การแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าใช่” ทั้งตามคำให้การพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.คมสันต์ พิมพันธ์ชัยบูลย์ ที่ให้การต่อศาลว่า “คดีนี้มีการสืบทราบเรื่องที่จะมีการจัดการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ก่อนหน้าที่จะมีการจัดการชุมนุม ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาก็ได้มีการออกคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจดูแลสถานที่ที่จะจัดการชุมนุมด้วย และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ใช่ตามที่ถาม” ประกอบกับตามคำให้การของ พ.ต.ท.คมสันต์ ว่า “การไม่แจ้งการชุมนุมไม่ได้ทำให้การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าใช่”

เห็นได้ว่า พยานโจทก์ให้การต่อศาลอย่างสอดคล้องกันว่าการชุมนุมสาธารณะตามฟ้องโจทก์เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ โดยจำกัดพื้นที่การชุมนุม ประกอบกับ พ.ต.ท.ไพบูลย์ รักษาการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่ามีจะมีการชุมนุมสาธารณะตามฟ้องโจทก์ ดังปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าในวันเวลาสถานที่ดังกล่าว ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยตลอดตั้งแต่ก่อนการชุมนุมจะเริ่มต้นจนเสร็จสิ้น การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินคดีกับจำเลยหรือประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองแต่ประการใด

ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

การตีความว่าการโพสต์เชิญชวนเท่ากับเป็นผู้จัดชุมนุม เป็นการตีความเกินขอบเขตกม.

ประเด็นที่สอง จำเลยโต้แย้งส่วนที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาข้อความตามโพสต์ที่ปรากฏในภาพถ่ายการตรวจสอบเฟซบุ๊กแล้ว เห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นการเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลา และสถานที่ที่กําหนด ซึ่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง” และ มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง” จําเลยซึ่งได้โพสต์ข้อความเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นไปร่วมชุมนุมตามวันเวลาดังกล่าว จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม และมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมนั้นต่อผู้รับแจ้ง แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จําเลยมิได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิด

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยเหตุผลดังนี้ การจะตีความว่าบุคคลใดเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ” จะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคเจ็ด ของพระราชบัญญัติการชุมนุมฯ อันเป็นบทนิยามจำกัดความหมายอย่างเคร่งครัดด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า “”ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” ซึ่งได้กำหนดความหมายจำเพาะว่าบุคคลเช่นว่าจะต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบุคคลนั้นๆ เป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุมด้วย ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องรับหน้าที่ตามข้อกำหนดของกฎหมาย และต้องรับผิดทางอาญาเมื่อมีการฝ่าฝืน จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด มิใช่แต่เพียงเชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นมาชุมนุม จึงจะต้องรับโทษทางอาญา

ดังคำให้การพยานจำเลยปากผู้ช่วยศาสตราจารย์นัทมน คงเจริญ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้จัดทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ ได้เบิกความต่อศาลว่า “การที่จะเป็นผู้เชิญชวนที่จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ควรรู้ข้อมูลรายละเอียดว่ามีการจัดการชุมนุมเมื่อใด มีการจัดการชุมนุมอย่างไร ขอใช้สถานที่และเครื่องขยายเสียงอย่างไร จึงจะต้องแจ้งการชุมนุม ลำพังการเป็นผู้เชิญชวนไม่อาจเป็นผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมได้ หากจะตีความว่าผู้ที่แชร์ข้อความในสื่อสาธารณะเกี่ยวกับการชุมนุมว่ามีขึ้นเมื่อใด ที่ใด ว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมจะเป็นการตีความอย่างเกินขอบเขต”  และ “บทบัญญัติในการแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 นี้มีบทลงโทษทางอาญา ดังนั้นการตีความต้องเป็นการตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า ผู้ที่เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมจะต้องมีข้อเท็จจริงว่ามีการทำงานเป็นทีมในการจัดการชุมนุม”

จำเลยยังได้นำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นคำชี้แจงผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน ได้จัดทำขึ้น ซึ่งให้เหตุผลทางกฎหมายเพิ่มเติมโดยสรุปได้ว่า ผู้จัดการชุมนุมตามนิยามแห่งบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคเจ็ด ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน หากตีความว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมโดยที่ตนเองมิได้มีส่วนร่วมเป็นคณะผู้จัดการชุมนุม ย่อมจะไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจในการควบคุมหรืออำนวยการชุมนุมได้

