ทบทวนปากคำพยาน ก่อนศาลพิพากษาคดี “เจมส์ ประสิทธิ์” โพสต์ชวนร่วมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน”

พรุ่งนี้ (5 พ.ย. 63) เวลา 9.00 น. ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ถูกอัยการฟ้องในข้อหา “เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรมแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62

สำหรับข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือ การยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแฟลชม็อบดังกล่าว แต่กิจกรรมเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่อยากแสดงความคิดเห็นคัดค้านการจะยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงนั้น และจำเลยเป็นเพียงหนึ่งผู้เข้าร่วมในวันดังกล่าว การกล่าวหาจำเลยยังสะท้อนถึงปัญหาการตีความพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อ “กลุ่มเป้าหมายทางการเมือง”

ชวนอ่านทบทวนประมวลปากคำของพยานที่เบิกความในชั้นศาล ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ย. ที่ผ่านมา แยกเป็นพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 3 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด และพยานฝ่ายจำเลยจำนวน 4 ปาก

.

ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

.

ภาพบันทึกหน้าจอที่กล่าวหาจำเลยว่าได้โพสต์เชิญชวนชุมนุม ระบุวันที่ไม่ชัดเจน ตร.ยืนยัน 13 ธ.ค. แต่หลักฐานทนายความชี้ 14 ธ.ค. ก่อนชุมนุมไม่นาน 

พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ต.ชุวาพล ชัยสาร ตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ และเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่าพยานได้รับคำสั่งให้หาข่าวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้นัดหมายชุมนุมที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยพยานได้ตรวจพบเฟซบุ๊กเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” วันที่ 13 ธ.ค. 62 เวลา 15.21 น. พบโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมในวันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลา 17.00 น. ที่ลานประตูท่าแพ อันเป็นการเชิญชวนทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ และได้มีการบันทึกภาพถ่ายหน้าจอไว้เป็นหลักฐาน

พยานตรวจสอบเพจดังกล่าวพบว่าเป็นเฟซบุ๊กเพจสาธารณะ คนทั่วไปสามารถเข้าดูเนื้อหาได้ โดยมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของเพจ พยานจึงได้นำเรียนผู้บังคับบัญชาและได้มีการประชุมทีมงานว่าจะไปสังเกตการณ์ชุมนุม โดยพยานได้เดินทางไปตั้งแต่เวลา 13.30 น. และกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมทยอยเดินทางมาประมาณ 16.30 น. จนมีผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน มีการแสดงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว ซึ่งพยานได้ถ่ายภาพบุคคลเหล่านั้นไว้

จนเวลาประมาณ 17.40 น. มีการประกาศโดย พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง รักษาการตำแหน่งผู้กำกับการสภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ยุติการชุมนุม หลังการชุมนุมเสร็จสิ้นแล้ว พยานได้สอบถามพ.ต.ท.ไพบูลย์ว่าได้รับแจ้งการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ ทราบว่าไม่มีการแจ้งการชุมนุม พยานจึงรวบรวมพยานหลักฐานทำรายงาน และเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ในวันที่ 15 ธ.ค. 62 ในข้อหาไม่แจ้งก่อนการชุมนุมสาธารณะไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ในการถามค้านพยานปากนี้ของทนายความจำเลย ทนายความได้พยายามสอบถามพยานในประเด็นที่ว่าการตรวจพบโพสต์ของเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” นั้นเกิดขึ้นวันที่เท่าไรและอย่างไร เนื่องจากเอกสารที่พนักงานสอบสวนได้จัดทำภาพถ่ายหน้าจอและส่งมาในสำนวนคดี ไม่มีการระบุวันที่และเวลาอย่างชัดเจน ระบุเพียงว่า “เมื่อวานนี้” ซึ่งทนายความได้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังเพจดังกล่าว พบว่าโพสต์ดังกล่าวได้ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลาประมาณ 15.21 น. อีกทั้งมีข้อความระบุว่า “แล้วพบกัน (วันนี้ 14 ธ.ค.) ” อีกด้วย ซึ่งช่วงเวลาการโพสต์นั้นเป็นช่วงเวลาก่อนการชุมนุมเพียงไม่นาน

