การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

12 มกราคม 2563 กลายเป็นวันสำคัญของการแสดงออกทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง จากการลุกขึ้นมาออก “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) ของประชาชนพลเมืองไทยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

กิจกรรมครั้งนี้ถูกเริ่มต้นประกาศโดยนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย” โดยมี ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกำลังสำคัญ ผู้จัดเริ่มประกาศเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 23 พฤศจิกายน 2562 โดยระบุวัตถุประสงค์ในการจัดงานออกกำลังเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ”

หลังจากนั้น ตลอดเดือนธันวาคมจนถึงก่อนหน้าวันวิ่ง ก็ได้มีการประกาศจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จากนักกิจกรรมและประชาชนในอีกหลายพื้นที่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นงานใหญ่ครั้งหนึ่ง ระดับที่มีการจัดกิจกรรมนี้ในพื้นที่อย่างน้อย 39 จังหวัด บางจังหวัดก็มีการออกวิ่งจากหลายจุด

แม้แนวโน้มโดยรวม กิจกรรมวิ่งไล่ลุงจะสามารถจัดขึ้นได้ในแทบทุกจังหวัด กระนั้นก็ตาม กิจกรรมในแทบทุกจังหวัดก็ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมวิ่งครั้งนี้ ไม่แตกต่างไปจากการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังดำรงอยู่ ทั้งปัญหาการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ, การใช้กฎหมายเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะเข้ามาควบคุมปิดกั้น, การกดดันแทรกแซงกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่ได้จัดกิจกรรม ก็กลับมีการติดตามคุกคามประชาชนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจเช็คข้อมูลและพยายามไม่ให้มีการจัดวิ่งเกิดขึ้นได้อีกด้วย ทำให้กิจกรรมในแต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ขนาดกิจกรรมเล็กลง พื้นที่ในการจัดกิจกรรมจำกัดลง หรือการแสดงออกต่างๆ ไม่สามารถกระทำได้

การออกวิ่งครั้งนี้จึงเป็นทั้งกิจกรรมการส่งเสียงแสดงออกของประชาชนครั้งสำคัญ ไปพร้อมๆ กับการส่องสะท้อนปัญหาการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ยังดำรงอยู่ต่อเนื่อง แม้จะไม่มี คสช. อยู่แล้วก็ตาม รายงานชิ้นนี้พยายามประมวลภาพรวมของอุปสรรคขวากหนามที่ขึงกั้นและกีดกัน “นักวิ่ง” ไม่ให้สามารถออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ได้

 

ภาพรวม “การลุกขึ้นวิ่ง” ของประชาชน กว่า 49 จุดทั่วไทย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 63 ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ขึ้นอย่างน้อยใน 39 จังหวัด ในพื้นที่จำนวน 49 จุด เนื่องจากบางจังหวัดมีการจัดกิจกรรมในหลายจุดหรือหลายช่วงเวลา แบ่งเป็น

ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ (2 จุด), นนทบุรี, นครปฐม, นครนายก (2 ช่วงเวลา), ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครสวรรค์, พิษณุโลก และพิจิตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, อุดรธานี, บุรีรัมย์ (2 จุด), นครพนม, ยโสธร, สกลนคร, บึงกาฬ (3 จุด), เลย, สุรินทร์ และมุกดาหาร

ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, พะเยา, แพร่, เชียงใหม่ (2 จุด) และลำพูน

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี, นครศรีธรรมราช (3 จุด), พังงา, ภูเก็ต (2 จุด), พัทลุง และตรัง

ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี (2 จุด), จันทบุรี และฉะเชิงเทรา

ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ ตาก

บางพื้นที่ก็มีการประกาศจัดกิจกรรมล่วงหน้าร่วมหนึ่งเดือน บางพื้นที่ก็ไม่ได้ประกาศจัดล่วงหน้า แต่ได้มีประชาชนออกมาวิ่งหรือออกมาทำกิจกรรมสนับสนุนการวิ่งไล่ลุง พร้อมกับมีรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ

จากจำนวนพื้นที่ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีประชาชนในจังหวัดต่างๆ ออกมา “วิ่ง” ในจังหวัดของตนเองอย่างค่อนข้างกว้างขวาง โดยเท่ากับว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดในประเทศไทยมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงขึ้น แต่ละพื้นที่มีผู้เข้าร่วมในจำนวนหลากหลายแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลัก 10 คน ไปจนถึงหลายหมื่นคนอย่างในกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากศูนย์ทนายสิทธิฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ติดตามประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์กิจกรรมได้ในทุกจุด จึงไม่สามารถประเมินผู้ออกมาร่วมวิ่งไล่ลุงทั้งหมดได้ แต่จากรายงานข่าว ที่มีการอ้างข้อมูลจาก “หน่วยงานความมั่นคง” ที่เข้าติดตามจับตาในทุกพื้นที่นั้น มีการประมาณจำนวนผู้เข้าร่วมทั่วประเทศไว้อยู่ในหลัก 14,000-15,000 คน แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการรวบรวมและประเมินโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง

 

เจ้าหน้าที่เรียกคุย-ห้ามปรามจนต้องยกเลิกจัด 4 พื้นที่ เปลี่ยนสถานที่ 14 พื้นที่ 

แม้กิจกรรมในเกือบทุกพื้นที่จะสามารถจัดขึ้นได้ ไม่มีรายงานการจับกุมหรือใช้ความรุนแรงโดยตรง แต่กว่าจะออกวิ่งได้ในหลายจังหวัด ผู้จัดและผู้เข้าร่วมก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันและการคุกคามปิดกั้นการแสดงออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนัก

จากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในอย่างน้อย 4 พื้นที่ที่ผู้จัดต้องประกาศยกเลิกกิจกรรม ได้แก่ ที่จังหวัดพะเยา, จังหวัดนครนายก (ช่วงเช้า), จังหวัดบึงกาฬ 2 จุด คือจุดอำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง พื้นที่ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้นั้นเกิดจากสองสาเหตุใหญ่ คือกรณีที่ผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดันอย่างหนักและถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้สถานที่ จนต้องประกาศยกเลิกกิจกรรม และกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้น-ตั้งด่านกีดกั้นการใช้พื้นที่ในวันวิ่ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปในสถานที่วิ่งได้

กรณีสำคัญคือที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่มีรายงานว่าทางตำรวจถึงกับมีการออกหมายเรียกให้ผู้จัดวิ่ง ซึ่งเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาให้ไปพบที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ถ้อยคำในฐานะ “พยาน” ทั้งตำรวจยังมีการติดตามตัวผู้จัดถึงบ้านผู้ปกครอง หรือการโทรศัพท์ติดต่อเป็นการส่วนตัว เพื่อให้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 3 วัน ทำให้ทางนิสิตถูกเร่งวันเข้าพบตำรวจให้เร็วขึ้นกว่าที่ถูกกำหนดไว้เองในหมายเรียกของตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่ได้ซักถามข้อมูลการจัดวิ่ง ข้อมูลกลุ่มกิจกรรม และข้อมูลส่วนตัวของนิสิตกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนในวันถัดมาจะมีการออกหนังสือไม่อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่บริเวณกว๊านพะเยาในการจัดวิ่ง ทำให้ทางผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรมไป

(เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังจำนวนมากมาเฝ้าบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 โดยนิสิตประกาศยกเลิกกิจกรรมก่อนหน้านั้นแล้ว)

เช่นเดียวกับที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ ที่มีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปกดดันผู้ประกาศจะออกวิ่งไล่ลุง พยายามไม่ให้จัดวิ่ง จนผู้ประกาศวิ่งต้องยกเลิกกิจกรรม

กรณีที่จังหวัดนครนายก เดิมมีกำหนดการวิ่งที่บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชลในช่วงเช้า แต่ปรากฏว่าทางเขื่อนมีการปิดกั้นทางขึ้นไปยังสันเขื่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้มีการตั้งด่านตรวจบริเวณถนนปากทางเข้าเขื่อน และมีการบล็อกพื้นที่บริเวณประตูหน้าเขื่อนที่เห็นป้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีใครได้ขึ้นไปวิ่งบนสันเขื่อนในเช้าวันนั้นได้ และทางตำรวจยังมีการติดต่อเรียกผู้จัดไปพูดคุย ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมและห้ามโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีกด้วย

