5 นักกิจกรรมทางการเมือง ตกเป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมไล่ประยุทธ์ใน “คาร์ม็อบสกลนคร” ตั้งแต่สิงหา 64

2 ก.พ. 2565 นักกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดสกลนครรวม 5 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก สภ.เมืองนครพนม รวม 3 คดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบ 3 ครั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่ง พ.ต.ท.บัญชา โสชารี สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองสกลนคร เป็นผู้กล่าวหา โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ

10.30 น. “เอ็ม” ภูเบศร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, นิจตะยา คงชุ่มชื่น อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย, ชยุตหรือสายัณห์ อภิภูชนะชัย อดีตดีเจเสื้อแดงวัย 70 ปี และ “อ้อ” ชลิดา อภิบาลภูธร ลูกสาวของชยุตและเป็นเจ้าของเพจ “อีอ้อปากจัด” เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสกลนคร พร้อมวณัฐ โคสาสุ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่วนภิญโญ ขันติยู อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกออกหมายเรียกอีกราย เข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมขจรศักดิ์ เบญชัย ทนายความอิสระ ก่อนทั้งหมดแยกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในแต่ละคดี

คดีแรก พ.ต.ท.สมจิตร เบ็ญเจิด สารวัตร (สอบสวน) แจ้งการกระทำที่กล่าวหาภูเบศร์และภิญโญว่า ทั้งสองได้ร่วมหรือจัดคาร์ม็อบสกลนคร ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เพื่อแสดงจุดยืนในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ โดยเริ่มที่อำเภอพังโคน เคลื่อนขบวนมาที่สนามมิ่งเมือง อําเภอเมืองสกลนคร มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน 

พนักงานสอบสวนระบุว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6, ประกาศจังหวัดสกลนครฉบับที่ 6/2564 ประกอบคําสั่งจังหวัดสกลนครที่ 34/2564 ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มมากกว่า 100 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ ภูเบศร์และภิญโญยังใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เสียงแตรรถยาวหรือซ้ำเกินควรในลักษณะอาจก่อให้ให้เกิดความรําคาญแก่ผู้อื่นโดยไม่มีเหตุจําเป็น 

พ.ต.ท.สมจิตร จึงแจ้งข้อกล่าวหาภูเบศร์และภิญโญว่า “ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

ภูเบศร์และภิญโญให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในส่วนของภูเบศร์ระบุว่า จะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารมาในภายหลังด้วย 

คดีที่ 2 มีผู้ได้รับหมายเรียกรวม 3 ราย คือ ชยุต, นิจตะยา และชลิดา โดย ร.ต.อ.อัครพงษ์ เทเวลา รองสารวัตร (สอบสวน) แจ้งเหตุแห่งคดีว่า มาจากคาร์ม็อบสกลนคร ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 กล่าวหาว่า ชยุต, นิจตะยา และชลิดา ร่วมกับผู้ชุมนุมประมาณ 60 คน ขับรถเคลื่อนขบวนจากบริเวณสนามมิ่งเมืองไปลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หน้าศูนย์ราชการ ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 9, ประกาศจังหวัดสกลนครฉบับที่ 6/2564 ประกอบคําสั่งจังหวัดสกลนครที่ 40/2564 ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เสียงแตรรถยาวหรือซ้ำเกินควรโดยไม่มีเหตุจําเป็น 

ก่อนแจ้ง 3 ข้อกล่าวหากับชยุต, นิจตะยา และชลิดา คือ “ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้สัญญาณเสียงแตรรถในลักษณะอาจก่อให้เกิดความรําคาญแก่ผู้อื่นโดยไม่มีเหตุจําเป็น”

คาร์ม็อบสกลนครครั้งที่ 5 (ภาพจากเพจ คณะราษฎร สกลนคร)

ในคดีที่ 3 มีเหตุมาจากคาร์ม็อบสกลนคร ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 พ.ต.ต.พูนศักดิ์ แสนภูวา สารวัตร (สอบสวน) แจ้งให้ชยุตและนิจตะยาทราบถึงพฤติการณ์ในคดีและข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคดีที่ 2  

ชยุต, นิจตะยา และชลิดา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายใน 15 วัน พร้อมทั้งให้การตอบพนักงานสอบสวนที่ถามว่า มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดในคดีหรือไม่ ว่าพวกตนไม่พอใจในการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในคดีคาร์ม็อบวันที่ 15 ส.ค. 2564 นอกจากชยุตและนิจตะยาแล้ว พนักงานสอบสวนยังได้ออกหมายเรียก มะยม (นามสมมติ) อีกราย โดยในวันนี้ทนายขจรศักดิ์ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของมะยม โดยชี้แจงเหตุว่า มะยมทำงานอยู่ในต่างประเทศแล้วในขณะที่ทราบว่าพนักงานสอบสวนออกหมายเรียก จึงไม่สะดวกเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในเวลาอันใกล้นี้ 

ประมาณเที่ยง หลังจากให้นักกิจกรรมทั้งห้าพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแล้ว พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ โดยแจ้งว่าจะติดต่อนัดหมายส่งตัวให้อัยการในภายหลัง

ทั้งนี้ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เสียงแตรยาวหรือซ้ำเกินควร มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

คาร์ม็อบสกลนคร 3 ครั้ง ที่นักกิจกรรมทั้งห้าถูกดำเนินคดี (ดูคลิป Car mob สกลนคร #รัฐบาลโง่เราจึงต้องออกมาไล่, Car mob สกลนคร ครั้งที่ 4 รัฐล้มเหลว ประชาชนล้มตาย) มีลักษณะเช่นเดียวกับคาร์ม็อบที่จัดในจังหวัดอื่น ซึ่งผู้เข้าร่วมจะอยู่บนรถของตนเอง หากมีการเปิดเวทีปราศรัยเมื่อรถเคลื่อนขบวนไปถึงจุดหมาย ก็จะเป็นการจัดในที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก อีกทั้งผู้เข้าร่วมก็มีการระมัดระวังโดยการสวมใส่แมสก์ และเว้นระยะห่าง จึงไม่ใช่กิจกรรมที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคตามที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี การดำเนินคดีผู้ที่ออกมาร่วมคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาลด้วยข้อหาดังกล่าว จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพียงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล 

เพจ พีรชนสถาน โพสต์ประชาสัมพันธ์คาร์ม็อบสกลนคร ครั้งที่ 4

ในจำนวนคดีจากคาร์ม็อบกว่า 100 คดี ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีหลายจังหวัดที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีและยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว เช่น คดีคาร์ม็อบโคราช, คดีคาร์ม็อบชัยภูมิ, คดีคาร์ม็อบยะลา, คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร แต่อีกหลายจังหวัดอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 อัยการจังหวัดตากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “สุภา” (นามสมมติ) ผู้ต้องหาคดีคาร์ม็อบตาก เป็นคดีแรก ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า กิจกรรมคาร์ม็อบตาก เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ไม่ปรากฏว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดหรือการกระทำอื่นใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อแต่อย่างใด

>> อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบตาก ชี้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากาก ไม่เสี่ยงโรค 

X