ตร.แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 10 นักกิจกรรม เหตุ 3 ชุมนุมที่รังสิต พยาบาลอาสาถูกออกหมายเรียกด้วย

5 พฤศจิกายน 2563 – นักกิจกรรม / ประชาชน 11 ราย ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, ณรงค์ชัย อินทรกวี (หมู่อาร์ม), ศรรัก ทองชัย, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ศรีไพร นนทรีย์, สุธิลา ลีนคำ, ณรงค์ศักดิ์ มณี, ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก และณัฐธิดา มีวังปลา เดินทางไปยัง สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาหลักคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

พ.ต.ท.จักรพล เพ็งมอ รอง ผกก. (สอบสวน) สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ได้แจ้งว่า หมายเรียกดังกล่าวมีเหตุมาจากการชุมนุมที่รังสิต 3 ครั้ง ได้แก่ #ปทุมธานีไม่ปราณีเผด็จการ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 จัดโดยกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัย, #ม็อบ18ตุลา และ #ม็อบ20ตุลา จัดโดย กลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแรงงานเพื่อประชาธิปไตย โดยแยกดำเนินคดีเป็น 3 คดี

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้เริ่มแจ้งถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาทีละคดี ซึ่งทั้ง 3 คดี มีเนื้อหาคล้ายกันว่า พ.ต.ท.ชาติ แสงวงค์ สว.(สืบสวน) สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่า จากการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการผู้ชุมนุมทางการเมืองที่จะจัดขึ้นในเขตรับผิดชอบของ สภ.ประตูน้ำฯ ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความบนโลกโซเชียลเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ลานจอดรถตู้ตรงข้ามห้างฟิวเจอร์  (ในวันที่ 23 กรกฎาคม, 18 ตุลาคม, 20 ตุลาคม 2563)

ต่อมา ในวันที่มีนัดหมายการชุมนุม พบว่ามีประชาชนทั่วไปมาร่วมการชุมนุมจำนวนหนึ่งที่บริเวณที่มีการนัดหมาย โดยมีการสับเปลี่ยนกันขึ้นมาพูคปราศรัยโดยใช้ไมโครโฟนผ่านเครื่องขยายเสียง สลับการเล่นดนตรี แสดงออกถึงความไม่พอใจและความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ และเรียกร้องประชาธิปไตย

การชุมนุมที่ลานจอดรถตู้หน้าฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต (ภาพจาก Sanook.com)

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้อธิบายถึงพฤติการณ์ที่นักกิจกรรมทั้ง 10 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาคือ ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมการชุมนุม และพูดปราศรัยผ่านไมโครโฟน และได้แจ้งข้อกล่าวหา

ในส่วนของการชุมนุม #ปทุมธานีไม่ปรานีเผด็จการ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ชาติชาย แกดำ และณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ รวม 5 ข้อหา ได้แก่

  1. “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ซึ่งเป็นความผิดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563
  2. “ร่วมจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” ซึ่งเป็นความผิดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 5) ข้อ 2(2) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
  3. “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 3 เมษายน 2563
  4. “ร่วมกันกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6)
  5. “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

ในคดีการชุมนุมในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ซึ่งพนักงานสอบสวนออกหมายเรียก 2 คน ได้แก่ ณรงค์ชัย อินทรกวี และศรรัก ทองชัย นอกจากพนักงานสอบสวนแจ้ง 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับคดีแรกแล้ว ยังแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดการชุมนุม โดยไม่แจ้งการชุมนุมฯ” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 เพิ่มอีกข้อหา รวมเป็น 6 ข้อหา

ส่วนการชุมนุมในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ซึ่งก่อนเริ่มการชุมนุมในวันดังกล่าว ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้แจ้งการชุมนุมแล้วนั้น พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาเพิ่มเติมว่า หลังชลธิชาเข้าแจ้งการชุมนุมต่อ ผกก.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมีศรีไพร นนทรี เป็นผู้ประสานงานนั้น ผกก.สภ.ประตูน้ำฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 7 หรือมาตรา 8 จึงมีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุม แต่ผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผกก.สภ.ประตูน้ำฯ จึงมีคำสั่งห้ามชุมนุม โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้งแล้ว แต่ยังปรากฏว่ามีการชุมนุมสาธารณะในที่ดังกล่าว

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรม 8 ราย ได้แก่ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, ศรรัก ทองชัย, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ศรีไพร นนทรีย์, สุธิลา ลีนคำ, ณรงค์ศักดิ์ มณี, ชลธิชา แจ้งเร็ว และสุวรรณา ตาลเหล็ก รวม 6 ข้อหา โดย 5 ข้อหา เหมือนกับในคดีแรก พร้อมทั้งเพิ่มข้อหา “ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 11

ส่วนณัฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสา ซึ่งนำรถและหน่วยพยาบาลอาสาออกให้บริการปฐมพยาบาลแก่ผู้ชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมตามที่ชุมนุมต่างๆ ได้เข้าชี้แจงกับพนักงานสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่า ตนไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมในฐานะพยาบาลอาสา ทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ตามหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้ลงบันทึกถ้อยคำดังกล่าวลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี พร้อมทั้งระบุว่า จากการสืบสวนยังไม่มีหลักฐานตามสมควร ในชั้นนี้จึงสอบปากคำณัฐธิดาในฐานะพยาน โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

หลังการสอบปากคำ โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนให้ผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย ปฏิญาณตนว่า จะมาพบพนักงานสอบสวนตามนัดทุกครั้ง ก่อนปล่อยตัว โดยนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลา 9.00 น.

ในจำนวนนักกิจกรรม 10 ราย ที่ถูกแจ้งข้อหาในครั้งนี้ มี 2 ราย ได้แก่ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และศรรัก ทองชัย ถูกดำเนินคดีรวม 2 คดี นอกจากนี้ 9 ราย ถูกตั้งข้อหา ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ควบคู่กับข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในข้อกำหนดเรื่องห้ามการชุมนุม ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า ในทั้ง 3 คดีนี้ นอกจากพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาซ้ำซ้อนกันว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 3 ข้อหา แล้ว ยังแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซ้ำซ้อนไปอีก

ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2563 โดยอ้างว่า ไม่ได้จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมือง พร้อมทั้งได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ความตอนหนึ่งระบุให้การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ การแจ้งข้อกล่าวหาซ้ำซ้อนกันในทั้งสองกฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า คำกล่าวอ้างและข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

X