คล้ายคลึงกับที่ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีตั้งด่านเฝ้าและใช้ไม้กั้นไม่ให้คนเข้าออกสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นที่จัดวิ่ง หากใครจะเข้าไปต้องขออนุญาตก่อน โดยอ้างว่าเนื่องจากมีคนจะมาใช้พื้นที่ในการชุมนุม ทำให้ไม่สามารถมีใครเข้าไปยังสวนเพื่อทำกิจกรรมวิ่งได้

การหาพื้นที่รวมตัวจัดกิจกรรมและหาเส้นทางในการวิ่ง ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหลายจังหวัดต้องเผชิญ ในหลายจังหวัด ผู้จัดถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จากพื้นที่ถนนใจกลางเมือง ไปใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะแทน โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในอย่างน้อย 14 พื้นที่ ต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่จัดกิจกรรม หรือปรับเปลี่ยนเส้นทางในการวิ่ง จากเดิมที่เคยประกาศสถานที่ไว้ในตอนแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ, เขตบางขุนเทียน, ปัตตานี, เชียงราย, เชียงใหม่, อำเภอฝาง, นครสวรรค์, ปทุมธานี, พัทยา, นครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์

(ภาพโปสเตอร์การประกาศเปลี่ยนสถานที่ งานวิ่งไล่ลุงมาเป็นที่สวนรถไฟ จ.กรุงเทพมหานคร)

สาเหตุการต้องย้ายสถานที่หรือเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง เกิดจากทั้งการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่, เจ้าหน้าที่มีการพยายามปิดกั้น-กีดกันการใช้พื้นที่รวมตัวที่ถูกประกาศไว้, เจ้าหน้าที่ขอให้เปลี่ยนเส้นทางเนื่องจากอาจมีปัญหาการจราจร หรือกระทบต่อการท่องเที่ยว, เจ้าหน้าที่รัฐเข้ากดดันเจ้าของสถานที่เดิมให้ยกเลิกการให้ใช้สถานที่ หรือการมีกิจกรรมของหน่วยงานรัฐทับซ้อนขึ้นมาในพื้นที่เดิม

ในกรุงเทพฯ นั้น ก่อนจะสามารถจัดวิ่งขึ้นได้ที่สวนรถไฟ ก็ต้องเผชิญกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่วิ่ง ซึ่งเดิมกำหนดเริ่มต้นจากบริเวณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผ่านถนนพระอาทิตย์ และกลับมาสิ้นสุดที่เดิม สุดท้ายทางผู้จัดจึงเปลี่ยนไปขออนุญาตใช้สวนสาธารณะอย่างสวนรถไฟ จากทางกรุงเทพมหานครในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดวิ่งในที่สุด  ทางผู้จัดในกรุงเทพฯ ยังเผชิญกับการกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้ใช้สถานที่ในการจัดแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง ทั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในวันที่ 11 ธ.ค. 62 และที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 16 ธ.ค. 62

รูปแบบการเจรจาต่อรองและกดดันให้เปลี่ยนสถานที่ในหลายพื้นที่ เกิดขึ้นเมื่อผู้จัดไปแจ้งขอใช้สถานที่ ขอใช้พื้นผิวการจราจร หรือไปแจ้งจัดกิจกรรมในรูปแบบแจ้งจัดการชุมนุม ทางตำรวจสถานีต่างๆ ได้มีการนัดหมายให้ผู้จัดมาพูดคุยด้วยหลังจากนั้น ทั้งโดยการให้มาพบที่สถานีตำรวจ นัดหมายไปกินกาแฟหรือทานอาหารกับเจ้าหน้าที่ การพูดคุยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มีการอ้างสาเหตุต่างๆ ในการขอให้มีการเปลี่ยนสถานที่ ไม่อนุญาตให้จัดในสถานที่เดิม หรือขอไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม

จากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ มีกลุ่มผู้จัดกิจกรรม หรือประชาชนที่แม้ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม แต่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจจะเป็นผู้จัดวิ่งในแต่ละพื้นที่ รวมอย่างน้อย 23 กลุ่ม ถูกนัดหมายพบกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อนหน้าการจัดวิ่ง นอกจากนั้นยังมีกรณีมหาวิทยาลัยเป็นผู้นัดพูดคุยกับนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเองด้วย ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

(ผู้จัดที่จังหวัดนครราชสีมาเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ พูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง)

ตำรวจบุกบ้าน กดดันครอบครัว กดดันนายจ้าง

นอกจากการติดต่อนัดหมาย หรือออกหมายเรียกให้ไปพบแล้ว ทางตำรวจยังมีปฏิบัติการในลักษณะการติดตามผู้จัดกิจกรรมหรือผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมถึงบ้านหรือที่ทำงาน โดยปฏิบัติการนี้เข้าพูดคุยถึงบ้านมีลักษณะการข่มขู่กดดันเข้มข้นกว่า เนื่องจากไม่ได้มีการนัดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า และสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือในสถานที่ทำงานด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ มีรายงานประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไปพบถึงบ้านหรือสถานที่ทำงาน ในช่วงกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอย่างน้อย 49 ราย หลายรายยังเป็นนักเรียน-นักศึกษาที่ประกาศจัดกิจกรรมครั้งแรกของตนเองอีกด้วย

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เยาวชนที่ประกาศจัดงานวิ่งไล่ลุงในอำเภอสตึก ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปพูดคุยห้ามจัดกิจกรรม อ้างว่าไม่อยากให้กลายเป็นเบี้ยทางการเมือง และยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปกดดันถึงบ้านและที่ทำงาน ทั้งมีการข่มขู่เรื่องผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้เจ้าตัวต้องตัดสินใจประกาศงดร่วมกิจกรรม 

เช่นเดียวกับกรณีนักเรียนมัธยม ร.ร.อนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า จะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงคู่ขนานกับทางกรุงเทพฯ ทำให้มีตำรวจไปพบนักเรียนคนดังกล่าวถึงที่บ้าน และเตือนให้ยุติกิจกรรม ทำให้นักเรียนคนดังกล่าวต้องลบโพสต์เรื่องกิจกรรมออกไป ส่วนที่มหาสารคาม นิสิตผู้จัดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตัวถึงบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ และถูกโทรศัพท์ถามความเคลื่อนไหวและข้อมูลครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนที่พะเยา แม้ทางนิสิตผู้จัดวิ่งจะประกาศยกเลิกกิจกรรมต่อสาธารณะไปแล้ว แต่ทางตำรวจยังมีการติดตามนิสิตถึงหอพัก เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวและถ่ายรูปรายงาน “นาย” ก่อนวันวิ่งอย่างต่อเนื่อง

ที่จังหวัดแพร่ ประเสริฐ หงวนสุวรรณ แกนนำจัดวิ่งไล่ลุง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพบที่บ้านและนัดพบพูดคุยในช่วงก่อนกิจกรรม รวม 3 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ขอให้งดการจัดวิ่ง เนื่องจากอ้างว่ากิจกรรมอาจกระทบเรื่องของ “ความมั่นคง” พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถอนุญาตให้จัดงานได้ ทางผู้จัดยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามประกบในช่วงก่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้วย

(เจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบผู้จัดวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดแพร่ ก่อนการวิ่งอย่างต่อเนื่อง)

เช่นเดียวกับผู้จัดงานที่นครสวรรค์และอุบลราชธานี หลังจากประกาศจัดกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ติดตามไปถึงที่ทำงานและที่บ้าน มีการกล่าวห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน แต่ทางผู้จัดงานยังยืนยันจะจัดต่อไป