ประกอบกับจำเลย มีนางสาวบุษยา คุณากรสวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าสาขาพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาเบิกความต่อศาลเป็นพยานจำเลยว่า “เมื่อวันและเวลาชุมนุมข้าฯ ได้เดินทางไปยังประตูท่าแพ ลักษณะการชุมนุมในวันดังกล่าวผู้เข้าชุมนุมต่างเป็นผู้ร่วมชุมนุม ไม่มีผู้จัดการชุมนุม ต่างคนต่างถือป้ายสนับสนุนนายธนาธร ข้าฯ เห็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำอยู่โดยรอบสถานที่ การชุมนุมวันดังกล่าวมีลักษณะเป็นแฟลชม็อบ เป็นการรวมตัวในระยะเวลาอันสั้น ไม่มีการจัดเวทีปราศรัยหรือมีผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด”

“ในการชุมนุมวันดังกล่าวข้าฯ ได้พบจำเลย ซึ่งข้าฯ เคยรู้จักอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้พูดคุยอะไรกัน ข้าฯ เห็นจำเลยถือป้ายอยู่ในบริเวณลานประตูท่าแพ ไม่ได้ทำหน้าที่กล่าวอะไรในการชุมนุม”

และ “ข้าฯ เดินทางไปร่วมชุมนุมเนื่องจากข้าฯ ทราบการชุมนุมจากทางบทสนทนากลุ่มไลน์ของแนวร่วมพรรคอนาคตใหม่”

จำเลยยังนำประชาชนทั่วไปผู้เข้าร่วมชุมนุม เข้าเบิกความโดยสรุปว่าการเดินทางไปร่วมชุมนุมฯ เนื่องจากทราบข่าวกิจกรรมจากการสนทนากับกลุ่มเพื่อนในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ทั้งยังยืนยันว่าจำเลยไม่ได้มีลักษณะเป็นแกนนำหรือผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวแต่ประการใด  อีกทั้งทางพิจารณาปรากฏว่า จำเลยโพสต์ข้อความตามเอกสาร เป็นการโพสต์ข้อความเพียงประมาณชั่วโมงกว่าๆก่อนที่จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม เพราะว่ามิได้ตระเตรียมวางแผนร่วมกันกับผู้ใดเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ประการใด และข้อความตามที่จำเลยได้โพสต์ก็เป็นเพียงข้อความประกาศแจ้งข่าวการชุมนุมสาธารณะ ที่มีบุคคลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม ได้โพสต์และส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย ก่อนที่จะเลยจะโพสต์ข้อความดังกล่าว และไม่มีพยานโจทก์หรือพยานจำเลยรายใดเบิกความไปในทางหลงเชื่อหรือเข้าใจไปว่าจำเลยเป็นผู้จัด เนื่องจากจำเลยไม่เคยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ใดว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง เพราะจำเลยไม่ใช่ผู้จัด ผู้ร่วมจัด หรือผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามนัยของมาตรา 10 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 4 วรรคเจ็ด แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ฟ้องโจทก์ระบุวันที่โพสต์ผิด ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ศาลต้องยกฟ้องตามแนวคำพิพากษาฎีกา

ประเด็นที่สาม ที่จำเลยโต้แย้งคือ การที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาวินิจฉัยว่า แม้ทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความจากคําเบิกความของพยานโจทก์ สอดคล้องกับภาพถ่ายข้อความที่จําเลยโพสต์ว่า มีการโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์ตามฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 อันเป็นการแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยโพสต์ข้อความตามฟ้อง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ก็ตาม แต่จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยไม่ได้กระทําความผิดเท่านั้น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในเดือนธันวาคม 2562 จําเลยเคยโพสต์เชิญชวนนัดหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะในวันดังกล่าวด้วยข้อความเดียวกันอีก จําเลยจึงมิได้หลงต่อสู้ในเรื่องวันเวลาที่กระทําความผิด และข้อแตกต่างดังกล่าวถือเป็นรายละเอียด มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสําคัญนั้น จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วย เหตุผลดังต่อไปนี้