พยานตอบคำถามค้านยืนยันว่าได้ตรวจพบโพสต์ในเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ในวันที่ 13 ธ.ค. 62 เวลา 15.21 น. ทนายจึงได้ถามว่าข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กนี้ ระบุว่า “วันนี้ 14 ธ.ค.” ซึ่งขัดกับที่พยานอ้างว่าพบโพสต์วันที่ 13 ธ.ค. 62 ใช่หรือไหม พ.ต.ต.ชุวาพลยังยืนยันว่าพบโพสต์ดังกล่าววันที่ 13 ธ.ค. 62

ทนายความจำเลยจึงสอบถามว่าเอกสารบันทึกภาพหน้าจอที่ทนายความนำมาให้พยานดูนั้น เป็นภาพที่เหมือนกับเอกสารในสำนวนคดีที่นำมากล่าวหาจำเลย โดยมีวันที่และเวลาชัดเจนใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่าใช่

จากนั้นทนายความจำเลยได้สอบถามว่าวันที่พยานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ได้มอบพยานหลักฐานใดให้พนักงานสอบสวนไว้บ้าง พ.ต.ต.ชุวาพลระบุมีเพียงรายงานการสืบสวน ทนายความจึงถามว่าพยานแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไปบันทึกภาพหน้าจอโพสต์ดังกล่าว พยานรับว่าใช่ตามสำนวนคดี

ทนายความจึงได้สอบถามว่าพนักงานสอบสวนจึงบันทึกภาพหน้าจอโพสต์หลังการแจ้งความใช่หรือไม่ พยานระบุว่าน่าจะมีการบันทึกภาพหน้าจอหลังเกิดเหตุ ทนายความจึงได้ถามพยานว่า หากบันทึกภาพหน้าจอหลัง 14 ธ.ค. 62 ก็คือ 15 ธ.ค. 62 เป็นต้นไป หน้าจอเฟซบุ๊กจะขึ้นว่า “เมื่อวานนี้” ใช่หรือไม่ แต่พยานยังไม่ได้ตอบคำถาม ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีระบุว่าคำถามนี้ให้ไปถามกับพนักงานสอบสวนที่บันทึกภาพหน้าจอ

ในการตอบคำถามค้านของทนายความจำเลย พ.ต.อ.ชุวาพลยังเบิกความว่าภาพถ่ายบุคคลต่างๆ จำนวนมากในสำนวนคดีเป็นผู้ที่ไปถึงการชุมนุมเป็นกลุ่มแรกและน่าจะเป็นกลุ่มแกนนำ แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังไม่ทราบว่านายธนาธรเกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีหรือไม่อย่างไร และยังตอบคำถามค้านว่าวันที่มีการชุมนุมได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปอำนวยความสะดวกในการชุมนุม และการชุมนุมก็ยุติลงโดยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรงใดๆ

สุดท้าย อัยการได้ขึ้นมาถามติงพยานว่า ที่พ.ต.ต.ชุวาพล ตอบว่าไม่ทราบว่าการชุมนุมมีใครเป็นแกนนำ แต่พยานเชื่อว่าที่คนมาชุมนุมกันเพราะอะไร พยานตอบว่า เพราะโพสต์ของ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” เชิญชวน และจากการตรวจสอบเฟซบุ๊ก พยานไม่พบเฟซบุ๊กเพจอื่นเชิญชวนการชุมนุม

.

.