ในภาคใต้ ที่จังหวัดตรัง ผู้จัดวิ่งยิกลุงได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน ว่า ก่อนการจัดวิ่งได้ถูกเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงเข้าขอร้องให้ยกเลิกกิจกรรมการวิ่งเช่นกัน แต่ทางผู้จัดยังยืนยันจัดกิจกรรม  ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประกาศจัดกิจกรรมหน้าวัดพระธาตุ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกไปติดตามตัวถึงบ้าน 3 วันติดต่อกัน โดยมีการขอให้ลดบทบาทไม่ให้เป็นแกนนำ ทำให้ตัวผู้ประกาศจัดต้องตัดสินใจประกาศยกเลิกกิจกรรม แต่ในวันวิ่งจริงๆ ก็ยังมีกลุ่มประชาชนออกไปวิ่งอยู่เช่นเดิม

 

การข่มขู่ห้ามปรามประชาชน ไม่ให้เข้าร่วมวิ่ง

ไม่เพียงแต่ผู้ประกาศจัดวิ่งไล่ลุงเท่านั้น แต่ผู้แสดงออกบนโลกออนไลน์ว่าจะเข้าร่วมวิ่งในจังหวัดต่างๆ ก็เผชิญกับการคุกคามถึงที่บ้านหลายราย อาทิเช่น ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีรายงานกรณีตำรวจได้เข้าติดตามตัวถึงบ้านผู้ที่โพสต์ข้อความว่าตนจะออกไปวิ่งไล่ลุงในวันที่ 12 ม.ค. โดยตำรวจข่มขู่ไม่ให้มีการออกไปวิ่ง และไม่ให้มีการโพสต์เชิญชวนเกี่ยวกับกิจกรรมนี้อีก ทำให้ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวต้องลบโพสต์ออกไป

เช่นเดียวกับที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีรายงานกรณีตำรวจเข้าไปพบชาวบ้านที่จะมาร่วมงานวิ่งไล่ลุง และกล่าวโน้มน้าวขอไม่ให้ไปร่วม  ส่วนที่จังหวัดพังงา มีรายงานกรณีผู้ร่วมในไลน์กลุ่มที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับวิ่งไล่ลุง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพบถึงบ้านอย่างน้อย 2 ราย โดยมีการเข้าถ่ายรูปครอบครัว และสอบถามเรื่องการไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง

ที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 ม.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ใช้วิธีการเดินตามบ้านของชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแกนนำ โดยแยกพูดคุยบ้านละ 3-4 นาย เพื่อบอกกับชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับขู่ว่าถ้าไป จะถูกดำเนินคดี 

นอกจากนั้น กลุ่มที่เป็น “กลุ่มเป้าหมาย” เดิมที่เจ้าหน้าที่จับตาอยู่ เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็พบว่าบางรายถูกตำรวจบุกไป “เยี่ยมบ้าน” เพื่อกดดันไม่ให้ไปเข้าร่วมกิจกรรม และอ้างว่าจะเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรไปสอบถามว่าจะไปเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ โดยอ้างว่า “นาย” ให้โทรมาสอบถามด้วย

 

การติดตาม/คุกคาม “อดีตผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่” ทั้งที่ไม่ได้จัดกิจกรรม

ขณะเดียวกันในหลายจังหวัด อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้ตกเป็นเป้าในการติดตามจับตาของเจ้าหน้าที่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งขึ้นในจังหวัดนั้นๆ แม้แต่ในจังหวัดที่ไม่ได้มีใครประกาศจัดกิจกรรมเลย อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามจับตาก่อนกิจกรรมด้วย ทั้งในลักษณะการเข้าถ่ายภาพที่พัก การถูกบุกเข้าสอบถามถึงบ้านว่าจะมีการจัดกิจกรรมหรือไม่ การโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ หรือการติดตามสอดส่อง

จังหวัดที่มีรายงานการเข้าติดตามอดีตผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ถึงบ้านหรือที่ทำงาน ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ได้แก่ เพชรบูรณ์, ลำปาง, เพชรบุรี, นครปฐม, บุรีรัมย์, นครพนม, ยโสธร เป็นต้น

รายงานกรณีที่กล่าวได้ว่าถูกเจ้าหน้าที่คุกคามอย่างค่อนข้างรุนแรงที่สุด ได้แก่ กรณีอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยเข้าติดตามสอบถามข้อมูลส่วนตัวและถามเกี่ยวกับกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยมีการเดินทางมาติดตามถึงบ้าน 3 ครั้ง ทำให้บิดาซึ่งอายุเกือบ 80 ปี และเป็นโรคเบาหวาน ถึงกับเครียดจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ตำรวจกลับไปติดตามถามข้อมูลจากบิดาซึ่งป่วยอยู่ในโรงพยาบาลอีก และยังโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเป็นระยะ ทั้งที่จังหวัดลำปางไม่ได้มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงแต่อย่างใด

กรณีที่จังหวัดนครพนม มีรายงานว่าผู้เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ถึง 3 คน ถูกตำรวจบุกติดตามถึงบ้าน ทั้งผู้ที่มีตำแหน่งในศูนย์ประสานงานของสาขาพรรค และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดถูกพูดคุยในลักษณะว่าจะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหรือไม่ สอบถามความเกี่ยวพันของพรรคกับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และมีการขอไม่ให้ไปร่วมวิ่ง พร้อมทั้งถูกเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปเก็บข้อมูลไว้

หรือที่จังหวัดยโสธร เจ้าหน้าที่ธุรการของพรรคอนาคตใหม่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามระหว่างการเดินทางถึง 2 วันติดต่อกัน และมีการพยายามเข้ามาสอบถามว่าจะไปร่วมกิจกรรมวิ่งหรือไม่ และมีใครจะจัดวิ่งในจังหวัดยโสธรหรือไม่ 

ส่วนที่จังหวัดนครปฐม มีรายงานว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เดินทางไปที่บ้านบิดาของนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถึง 2 ครั้ง โดยอ้างเรื่องการมาสวัสดีปีใหม่ แต่ก็มีการพูดคุยกับบิดาในลักษณะว่า ไม่อยากให้มีการจัดวิ่งในพื้นที่นครปฐม และอยากให้ไปจัดที่อื่นมากกว่า นอกจากนั้นอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดนครปฐมหลายคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ิิติดตามเข้าพูดคุยก่อนกิจกรรมเช่นกัน

 

(ภาพการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่นครปฐม)

.

การจัดงานแทรกซ้อนในพื้นที่และวันเวลาเดียวกัน

รูปแบบการสร้างข้อจำกัดให้การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่พบในหลายจังหวัดอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของจังหวัด หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น มีการประกาศจัดกิจกรรมอื่นๆ ขึ้นมา ในสถานที่และวันเวลาเดียวกับพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ทำให้การจัดวิ่งเผชิญกับปัญหาในการใช้สถานที่จัด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ มีปรากฏในลักษณะนี้ อย่างน้อยใน 9 พื้นที่

ที่จังหวัดเชียงราย ผู้จัดวิ่งไล่ลุงมีการประกาศจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 62 แต่ถึงวันที่ 9 ม.ค. 63 ได้มีการเผยแพร่เอกสารของอำเภอเมืองเชียงราย ประกาศจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์” ทำความสะอาดถนน ในวันเวลาและสถานที่เดียวกันกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง หนังสือยังระบุให้ทางอำเภอนำมวลชนจิตอาสาในพื้นที่ หมู่บ้านละ 10 คน เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

ส่วนที่เชียงใหม่ ก่อนหน้าวันจัดวิ่ง 4 วัน ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการประกาศจัดกิจกรรมรณรงค์ปัญหาฝุ่นควันที่ประตูท่าแพ ในวันและเวลาเดียวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยมีกำหนดการนำนักเรียนและข้าราชการมาร่วมรณรงค์ และจัดแถวขบวนรถฉีดน้ำล้างถนน

(กิจกรรมรณรงค์ปัญหาหมอกควันมีการฉีดพ่นน้ำในขณะที่มีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในพื้นที่ประตูท่าแพช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ เกิดความไม่พอใจของประชาชน)

