7 ม.ค. 64 ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ “ลูกเกด” นักกิจกรรมทางสังคม เดินทางไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากเหตุการชุมนุมใหญ่ของม็อบ “ประชาชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 และกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย” รำลึกถึงผู้สูญหายหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันที่ 22 ส.ค. 63 โดยลูกเกดให้การปฏิเสธทั้งสองคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน
พ.ต.ท.โชคอำนวย บุญฤทธิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดว่า ชลธิชาได้เข้าแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะบริเวณแยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมา วันที่ 16 ส.ค. 63 ได้มีการจัดตั้งเวทีปราศรัยบริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์หันหน้ามาทางสี่แยกคอกวัว ผู้ชุมนุมได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ปรากฏว่าได้มีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเดินเข้าไปบนพื้นผิวจราจรถนนราชดำเนินกลางด้านขาออก จากรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่งชลธิชาไม่ได้ขอใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดเงื่อนไขหรือคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติ อีกทั้งทำให้การจราจรติดขัด
ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลจึงได้มีประกาศให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ แจ้งให้ชลธิชาในฐานะผู้จัดชุมนุมแก้ไขให้ผู้ชุมนุมอยู่ภายในบริเวณที่แจ้งการชุมนุมเท่านั้น และแก้ไขการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 20.30 น. แต่ปรากฏว่า ชลธิชาไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบประกาศดังกล่าวและไม่ดําเนินการแก้ไขการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด ยังคงจัดทํากิจกรรมบนเวทีปราศรัยเรื่อยมา จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.40 น. จึงได้ยุติการชุมนุม หลังชุมนุม พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยภิญโญ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม จึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีชลธิชา
จากการสอบสวนเพิ่มเติมได้ความว่า ผู้มาชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันเบื้องต้นโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูก ไม่พบเห็นการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ ไม่พบว่า มีจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ
พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาชลธิชาว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัดหรือยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, ฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ห้ามจัดกิจกรรมที่ทำให้คนมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย, ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนดและให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตาม และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม
ภาพการชุมนุมประชาชนปลดแอก (ภาพโดย ประชาไท)
พ.ต.ท.โชคอำนวย ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีการชุมนุมวันที่ 22 ส.ค. 63 อีกคดี โดยแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีว่า ชลธิชาได้เข้าแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ผู้สูญหาย และแสดงดนตรีเพื่อประชาธิปไตย โดยจัดชุมนุมบริเวณทางเท้าหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ต่อมาวันที่ 22 ส.ค. 63 มีการจัดตั้งเวทีปราศรัย มีกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันโควิด 19 เบื้องต้น ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ไม่พบเห็นการตั้งวางแอลกอฮอล์เจลในบริเวณรอบๆ และไม่พบว่า มีจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ
จากนั้นจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาชลธิชาว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5, ฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2), ฉบับที่ 13 ข้อ 1 ข้อ 5 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง
ลูกเกดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ทั้งนี้ คดีทั้งสองมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้กล่าวหาทั้ง 2 คดี คือ พ.ต.ท. สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รอง ผกก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม มีข้อสังเกตด้วยว่า เอกสารคำให้การของทั้งสองคดี พนักงานสอบสวนระบุว่า ชลธิชากับพวกร่วมกันกระทำความผิด แต่ในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพียงชลธิชาคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ อยู่ระหว่างการสอบสวน
กิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (ภาพโดย ไทยพีบีเอส)
ทั้งนี้ ย้อนไปหลังการชุมนุมครั้งนั้นมีรายงานว่า การชุมนุมเวทีวันที่ 16 ส.ค. 63 มีการแจ้งการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกำหนดการชุมนุมตามกฎหมายให้ทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เบื้องต้นในภาพรวมทางผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่จะมีบางข้อตรงตามเจ้าหน้าที่บังคับให้ปฏิบัติตาม และมีการละเมิดกรณี พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.ความสะอาด และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ซึ่งตำรวจมองว่าเป็นความผิดเล็กน้อย และไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 ทำให้ตำรวจพิจารณาดำเนินคดีผู้แจ้งการชุมนุมเพียงคนเดียว คือ ลูกเกด เพราะตามกฎหมายผู้แจ้งการชุมนุม คือผู้จัด และผู้จัดจะต้องมีหน้าที่ให้ความร่วมมือตำรวจในการรักษาความสงบ การตั้งจุดคัดกรองตรวจอาวุธก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และไม่ละเมิดกฎหมาย
ส่วนกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 เป็นกิจกรรมรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายในเหตุการณ์ทางการเมือง จัดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินปลดแอก โดยในกิจกรรมนี้มีการเปิดเผยรายชื่อนักกิจกรรมทางการเมือง กว่า 100 คน ที่ต้องลี้ภัยทางเมือง รวมถึงถูกบังคับให้สูญหาย หลังจากปี 2557 จนถึงคนล่าสุด คือ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปในระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย. 63
สำหรับ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” (Democracy Restoration Group: DRG) ปัจจุบันอายุ 27 ปี เป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทตั้งแต่ต้านรัฐประหาร และรัฐบาล คสช.ในช่วงปี 2558 เป็นต้นมา เป็นหนึ่งในแกนนำ 14 นักศึกษา ในนาม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ช่วงปี 2563 เธอขยับบทบาทเป็นผู้เจรจาและผู้จัดการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก และคณะราษฎร ก่อนจะถูกดำเนินคดีในข้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพการชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งหากนับรวม 2 คดีที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาล่าสุด ลูกเกดถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 รวม 13 คดี แล้ว
โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ลูกเกดยังเดินทางต่อไปในนัดส่งตัวให้อัยการคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จาก #ม็อบ15ตุลา หรือ #15ตุลาไปราชประสงค์ ของ สน.ลุมพินี อัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 2 ก.พ. 64