ปลายปี 2562 บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคึกคักเมื่อกลุ่มนักศึกษาแถลงข่าวจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อันเป็นกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองในการ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ” ในต่างจังหวัดต่างก็ขานรับประกาศจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตนเอง แต่แล้วกิจกรรมกลับถูกปิดกั้น ประชาชนถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบยก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาอ้าง ข่มขู่ว่า การจัดกิจกรรมเป็นการผิดกฎหมาย ต้องไปขออนุญาตบ้าง ขณะที่ประชาชนตีความว่า การกีฬาอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 3 (3) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
แต่ในบางจังหวัดที่ผู้จัดไปแจ้งการชุมนุม ก็ต้องเผชิญกับการกำหนดเงื่อนไขที่เห็นได้ชัด เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาล สุดท้ายเมื่อยังมีคนเดินหน้าจัดกิจกรรมในวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยยืนยันว่า การจัดการวิ่งซึ่งเป็นการกีฬา ไม่ใช่การชุมนุม ตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลก็ไม่รอช้าที่จะดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าว ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม กระทั่งมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวในหลายพื้นที่รวมอย่างน้อย 14 คดี รวมทั้งที่ จ.บุรีรัมย์
หลังกิจกรรมผ่านไปเกือบ 2 ปี ยังมีคดีความอีก 3 คดี คือ วิ่งไล่ลุงกรุงเทพฯ, นครสวรรค์ และเชียงราย อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น และอีก 2 คดี คือ วิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา
22 พ.ย. 2564 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดฟังคำพิพากษาคดี “วิ่งไล่ลุง” จ.บุรีรัมย์ ซึ่ง อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ ตกเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมภายในกำหนดเวลา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10
คุกคาม กดดัน จนผู้จัดถอนตัว ก่อนดำเนินคดี อดีตผู้สมัคร อนค. ที่ร่วมวิ่ง
ย้อนไปเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2563 ณัฐพงษ์ หรือ เจมส์ หนุ่มพนักงานบริษัท ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะจัดงานวิ่งไล่ลุงที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 และเชิญชวนให้คนมาวิ่ง แต่ถูกตำรวจไปพบที่บ้าน และที่โรงงาน ทั้งยังถูกเรียกไปพบรองผู้กำกับการ สภ.สตึก ห้ามจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว จนเจมส์ต้องถอนตัว แต่ประกาศว่ากิจกรรมยังคงมีเหมือนเดิม ต่อมา อิสรีย์ได้โพสต์คลิปว่า จะยังไปร่วม “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนสาธารณะ ทำให้ถูกตำรวจติดตามไปพบที่บ้านอีกคน แต่อิสรีย์ยืนยันว่า จะไปร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดแต่อย่างใด
ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 อิสรีย์ได้ออกไปวิ่งตามที่โพสต์ พร้อมไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ท่ามกลางประชาชนที่ใส่เสื้อ “ลุงตู่สู้” ซึ่งมาเดินที่สวนสาธารณะ และโห่ใส่เธอ คล้อยหลังกิจกรรมเพียงวันเดียว อิสรีย์ได้รับหมายเรียกในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม เธอยืนยันให้การปฏิเสธ
อิสรีย์กล่าวว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดแต่อย่างใด คาดว่าอาจเป็นเพราะตนเองเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ และเป็นที่รู้จักในพื้นที่ ทำให้ตำรวจเข้าใจว่า เธอเป็นผู้จัดกิจกรรม
อ่านลำดับเหตุการณ์ในคดี>> อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ ร่วม “วิ่งไล่ลุง” พร้อมไลฟ์สด ถูกดำเนินคดี “ไม่แจ้งการชุมนุม”
อัยการฟ้อง “อิสรีย์” เป็นผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” แต่ไม่ระบุพฤติการณ์ชัดเจน ขณะจำเลยร้องศาล รธน.
ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโจทก์ฟ้องอิสรีย์ กล่าวหาว่า เป็นผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในที่สาธารณะ และเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วม โดยจำเลยไม่ได้แจ้งผู้กำกับการ สภ.สตึก
ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา อิสรีย์ยื่นคำให้การว่า ตนไม่ได้เป็นผู้จัดหรือนัดให้มีการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่แสดงออกว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย วันเกิดเหตุก็เพียงแต่ไปวิ่งออกกำลังกายในบริเวณสวนสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชุมนุม อีกทั้งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย การดำเนินคดีในคดีนี้จึงเป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ ก่อนเริ่มสืบพยาน อิสรีย์ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 ซึ่งจะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ เนื่องจากกำหนดให้ผู้ที่เพียงแต่เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุม โดยไม่ได้มีพฤติการณ์อย่างอื่นว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมนั้น ถือเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ต้องแจ้งการชุมนุม ซึ่งเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้ที่ไม่แจ้งการชุมนุมมีโทษทางอาญา ยังขัดกับหลักความได้สัดส่วน ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อคำร้องของอิสรีย์แล้วว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44
.
จำเลยโพสต์แสดงเจตนาไปร่วมวิ่ง ตำรวจตีความว่าเชิญชวนผู้อื่น
ในการสืบพยาน อัยการแถลงติดใจสืบพยาน 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก ผู้กํากับการ สภ.สตึก ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร.ต.ต.สุทัศน์ หาญชนะ รองสารวัตรสืบสวน สภ.สตึก ซึ่งเป็นตํารวจที่สืบสวน และ พ.ต.ท.ยศวัฒน์ มณีวงษ์ชัยกิจ พนักงานสอบสวน แต่เมื่อพยานโจทก์ 2 ปากแรกเบิกความเสร็จ ศาลและอัยการโน้มน้าวให้ทนายจำเลยรับข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ท.ยศวัฒน์ เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน, สอบคำให้การพยาน 2 ปาก และสอบคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน ทำให้ไม่ต้องนำพยานโจทก์ปากที่ 3 เข้าเบิกความ
พ.ต.อ.สัมภาษณ์ และ ร.ต.ต.สุทัศน์ เบิกความสอดคล้องกัน มีรายละเอียดโดยย่อว่า ร.ต.ต.สุทัศน์ เป็นผู้สืบสวนหาข่าวกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันที่ 12 ม.ค. 2563 และรายงานให้ พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ทราบเป็นระยะ ตามการสืบสวนพบว่า “วิ่งไล่ลุง” เป็นกิจกรรมวิ่งออกกำลังกายและแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ต้องการให้ “ลุง” ซึ่งหมายถึงพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ลาออก สายสืบระบุด้วยว่า เป็นกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ แต่ภายหลัง ร.ต.ต.สุทัศน์ รับว่าผู้ริเริ่มกิจกรรมคือ ธนวัฒน์ วงค์ไชย อดีตนิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่
โดยหลังจากมีการประกาศจัดในกรุงเทพฯ ที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ “เจมส์” ณัฐพงศ์ ก็โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนทั่วไปมาวิ่งในวันดังกล่าว ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติริมแม่น้ำมูล โดยพยานทราบว่า ณัฐพงษ์เป็นวัยรุ่นที่ชอบวิ่งออกกำลังกาย ชอบไปลงรายการวิ่งต่างๆ จึงอยากจัดวิ่ง ไม่ใช่อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด
ต่อมา ณัฐพงษ์ได้โพสต์ข้อความว่า “ผมจะไม่เป็นผู้จัดงานครั้งนี้ เนื่องจากหวั่นเกรงในหน้าที่การงานของผม” และ “ส่วนเรื่องวิ่งก็มาได้ปกตินะครับ ถนนเป็นของประชาชน” ซึ่งจําเลยได้โพสต์ตอบในเฟซบุ๊กของตนเองยืนยันว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกายตามเดิม โดยก่อนหน้านั้นณัฐพงษ์ได้โพสต์เชิญชวนจำเลยด้วยว่า “ชวนพี่มิ้งมาวิ่งไล่ลุงกับผม” แต่ ร.ต.ต.สุทัศน์ ปฏิเสธว่า ไม่ทราบว่าณัฐพงษ์ได้ชวนจำเลยวิ่งหรือไม่
ร.ต.ต.สุทัศน์ เบิกความอีกว่า ภายหลังจากนั้น พบเฟซบุ๊กของอิสรีย์เมื่อวันที่ 7 และ 9 ม.ค. 2563 โพสต์ข้อความและคลิปวีดิโอว่าจะไปร่วมวิ่งในกิจกรรมที่ณัฐพงษ์จัด และได้เชิญชวนให้ประชาชนไปวิ่ง พร้อมทั้งโพสต์ป้ายที่จะติดเสื้อเป็นสัญลักษณ์และข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง 0001”
อย่างก็ตาม ตำรวจสืบสวนรับว่า อิสรีย์ได้โพสต์ในวันเดียวกันด้วยว่า จะไปวิ่งไล่ลุงเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนคลิปในวันที่ 9 ม.ค. 2563 ซึ่งจำเลยไลฟ์ว่า “เจมส์ชวนดิฉันมาที่เฟซบุ๊ก ให้ไปร่วมวิ่งดิฉันตอบกลับไปว่า ไปร่วมวิ่งแน่นอน ไปร่วมวิ่งออกกำลังกายกับน้องเจมส์ แต่วันนี้ได้ทราบว่าน้องเจมส์ประกาศหยุดเป็นผู้จัดกิจกรรม ดิฉันยังไปวิ่งตามความตั้งใจเดิม ใครอยากวิ่งออกกำลังกายยังไปได้เป็นสิทธิของทุกคน และไม่เห็นด้วยที่จะมีการสกัดกั้นการจัดกิจกรรม” ร.ต.ต.สุทัศน์ก็รับว่า ไม่มีข้อความที่แสดงว่าจำเลยจะเป็นผู้จัดกิจกรรมต่อจากณัฐพงษ์ เช่นเดียวกับผู้กำกับฯ แต่ผู้กำกับเห็นว่า คำพูดของจำเลยที่ว่า “ยังไงก็มาเจอกัน” เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาวิ่งในวันที่ 12 ม.ค. 2563
ตำรวจยืนยันว่า จำเลยไลฟ์เพื่อชวนคนมาร่วม แต่กิจกรรมไม่ได้มีลักษณะเป็นการชุมนุม และจำเลยไม่มีพฤติการณ์เป็นผู้จัด เพียงแต่ไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะเช่นคนทั่วไป
ส่วนในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานตำรวจทั้งสองเบิกความว่า อิสรีย์กับพวกรวม 7 คนได้มาวิ่งที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ โดยอิสรีย์ติดป้าย “วิ่งไล่ลุง 0001” ส่วนคนอื่นติดป้ายมีตัวเลขเรียงกันตั้งแต่ 0002 ถึง 0007 และอิสรีย์ได้มีการไลฟ์สด ซึ่ง ร.ต.ต.สุทัศน์ ระบุว่า มีลักษณะเชิญชวนให้คนอื่นออกมาวิ่งด้วย ขณะที่ก็มีประชาชนกลุ่มเชียร์ลุงมาที่สวนสาธารณะ และพูดจาเสียดสีกลุ่มจำเลย แต่กลุ่มจำเลยไม่ได้ตอบโต้ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
เมื่อทนายจำเลยตั้งคำถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า จำเลยไลฟ์เพราะเกรงจะเกิดเหตุคุกคามจากกลุ่มเชียร์ลุงดังกล่าว และจำเลยพูดถึงการออกมาวิ่ง และสภาพเศรษฐกิจที่แย่ ไม่ได้มีข้อความเชิญชวน แต่ตำรวจยืนยันว่า จำเลยพูดชวนคนมาวิ่ง
แต่ในเรื่องป้ายที่จำเลยติดนั้น พยานรับว่าในงานวิ่งทั่วไปก็จะมีป้ายระบุหมายเลขผู้วิ่ง เรียกว่า “bib” ซึ่งจะมีชื่องานในป้ายด้วย เช่น “วิ่งไล่ยุง” ป้ายของอิสรีย์ก็มีลักษณะเช่นนั้น
พยานทั้งสองยืนยันว่า ไม่พบจำเลยมาแจ้งการชุมนุมทั้งก่อนและหลังกิจกรรม แต่ก็รับว่า สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรตินั้นเป็นสถานที่ที่ประชาชนออกไปวิ่งออกกําลังกาย โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่ใช่เป็นการชุมนุม ซึ่งในวันเกิดเหตุจําเลยก็ไปเดินและวิ่งรอบสวนสาธารณะ ไม่ได้กล่าวปราศรัย อีกทั้งไม่มีเวที เครื่องขยายเสียง ไม่มีการแจกใบปลิว ชูป้าย หรือลงทะเบียน รวมทั้งไม่มีการกําหนดจุดสตาร์ทและเส้นชัย เป็นการวิ่งในสวนสาธารณะตามปกติทั่วไป
.