รักษาการผู้กำกับระบุชัดในการชุมนุม มีบุคคลอื่นมีลักษณะเป็นแกนนำ แต่ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้

พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง ขณะเกิดเหตุรักษาการตำแหน่งผู้กำกับการสภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งโดยตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

พ.ต.ท.ไพบูลย์ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 62 เวลาประมาณ 16.30 น. พยานได้รับรายงานว่ามีบุคคลใช้ชื่อ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” โพสต์เชิญชวนการชุมนุมที่ลานประตูท่าแพ ในวันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลา 17.00 น. เป็นการชุมนุมทางการเมืองแสดงสัญลักษณ์ พยานได้สั่งให้ฝ่ายสืบสวนทำการสืบสวน และจัดเตรียมกำลังรองรับการชุมนุม

ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลา 17.00 น. มีผู้ชุมนุมมาประมาณ 300 คน ซึ่งพยานเดินทางไปในวันดังกล่าวด้วย คนที่มาชุมนุมออกมาปกป้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการชูป้ายและแสดงสัญลักษณ์ การชุมนุมไม่มีความรุนแรง ไม่มีการยั่วยุ เป็นไปโดยสงบด้วยดี เมื่อการชุมนุมถึงเวลาประมาณ 17.50 น. พยานได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น. เหตุเพราะผู้ประสงค์จะจัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง และผู้ชุมนุมก็ได้เลิกการชุมนุมตามนั้น

จากการตรวจสอบพยานไม่ได้รับแจ้งการชุมนุม โดยหลักเกณฑ์การแจ้งการชุมนุม มี 3 ช่องทาง คือ แจ้งเป็นหนังสือยื่นต่อสถานีตำรวจ, ส่งแฟกซ์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าไม่มีการแจ้งการชุมนุมในทั้ง 3 ช่องทาง

ด้านทนายความจำเลยได้ถามค้าน โดยให้พยานดูว่าเอกสารโพสต์ที่นำมาใช้กล่าวหาจำเลยกับเอกสารของฝ่ายจำเลย มีวันที่ไม่ตรงกัน คือวันที่ 13 ธ.ค. 62 กับ วันที่ 14 ธ.ค. 62 พยานรับว่าไม่ตรงกัน อีกทั้งเอกสารการสืบสวนทั้งหมดลงวันที่ 13 ธ.ค. 62 แต่พยานไม่ได้มีการสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ทนายความถามค้านต่อในประเด็นที่พยานในฐานะผู้รับแจ้งการชุมนุมได้ไปสถานที่เกิดเหตุ พ.ต.ท.ไพบูลย์ รับว่าได้พบกับประชาชนที่มาชุมนุม และได้มีการพูดคุยกับประชาชนคนหนึ่ง ชื่อ “จุ๋ม” พร้อมได้แจ้งกับบุคคลดังกล่าวว่าการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากพ.ต.ท.ไพบูลย์ มองว่าบุคคลดังกล่าวดูลักษณะเป็นแกนนำคนหนึ่ง และไม่มีบุคคลอื่นมีลักษณะเป็นแกนนำอีก

ทนายยังได้ถามค้านในเรื่องภาพถ่ายในสำนวนคดีที่มีการระบุชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชนของบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมไว้จำนวนมาก พ.ต.ท.ไพบูลย์รับว่าบุคคลเหล่านี้เป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ซึ่งเคยจัดกิจกรรมการชุมนุมมาก่อน หรือเป็นบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เฝ้าระวัง ทนายความจึงได้ถามค้านว่าการแสวงหาพยานหลักฐานทั้งที่ยังไม่มีความผิดเกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้อย่างไร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พ.ต.ท.ไพบูลย์เบิกความเป็นการปฏิบัติการสืบสวน เพื่อเป็นข้อมูลในอนาคตเท่านั้น

.

ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

.

พนักงานสอบสวนในคดีได้จัดหาพยานหลักฐานเอง ก่อนมีการแจ้งความร้องทุกข์

พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท.คมสันต์ พิมพันธ์ชัยยบูลย์ ตำแหน่งสารวัตรสอบสวนสภ.เมืองเชียงใหม่ เบิกความเกี่ยวกับเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 62 ช่วงเย็น สารวัตรสืบสวนผู้กล่าวหาในคดีนี้ รับทราบว่าจะมีการชุมนุมคู่ขนานกับกรุงเทพมหานคร จากเฟซบุ๊กเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” โพสต์ชวนคนชุมนุมกันที่ลานประตูท่าแพ และผู้บังคับบัญชาสั่งการให้เฝ้าระวังการชุมนุม ซึ่งพยานก็ได้รับคำสั่งดังกล่าวด้วย

วันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลากลางวัน พยานจึงตรวจสอบพบข้อความประกาศการชุมนุม และพยานทำการบันทึกภาพหน้าจอ เข้ามาเป็นเอกสารในสำนวนคดีที่กล่าวหาจำเลยนี้

พยานเบิกความว่า เพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” เป็นเพจสาธารณะ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งพยานได้ตรวจสอบในเว็บกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กอื่นๆ ว่ามีการชักชวนเช่นเดียวกับเพจนี้หรือไม่ แต่ก็ไม่พบว่ามีเฟซบุ๊กอื่นๆ ประกาศเชิญชวน

วันที่ 15 ธ.ค. 62 เวลาประมาณ 13.35 น. พ.ต.ต.ชุวพล ได้เข้ามาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ในข้อกล่าวหาเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม โดยไม่แจ้งการชุมนุมกับผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง โดยฝ่ายสืบสวนมีรายงานการสืบสวนและภาพถ่ายในการชุมนุมมอบให้พยานไว้ด้วย

หลังรับเรื่องร้องทุกข์ไว้แล้ว พ.ต.ท.คมสันต์ระบุว่าพยานไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด และได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ ทางผู้กำกับสภ.เมืองเชียงใหม่จึงได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ สอบถามให้มีการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความที่มีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ยังไม่ได้รับคำตอบมา เมื่อได้มีข้อมูลการแจ้งความดำเนินคดีกับเพจ“สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” เผยแพร่ออกไป ทางเพจดังกล่าวก็ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่าจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 ธ.ค. 62 เวลาประมาณ 10.30 น.

ในวันดังกล่าว นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ได้เข้ามาพบพยาน พ.ต.ท.คมสันต์จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา และจัดทำบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยเป็นการมาพบพนักงานสอบสวนเอง ไม่มีการออกหมายเรียก

จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ได้รับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความตามวันเวลาเกิดเหตุ พ.ต.ท.คมสันต์ได้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลย และพบเฟซบุ๊กกลุ่ม “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ปรากฏชื่อจำเลยเป็นแอดมิน ซึ่งตัวจำเลยเปิดให้ดูต่อหน้าทนายความ พยานจึงได้จัดทำบันทึกการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือไว้

ตอนท้าย พ.ต.ท.คมสันต์ เบิกความว่าเหตุที่ดำเนินคดีกับจำเลย เพราะจำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวนเอง และน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ประกอบกับจำเลยรับว่าโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง จึงเชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ในส่วนทนายความจำเลยได้ถามค้านพ.ต.ท.คมสันต์ ว่าเอกสารทั้งหมดที่ฝ่ายสืบสวนส่งให้พยาน ได้ตรวจสอบหมดแล้วใช่หรือไม่ พยานระบุว่าใช่ ทนายความจึงถามว่าพยานทราบไหมว่านายธนาธรที่ประกาศชุมนุมในกรุงเทพ เป็นเวลาเท่าใด ประกาศทางใด ก่อนหรือหลังเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” พ.ต.ท.คมสันต์ระบุว่าตนไม่ทราบ

ทนายความจึงได้ถามค้านว่าเอกสารที่พยานจัดทำ แสดงวันเวลาว่า “เมื่อวานนี้” มีข้อความว่า “แล้วพบกัน วันนี้ 14 ธ.ค.” ใช่หรือไม่ พยานระบุว่าถูกต้อง ทนายความจึงได้นำเอกสารของฝ่ายจำเลยที่เป็นโพสต์ของเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ที่ระบุว่าวันที่โพสต์คือ 14 ธ.ค. 62 มาให้พยานดู แต่พ.ต.ท.คมสันต์ไม่ยืนยันและไม่รับรองเอกสารดังกล่าว เพราะไม่ได้จัดทำ แต่เห็นว่ามีข้อความเหมือนกันกับเอกสารที่พยานจัดทำ

