ถูกปรับแล้ว 2 รายในภาคอีสาน หลังรับว่าเป็นผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” อีก 2 ยืนยันสู้คดี

 

หลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เพียง 2 วัน ในภาคอีสานมีคนถูกตำรวจเรียกไปเพื่อดำเนินคดีข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมแล้ว 4 ราย ใน 4 จังหวัด เสียค่าปรับแล้ว 2 อีก 2 ยืนยันไม่ใข่การชุมนุม

13 ม.ค.63  หลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่สวนสาธารณะ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีประชาชนใส่เสื้อยืด “วิ่งไล่ลุง” มาวิ่งออกกำลังกาย  พร้อมๆ กับกลุ่มที่ใส่เสื้อ “ลุงตู่สู้” โดยกลุ่มหลังมีการตะโกนโห่ใส่กลุ่มแรกเป็นระยะ แต่กิจกรรมก็จบลงด้วยดี ผ่านไปเพียงข้ามคืน อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งไปร่วมวิ่ง และไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก “คุณอิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส” ก็ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรสตึก

อิสรีย์กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ตำรวจจะออกเป็นหมายเรียก ได้โทรศัพท์มาบอกให้ไปเสียค่าปรับ เนื่องจากชุมนุมโดยไม่แจ้ง ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อิสรีย์ยืนยันกับตำรวจว่า ไม่ได้ทำผิดและไม่ไปเสียค่าปรับ อิสรีย์ยังกล่าวอีกว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด พร้อมทั้งยืนยันอีกว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันดังกล่าวก็เหมือนกับกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพทั่วไป  ทั้งนี้ ก่อนหน้ากิจกรรม อิสรีย์ก็ถูกคุกคามหลายครั้ง โดยตำรวจทั้งโทรศัพท์ และไปพบเธอถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งเธอก็ยืนยันเสมอมาว่า จะไปร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดแต่อย่างใด

ส่วนที่ จ.ยโสธร อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ ชัยวัฒน์ สายสีแก้ว ถูกตำรวจ สภ.เมืองยโสธร โทรศัพท์เรียกให้ไปพบ บอกเพียงว่า มีเรื่องจะคุยด้วย แต่เมื่อชัยวัฒน์เข้าไปพบตำรวจในช่วงบ่าย ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนสาธารณะพญาแถนในเย็นวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ไม่ได้ส่งหมายเรียกให้ก่อนแต่อย่างใด นายชัยวัฒน์ ซึ่งไปพบตำรวจโดยมีเยาวชนเพียง 1 คน ไปเป็นเพื่อน ถูกตำรวจเจรจาแกมข่มขู่ให้รับสารภาพ และเสียค่าปรับเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป จึงให้การรับสารภาพ โดยพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 3,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ชัยวัฒน์เปิดเผยภายหลังออกมาจากสถานีตำรวจว่า แม้เขาจะยอมจ่ายค่าปรับ เนื่องจากเขามาพบตำรวจ โดยไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนว่าจะถูกดำเนินคดี อีกทั้งอยากให้เรื่องยุติโดยเร็ว แต่เขายังยืนยันว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุม เป็นเพียงกิจกรรมวิ่งออกกำลังกายทั่วไป ไม่มีการใช้เครื่องเสียงปราศรัย หลังการวิ่งยังช่วยกันเก็บขยะก่อนแยกย้ายกันกลับ ไม่เข้าใจว่าทำไมตำรวจมองว่า ผิด พ.ร.บ ชุมนุมฯ การที่เจ้าหน้าที่คุกคามประชาชน ทั้งก่อนหน้าวันจัดกิจกรรม รวมถึงการดำเนินคดี ทั้งที่เป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ทำให้เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ส่งเสริมการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

 

วันเดียวกันที่ จ.สุรินทร์ รองผู้กำกับการ สภ.เมืองสุรินทร์ ได้นำหมายเรียกไปให้ นายนิรันดร์ ลวดเงิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เพื่อให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ.เมืองสุรินทร์ ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 แต่ในการพูดคุยตำรวจได้เร่งรัดให้นายนิรันดร์เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ภายหลังเข้าพบตำรวจ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายนิรันดร์ว่า ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม โดยระบุว่า …หลังเสร็จการวิ่งในกิจกรรรม”วิ่งไล่ลุง” ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ในเย็นวันที่ 12 ม.ค. 63 นายนิรันดร์ได้เชิญชวนให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมและประชาชนทั่วไปกล่าวคำว่า “ประยุทธ์ ออกไปๆๆ ไชโยๆๆ” อันมีลักษณะเป็นการชุมนุมสาธารณะ โดยนายนิรันดร์มีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม อันถือได้ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้น… จากการพูดคุยโดยพนักงานสอบสวนระบุว่า จะเปรียบเทียบปรับเพียง 500 บาท นายนิรันดร์จึงยอมรับสารภาพ และจ่ายค่าปรับ ก่อนเดินทางกลับ

แต่แล้วพนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์ให้นายนิรันดร์กลับไปพบอีกครั้ง ระบุว่า ผกก.สภ.เมืองสุรินทร์ ตำหนิว่าปรับน้อยเกินไป จึงเปรียบเทียบปรับใหม่เป็นเงินถึง 5,000 บาท

 

และวันนี้ (14 ม.ค. 63) ที่ จ.นครพนม นายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อรับหมายเรียกผู้ต้องหา ตามที่ตำรวจนัดหมาย โดยนายพิศาลเปิดเผยว่า หลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช เมื่อเช้าวันอาทิตย์ ยุติลง ตำรวจได้ติดตามมาพบตนที่บ้านและเชิญไปที่ สภ.เมืองนครพนม โดยระบุว่า จะแจ้งข้อกล่าวหาเขาว่า ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุม และเจรจาให้เขาจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท เพื่อให้คดียุติ แต่นายพิศาลยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจจึงนัดหมายให้เขามาพบในวันนี้ โดยระบุว่า จะออกเป็นหมายเรียกให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา

แต่เมื่อเขามาพบตำรวจในวันนี้ ไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียก อีกทั้งตำรวจยังได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และพยายามเจรจาให้เขารับสารภาพ พร้อมทั้งจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท เช่นเดิม เขาจึงไม่ลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาดังกล่าว และยืนยันให้ตำรวจออกหมายเรียกมาให้ถูกต้อง  โดยเขาพร้อมที่จะสู้คดี

นายพิศาลยืนยันว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการออกกำลังกายเหมือนกิจกรรมกีฬาทั่วไป การจัดกิจกรรมแล้วมีประชาชนถูกดำเนินคดี สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่เสรีภาพดังกล่าวถูกคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่แค่ตนที่ถูกคุกคามก่อนจัดกิจกรรมและยังถูกดำเนินคดี ยังมีอีกหลายคนที่ถูกกระทำในลักษณะเดียวกัน เขาจึงเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จึงไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป (อ่านเพิ่มเติม การคุกคามก่อนการจัดกิจกรรมที่ แค่คิดจะวิ่ง แต่สถานการณ์ (คุกคาม) ไม่นิ่งอย่างที่คิด: ประมวลสถานการณ์ “วิ่งไล่ลุง” ในอีสาน)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีภายหลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และกระบวนการของตำรวจ ดังนี้

  1. บางกรณีตำรวจใช้วิธีโทรศัพท์เรียกให้บุคคลที่ตำรวจคิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม เข้าไปพบและแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ออกเป็นหมายเรียกตามกระบวนการ ทำให้ผู้ถูกเรียกไม่ทราบล่วงหน้าว่า ตนเองจะถูกดำเนินคดี จึงไม่ได้ติดต่อทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจให้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ด้วย
  2. แม้ในกรณีที่มีการออกหมายเรียก พนักงานสอบสวนก็เร่งรัดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหมายเรียก ทำให้ผู้ถูกออกหมายเรียกไม่สามารถจัดหาทนายความเพื่อเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาได้ทัน
  3. ในสถานการณ์ที่ไม่มีทนายความหรือผู้ที่ไว้ใจเข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยเหตุดังที่กล่าวมา จึงทำให้ผู้ถูกเรียกมีความกดดัน กังวล และหวาดกลัว พนักงานสอบสวนมีการพูดจาหว่านล้อม รวมทั้งบางกรณีมีการข่มขู่ ให้รับสารภาพ และเสียค่าปรับ เพื่อให้คดียุติโดยเร็ว โดยจูงใจด้วยค่าปรับต่ำๆโดยไม่ได้แจ้งสิทธิในการปรึกษาทนายความหรือสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความฯ มีข้อแนะนำต่อผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวดังนี้

  1. กรณีที่ไม่ได้มีการจับกุม ควบคุมตัวขณะทำกิจกรรมวิ่ง เมื่อกิจกรรมได้ดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้ว กรณีดังกล่าวจะไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า  เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถควบคุมตัวได้โดยปราศจากหมายจับ อย่างไรก็ตามความผิดไม่แจ้งการชุมนุมนั้นมีเพียงโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทในทางปฏิบัติหากเจ้าหน้าที่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่อาจออกหมายเรียกให้มาพบได้ โดยในหมายจะระบุว่าให้ไปพบเจ้าหน้าที่คนใด วัน เวลาและสถานที่ใดฐานะใด(พยาน หรือผู้ต้องหา)
  2. การประสานงานทางโทรศัพท์นั้นเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ได้รับการประสานอาจจะไปพบหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด
  3. หากได้รับหมาย ไม่ว่าในฐานะใด หรือไม่ได้รับหมายแต่สมัครใจเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ ควรปรึกษาทนายความก่อน และสามารถนำบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจหรือทนายความเข้าร่วมกระบวนการได้ และหากไม่สะดวกในวันเวลาที่นัดหมายสามารถติดต่อประสานงานเพื่อเข้าพบในวันและเวลาที่ผู้ได้รับหมายสะดวกได้ (เจ้าหน้าที่อาจออกหมายเรียกครั้งที่สองได้ ซึ่งหากผู้ได้รับหมายไม่ไปพบเจ้าหน้าที่ครั้งที่สอง กรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้)
  4. อย่างไรก็ตามหากไปพบเจ้าหน้าที่แล้ว โดยที่มีหมายหรือไม่มีหมาย และพบว่าเจ้าหน้าที่จะทำการแจ้งข้อกล่าว หา ท่านยังมีสิทธิที่จะเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนและขอรับคำปรึกษา หรือมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนายความในภายหลังได้ ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจในสภาวะกดดัน การปรึกษาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจจะทำให้เราพิจารณาถึงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและปัจจัยอื่นๆได้ชัดเจนมากขึ้น พึงตระหนักว่าการตัดสินใจสุดท้ายยังคงเป็นของท่านเสมอ ( สามารถปรึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 096 7893173, 092 2713172 )
  5. กิจกรรมวิ่งไล่ลุง หากถูกจัดเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดเพียงแค่ผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 28 กำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีอัตราโทษจำคุกแต่อย่างใด ทั้งนี้ คดีที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยให้ความช่วยเหลือทางคดี ศาลจะสั่งปรับในอัตรา 1,000 , 2,000 , 3,000 บาท แล้วแต่คดี
X