อ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ข่มขู่ปิดกั้นเฉพาะฝ่ายวิจารณ์รัฐบาล ดำเนินคดีแม้กฎหมายกำหนดไม่ให้ใช้กับกีฬา
ตำรวจรับว่า ทำการสืบสวนหาข่าวเฉพาะการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เท่านั้น ไม่ได้หาข่าวการทำกิจกรรมของกลุ่มที่เชียร์รัฐบาล
หลังณัฐพงษ์โพสต์ว่าจะจัดวิ่งไล่ลุง ผู้กำกับได้สั่งการให้ไปตรวจสอบ ร.ต.ต.สุทัศน์ จึงไปที่บ้านของณัฐพงษ์พูดคุยว่า ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนชุมนุม 24 ชั่วโมง และยังเชิญตัวมาที่ สภ.สตึก ในวันต่อมา แจ้งว่าเป็นการกระทำที่อาจผิดกฎหมายจึงขอให้ระงับกิจกรรม ทำให้ณัฐพงษ์ประกาศยุติการเป็นผู้จัดกิจกรรม แต่ ร.ต.ต.สุทัศน์ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรณัฐพงษ์จึงโพสต์ว่า หวั่นเกรงหน้าที่การงาน
ทั้งนี้ ตำรวจสืบสวนรับว่า ไม่มีการไปพบกลุ่มเชียร์ลุง ชี้แจงว่าอาจผิดกฎหมาย และให้ระงับกิจกรรมเช่นเดียวกับที่ไปพบณัฐพงษ์ แต่ระบุว่าภายหลังเหตุการณ์ได้ดำเนินคดีกับกลุ่มเชียร์ลุง โดยตำรวจเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย
ในเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พยานตำรวจทั้งสองเบิกความว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ใช้กับกิจกรรมบางประเภท เช่น มหรสพ กีฬา การท่องเที่ยว และไม่ได้บังคับใช้เฉพาะเรื่องการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะทั่วไป โดยที่กิจกรรมที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็สามารถทําได้หลายรูปแบบ ไม่จําเป็นต้องเป็นการชุมนุมสาธารณะก็ได้ เช่น การวิ่งเพื่อรณรงค์ประเด็นต่าง ๆ
.
จำเลยยืนยันแสดงออกว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย และแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม
อิสรีย์เบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียวว่า สําหรับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานทราบผ่านสื่อว่า มีการจัดที่กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแสดงออกทางการเมือง เศรษฐกิจ และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันออกกําลังกาย ทั้งยังอยากให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชน
อิสรีย์ยังทราบว่า หลังณัฐพงษ์ซึ่งเป็นนักวิ่งและเป็นคนรุ่นใหม่ในอำเภอสตึก โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะจัดวิ่งไล่ลุงที่อําเภอสตึก และชวนพยานไปวิ่ง ได้ประกาศถอนตัวเพราะกระทบกับงาน ส่วนประชาชนยังไปวิ่งได้ พยานจึงไลฟ์สดแสดงความเห็นว่าไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไปวิ่งออกกำลังกายลดน้ำหนักตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ที่สวนสาธารณะซึ่งเป็นสถานที่วิ่งของประชาชนในอำเภอสตึก ไม่ใช่เส้นทางวิ่งที่ณัฐพงษ์เคยโพสต์ไว้
นอกจากที่พยานไลฟ์สดและโพสต์ข้อความ ซึ่งพยานไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พยานก็ไม่ได้ดําเนินการอื่นใดที่เป็นการเตรียมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานก็ไปวิ่งที่สวนสาธารณะคนเดียวโดยไม่ได้มีอุปกรณ์อื่นใดที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมติดตัวไปด้วย มีเพียงอุปกรณ์ที่จะใช้ออกกำลังกายเท่านั้น
ส่วนแผ่นป้ายที่ติดเสื้อในวันดังกล่าว พยานได้มาจากนายอดิศร ฉลวย ซึ่งจัดงาน “วิ่งไล่ลุง บุรีรัมย์” ที่อําเภอบ้านกรวด เป็นแผ่นป้าย “bib” เช่นเดียวกับที่มีการแจกในงานวิ่งโดยทั่วไป แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการแจกให้กับคนที่มาวิ่งในสวนสาธารณะ พยานนำมาติดเพื่อเป็นการแสดงออกของพยานเอง
ขณะที่พยานกําลังวิ่งอยู่ในสวนสาธารณะ ตํารวจได้มาเรียกให้ไปยืนรวมกับคนอื่นที่วิ่งอยู่ในสวนสาธารณะแล้วถ่ายภาพ โดยหนึ่งในนั้นติดแผ่นป้ายคล้ายของพยาน แต่พยานไม่ทราบว่า บุคคลดังกล่าวได้ป้ายนั้นมาจากที่ใด จากนั้นแต่ละคนก็ได้แยกย้ายกันไปวิ่ง โดยไม่มีการปราศรัย อ่านแถลงการณ์ หรือแสดงออกทางการเมืองใดๆ แต่พยานได้ถูกกลุ่มคนใส่เสื้อมีข้อความว่า “ลุงตู่สู้ ๆ” โห่ไล่และตะโกนให้ออกไป พยานจึงได้ไลฟ์สดเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง และถ่ายภาพเป็นพยานหลักฐานหากมีเหตุอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น
