ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ประชาชนจากหลายจังหวัดทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมาแสดงออก ภายใต้กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) ซึ่งริเริ่มโดยธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิต นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ ในนาม “คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ”

แม้งานแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรม  “วิ่งไล่ลุง” จะถูกปฏิเสธจากสถานที่จัดงานถึง 2 ครั้ง ทั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) และโรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ท้ายที่สุดผู้จัดก็ใช้พื้นที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการแถลงข่าวเปิดตัวงานดังกล่าว ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 หลังจากนั้น ตลอดเดือนธันวาคมจนถึงก่อนหน้าวันวิ่ง ก็ได้มีการประกาศจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จากนักกิจกรรมและประชาชนในอีกหลายพื้นที่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นงานใหญ่ครั้งหนึ่ง ระดับที่มีการจัดกิจกรรมนี้ในพื้นที่อย่างน้อย 39 จังหวัด บางจังหวัดก็มีการออกวิ่งจากหลายจุด

การจัดงานวิ่งในแทบทุกจังหวัดต้องเผชิญกับปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรม ไม่แตกต่างไปจากการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังดำรงอยู่ แม้แนวโน้มโดยรวมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจะสามารถจัดขึ้นได้ในแทบทุกจังหวัด แต่ก็ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิในลักษณะต่างๆ อาทิ ปัญหาการข่มขู่ คุกคาม ติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ, การใช้กฎหมายเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะเข้ามาควบคุมปิดกั้น, การกดดันแทรกแซงกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่ได้จัดกิจกรรม ก็กลับมีการติดตามคุกคามประชาชนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อตรวจเช็คข้อมูลและพยายามไม่ให้มีการจัดวิ่งเกิดขึ้นได้อีกด้วย ทำให้กิจกรรมในแต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ขนาดกิจกรรมเล็กลง พื้นที่ในการจัดกิจกรรมจำกัดลง หรือการแสดงออกต่างๆ ไม่สามารถกระทำได้ (อ่านประมวลกิจกรรมวิ่งไล่ลุง)

ภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีการดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” ในหลายพื้นที่ โดยจากการรวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 12 มี.ค. 63 มีจำนวนอย่างน้อย 16 คดี

  • 14 คดี ถูกแจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10  แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดี 18 ราย โดยที่จังหวัดเชียงรายมีผู้ถูกดำเนินคดีพร้อมกัน 5 รายในข้อหานี้
  • 3 แห่ง มีการแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 (จังหวัดกาฬสินธุ์, แพร่ และตรัง)
  • 1 แห่ง แจ้งข้อหาใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 148 (จังหวัดกาฬสินธุ์)
  • ที่นครสวรรค์ ตำรวจยังแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108 ร่วมด้วย

ทั้งนี้ ข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก เช่นเดียวกับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งปรับไม่เกิน 200 บาท และข้อหาใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งปรับไม่เกิน 500 บาท ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพ เนื่องจากไม่ต้องการเป็นคดีความยืดเยื้อ

แต่ในจำนวนนี้ก็ยังมีอีก 8 คดี รวมจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี 12 คน ที่ยังยืนยันต่อสู้คดี เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมการกีฬา ซึ่งได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม รวมทั้งบางคนยืนยันว่าเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด

คดีที่ผู้ต้องหายืนยันการต่อสู้คดีเหล่านี้ กำลังทยอยถูกส่งฟ้องสู่ชั้นศาล จึงต้องจับตาแนวทางการพิจารณาของศาลในประเด็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงต่อไป

หลังกิจกรรมจบไปแล้วเกือบ 1 ปี ทั้ง 16 คดี มีความเคลื่อนไหวดังนี้ (คลิกชื่อจังหวัดเพื่อดูรายละเอียดและความคืบหน้าของคดี โดยเฉพาะ สีส้ม ซึ่งเป็นคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย)

**มีการปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 23 ธ.ค. 2563

 

รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63
ลำดับที่จังหวัดชื่อ-สกุลข้อหาสถานีตำรวจการต่อสู้คดีสถานะคดี
ภาคกลาง
1.กรุงเทพฯนายธนวัฒน์ วงค์ไชยไม่แจ้งการชุมนุมสน.บางซื่อปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น (สืบพยาน 21-23 เม.ย. 64)
2.นนทบุรีนางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ไม่แจ้งการชุมนุมสภ.รัตนาธิเบศร์ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ 3,000 บาท อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
3.นครสวรรค์นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดีไม่แจ้งการชุมนุม, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน, ทำให้เดือดร้อนรำคาญ, กีดขวางการจราจรสภ.เมืองนครสวรรค์ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น (นัดสอบคำให้การ 2 ก.พ. 64)
4.กรุงเทพฯ (เขตบางขุนเทียน)นายวิเชียร กันทาทรัพย์ไม่แจ้งการชุมนุมสน. ท่าข้ามรับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท/คดีสิ้นสุด
(ยังไม่เป็นคดี)สมุทรปราการนางวิภา มัจฉาชาติสภ.สมุทรปราการได้รับหมายเรียกเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน
นายเซีย จำปาทอง
ภาคเหนือ
5.พิษณุโลกนายวรชิต กาญจนกำเนิดไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองพิษณุโลกรับสารภาพ ตำรวจเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท/คดีสิ้นสุด
6.ลำพูนนายสุรชัย ซาวบุญตันไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองลำพูนรับสารภาพศาลจังหวัดลำพูนพิพากษาปรับ 400 บาท ลดครึ่งเหลือปรับ 200 บาท/คดีสิ้นสุด
7.เชียงรายนายเอกรัฐ มัชฌิมาไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองเชียงรายปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีชั้นสอบสวน (ฟังคำสั่งอัยการ 5 ม.ค. 64)
8.นางสาวนรินนิราน์ แสงขาม
9.นายกฤตตฤณ สุขบริบูรณ์
10.นายภัทรกฤต ดวงสนิท
11.นายนิรุตติ์ แก้วกันทา
12.แพร่
ประเสริฐ หงวนสุวรรณ
ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตรับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับ200 บาท/คดีสิ้นสุด
ภาคอีสาน
13.บุรีรัมย์น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาสไม่แจ้งการชุมนุมสภ.สตึกปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขัด รธน.)ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น (สืบพยาน 4 มี.ค. 64)
14.นครพนมนายพิศาล บุพศิริไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองนครพนมปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)ศาลชั้นต้น (นัดฟังคำพิพากษา 17 มี.ค. 64)
15.สุรินทร์นายนิรันดร์ ลวดเงินไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองสุรินทร์รับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท/คดีสิ้นสุด
16.ยโสธรนายชัยวัฒน์ สายสีแก้วไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองยโสธรรับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับ 3,000 บาท/คดีสิ้นสุด
17.กาฬสินธุ์นายปิยรัฐ จงเทพใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต , ใช้ผิวจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาตสภ.เมืองกาฬสินธุ์รับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับ 700 บาท/คดีสิ้นสุด
 กาฬสินธุ์นายปิยรัฐ จงเทพไม่แจ้งการชุมนุมสภ.เมืองกาฬสินธุ์ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น (สืบพยาน 19-21 ม.ค. 64)
ภาคใต้
18.พังงานายประเสริฐ กาหรีมการไม่แจ้งการชุมนุมสภ.ตะกั่วป่าปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี (ยื่นศาล รธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)ศาลชั้นต้น (จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาล รธน.ก่อน)
19.ตรังนายรัฐประชา พุฒนวลไม่แจ้งการชุมนุม, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตสภ.เมืองตรังรับสารภาพตำรวจเปรียบเทียบปรับข้อหาไม่แจ้งชุมนุม 4,000 บาท, ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงฯ 200 บาท/คดีสิ้นสุด


.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีวิ่งไล่ลุง

วิ่งไล่ลุงทำได้ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”
ผู้จัดวิ่งไล่ลุงลำพูน ถูกตร.เรียกไปแจ้งข้อหาไม่แจ้งชุมนุม ก่อนถูกส่งศาลลงโทษปรับ 400 บาท
ผู้จัดวิ่งไล่ลุงพิษณุโลก ถูกปรับไม่แจ้งชุมนุม 2 พัน เจ้าตัวยันไม่เคยเห็นว่าเป็นความผิด
การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

ถูกปรับแล้ว 2 รายในภาคอีสาน หลังรับว่าเป็นผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” อีก 2 ยืนยันสู้คดี

 

X