ทนายความยังถามว่าเอกสารบันทึกภาพหน้าจอดังกล่าวในสำนวนคดี ที่นำมากล่าวหาจำเลย ผู้แจ้งความได้มอบให้พยานหรือไม่ พ.ต.ท.คมสันต์ระบุว่าไม่ใช่ แต่ตนได้จัดทำเอกสารนี้ขึ้นเอง ทนายความจึงถามว่า พยานได้จัดหาพยานหลักฐานก่อนมีการแจ้งความร้องทุกข์ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.คมสันต์ระบุว่าใช่

พ.ต.ท.คมสันต์ยังได้เบิกความตอบคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่ได้เรียกบุคคลต่างๆ ที่ปรากฎในภาพถ่ายในคดีนี้มาสอบถามข้อเท็จจริง ว่าภาพดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลความมั่นคง และการชุมนุมได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปอำนวยความสะดวกตามเจตนาของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว

ด้านอัยการได้ถามติงว่า เอกสารภาพถ่ายบันทึกหน้าจอที่ทนายความจำเลยนำมาแสดงนั้น จำเลยได้เคยอ้างไว้ในชั้นสอบสวนหรือไม่ พ.ต.ท.คมสันต์ระบุว่าไม่เคย ตนเพิ่งเห็นในวันนี้ โดยวันที่จำเลยมาพบพยาน จำเลยรับว่าโพสต์ข้อความในวันที่ 13 ธ.ค. 62 เวลา 15.21 น. ตามเอกสารที่จำเลยได้ลงชื่อไว้

.

ภาพจาก ThaiPBS

.

ประสิทธิ์ยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม เพียงแต่ทราบข่าว หากประสงค์จะจัด จะแจ้งชุมนุม เพราะแจ้งมาแล้วหลายครั้ง

ในส่วนของพยานฝ่ายจำเลยปากแรก นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ได้อ้างตนเองขึ้นเป็นพยาน เบิกความถึงประวัติความสนใจทางการเมืองและการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 จากกรณีที่มีการจับกุมนักศึกษา 14 คนในกรุงเทพ พยานจึงเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษาดังกล่าว

จากนั้นพยานได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรม ทั้งชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยในช่วงปี 2561 ซึ่งพยานก็ได้ไปแจ้งการชุมนุมสาธารณะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประสิทธิ์เบิกความว่าตนเคยจัดการชุมนุมบ่อยครั้ง และทราบว่าจะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ก่อน 24 ชั่วโมง

สำหรับเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” มีมาตั้งแต่ก่อนที่พยานจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพยานได้ร่วมเข้ามาเป็นผู้ดูแลเพจ ซึ่งมีการโพสต์เรื่องการเมือง, การรับน้องในมหาวิทยาลัยและกิจกรรม, ประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ส่วนในคดีนี้ ประสิทธิ์เบิกความตนเห็นข้อความชักชวนการชุมนุมในกลุ่มไลน์ของประชาชนผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ หลังนายธนาธรโพสต์คลิปวิดีโอกรณีจัดกิจกรรม “ไม่ถอยไม่ทน” ในกรุงเทพ กลุ่มสมาชิกในไลน์ก็ได้พูดคุยกันว่าน่าจะมีกิจกรรมจัดขึ้นที่เชียงใหม่ด้วย ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ริเริ่มคุยกัน พยานเพียงแค่อ่านข้อความ ต่อมาพบว่าในกลุ่มไลน์มีการพูดคุยกันว่ามีคนโทรแจ้งตำรวจของสภ.เมืองเชียงใหม่แล้ว โดยมีการจัดกิจกรรมที่ประตูท่าแพ

จากนั้น ประสิทธิ์ยังพบโพสต์ของประชาชนสมาชิกอนาคตใหม่ซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวแจ้งเรื่องการชุมนุม จึงได้นำข้อความทั้งในไลน์และโพสต์ดังกล่าวมารวมสังเคราะห์ โพสต์ในเพจของกลุ่ม ซึ่งภาพโพสต์ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นโพสต์เผยแพร่ก่อนการชุมนุมประมาณ 1 ชั่วโมง คือในวันที่ 14 ธ.ค. 62 เวลาประมาณ 15.21 น.