เช่นเดียวกับที่นครราชสีมา ก่อนหน้าการจัดวิ่ง ได้มีการเผยแพร่หนังสือลงนามโดยนายอำเภอเมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 9 ม.ค. 63 ระบุว่าจะจัดกิจกรรมเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติที่บริเวณลานย่าโมในวันที่ 11-12 ม.ค. ซึ่งรวมถึงเย็นวันที่ 12 ม.ค. วันเวลาเดียวกับช่วงที่ผู้จัดประกาศทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ทั้งที่พ้นวันเด็กแห่งชาติไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้จัดต้องตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่วิ่งไป เป็นบริเวณสวนสาธารณะภูมิรักษ์แทน

หรือที่ร้อยเอ็ด แม้ไม่ได้มีการประกาศจัดงานอื่นๆ แต่ในวันจัดวิ่ง กลับปรากฏมีการนำรถ 6 ล้อของเจ้าหน้าที่จำนวนหลายคันมาจอดในบริเวณจุดนัดหมายเริ่มต้นวิ่ง และทางเข้าบึงพลาญชัยมีการปิดกั้นห้ามรถเข้าด้วย ทำให้การจัดวิ่งต้องย้ายจุดสตาร์ทออกไป

การจัดกิจกรรมของรัฐแทรกซ้อนขึ้นมาเช่นนี้ ยังเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดพะเยา, นครปฐม, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, มหาสารคาม แนวทางดังกล่าวจึงดูจะไม่ใช่ “เรื่องบังเอิญ” ในการที่อยู่ๆ มีกิจกรรมขึ้นพร้อมกัน

การจัดกิจกรรมแทรกซ้อนได้ทำให้ผลลัพธ์ในสองรูปแบบ รูปแบบแรก ทางผู้จัดวิ่งไล่ลุงต้องตัดสินใจย้ายพื้นที่จัดไปยังที่อื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน กรณีเช่นนี้ ได้แก่ ที่เชียงราย ขอนแก่น และนครราชสีมา และอีกรูปแบบหนึ่ง คือทางผู้จัดยังจัดกิจกรรมในพื้นที่เดิม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับกิจกรรมที่จัดแทรกซ้อนขึ้น และทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรมเร็วขึ้น

ดังกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางหน่วยงานจัดรณรงค์ปัญหาหมอกควันได้มีการเปิดเพลงด้วยเสียงอันดัง และมีการนำรถดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ่นฉีดละอองน้ำ ในขณะที่ผู้ร่วมวิ่งไล่ลุงเดินทางกลับมาถึงประตูท่าแพ ทำให้ผู้เข้าวิ่งไล่ลุงได้รับผลกระทบเนื้อตัวเปียก สร้างความไม่พอใจให้ประชาชน จนเกิดการมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ และที่สุดต้องประกาศยุติกิจกรรม

การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอกจากเป็นความพยายามปิดกั้นการใช้พื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยการนำกิจกรรมของรัฐเข้าเบียดบังการใช้พื้นที่แล้ว ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐเสียเองได้

 

การกล่าวอ้างถึง “ขบวนเสด็จ” และให้ข่าวสาร “โจมตี” กิจกรรม

นอกจากปัญหาการจัดงานอื่นแทรกซ้อนแล้ว กรณีวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดเชียงราย ยังเผชิญกับการปิดกั้นการใช้เส้นทางวิ่งในอีกลักษณะหนึ่ง คือการไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เนื่องจากข้ออ้างเรื่อง “ขบวนเสด็จ” โดยทางตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายอ้างถึงภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระราชวงศ์ และเส้นทางวิ่งกับเส้นทางขบวนเสด็จเป็นเส้นทางที่ทับซ้อนกัน ในเวลาที่คาบเกี่ยวกันพอดี จึงไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ผิวการจราจรทางสาธารณะ ในการประกอบกิจกรรมได้

ทางผู้จัดวิ่งไล่ลุงในจังหวัดเชียงรายเปิดเผยด้วยว่า แม้จะมีการเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ถึงการเปลี่ยนสถานที่และเส้นทางวิ่ง ไม่ให้ทับซ้อนกับขบวนเสด็จแล้ว แต่ทางตำรวจก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้เส้นทางใดๆ โดยอ้างว่าขบวนเสด็จอาจจะออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้เดิมก็ได้ และยังมีการข่มขู่ผู้จัดในลักษณะว่า หากเกิดการกีดขวางหรือรบกวนขบวนเสด็จ ผู้จัดจะถูกดำเนินคดีได้

(ผู้จัดวิ่งไล่ลุงเชียงราย เข้ายื่นหนังสือขอใช้เส้นทางกับตำรวจจราจร)

ทางตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ยังมีการประชาสัมพันธ์ในลักษณะก่อนวันวิ่ง ว่าผู้ที่จะเข้าร่วม “วิ่งไล่ลุง” ขอให้ใช้วิจารณญาณในการเข้าร่วม โดยอ้างว่านอกจากจะเป็นการเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับโทษทางอาญาแล้ว ยังเป็นการไม่เหมาะสมอีกด้วย แรงกดดันดังกล่าว ทำให้ผู้จัดวิ่งต้องประกาศย้ายสถานที่ในเวลาราวตีสามของวันที่ 12 ม.ค. ก่อนเริ่มวิ่งไม่กี่ชั่วโมง โดยย้ายไปจัดในพื้นที่สวนสาธารณะหาดเชียงราย และไม่ได้มีเส้นทางวิ่งลงไปในพื้นที่ถนนอีก

การให้ข่าวสารในลักษณะโจมตีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ยังเกิดขึ้นจากบุคลากรของรัฐและรัฐบาลหลายคน รวมทั้งทางผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ที่ให้สัมภาษณ์ว่ากิจกรรมมีผู้อยู่เบื้องหลัง และการวิ่งมีนัยยะแอบแฝง เป็นต้น

 

บทบาท กอ.รมน./ทหาร ในการเข้าแทรกแซงกิจกรรม

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุง คือในบางพื้นที่ มีรายงานกรณีที่ “กอ.รมน.” ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารที่ดำเนินการในบทบาทของ กอ.รมน. เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประชุมติดตามกิจกรรม หรือกระทั่งเกี่ยวกับการอนุญาตให้จัดกิจกรรมอย่างชัดเจน ทั้งที่กิจกรรมของประชาชนในลักษณะนี้ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. หรือทหาร และกิจกรรมการวิ่งก็ไม่ใช่เรื่อง “ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” แต่อย่างใด

ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อผู้จัดกิจกรรมไปแจ้งขอใช้สถานที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และทางตำรวจได้ “เชิญ” มาพูดคุย ทาง รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา ได้ระบุหลังการพิจารณากิจกรรมว่า จะต้องนำข้อมูลรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้มีการพิจารณาอนุมัติให้จัดกิจกรรมหรือไม่ เพราะยังมีกฎหมายความมั่นคงภายในบังคับใช้อยู่ โดยทางตำรวจก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า เหตุใดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงถึงเกี่ยวข้องกับ “กฎหมายความมั่นคงภายใน”

อีกพื้นที่หนึ่งที่มีเอกสารระบุเรื่องบทบาทของ กอ.รมน. ในการเข้ามาพิจารณากิจกรรม ได้แก่ ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ปรากฏในหนังสือแจ้งเงื่อนไขการจัดการชุมนุมสาธารณะของ สภ.เมืองพัทยา ที่มีถึงนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 มีการระบุว่าภายหลังจากมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว ทาง สภ.เมืองพัทยาได้จัดประชุมพิจารณาเงื่อนไขการจัดการชุมนุม โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เมืองพัทยา, อำเภอบางละมุง, สันติบาลจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. มาหารือ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมให้ผู้จัดวิ่งไล่ลุง

เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเหตุใดทางตำรวจท้องที่จึงต้องเชิญเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้ามาร่วมในการประชุม เป็นอำนาจตามกฎหมายใด เพราะตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เกี่ยวข้องเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงไม่ได้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเงื่อนไขการชุมนุมแต่อย่างใด

(ภาพกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี)

