“ครูใหญ่” – “ไผ่” ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุร่วม #ม็อบ25ตุลา สี่แยกราชประสงค์

9 ธันวาคม 2563 – วันนี้ที่ สน.ลุมพินี ผู้ต้องหาจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ธานี สะสม, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบ 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า” และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 และข้อ 5 โดยหลังจากที่ทั้ง 4 รับทราบข้อกล่าวหาและทำบันทึกประจำวันแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเป็นหนังสืออีกครั้งภายใน 20 วัน

ในส่วนของ “ครูใหญ่” อรรถพล ภายหลังจากเสร็จกระบวนการที่ สน.ลุมพินี ในช่วงเช้า เขาได้เดินทางต่อไปที่ สน. ทุ่งมหาเมฆ เพื่อพบพนักงานสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการร่วมชุมนุมที่ด้านหน้าของสถานทูตเยอรมัน

คดีนี้ พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีจตุภัทร์กับพวก โดยพนักงานสอบสวนได้ระบุพฤติการณ์ที่ทั้งสี่ถูกกล่าวหาในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เท้าความถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ซึ่งทำให้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกคราวละ 1 เดือน จนปัจจุบันประกาศขยายเวลาเป็นครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563

ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังคงรุนแรง บวกกับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันในไทย เปิดให้มีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติ ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ข้อ 1 และข้อ 5 โดยมีเนื้อหากำหนดให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมทางการเมืองต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และต้องมีมาตรการป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ชุมนุมตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมปฏิบัติตาม

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ราวตี 4 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ประกาศ แต่ได้มีการยกเลิกภายหลังในวันที่ 22 ตุลาคม 2563

ในวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงไปแล้ว มีการชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุม โดยก่อนเลิกการชุมนุม ได้ประกาศให้มวลชนเดินทางไปรวมกันที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 .

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุของคดีนี้ ทางฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี ได้จัดกําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจลงพื้นที่หาข่าวบริเวณแยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 16.10 น. พบนายจตุภัทร์เดินทางมาถึงบริเวณแยกราชประสงค์ตามนัดหมายและเข้าพบปะผู้ร่วมชุมนุมที่รออยู่ จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า การมากิจกรรมชุมนุมครั้งนี้คือเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และยังประกาศว่าการชุมนุมจะยุติในเวลาประมาณ 20.30 น.

ในเวลาประมาณ 16.30 น. ผู้กํากับการ สน.ลุมพินี ได้เข้าชี้แจงผู้มาชุมนุมให้ทราบว่า การชุมนุมในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทางผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชม. ตาม พ...ชุมนุมฯ มาตรา 10 จึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 2 (1) ของ พ...ชุมนุมฯ ให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมในเวลา 17.00 . แต่ก็ไม่ได้มีการยุติการชุมนุมในเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

ระหว่างที่การชุมนุมดำเนินไป พบว่าจตุภัทร์และคนอื่นๆ ได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมโดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงและลำโพงขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมนำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงเข้ามาในที่ชุมนุม เนื้อหาการปราศรัยมีการวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์, การดำเนินคดีโดยไม่ชอบกับแกนนำผู้ชุมนุม, และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลาราว 21.15 . จึงได้มีการประกาศยุติชุมนุม และนัดหมายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณสี่แยกสามย่าน และจะเคลื่อนตัวไปยังสถานทูตเยอรมัน

หลังจากนั้น ผู้กล่าวหากับพวกจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและส่งมอบต่อผู้บังคับบัญชา ผู้กำกับการ สน. ลุมพินี จึงมอบหมายให้ผู้กล่าวหาเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความดำเนินคดีจตุภัทร์กับพวก

#ม็อบ25ตุลา ที่แยกราชประสงค์ เป็นการชุมนุมหลังจากจตุภัทร์ได้รับการประกันตัวจากคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีกิจกรรมอย่างหลากหลาย ทั้งแดร็กควีน คณะราษแดนซ์ และมีผู้เข้าร่วมเปิดปราศรัยเป็นเวทีย่อยอย่างหลากหลาย

 

ขอบคุณภาพปกจาก ประชาไท

 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

แจ้งข้อหา 112 ครูใหญ่-นิสิต-ศิษย์เก่าอักษรฯ จุฬา อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี

สน.บางนาแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 แกนนำกรณี #ม็อบ29ตุลา และ #ม็อบ1พฤศจิกา

อัยการสั่งฟ้องคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ “ชาติชาย” กรณีตั้งเวที #นอนแคมป์ไม่นอนคุก หน้าเรือนจำ

 

X