ประสิทธิ์เบิกความว่าจากนั้น ตนได้เดินทางมายังสถานที่ชุมนุมในเวลาประมาณ 17.15 น. โดยไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด เพียงแต่ไปร่วมยืนพูดคุย และร่วมเขียนป้ายเหมือนคนอื่นๆ เนื่องจากมีผู้นำผ้าดิบยาวๆ มาแจ้งให้ช่วยกันเขียน ประสิทธิ์ยังได้เห็นนายตำรวจท่านหนึ่งเข้าไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมหญิงคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มาพูดคุยกับพยานแต่อย่างใด ก่อนเจ้าหน้าที่จะมีการประกาศทำนองว่า “การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ผิดกฎหมายสามารถกระทำได้ แต่ให้ยุติเวลา 18.00 น.” ประชาชนก็ได้ส่งเสียงโห่ร้อง แต่ก็ยินยอมแยกย้ายกันกลับ ซึ่งพยานก็ได้เดินทางกลับ

หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน มีรายงานข่าวในสื่อระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความร้องทุกข์เพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” แล้ว ประสิทธิ์จึงคิดว่าจะไปแสดงตัวเพราะเกรงว่าตำรวจจะไปจับประชาชนที่แชร์โพสต์ของเพจ จึงได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจว่าจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 ธ.ค. 62 และก็ได้ดำเนินการดังกล่าวตามที่ประกาศ

ขณะเข้าพบ พนักงานสอบสวนได้ให้ประสิทธิ์ดูโพสต์ที่นำมากล่าวหาในคดีนี้ พยานได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ โดยจำได้เพียงว่าโพสต์ที่ถูกกล่าวหานั้นโพสต์ในวันเดียวกับที่มีการจัดชุมนุม พยานเข้าใจว่าทางตำรวจตรวจสอบรายละเอียดข้างในแล้ว พยานเพียงยืนยันว่าโพสต์นั้นตนเป็นผู้โพสต์ จึงได้ลงลายมือชื่อ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุม โดยมีการพูดคุยว่าต่อให้พยานจะไม่ตั้งใจ แต่พฤติการณ์เข้าตามข้อกฎหมาย ให้เป็นหน้าที่พิสูจน์ความจริงกันต่อไป และพยานได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ประสิทธิ์เบิกความว่าในส่วนเอกสารภาพถ่ายบันทึกหน้าจอเฟซบุ๊กที่ทนายความนำเข้ามาเป็นหลักฐานฝ่ายจำเลยนั้น เกิดจากการที่พยานไปตรวจสอบเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนการสืบพยาน จึงเห็นว่าวันที่ไม่ตรงกับที่ตำรวจแจ้ง จึงบันทึกภาพหน้าจอแล้วส่งให้ทนายความ ประสิทธิ์ระบุว่าหากพนักงานสอบสวนเปิดดูจะพบโพสต์ดังกล่าวอยู่ โดยมีคนกดถูกใจประมาณ 200 คน แชร์ 43 ครั้ง ประสิทธิ์ได้เบิกความปิดท้ายว่าถ้าหากพยานเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม พยานจะทำการแจ้งจัดการชุมนุม

จากนั้นทางอัยการโจทก์ได้ถามค้าน ในประเด็นที่ว่าพยานเบิกความว่าข้อมูลที่รวมมาโพสต์ มาจากทางเฟซบุ๊กและไลน์  ปัจจุบันพยานยังสามารถย้อนกลับไปดูข้อความเหล่านั้นได้ใช่หรือไม่ หรือได้นำข้อมูลดังกล่าวมาต่อสู้คดีหรือไม่ ประสิทธิ์ระบุว่าหลังเกิดเรื่องประมาณ 1 เดือน ตนได้เปลี่ยนมือถือ อีกทั้งกลุ่มไลน์ก็มีการส่งข้อความกันเยอะมาก อีกทั้งหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค กลุ่มก็ปิดหายไป