พยานเข้าใจว่าทุกคนแสดงออกได้ ไม่ว่าจะเชียร์ประยุทธ์หรือไม่เชียร์ ส่วนพยานก็ยืนยันการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นกัน โดยสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 19 รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19
.
ลุ้นคำพิพากษา หลังก่อนหน้านี้ ศาลนครพนมยกฟ้อง แต่ศาลตะกั่วป่าพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ศาลนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้อง พิศาล บุพศิริ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุงนครพนม โดยพิเคราะห์ว่า จำเลยแค่โพสต์ชวน ไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ซึ่งจะทำให้มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม
ขณะที่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 ศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้พิพากษาว่า ประเสริฐ กาหรีมการ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุงพังงา มีความผิดตามฟ้อง โดยพิเคราะห์ว่า ที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และไม่ได้ดูแลเฟซบุ๊ก “วิ่งไล่ลุงพังงา” ไม่สามารถรับฟังได้ แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษทางคดีอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ 4 เดือน
จึงชวนจับตาคำพิพากษาในคดีวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์นี้ ซึ่งจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีเช่นเดียวกัน
.
ยกฟ้องอีกคดี ศาลชี้ต้องตีความ กม.โดยเคร่งครัด แม้จำเลยไลฟ์ชวนผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์เป็นผู้จัดชุมนุม
ประมาณ 10.30 น. ชันยธร กริชชาญชัย ผู้พิพากษาออกนั่งอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ใจความโดยสรุปดังนี้
การที่จำเลยและบุคคลอื่นร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะในวันเกิดเหตุ โดยมีการนัดหมายวันเวลาไว้ล่วงหน้า มีการติดหมายเลข และป้ายข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง” อันมีลักษณะเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันและทิศทางเดียวกัน ทั้งเมื่อจำเลยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กขณะกำลังวิ่ง จำเลยใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่า “เรา” หลายช่วงหลายตอน แตกต่างจากการพูดตอนถ่ายทอดสดส่วนตัวที่จำเลยจะใช้คำสรรพนามว่า “ดิฉัน” อันส่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นหมู่เป็นพวก
นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุ แม้ณัฐพงษ์โพสต์เฟซบุ๊กยกเลิกกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในอำเภอสตึกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ป้องกันผลกระทบต่อการชุมนุมที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างเกินสมควร ประกอบนิยามการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 4 ที่กำหนดขอบเขตการชุมนุมค่อนข้างกว้าง ย่อมจะเห็นได้ว่า การชุมนุมไม่ได้จำกัดเพียงการชุมนุมที่เป็นกิจลักษณะเท่านั้น
ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเดินทางมาวิ่งที่สวนสาธารณะคนเดียว บุคคลที่ติดหมายเลขและป้ายข้อความก็ต่างคนต่างมาวิ่ง และเมื่อเสร็จสิ้นจำเลยก็กลับบ้านคนเดียวนั้น เนื่องจากตามสภาพของการชุมนุมไม่จำเป็นที่ผู้ร่วมชุมนุมจะเดินทางมาและกลับพร้อมกัน และไม่จำเป็นว่าผู้ชุมนุมจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น และสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน กิจกรรมที่จำเลยทำจึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ
ในส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและถ่ายทอดสด หากพิจารณาข้อความ คำพูด และพฤติกรรมของจำเลย จะเห็นได้ว่ามีลักษณะการเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมาร่วม โดยมีการระบุเวลาและสถานที่นัดหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10(2) ให้ถือว่าผู้ที่กระทำเช่นนั้น เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม และมีหน้าที่ต้องแจ้งชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา 10(1)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้และการตีความกฎหมายจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10(1) ที่กำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมว่าต้องแจ้งการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน ส่งผลให้การตีความต้องกระทำโดยเคร่งครัด ประกอบกับคำนิยามของคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ที่หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมกันชุมนุม โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก็ได้บัญญัติหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมไว้แยกต่างหากจากกัน ในมาตรา 15 และมาตรา 16 ซึ่งหากจะแปลความว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดทุกคนเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเสียทั้งหมด ผู้ที่เพียงแต่ชักชวนเป็นการส่วนตัวในระหว่างเพื่อนฝูงให้ไปร่วมชุมนุมกัน โดยระบุวันเวลาและสถานที่ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ทั้งที่บุคคลดังกล่าวต้องการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น จึงขัดต่อเหตุผลและเป็นการกำหนดหน้าที่ให้บุคคลดังกล่าวเกินสมควร
กรณีจึงต้องถือว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้แสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุม ตามมาตรา 4 ด้วย
เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟซบุ๊ก กับทั้งพฤติการณ์และคำพูดของจำเลยในการถ่ายทอดสด ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ที่เดิมจะไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จะมีการจัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และจะยังคงไปทำกิจกรรม แม้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเชิญชวนให้บุคคลอื่นไปร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยเท่านั้น รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถกระทำได้ และไม่เห็นด้วยกับการห้ามจัดกิจกรรม
การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ได้มีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงแต่อย่างใด เมื่อประกอบกับจำเลยนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุณัฐพงษ์ได้โพสต์ข้อความชักชวนจำเลยมาทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจริง และจากการนำสืบพยานโจทก์ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นของจำเลย ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
.
ภายหลังออกจากห้องพิจารณา อิสรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วย ส.ส. เปิดเผยว่า ค่อนข้างยินดีกับผลคำพิพากษาที่ออกมา เพราะคิดว่าตนไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งแต่แรก เนื่องจากตั้งใจจะไปวิ่งในเช้าวันที่ 12 ม.ค. 2563 อยู่แล้ว ส่วนคนอื่นเขาก็อยากไปร่วมจึงได้วิ่งพร้อมกันในวันนั้น นอกจากนี้ก่อนวันวิ่งไล่ลุงตนยังโพสต์ย้ำทางเฟซบุ๊กอยู่บ่อยๆ ว่า จะยังไปวิ่ง แม้กิจกรรมที่ณัฐพงษ์จะจัดขึ้นนั้นถูกยกเลิกแล้ว
สาเหตุที่ตนตัดสินใจไม่เป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงและไปแจ้งการชุมนุม เพราะคิดว่าหากตนไปแจ้ง ตำรวจก็คงจะมากดดันให้งดจัดกิจกรรมอยู่ดี อีกอย่างเนื่องจากตนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หากตนไปแจ้งเป็นผู้จัดชุมนุมอาจมีกลุ่มคนอื่นมาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ และอาจมีการดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรงกว่านี้ได้
นับเป็นคดีวิ่งไล่ลุงคดีที่ 2 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ที่เชิญชวนคนอื่นให้มาร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่มีพฤติการณ์อื่นที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า จำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรม
.