ขณะที่พื้นที่ความขัดแย้งที่ กอ.รมน. และกองทัพยังมีบทบาทอย่างเข้มข้นอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ ที่จังหวัดปัตตานี ก็ปรากฏรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ากดดันอิหม่ามของมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่มีการประกาศเป็นสถานที่รวมตัวนักวิ่ง โดยมีการสั่งไม่ให้ทางมัสยิดกลางให้พื้นที่รวมตัวแก่ทางผู้จัดงาน อ้างเป็นคำสั่งจากทางพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง และอ้างเรื่องความต้องการให้ปัตตานีเป็นตัวอย่าง “เมืองสงบ”

นอกจากนั้น ในกิจกรรมการวิ่งในหลายจังหวัด ก็มีรายงานเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าติดตามจับตากิจกรรมอีกด้วย ตัวอย่างบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารเหล่านี้ สะท้อนว่าอำนาจของกองทัพจากยุค คสช. ในการเข้ามาแทรกแซง สอดส่องกิจกรรมของพลเรือน ทั้งที่กิจกรรมก็ไม่ได้เข้าข่ายปัญหาด้านความมั่นคงแต่อย่างใด ยังคงแฝงฝังดำรงอยู่สืบเนื่องมา ภายใต้บทบาทของ กอ.รมน. นี้เอง (ดูเรื่องนี้ในรายงานการปรับบทบาท กอ.รมน. จากยุค คสช.)

 

มหาวิทยาลัยมีส่วนปิดกั้นกิจกรรม องค์กรปกครองท้องถิ่นบ่ายเบี่ยงให้ใช้สถานที่

(ภาพแถลงการณ์ของม.วลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช)

นอกจากบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารแล้ว มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีบทบาทในการร่วมกันปิดกั้นการทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีการประกาศจัดกิจกรรมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

กรณีที่เข้มข้นและยังเกิดข้อพิพาทติดตามมาหลังกิจกรรม ได้แก่ กรณีของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งกลุ่มนักศึกษาในนาม “มวล.เสรี” ประกาศจัดวิ่งในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยกลับมีการออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม อ้างว่ามีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง และมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลใดจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งทางเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยังมีการเรียกนักศึกษาไปพูดคุยกับทางตำรวจ และพยายามพูดคุยให้ยกเลิกกิจกรรม

ต่อมา เมื่อนักศึกษาผู้จัดยืนยันจัดกิจกรรมต่อไป หลังกิจกรรมพบว่ามีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ทำการปลดรายชื่อ 4 นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมออกจากศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ก็ได้มีการยกเลิกการปลดดังกล่าว และยังมีประเด็นที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษามาเผยแพร่ในไลน์ พร้อมระบุว่า นักศึกษาคนนี้น่าติดตามตัวอีกด้วย ทำให้กลุ่มนักศึกษาเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างมาก

ด้านมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทางผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือไม่อนุมัติให้นักศึกษาใช้เส้นทางเดิมในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรม “RAN ไล่พุง ไร้ลุง ไร้โรค” โดยอ้างเหตุเรื่องเป็นวันหยุด และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอดูแลความปลอดภัยการจราจร แต่ได้เสนอให้สามารถวิ่งรอบบึงสีฐาน หน้าหอกาญจนาภิเษกได้ ทำให้ผู้จัดต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่วิ่ง

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มนิสิตต้องประกาศย้ายสถานที่ จากเดิมที่ประชาสัมพันธ์ว่าจะวิ่งในมหาวิทยาลัย ไปเริ่มวิ่งที่หอนาฬิกาเมืองมหาสารคามแทน หลังจากมีนิสิตถูกอาจารย์นัดหมายไปพูดคุย ทำให้ทราบว่ามีหน่วยงานความมั่นคงเข้ากดดันทางมหาวิทยาลัย และสุดท้ายมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่

ส่วนการจัดวิ่งของกลุ่มโกงกาง แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี แม้จะจัดขึ้นได้ แต่ระหว่างกิจกรรม ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้ากดดันให้ยกเลิกโดยเร็ว โดยแจ้งต่อผู้จัดว่า มีเพียงการแจ้งกิจกรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้ขออนุญาตมหาวิทยาลัย จึงขอให้ยกเลิกกิจกรรมภายใน 30 นาที

นอกจากนั้น ปัญหาอุปสรรคของการจัดวิ่งในบางพื้นที่ ยังเกิดจากการบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธไม่ให้ใช้สถานที่ของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแลการใช้สถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสวนสาธารณะ เช่น ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่บ่ายเบี่ยงไม่ให้คำตอบเรื่องการขอใช้พื้นที่สนามหลวงเมืองแพร่, ที่จังหวัดเชียงราย ผู้จัดมีการไปยื่นขอใช้สนามกีฬาของ อบจ. แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอนุญาตให้ใช้ หรือที่จังหวัดยโสธร ทางเทศบาลจะเรียกเก็บค่าใช้สวนสาธารณะพญาแถน 3,000 บาท แต่หลังการเจรจา ก็ไม่ได้มีการเก็บ เป็นต้น

 

การใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยไม่ชอบ และการกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมแบบปิดกั้นควบคุมกิจกรรม

(ภาพไวนิลรายละเอียดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกนำมาติดบริเวณพื้นที่จัดงานวิ่งไล่ลุง จ.อุบลราชธานี)

กิจกรรมในหลายพื้นที่ ยังเผชิญปัญหากับการใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้กฎหมายนี้โดยไม่ชอบ อาทิเช่น การกำหนดให้ผู้ทำกิจกรรม “ขออนุญาต” ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่กฎหมายกำหนดเพียงให้ “แจ้ง” จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น หรือพื้นที่ที่มีการไปแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มีการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการแสดงออกอย่างมาก และเป็นการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เข้ามาปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แทนที่จะถูกใช้เพื่อคุ้มครองการชุมนุมและการแสดงออก

กรณีที่จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะอย่างสับสนและเปลี่ยนแปลงไปมา ทั้งออกคำสั่งเจ้าพนักงานที่มีลักษณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลังจากผู้จัดเข้าแจ้งจัดการชุมนุมแล้ว ทางรอง ผกก.สภ.เมืองอุบลฯ ได้มีหนังสือ “อนุญาต” ให้ชุมนุม ก่อนมีคำสั่งและหนังสือ “ไม่อนุญาต” ตามมาในวันเดียวกัน อ้างเหตุว่ากีดขวางทางสัญจรของประชาชนและอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย (ดูความเห็นทางกฎหมายของศูนย์ทนายสิทธิฯ ในกรณีนี้)

ต่อมา ตำรวจอุบลฯ ได้เรียกตัวแทนผู้จัดไปพูดคุยใหม่ และได้ “อนุญาต” ให้จัดกิจกรรม โดยมีข้อกำหนดหลายข้อ เช่น ให้เปลี่ยนโลโก้โดยไม่ให้มีคำว่า “ลุง”, ห้ามชูป้ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งยังห้ามการแสดงออกที่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และยังมีการออกเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ลงทะเบียนเข้าวิ่งต้องแสดงบัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารราชการอื่นๆ หากไม่แสดงจะห้ามร่วมกิจกรรมด้วย

ทั้งในวันวิ่ง ตำรวจยังมีการประกาศขณะประชาชนทำกิจกรรมด้วย ว่าหากนักวิ่งวิ่งเข้าเส้นชัยไม่ตรงตามเวลาหรือเกินเวลา จะผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ต้องรีบเร่งในการวิ่งด้วย

ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี หลังผู้จัดไปแจ้งการชุมนุมกับ สภ.เมืองพัทยา ทางตำรวจได้มีการทำหนังสือกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมจำนวนมาก ที่สำคัญอาทิเช่น การให้ผู้จัดปรับเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง เนื่องจากอาจกระทบต่อนักท่องเที่ยว, การให้ไปขออนุญาตใช้พื้นที่ ใช้เครื่องขยายเสียง หรือการขอตั้งวางสิ่งของ จากหน่วยงานราชการต่างๆ หลายหน่วย, การไม่ให้ใช้ชื่อกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง@Pattaya” โดยอ้างเหตุที่พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว การนำชื่อไปอ้างในกิจกรรมถือว่าไม่เหมาะสม กระทบต่อภาพลักษณ์, การห้ามมิให้ผู้จัด หรือผู้ร่วมชุมนุม ใช้ป้ายหรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่มีข้อความเสียดสี ด่าทอ หรือกล่าวถึงบุคคลอื่นในทางที่เสียหาย, กำหนดให้มีการใช้เครื่องขยายเสียงประเภทโทรโข่ง แบบมือถือได้ จำนวนเพียง 3 ตัว แต่ให้ผู้จัดกำหนดตัวบุคคลที่จะใช้โทรโข่งดังกล่าว พร้อมแจ้งรายละเอียดส่วนตัวของบุคคลนั้นให้ตำรวจทราบด้วย

ส่วนการวิ่งที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทางตำรวจได้มีหนังสือกำหนดเงื่อนไขหลังการแจ้งการชุมนุม โดยข้อหนึ่ง ระบุถึงการให้ผู้จัดชุมนุมส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมทั้งหมดให้กับทางเจ้าหน้าที่ด้วย และยังมีการขอตั้งเครื่องสแกนวัตถุระเบิดก่อนเข้างาน และห้ามใช้เครื่องเสียงและตั้งเต็นท์บริเวณงานด้วย แต่หลังกิจกรรมวิ่ง ทางผู้จัดได้ปฏิเสธไม่ส่งรายชื่อผู้ร่วมวิ่งให้กับเจ้าหน้าที่

 

การนิยามให้กิจกรรมวิ่ง กลายเป็นการชุมนุมสาธารณะ

(ภาพส่วนหนึ่งของหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาของผู้ร่วมงานวิ่งไล่ลุง)

ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะอีกประการหนึ่ง คือปัญหาการนิยามว่ากิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” นั้น เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือไม่

แม้จะมีความในมาตรา 3 (3) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดไม่ให้ใช้บังคับแก่การชุมนุมเพื่อกีฬา และการวิ่งไล่ลุง ก็มีลักษณะเป็นกิจกรรมกีฬา เหมือนกับกิจกรรมวิ่งอื่นๆ ที่มีประเด็นการสื่อสารทางสังคม เช่น งานวิ่งรณรงค์ลดโลกร้อน วิ่งรณรงค์ต้านยาเสพติด วิ่งรณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น การวิ่งไล่ลุงจึงควรจะไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

แต่หลังกิจกรรมการวิ่งในหลายจังหวัดที่ผู้จัดไม่ได้ไปแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการดำเนินคดีต่อผู้จัดกิจกรรม ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 28 ม.ค. 63) มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ไปแล้วอย่างน้อย 17 ราย ใน 13 จังหวัด โดยแยกเป็นจังหวัดในภาคอีสาน 5 ราย ได้แก่ ที่บุรีรัมย์, นครพนม, สุรินทร์, ยโสธร และกาฬสินธุ์  ภาคกลาง 3 ราย ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครสวรรค์ และพิษณุโลก ภาคเหนือ 6 ราย ได้แก่ ลำพูน และเชียงราย ภาคใต้อีก 2 ราย ได้แก่ พังงา และตรัง 

ทั้งนี้ ที่จังหวัดนครสวรรค์ พนักงานสอบสวนยังมีการแจ้งข้อกล่าวหา ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและกีดขวางการจราจรเพิ่มด้วย หลังจากก่อนเริ่มกิจกรรมวิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาอ่านคำสั่ง “ห้ามการชุมนุม” เนื่องจากไม่ได้มีการ “ขออนุญาต” ในการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แต่ผู้จัดยังดำเนินการวิ่งต่อไป

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ประชาชนกลุ่มที่ใส่เสื้อ “ลุงตู่สู้” มาตะโกนโห่กลุ่มที่ใส่เสื้อ “วิ่งไล่ลุง” ใน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ก็ถูกพนักงานสอบสวนเรียกมาเปรียบเทียบปรับในเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมเช่นเดียวกัน เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท

ในกรณีที่ถูกดำเนินคดีข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ยังปรากฏกรณีที่ตำรวจมีการติดต่อผู้จัดให้ไปพบที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายเรียกตามกระบวนการ และไม่ได้แจ้งว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น ทั้งยังมีพูดคุยหว่านล้อมให้รับสารภาพ เพื่อเปรียบเทียบปรับให้เรื่องสิ้นสุดด้วย เช่น ที่จังหวัดยโสธร ผู้ถูกดำเนินคดีถูกตำรวจโทรศัพท์เรียกให้ไปพบ อ้างเพียงว่ามีเรื่องจะพูดคุยด้วย แต่เมื่อไปถึงกลับมีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย และตำรวจยังข่มขู่ให้รับสารภาพ เพื่อให้เสียค่าปรับ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ยินยอมตามเจ้าหน้าที่ (ดูในรายงานข่าว)

 

ใช้กฎหมายเครื่องขยายเสียง/ การจราจร เปรียบเทียบปรับ

นอกเหนือจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการนำกฎหมายและข้อหาลหุโทษอื่นๆ มาใช้ดำเนินการควบคุมการชุมนุม โดยเฉพาะข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษปรับไม่มากนัก แต่ก็สร้างภาระให้กับการจัดกิจกรรม ที่ต้องมีการไปแจ้งต่อทั้งเจ้าพนักงานที่กฎหมายกำหนดให้ดูแลการใช้เครื่องขยายเสียงและดูแลการจราจรเพิ่มขึ้นอีก นอกจากการแจ้งจัดการชุมนุมแล้ว อีกทั้งในการออกเงื่อนไขการชุมนุมของตำรวจในบางพื้นที่ ยังมีการกำหนดห้ามการใช้เครื่องขยายเสียงอีกด้วย

ในวันจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้น มีผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงและการใช้เส้นทาง อย่างน้อย 4 ราย คือที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังการวิ่ง ปิยรัฐ จงเทพ ผู้จัดวิ่งได้เข้าพบตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อจ่ายค่าปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียง และใช้เส้นทางผิวการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่ากิจกรรมวิ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 700 บาท

อีกพื้นที่หนึ่ง คือจังหวัดแพร่ ผู้จัดกิจกรรม ได้แก่ ประเสริฐ หงวนสุวรรณ ถูกตำรวจ สภ.เมืองแพร่ ทำการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเสร็จสิ้นแล้ว 

ส่วนที่จังหวัดตรังและนครสวรรค์ มีการแจ้งข้อกล่าวหาการใช้เครื่องขยายเสียง และเรื่องการใช้เส้นทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกับข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

 

กลุ่มมวลชน “เชียร์ลุง” เข้าแสดงออกกดดัน

(ภาพงานเดินเชียร์ลุงจาก เว็บไซต์ mthai.com)

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการวิ่งไล่ลุงอีกประการหนึ่ง คือการปรากฏกลุ่มมวลชนที่มีความเห็นไปในทางตรงข้าม ในลักษณะ “เชียร์ลุง” เข้าแสดงออกกดดัน แม้การแสดงออกลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออกเช่นกัน แต่ในบางพื้นที่ การปรากฏตัวของกลุ่มประชาชนเชียร์ลุง กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ให้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยอ้างว่ามีประชาชนไม่เห็นด้วยอยู่

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้มีการดูแลจัดแบ่งพื้นที่ให้กิจกรรมของสองกลุ่มซึ่งเห็นต่างกัน ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน มิหนำซ้ำบางกรณีเจ้าหน้าที่ถึงกับนำมวลชนสองฝ่ายมา “เผชิญหน้า” กันเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นได้อีกด้วย