อัยการได้ถามค้านต่อเรื่องเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย” เป็นเพจสาธารณะประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้ใช่หรือไม่ และเพจนี้เป็นเพจแรกที่มีการโพตส์ข้อความเชิญชวนใช่หรือไม่ ประสิทธิ์อธิบายว่าเพจเฟซบุ๊กปกติเป็นสาธารณะอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการโพสต์เป็นเพจแรกหรือไม่ ตนไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้ไปตรวจสอบดู

สุดท้ายอัยการได้ถามค้านว่าเอกสารภาพถ่ายบันทึกหน้าจอที่นำมากล่าวหาพยาน พยานได้โพสต์เองและได้ลงลายมือชื่อไว้ใช่หรือไม่ ประสิทธิ์ระบุว่าใช่ เพราะตอนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจถามว่าพยานเป็นแอดมินจริงไหม จึงได้ลงลายมือชื่อ

.

ภาพจาก ThaiPBS

.

พยานนักวิชาการเน้นย้ำ ผู้ประสงค์จะจัดชุมนุม ต้องชัดในเจตนา ไม่ขยายขอบเขตความหมาย เพียงเผยแพร่ข้อความไม่เพียงพอผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พยานจำเลยปากที่ 2 ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นพยานนักวิชาการที่ขึ้นเบิกความให้ความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และการตีความกฎหมาย เนื่องจากเคยทำวิจัยเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม และวิจัยเกี่ยวกับการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในช่วงปี 2560-61

นัทมนได้ให้ความเห็นทางวิชาการประกอบกับเอกสารคำชี้แจง ใน 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. ความหมายและขอบเขตของผู้จัดการชุมนุม ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดในมาตรา 10 ให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม แจ้งการชุมนุม ซึ่งในมาตรา 10 วรรค 2 บัญญัติว่า “ให้ถือว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง

พยานให้ข้อสังเกตว่าในการใช้บังคับบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับความเป็นจริงในการจัดการชุมนุม ที่คณะผู้จัดชุมนุม ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการชุมนุมนั้นๆ อาจมีการแบ่งหน้าที่กัน เช่น ขออนุญาตใช้สถานที่ ขอใช้เครื่องเสียง รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรม ซึ่งกฎหมายได้ใช้คำว่า “เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม” หากเป็นในสังคมปัจจุบัน อาจเป็นการทำรูปแบบของการโฆษณาการจัดชุมนุมโดยเผยแพร่ในสื่อสาธารณะทั้งหลายได้ โดยยังคงอยู่ภายในขอบเขตของการเป็นทีมผู้จัดการชุมนุม ซึ่งต้องรู้ถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา สถานที่ ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 วรรค 3 ได้ จึงจะถือเป็นผู้แจ้งการชุมนุมตามวรรค 1 ได้

พยานจึงเห็นว่าการเผยแพร่ข้อความในสื่อสาธารณะ โดยผู้ที่ทราบถึงการจัดชุมนุม แต่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในคณะผู้จัดการชุมนุมดังที่กล่าวข้างต้น จึงไม่ควรจัดอยู่ในขอบเขตของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ตามมาตรา 10 นี้ เพราะนอกจากจะไม่ทราบถึงข้อกำหนดในรายละเอียดของการชุมนุม ไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้ถึงการจัดการต่างๆ แล้วนั้น บางครั้งการเผยแพร่ข้อความในการชุมนุม แม้ว่าจะระบุข้อความเชิญชวน แต่ก็ไม่อาจทำให้เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นเพียงผู้พบเห็นการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุม ตัวผู้นำมาเผยแพร่ซ้ำในสื่อสาธารณะ อาจจะไปร่วมหรือไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการกำหนดขอบเขตของผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมจึงควรจำกัดอยู่เพียงคณะผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น

