อัยการฟ้อง “ธนวัฒน์” คดีจัดวิ่งไล่ลุง ข้อหาไม่แจ้งชุมนุม แม้ยืนยันเป็นกิจกรรมกีฬา

12 พ.ย. 63 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดของนายอิทธิเสฏฐ์ อุไรวรณ์ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ในคดีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนวชิรเบญจทัศ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ก่อนพนักงานอัยการจะได้ยื่นฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

คำฟ้องของอัยการระบุสั้นๆ ว่าเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 จำเลยได้เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยจัดงานใช้ชื่อ “วิ่งไล่ลุง” และกล่าวข้อความบนเวทีเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลต่อผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป โดยมีลักษณะเป็นการชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะ อันไม่ใช่ลักษณะการชุมนุมเพื่อจัดงานกีฬา โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

คดีนี้พนักงานอัยการยังต้องขออนุญาตฟ้องจากอัยการสูงสุด หลังคดีขาดผัดฟ้อง โดยนายสนทรรศ สิงหพัศ รองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ได้มีหนังสืออนุญาตให้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63

หลังการยื่นฟ้อง ธนวัฒน์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลได้ให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกัน พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 17 ธ.ค. 63 เวลา 9.00 น.

 

 

สำหรับกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) จัดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ” แต่หลังกิจกรรมพบว่ามีการดำเนินคดีในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 16 คดี โดยแยกเป็นข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 14 คดี

ในส่วนกิจกรรมวิ่งไล่ลุงหลักที่สวนวชิรเบญจทัศ พนักงานสอบสวนสน.บางซื่อได้มีการออกหมายเรียกธนวัฒน์ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 63 ในฐานะที่เขาเป็นผู้ประสานงานการจัดกิจกรรมดังกล่าว ธนวัฒน์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ยืนยันว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมการกีฬา ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3 (3)

ขณะที่ผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือพ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผกก.สน.บางซื่อ ผู้กล่าวหา เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่กิจกรรมกีฬาเพื่อการกุศล แต่เป็นการจัดการชุมนุมทางการเมือง โดยแอบแฝงด้วยการทำกิจกรรมดังกล่าว และเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ

ทั้งนี้ ตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (5) กำหนดอายุความของคดีไว้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ทำให้การฟ้องคดีในวันนี้เกิดขึ้นก่อนคดีจะหมดอายุความเป็นเวลา 2 เดือน

 

อ่านภาพรวมคดีและการปิดกั้นจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุง

ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

ความคิดและความใฝ่ฝันของ “บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย” คนรุ่นใหม่ที่ต้องพยายามเติบโตในยุคเผด็จการ

 

X