โดยเฉพาะที่จังหวัดพะเยา ในวันเวลาที่นิสิตผู้จัดวิ่งเข้าพบตำรวจตามหมายเรียก ปรากฏกลุ่มประชาชนราว 15-20 คน มารวมตัวด้านหน้า สภ.เมืองพะเยา มีการชูป้ายข้อความ อาทิ ชาวพะเยาต้องการความสงบ, ชาวพะเยาเป็นกำลังใจให้ลุงตู่ เป็นต้น โดยไม่แน่ชัดว่ากลุ่มดังกล่าวทราบเรื่องการเข้าพบตำรวจของผู้จัดวิ่งไล่ลุงได้อย่างไร เนื่องจากไม่ได้มีการแจ้งกำหนดการนี้ต่อสาธารณะ ในระหว่างนั้น ผู้กำกับ สภ.เมืองพะเยา ได้พาตัวนิสิตผู้จัดวิ่งไล่ลุงรายหนึ่ง เข้าไปพูดคุยกับตัวแทนประชาชนเชียร์ลุงที่หน้าสถานีตำรวจ พร้อมกล่าวกับนิสิตว่าขอความร่วมมือไม่ให้จัดกิจกรรมได้หรือไม่ เพราะมีประชาชนในพื้นที่ไม่อยากให้จัด

(ภาพกลุ่มประชาชนที่รวมตัวหน้าสภ.เมืองพะเยา เพื่อ “ให้กำลังใจลุง” ในเวลาเดียวกับที่ผู้จัดวิ่งไล่ลุงเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ) 

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีการจัดวิ่งไล่ลุง 2 จุด ทั้งสองพื้นที่มีกลุ่มมวลชนที่เห็นต่างออกมาแสดงออกพร้อมกันกับกิจกรรมวิ่ง ได้แก่ ที่อำเภอสตึก ได้มีกลุ่มประชาชนที่ใส่เสื้อ “ลุงตู่สู้” มาตะโกนโห่ใส่กลุ่มที่จัดวิ่ง และที่อำเภอบ้านกรวด มีกลุ่ม “สนับสนุนลุง” ประมาณ 200 คน มาตะโกนขับไล่ผู้เข้าร่วมวิ่งไล่ลุง ทำให้เกิดการโต้เถียงกันขึ้น และกิจกรรมวิ่งต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางวิ่งเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา  

ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีรายงานกรณีประชาชนสวมเสื้อสีเหลือง ระบุข้อความ “รักษ์ ม.44 ยิ่งชีพ” เข้ามาป่วนกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พร้อมเป่านกหวีดอยู่บริเวณประตูอีกด้านหนึ่งของสวนรถไฟด้วย  เช่นเดียวกับที่นครปฐม มีผู้นำรถยนต์ที่เขียนสติ๊กเกอร์ต่อต้านกลุ่มชังชาติ เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ทั่วบริเวณจุดเริ่มต้นกิจกรรมวิ่งไล่ลุง

 

การติดป้ายงดใช้สวน/ห้ามใช้สำหรับกิจกรรมทางการเมือง

(ป้ายงดใช้สถานที่จัดกิจกรรมทางการเมือง จ.ยโสธร)

รูปแบบการพยายามปิดกั้นที่พบในหลายพื้นที่อีกประเภทหนึ่ง คือมีการนำป้ายข้อความห้ามใช้พื้นที่สวนสาธารณะ มาติดประกาศไว้ในพื้นที่ทำกิจกรรม ตั้งแต่ก่อนวันวิ่งหรือในเช้าวันวิ่ง โดยพบปรากฏการณ์ดังกล่าวในอย่างน้อย 5 พื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่คืนก่อนวิ่ง มีผู้พบเจ้าหน้าที่ทหารนำป้ายไวนิลไปติดบริเวณทางเข้าสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยมีข้อความว่า “ชมรมคนรักสุขภาพ สระพังทอง ต้องการสุขภาพ ไม่ยุ่งการเมือง” 

ส่วนที่ยโสธร เช้าวันวิ่ง ผู้เข้าร่วมได้พบป้ายของเทศบาลเมืองยโสธรติดบริเวณสวนสาธารณะพญาแถน โดยประกาศให้งดใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมือง แต่ผู้จัดยังเดินหน้าวิ่งต่อไป

หรือที่ศรีสะเกษ แม้ไม่ได้มีการจัดวิ่งไล่ลุงแต่อย่างใด แต่ก็มีผู้พบการติดป้ายข้อความบริเวณสวนสาธารณะของเมือง ว่า “สวนสาธารณะเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนและออกกำลังกาย ขอความร่วมมือ งดใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมือง” ป้ายระบุว่าจัดทำโดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษ

(ป้ายงดใช้อุทยาน ที่จ.นนทบุรี )

ส่วนที่จังหวัดนนทบุรี ก่อนวันวิ่ง 1 วัน ก็พบว่ามีการติดป้ายประกาศงดใช้สวนสาธารณะ บริเวณอุทยานมกุฎรมยสราญ โดยระบุว่าเนื่องจากมีกิจกรรม Big Cleaning Day ในวันที่ 12 ม.ค. 63  เช่นเดียวกับที่ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ พบว่ามีแผ่นป้ายประกาศปิดสวนสาธารณะ โดยระบุเรื่องการฟื้นฟูต้นไม้มาติดไว้ด้วย ทำให้ผู้วิ่งไม่สามารถจัดกิจกรรมได้

 

การจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในนอกจำนวนมากสอดส่องตรวจเข้มกิจกรรม

(ภาพการตั้งด่านสกัดการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง บริเวรณขุนด่านปราการชล จ.นครนายก)

ในการติดตามจับตากิจกรรมวิ่งของเจ้าหน้าที่รัฐหลายพื้นที่ ยังมีการระดมกำลังพลมาเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่ก็มากกว่าผู้ร่วมวิ่ง และหลายพื้นที่ยังมีการตั้งด่านตรวจผู้เข้าร่วมอย่างเข้มงวด ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามถ่ายรูปและวีดีโอกิจกรรม โดยบางพื้นที่ ผู้สังเกตการณ์พบว่าเจ้าหน้าที่ติดตามถ่ายภาพในลักษณะซูมถ่ายผู้เข้าร่วมทีละคน หรือเก็บวีดีโอผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดรายบุคคลด้วย

พื้นที่ที่การตรวจตราสอดส่องเป็นไปอย่างเข้มงวด อาทิเช่น ที่ปัตตานี ผู้เข้าร่วมวิ่งทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ร้องขอให้จอดรถที่บริเวณสนามกีฬา อบจ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างไปเกือบหนึ่งกิโลเมตรจากสถานที่เริ่มกิจกรรม และถูกกำหนดให้ต้องเดินผ่านเครื่องตรวจอาวุธที่ถูกนำมาตั้งเป็นการเฉพาะกิจหน้าทางเข้าสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ทั้งมีการถ่ายภาพผู้เข้าร่วมทุกคนไว้ เป็นผลให้กิจกรรมเริ่มต้นล่าช้าจากกำหนดการเดิม และในกิจกรรมยังมีเจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวเข้าร่วมวิ่งอีกจำนวนมาก

ที่นครราชสีมา ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมานำกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ชุดควบคุมฝูงชน และ EOD มากกว่า 100 นาย วางกำลังทั่วบริเวณสวนภูมิรักษ์ที่จัดวิ่งไล่ลุง ขณะที่บริเวณปากทางเข้าสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย ยังนำเครื่องมือตรวจอาวุธ มาตรวจบุคคลที่จะเข้าไปทุกรายด้วย ทำให้ผู้จัดระบุว่า ผู้เข้าร่วมหลายคนไม่กล้าที่จะเดินทางเข้ามาที่จุดรวมพล เพราะกลัวว่าจะถูกจับดำเนินคดี

ที่ยโสธร เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังกว่า 100 นาย เฝ้าสังเกตการณ์การวิ่ง มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัดทางเข้างานไว้ 2 จุด เพื่อเช็กจำนวนคน พร้อมขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชนและถ่ายภาพผู้เข้าร่วม ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานด้วยว่า ได้รับการประสานงานจาก จ.ยโสธร ขอความร่วมมือไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าววิ่งไล่ลุงที่จัดในพื้นที่

