อีกคดีของทนายอานนท์ ปราศรัย #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ห้าแยกลาดพร้าว โดน 4 ข้อหา

21 ม.ค. 2564  อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางไปที่ สน.พหลโยธิน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะ จากเหตุชุมนุม #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว หรือ #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 โดยอานนท์ให้การปฏิเสธ

พ.ต.ต.ศักดินาถ หนูฉ้ง พนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่อานนท์ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ซึ่งมีการชุมนุมที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ไทยพาณิชย์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ขึ้นเวทีชุมนุมพร้อมนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2563 

ต่อมาทวิตเตอร์บัญชี “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” โพสต์เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เพื่อซ้อมการต้านรัฐประหาร จนถึงวันเกิดเหตุ ประชาชนได้มีการรวมตัวและนำแผงเหล็กปิดถนนบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งผู้จัดชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งไม่แจ้งผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 2 ก่อนเริ่มการชุมนุม และในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานได้ประกาศให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังคงทำกิจกรรมต่อไป มีการนำรถขยายเสียง และตั้งเวทีปราศรัย โดยไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวนยังระบุว่าอานนท์ได้ขึ้นปราศรัยบนเวที จึงเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยได้มีการตกลงคบคิด แบ่งหน้าที่กันทำ และเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยผู้ชุมนุมบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก และเว้นระยะห่างทางสังคม มีโอกาสสัมผัสกันได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดโรคระบาดโควิด-19

ม็อบ 27พฤศจิกา ที่ห้าแยกลาดพร้าว (ภาพโดย  the Standard)

สำหรับ 4 ข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่ออานนท์มีดังนี้

  1. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  1. ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมโดยไม่ได้ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  1. ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่อขยายเสียงฯ มาตรา 4 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  1. ร่วมกันวางสิ่งกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 ก.พ. 2564

หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในเดือน ก.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้หยุกคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และยุบสภา ตลอดจนปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อานนท์ นำภา ถูกออกหมายเรียกและดำเนินคดีในหลายข้อหารวมกว่า 20 คดี เป็นข้อหา ม.112 รวม 8 คดี  

คดีนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยถูกกล่าวหาดำเนินคดีรวม 9 ราย นอกจากอานนท์ นำภา มีผู้เข้ารับทราบ 4 ข้อหาเช่นเดียวกันไปก่อนหน้านี้แล้ว 6 ราย ได้แก่รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, นันทพงศ์ ปานมาศ, พรหมศร วีระธรรมจารี และสหรัฐ สุขคำหล้า (สามเณรโฟล์ค)

>> “ราษฎร” โดนอีก 4 ข้อหา #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว

ส่วน “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และไชยอมร แก้ววิบูลย์ หรือ “แอมมี่ The Bottom Blues” ที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มีกำหนดจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 ก.พ. 2564

ม็อบ 27พฤศจิกา ที่ห้าแยกลาดพร้าว (ภาพโดย  Thai Inquirer)

สำหรับ #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 เป็นการนัดชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” เพื่อซ้อมต้านรัฐประหารที่ห้าแยกลาดพร้าว หลังมีข่าวลือการประกาศกฎอัยการศึก และความกังวลว่าอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน โดยผู้ชุมนุมใช้เป็ดยาง, เอเลี่ยน, นกยูง, ม้ายูนิคอน, และพิซซ่า มาเป็นตัวแทนคณะรัฐประหารสำหรับซ้อมหากมีการรัฐประหาร โดยซักซ้อมชู 3 นิ้ว ต่อว่าและโห่ใส่กองทัพเป็ดดังกล่าว ผู้ชุมนุมให้สัญญากันว่าจะต่อต้านการกระทำรัฐประหารไม่ว่าโดยฝ่ายใดในทุกรูปแบบ และสัญญาว่าจะไม่ยินยอมให้ฉีกรัฐธรรมนูญโดยเผด็จการอีกต่อไป และตลอดไปจนกว่าจะสิ้นแผ่นดินไทย

 

X