2. การตีความเพื่อขยายขอบเขตของผู้จัดการชุมนุม และผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้จัดการชุมนุม

เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ได้กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาตรา 15

จากขอบเขตความรับผิดชอบของผู้จัดการชุมนุมเช่นนี้ จึงไม่ควรขยายขอบเขตของผู้จัดการชุมนุมไปไกลกว่าคณะผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวดังในข้อแรก มิฉะนั้น จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เป็นเพียงผู้เชิญชวน โดยเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุม โดยที่ตนเองมิได้มีส่วนร่วมเป็นทีมงานในการจัดการชุมนุม ไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมและอำนวยการชุมนุมได้ ดังนั้นหากพิจารณาบทบาทของผู้ที่เพียงเผยแพร่ข้อความเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ย่อมไม่อาจเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ จึงไม่อาจเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมตามมาตรา 10 ได้เช่นกัน

3. เจตนาของผู้กระทำและบทลงโทษทางอาญา

จากขอบเขตของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ที่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุม มีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ เป็นโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และผู้จัดการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มีโทษปรับและจำคุก ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การสันนิษฐานเพื่อลงโทษบุคคลย่อมต้องตีความอย่างเคร่งครัด ดังนั้นการตีความในมาตรา 10 วรรค 2 จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับภาระเกินกว่าที่ตนกระทำจริง

4. การใช้บังคับกฎหมายโดยการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

พยานเห็นว่าจากข้อเท็จจริงที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ โดยมีโพสต์เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมนั้น เมื่อมิได้เป็นคณะผู้จัดการชุมนุม และยังมีผู้อื่นอีกหลายคนที่เผยแพร่ข้อความเชิญชวนให้ไปชุมนุมด้วย เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะนำกฎหมายการชุมนุมสาธารณะมาเป็นเครื่องมือในการลงโทษในสิ่งที่เกินไปกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย

.

.

พยานในที่เกิดเหตุยืนยันไปร่วมชุมนุมเอง ไม่มีแกนนำ ผู้เข้าร่วมหลากหลาย เป็นไปโดยสงบ

ในส่วนพยานจำเลยปากที่ 3 และ 4 น.ส.บุษยา พระนครสวรรค์ อดีตรองหัวหน้าสาขาพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และนายดิลก หาญพล ประชาชนที่ร่วมชุมนุม เข้าเบิกความคล้ายคลึงกันว่าได้รับรู้การเชิญชวนร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 62 ที่ประตูท่าแพ จากสื่อออนไลน์หลากหลายแฟลตฟอร์ม ทั้งผ่านหน้าจอเฟซบุ๊กและกลุ่มเพื่อนที่พูดคุย ตัดสินใจไปเข้าร่วมการชุมนุมด้วยตนเองไม่ใช่การชักชวนจากเพจ “สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย”

อีกทั้งวันที่มีการชุมนุมไม่ได้มีแกนนำ ไม่มีการปราศรัย ประชาชนต่างคนต่างมาแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่มทั้งสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองอื่นๆ และประชาชนทั่วไป สุดท้ายยุติการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวาย หรือความรุนแรงใดๆ

.

จับตาคำพิพากษา

จากข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลยที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าจับตาว่าศาลแขวงเชียงใหม่จะมีคำพิพากษาอย่างไร ทั้งประเด็นที่จำเลยยืนยันว่าไม่ได้ผู้จัดการการชุมนุม แม้ยอมรับว่าได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวน แต่ก็เป็นในฐานะผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ที่โพสต์แจ้งข่าวสาร

อีกทั้งการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยการแสดงความเห็นของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีใครขึ้นเป็นแกนนำ  ประกอบกับความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 วรรคสอง ที่นักวิชาการให้ความเห็นไว้ว่าการตีความว่าใครเป็น “ผู้ประสงค์จะจัดชุมนุม” ต้องชัดเจนในเจตนา ไม่ควรตีความขยายขอบเขตความหมายออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ต้องรับผิดเกินกว่าที่ได้กระทำจริง

.

X