ฟ้องแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! 7 นักกิจกรรมอีสานชุมนุม ‘ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน’ 1 มี.ค. 64 หวังเรียกร้องรัฐหยุดใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

1 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” รวม 7 ราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาชุมนุมอื่นๆ จากกิจกรรมชุมนุม “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” ที่หน้าคอมเพล็กซ์ และหน้า สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ก่อนที่ศาลแขวงขอนแก่นจะรับฟ้องและให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์

สำหรับคดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 9 ราย เฉพาะที่มาในนัดฟังคำสั่งฟ้องในครั้งนี้ได้แก่ วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, อิศเรษฐ์ เจริญคง, พชร สารธิยากุล, จตุพร แซ่อึง, ธนศักดิ์ โพธิเตมีย์ และวีรภัทร ศิริสุนทร อีก 2 รายคือ วิศัลยา งามนา และศรายุทธ นาคมณี ติดภารกิจอื่นจึงขอเลื่อนฟังคำสั่งไปก่อน โดยจะมาพบพนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นเพื่อฟังคำสั่งฟ้องในภายหลัง 

นักกิจกรรม 7 ราย ไปถึงตามนัดของอัยการตั้งแต่ช่วง 10.00 น. แต่อัยการเลื่อนนัดให้ไปที่ศาลแขวงขอนแก่นเพื่อส่งฟ้องและทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในเวลา 13.30 น. โดยอ้างว่าต้องแก้ไขคำฟ้องซึ่งเตรียมไว้สำหรับฟ้องจำเลย 9 ราย เมื่อนักกิจกรรมทั้ง 7 ราย และทนายเดินทางไปถึงศาลเวลา 13.30 น. กลับต้องรอเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการที่จะนำคำฟ้องมายื่นต่อศาลจนถึง 14.30 น. จากนั้นทั้งหมดต้องไปอยู่บริเวณห้องควบคุมตัวด้านหลังศาลในระหว่างที่รอศาลสอบถามจำเลยและพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

สำหรับคำฟ้องที่ รณกร ภูดิฐวัฒนโชค อัยการจังหวัดผู้ช่วย สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น บรรยายฟ้องจำเลยทั้ง 7 ราย ระบุว่า

จําเลยทั้งเจ็ดกับพวกที่หลบหนี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมโดยประกาศเชิญชวนนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” และร่วมกันอภิปรายทางการเมืองด้วยเครื่องขยายเสียง พร้อมกับใช้แผ่นป้าย และป้ายผ้าประกอบกิจกรรม บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น 

ต่อมาจําเลยทั้งเจ็ดได้ปลุกระดมผู้ชุมนุมให้เคลื่อนจากบริเวณดังกล่าวไปยังถนนสาธารณะมอดินแดงถึงถนนหลังมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในลักษณะเดินขบวนปิดช่องทางจราจรทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนดังกล่าวได้  อันเป็นการกีดขวางการจราจรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควร แล้วพากลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมฝ่าแนวกั้นเข้าไปในบริเวณสถานีตํารวจภูธรย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกันกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของตํารวจด้วยเครื่องขยายเสียง พร้อมกับใช้ดอกไม้จันทน์ และพวงหรีดประกอบกิจกรรม 

คำฟ้องระบุด้วยว่า การร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวมีลักษณะมั่วสุมกัน และเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 โดยจำเลยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค 

อีกทั้งจําเลยทั้งเจ็ดยังร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงป่าวประกาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนทําการโฆษณา และร่วมกันพากลุ่มผู้ชุมนุมเดินแถวลงไปบนถนนสาธารณะปิดช่องทางการจราจร ทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนได้ อันเป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยอัยการฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 7 คน ใน 4 ข้อหา

1. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในพื้นที่เฝ้าระวัง ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ร่วมกันก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท 

4. ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 108 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งเจ็ดในระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้ศาลนับโทษจําคุกของวชิรวิทย์ในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกของคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1676/2563 ของศาลนี้ (คดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ) และนับโทษจำคุกของจตุพรในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกของคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1265/2564 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ (คดีแต่งชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ที่สีลม)  

ก่อนที่ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุว่า จำเลยทั้ง 7 คน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ในคดีนี้ได้ให้ความร่วมมือมาพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตลอดกระบวนการสอบสวน อีกทั้งคดีมีอัตราโทษไม่สูง โดยจําเลยทั้งหมดขอยืนยันว่าจะมาศาลตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตและเป็นนักศึกษา ทั้งยังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ศาลยังไม่พิพากษาว่ามีความผิด จะปฏิบัติกับจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดแล้วไม่ได้ 