เกี่ยวกับคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 จําเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้ดูแลผู้รับผิดชอบเพจเฟซบุ๊ก ชื่อสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความว่า “ร่วมแสดงพลังประกาศจุดยืนว่ามิยอมจํานน ต่อความ อยุติธรรม มาร่วมทวงคืนความเป็นธรรม ร่วมทวงคืนประชาธิปไตย แล้วพบกัน วันนี้ (14 ธันวาคม) เวลา 17.00 นาฬิกา ณ ข่วงประตูท่าแพ ก็มาดิค้าบ “กลัวที่ไหน” ปรากฏตามเอกสาร

จำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหาทั้งสิ้น และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้ว เพื่อหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ เมื่อทางพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลย ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น คือวันที่ 14 ธันวาคม 2562  มิใช่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 ตามฟ้องโจทก์นั้น จึงเป็นข้อแตกต่างที่กล่าวมาในคำฟ้อง

ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหาทั้งสิ้น และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้ว เพื่อหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้เรื่องวันเวลากระทำความผิดแล้ว แม้ว่าข้อแตกต่างนี้จะเป็นเพียงรายละเอียด แต่การฟ้องผิดวันไป เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ จึงต้องยกฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 233/2552

ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานก่อนมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะจ้องจับผิด/มุ่งเอาผิดกับจำเลย

ประเด็นที่สี่ จำเลยโต้แย้งว่า คดีนี้มีการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่จะมีการดำเนินคดีกับจำเลย เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีลักษณะเป็นการจ้องจับผิดหรือมุ่งเอาผิดกับจำเลย ดังนี้

ข้อพิรุธประการสำคัญของพยานโจทก์ ปรากฏอยู่ในคำให้การของ พ.ต.ท.คมสันต์ พิมพันธ์ชัยยบูลย์ พนักงานสอบสวน ว่า “ข้าฯ ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องทุกข์ในคดีนี้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 และเพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับรายงานการสืบสวนในวันดังกล่าว ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้แจ้งหรือได้รับหลักฐานใด” แต่พันตำรวจโทคมสันต์กลับเบิกความต่อมาว่า “ข้าฯ เป็นผู้จัดทำภาพถ่ายและเอกสารแนบท้ายรายงานการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 โดยเป็นการจัดทำขึ้นก่อนที่จะได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากพันตำรวจตรีชุวาพล

แทนที่ตามปกติวิสัยในการสืบสวนคดีอาญา ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่เข้าร้องทุกข์ ย่อมต้องจัดทำพยานหลักฐานที่สำคัญให้เรียบร้อยมามอบให้พนักงานสอบสวนพร้อมกัน ซึ่งในคดีนี้ก็คือโพสต์ข้อความตามเอกสาร แต่กลับเป็นว่า พ.ต.ท.คมสันต์เป็นผู้จัดทำเอกสารเสียเอง ก่อนที่ พ.ต.ต.ชุวาพล ชัยสาร จะมาแจ้งเหตุร้องทุกข์ ทั้งที่ พ.ต.ต.ชุวาพลเบิกความต่อศาลว่า “ข้าฯ ไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำหรือเป็นผู้จัดการชุมนุมในครั้งนี้” ประกอบกับเมื่อ “ทนายจำเลยถามพยานว่า เมื่อการชุมนุมไม่ได้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุใดจึงมีการถ่ายภาพบุคคลตามภาพถ่ายท้ายบันทึกข้อความเอกสาร พยานเบิกความว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง”

จำเลยยืนยันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิพื้นฐาน ต้องไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยไร้ขีดจำกัด

ประเด็นที่ห้า จำเลยยืนยันว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง และได้รับการคุ้มครองตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)  ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก มีพันธกรณีอยู่ด้วย

ถึงแม้จะมีข้อจำกัดของการใช้สิทธิชุมนุม ซึ่งกำหนดข้อบังคับเป็นกฎหมาย แต่การจำกัดสิทธินั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ มิใช่เพื่อแสวงหาการจำกัดการใช้สิทธิโดยไม่จำเป็น และไมได้สัดส่วน