ที่จังหวัดพัทลุง จากรายงานข่าว การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 200 นาย เข้ามาติดตาม-ดูแลกิจกรรม เช่นเดียวกับที่จังหวัดนนทบุรี ที่แม้จะมีการติดป้ายงดใช้สวนสาธารณะ แต่ประชาชนประมาณ 100 คน ยังเข้าไปวิ่งในสวนได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 200 นาย คอยสังเกตการณ์และถ่ายภาพ

 

เจ้าหน้าที่ปิดกั้นป้ายข้อความ และห้ามใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง

(ป้ายข้อความที่ถูกยึดก่อนเข้าร่วมงานวิ่งไล่ลุง ณ สวนรถไฟ)

นอกจากการติดตามจับตาบุคคล การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ยังรวมไปถึงแผ่นป้ายข้อความและสัญลักษณ์ทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งการพยายามปิดกั้นไม่ให้ใส่ “เสื้อวิ่งไล่ลุง” ในการทำกิจกรรมด้วย โดยศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามีอย่างน้อยใน 7 พื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการพยายามปิดกั้นป้ายข้อความ และควบคุมการสวมใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงเกิดขึ้น

ในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ. มีการตั้งจุดตรวจกระเป๋าและแผ่นป้ายข้อความของผู้ที่จะเข้าไปยังสวนรถไฟ ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบกรณีนักวิ่งที่แต่งชุดมาสคอต 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวเข้าไปคุยภายในศูนย์กีฬา  เนื่องจากมีการจัดทำป้ายข้อความว่า “power up” และ “free hug กอดไล่ลุง” ทั้งสามคนถูกตรวจบัตรประชาชน ถูกสอบถามความหมายของป้ายดังกล่าว สอบถามเรื่องความหมายในการแต่งกายชุดมาสคอต และถูกถ่ายรูปใบหน้าไว้ทั้งหมด ก่อนปล่อยให้ทั้ง 3 คน เข้าร่วมกิจกรรม แต่ตำรวจได้ยึดป้ายข้อความทั้งหมดไว้ด้วย

หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมระบุว่า ถูกเจ้าหน้าที่ยึดป้ายข้อความ “งูเห่า สส.ขายตัว” และ “ปฏิรูปหัวดอ”  ที่ทำมาเองมาจากบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ให้ไปรับคืนหลังกิจกรรม นอกนั้นยังพบว่า มีการห้ามนำป้ายข้อความอีกหลายข้อความเข้าไปในงาน อาทิเช่น “กูวิ่งไล่ควาย” “วิ่งไล่เหี้ย” “เชียร์วิ่งไล่ลุง” เป็นต้น

(ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟ กรุงเทพฯ ซึ่งแต่งกายชุดมาสคอต 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวเข้าไปคุยภายในศูนย์กีฬาฯ และถูกยึดป้ายข้อความ “power up” และ “free hug กอดไล่ลุง”)

ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้าวันวิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยกับผู้จัดวิ่ง ขอไม่ให้ใส่เสื้อ “วิ่งไล่ลุง” ที่ทางผู้จัดทำขึ้น โดยอ้างเรื่องคำว่า “ไล่ลุง” มีความคลุมเครือว่าหมายถึงไล่ใคร แต่คนจัดยืนยันจะใส่ต่อไป ถ้ามีความผิด ก็ขอให้ตำรวจจับกุม  เช่นเดียวกับที่จังหวัดพะเยา แม้ผู้จัดจะยกเลิกกิจกรรม แต่ยังมีประชาชนราว 20-30 คนออกไปวิ่งตามกำหนดเดิม โดยนักวิ่งที่สวมใส่เสื้อวิ่งไล่ลุง กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามและพยายามพูดคุยขอให้เปลี่ยนเสื้อดังกล่าว

ที่จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากทางตำรวจจะมีการออกเงื่อนไขการชุมนุม เรื่องการห้ามใช้คำว่า “ลุง” ในกิจกรรมแล้ว ระหว่างกิจกรรมวิ่ง ตำรวจยังพยายามห้ามไม่ให้คนที่ใส่เสื้อเขียนว่า “วิ่งไล่ลุง” หรือเสื้อสีส้มเข้าภายในงาน และยังมีการประกาศห้ามประชาชนใส่เสื้อผ้าที่มีความหมิ่นเหม่มาวิ่ง อ้างว่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ และหากใครใส่มา ขอให้ไปเปลี่ยนเสื้อที่รถตู้ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้

นอกจากการปิดกั้นไม่ให้สวมใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงขณะวิ่งแล้ว กระทั่งจัดทำเสื้อในหลายพื้นที่ก็ถูกติดตามปิดกั้น โดยพบว่าบางจังหวัด เจ้าหน้าที่มีการเข้ากดดันร้านรับสกรีนเสื้อ เพื่อไม่ให้รับงานทำเสื้อสกรีนวิ่งไล่ลุง ทำให้เจ้าของธุรกิจที่ไม่อยากมีปัญหา ต้องยุติการรับทำเสื้อดังกล่าวด้วย

 (เสื้อสีขาวที่ตำรวจซื้อมาให้ประชาชนสวมใส่แทนเสื้อวิ่งไล่ลุง ที่ จ.ภูเก็ต)

ที่จังหวัดภูเก็ต มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าพูดคุยกับร้านค้าที่รับสกรีนเสื้อวิ่ง และมีการสั่งห้ามไม่ให้ทำงานนี้ ทำให้ทางผู้จัดต้องยกเลิกการทำเสื้อ เพื่อไม่ให้ทางร้านได้รับผลกระทบ  เมื่อถึงเวลาวิ่ง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ใส่เสื้อสกรีน “วิ่งไล่ลุง” ยังถูกเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยขอให้เปลี่ยนเสื้อ โดยหากใครไม่มีเสื้อเปลี่ยน ทางตำรวจจะนำเสื้อมาให้เอง ทำให้ในการวิ่งที่จังหวัดภูเก็ต ผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่มีใครสามารถใส่เสื้อวิ่งไล่ลุงได้  เช่นเดียวกับที่ยโสธร มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปกดดันร้านสกรีนเสื้อไม่ให้รับทำเสื้อกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเช่นกัน

การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ราวกับทำให้เสื้อ “วิ่งไล่ลุง” และคำว่า “ลุง” กลายเป็นวัตถุและถ้อยคำต้องห้ามไป โดยไม่ได้มีกฎหมายใดๆ กำหนดไว้เช่นนั้นเลย

 

การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม และระบบอำนาจนิยมที่ยังคงอยู่

จากภาพรวมของสถานการณ์ภาพรวมดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามปิดกั้น คุกคาม แทรกแซงกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ ได้ส่งผลทำให้การออกวิ่งทำได้ยากขึ้น และจำนวนผู้เข้าร่วมในแต่ละพื้นที่ลดน้อยลง ภายใต้ข้อจำกัดของทั้งการปิดกั้นพื้นที่ทำกิจกรรมให้หดแคบลง หรือการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ว่าการออกมาวิ่งอาจเป็นความผิด หรืออาจถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ที่อยากออกมาร่วมกิจกรรมบางส่วนตัดสินใจที่จะไม่ออกมา

การใช้อำนาจรัฐที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็นการปิดกั้นการออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้ง และคณะรัฐประหาร อย่าง คสช. จะยุติบทบาทไปแล้วก็ตาม

แม้เครื่องมือต่างๆ ของรัฐอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ไม่มีคำสั่งคณะรัฐประหารในการห้ามชุมนุมทางการเมือง หรือบทบาทการข่มขู่คุกคามที่เห็นเด่นชัดไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแทนเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ปรากฏการณ์อย่างการบุกไปพบถึงบ้าน การเรียกตัวมาพูดคุย การกล่าวอ้างเรื่องความมั่นคงในการเข้าควบคุมการแสดงออกทางการเมือง การควบคุมแทรกแซงการชุมนุม การปิดกั้นพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นต้น ก็ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงการดำรงอยู่ของการใช้อำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมที่สืบเนื่องต่อมาจากยุคของ คสช. ต่อไป

 

X