กระทั่งเวลา 16.30 น. ผู้พิพากษาศาลแขวงขอนแก่นจึงออกพิจารณาผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์มายังห้องควบคุมตัว ใช้เวลาดำเนินกระบวนการราว 2 นาที โดยเรียกชื่อยืนยันตัวจำเลยทีละคน สอบถามว่ามีทนายความแล้วหรือไม่ จากนั้นมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 7 รายโดยการสาบานตนแทนการวางหลักประกัน และนัดพร้อมถามคำให้การในวันที่ 7 เม.ย. 2565

นักกิจกรรมพร้อมต่อสู้คดีตามกระบวนการ แต่รู้สึกเสียเวลาชีวิตกับความล่าช้าของเจ้าหน้าที่

หลังกล่าวสาบานตนว่าจะมาตามนัดของศาลทุกนัด และได้รับการปล่อยตัวในช่วง 17.00 น. ศิวกร นามนวด หรือเข้ม นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที สะท้อนความรู้สึกที่ถูกฟ้องว่า “ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษเลยครับ เรายืนยันในจุดยืนและอุดมการณ์ เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมที่มาจากการใช้อำนาจกดขี่ของรัฐ เราก็แค่ลุกขึ้นสู้ ก็เตรียมใจว่าจะโดนดำเนินคดีตั้งแต่แรกแล้ว จนมาวันนี้อัยการสั่งฟ้อง ก็ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ไม่ได้มีอะไรกังวล และอีกสิ่งที่รู้สึกก็คือ เสียเวลามากเกินไป ตอนเราถูกดำเนินคดี เจ้าพนักงานทำอย่างรวดเร็ว แต่พอวันนัดสู้คดีเรามาก่อนเวลาคุณนัด แต่คุณกลับมาสายเอง ถ้านี่คือการบริการของรัฐ เราให้คะแนนไม่ผ่าน”

จตุพร แซ่อึง หรือนิว นักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก กล่าวว่า “คดีนี้คือไม่รู้สึกกลัวหรืออะไรเลย  แค่รู้สึกผิดหวังมากกว่า การออกมาเรียกร้องชีวิตที่ดีเพื่อใครหลายๆ คน กลับได้คดีตอบแทน และผิดหวังที่เจ้าหน้าที่รัฐทำงานช้ามาก จนต้องทำให้ฝ่ายจำเลยทั้งทนายและตัวจำเลยเองเสียเวลาในชีวิต” 

คดีนี้ผู้ต้องหาทั้งเก้าได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการ ขอให้สอบเพิ่มเติมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือสื่อมวลชน ในประเด็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี ตลอดจนขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่หลังจากอัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนอยู่ 9 เดือน ก็ยังคงมีคำสั่งฟ้องคดีในที่สุด

กิจกรรมวันที่ 1 มี.ค. 64 ภาพโดย The Isaan Record

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 อันเป็นที่มาของคดีเกิดจากกลุ่มนักกิจกรรมในจังหวัดขอนแก่นและที่อื่นๆ ออกมารวมกลุ่มราว 200 คน ชุมนุมภายใต้ชื่อ “ผู้พิทักษ์ทรราช ผู้พิฆาตประชาชน” เพื่อประณามการกระทำของตำรวจที่สลายการชุมนุมของประชาชนกลุ่ม REDEM ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในวันที่ 28 ก.พ. 2564 ซึ่งมีการใช้ทั้งกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ก่อนจับกุมประชาชนจำนวนหนึ่ง การชุมนุมหน้าคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนเดินเท้าไปวางหรีดหน้า สภ.ย่อยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามหลังการชุมนุมครั้งนั้นกลับทำให้นักกิจกรรม 9 รายถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเรียกร้องสิ่งที่รัฐควรจะประกันสิทธิการชุมนุมอย่างสันติและปกป้องความปลอดภัยให้ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ราษฎรอีสาน’ 16 ราย เจอ 3 คดี ชุมนุม #ปล่อยหมู่เฮา – ชักธง ‘ปฏิรูปกษัตริย์’ นักศึกษาชี้ รัฐใช้กฎหมายปิดปาก

ตร.ขอนแก่น เร่งสรุปสำนวน 3 คดี ส่งอัยการ แม้นักกิจกรรม ‘ราษฎรโขงชีมูล’ ยังไม่ได้ยื่นคำให้การเพื่อต่อสู้คดี

แจ้งเพิ่มเติม 14 นักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” ฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 18 ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

X