จำเลยเห็นว่าการใช้กฎหมายจำกัดสิทธิของจำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นการทำลายสาระสำคัญของสิทธิพื้นฐาน และมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวบุคคลอื่นไม่ให้มีการร่วมชุมนุมหรือทำให้เกิดความกลัวที่จะเข้าร่วมการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ข้อจำกัดการใช้สิทธิชุมนุมที่เป็นกฎหมายจะต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปในสังคมตัดสินใจได้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และจะต้องไม่มีการให้อำนาจผู้มีหน้าที่ใช้บังคับกฎหมายโดยไร้ขีดจำกัดหรืออย่างกว้างขวาง

แต่ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยอีกจำนวนมาก แต่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ดุลพินิจในการเลือกที่จะดำเนินคดีกับจำเลย หรือเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยเพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นการบังคับกฎหมายอย่างไร้ขีดจำกัด สามารถเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใดหรือไม่ใช้กับผู้ใดก็ได้ ซึ่งผิดหลักการในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง และไม่อาจละเลยปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวนี้ล่วงผ่านไปและยังคงมีการปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป

จำเลยเห็นว่าในความขัดแย้งกันในสังคม จะยุติได้ด้วยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติเท่านั้น หากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษนอกจากจะไม่เป็นการแก้ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังจะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ประชาชนทั่วไปอาจเกิดความกลัวกังวลที่จะใช้สิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้

จำเลยถูกดำเนินคดีโดยเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง จากความสนใจทางการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาล

ประเด็นที่หก จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏสู่ศาลในกระบวนพิจารณาคดีนี้ จำเลยเชื่อว่าสาเหตุที่จำเลยถูกดำเนินคดีนี้เป็นการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เนื่องจากเหตุที่จำเลยตกเป็น “เป้าหมายเฝ้าระวัง” ของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง เพราะจำเลยเป็นนักศึกษาผู้สนใจการเมืองและทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง จึงถูกจัดอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยมีข้อพิรุธอันเป็นที่น่าสงสัยในพยานบุคคลและพยานเอกสารโจทก์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

จำเลยได้เบิกความต่อศาลโดยสรุปว่า หากจำเลยจะเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะใดๆ จำเลยจะแจ้งการชุมนุมนั้นๆ ต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ดังที่จำเลยได้เคยจัดการชุมนุมและแจ้งการชุมนุมมาแล้ว  ดังนั้นเมื่อทราบเหตุว่าจะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เป็นผู้ดูแลเพจสมัชชาเสรีฯ จำเลยจึงมีความเป็นห่วงประชาชนอื่นๆ ผู้ที่แชร์ข้อความดังข่าวว่าจะถูกดำเนินคดี

ดังนั้น โดยที่ยังไม่ปรากฏว่ามีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนในคดีนี้ จำเลยจึงเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีเป็นคดีนี้ และจำเลยยังรับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเพจสมัชชาเสรีฯ ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริง จึงยินยอมให้พนักงานสอบสวน ตรวจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เนื่องจากจำเลยเชื่อมั่นโดยสุจริตว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และต้องการปกป้องประชาชนผู้แชร์หรือส่งต่อข้อความตามโพสต์ของจำเลย ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากสอดคล้องกันว่า ไม่มีพยานโจทก์ปากใดทราบมาก่อนวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเพจสมัชชาเสรีฯ ผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง

ต่อกรณีนี้ พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน โดยสรุปว่า การติดตามสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการเมือง มีรายชื่อของบุคคลเฝ้าระวังซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ และ “ทนายจำเลยถามพยานว่า ตามบันทึกข้อความและภาพถ่ายของจำเลย ซึ่งระบุว่าเป็นแกนนำสมัชชาเสรีฯ หมายความว่าจำเลยเป็นบุคคลเฝ้าระวังใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าหากปรากฏตามรายงานก็ใช่”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับคำให้การพยานจำเลยปากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ ที่ว่า “ปัจจุบันเป็นยุคของสังคมออนไลน์ มีผู้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมจำนวนมาก แต่การที่เจ้าหน้าที่เลือกดำเนินคดีกับบางรายจึงเป็นการเลือกปฏิบัติ”

การดำเนินคดีกับจำเลย จึงมีลักษณะเป็นไปเพื่อพยายามจะใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะมาเป็นเครื่องมือในการลงโทษจำเลยเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

>> ต่อมาศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปเป็นวันที่ 13 ก.ย. 64 <<

X