ผู้จัดวิ่งไล่ลุงลำพูน ถูกตร.เรียกไปแจ้งข้อหาไม่แจ้งชุมนุม ก่อนถูกส่งศาลลงโทษปรับ 400 บาท

จากกรณีภายหลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ผู้จัดในหลายจังหวัดได้ถูกตำรวจติดต่อเรียก หรือออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 17 ราย ใน 13 จังหวัด โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีและถูกศาลลงโทษปรับจำนวน 1 ราย

นายสุรชัย ซาวบุญตัน ชาวจังหวัดลำพูน อดีตวิศวกรผู้หันมาประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ ได้เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าก่อนหน้าวันที่ 12 ม.ค. 63 เขากับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ได้ริเริ่มอยากจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เนื่องจากไม่เห็นมีการจัดกิจกรรมนี้ในจังหวัดลำพูน จึงได้ชักชวนบอกต่อๆ กันในหมู่คนรู้จัก โดยไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ เป็นเพียงการชักชวนกันในหมู่เพื่อนๆ เท่านั้น ว่าจะออกมาวิ่งจากสนามกีฬากลางจังหวัดลำพูน ไปตามถนนในตัวเมืองลำพูน ก่อนวนกลับมาที่สนามกีฬา ระยะทางราว 3.5 กิโลเมตร

นายสุรชัยได้เป็นผู้ไปจัดทำ BIB หรือป้ายวิ่งสำหรับติดเสื้อ โดยการนำภาพตัวการ์ตูนของ “ไข่แมว” ซึ่งใช้เป็นโลโก้ของกิจกรรมวิ่งไล่ลุง มาสกรีนใส่ผืนผ้าขนาดเล็ก และใส่ข้อความเพิ่มไปว่า “12 มกราคม 2563 จังหวัดลำพูน” เพื่อใช้แจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมวิ่ง รวมทั้งมีเพื่อนอาสาช่วยนำน้ำดื่มมาแจกจ่ายสำหรับนักวิ่งด้วย

ภาพกิจกรรมวิ่งไล่ลุงลำพูน และการเข้าติดตามกิจกรรมก่อนออกวิ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หากต่อมา การทำกิจกรรมนี้ทราบข่าวไปถึงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทำให้ในช่วงเช้ามืดวันที่ 12 ม.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 7-8 นาย นำโดยรองผู้กำกับฝ่ายปราบปรามของสภ.เมืองลำพูน เข้ามาพูดคุยกับสุรชัยและเพื่อนที่สนามกีฬากลางจังหวัดลำพูนก่อนออกวิ่ง โดยทางตำรวจได้สอบถามข้อมูลว่าใครเป็นผู้จัด สอบถามถึงเส้นทางวิ่ง และสอบถามว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ พร้อมเตือนว่าอาจจะเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ได้มีการห้ามทำกิจกรรม

ทางผู้เข้าร่วมในจังหวัดลำพูนราว 20 คน จึงออกวิ่งร่วมกันได้ โดยไม่ได้มีป้ายข้อความ หรือสัญลักษณ์ทางการเมืองใดในการวิ่ง นอกจากมีการนำธงชาติมาถือระหว่างวิ่ง และมี BIB ที่มีข้อความ “วิ่งไล่ลุง” ติดบนเสื้อผู้เข้าร่วม ทั้งทางเจ้าหน้าที่ยังให้ตำรวจจราจรมาช่วยดูแลกิจกรรมบริเวณทางแยกใหญ่ๆ ที่นักวิ่งวิ่งผ่านด้วย หลังเสร็จสิ้นการวิ่ง ก็ไม่ได้มีการปราศรัยหรือกล่าวถึงเนื้อหาทางการเมืองใด มีเพียงการถ่ายรูปร่วมกันแล้วแยกย้ายกันกลับ

ต่อมาในวันที่ 22 ม.ค. 63 พ.ต.ท.สุระศักดิ์ ขันแก้ว รองผู้กำกับสอบสวนของสภ.เมืองลำพูน ได้โทรศัพท์มาหาสุรชัย โดยระบุว่าอยากให้เขาเข้ามาให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ

วันที่ 23 ม.ค. 63 นายสุรชัยจึงเดินทางไปที่สภ.เมืองลำพูนเพียงลำพัง ก่อนที่จะพบกับพ.ต.ท.สุระศักดิ์ และพนักงานสอบสวน ปรากฏว่าทางตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาเขาเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยตำรวจระบุว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเข้าข่ายเป็นการชุมนุม แต่นายสุรชัยซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมนั้น ไม่ได้แจ้งล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่

สุรชัยจำได้ว่าตำรวจไม่ได้มีการแจ้งสิทธิกับเขา ทั้งเรื่องสิทธิในการมีทนายความ หรือสิทธิในการมีผู้ไว้ใจร่วมในการสอบสวนด้วย เขาจึงไม่ได้มีการติดต่อใครให้มาร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ต่อมา เขาพบว่าตำรวจมีการพิมพ์เรื่องสิทธิเหล่านี้เอาไว้ในบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีด้วย

สุรชัยได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ว่าเขาเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในจังหวัดลำพูนจริง ทางตำรวจยังมีการนำภาพและข้อความในเฟซบุ๊กของเขา ที่โพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงมาให้ดูเป็นหลักฐานด้วย และได้มีการแนะนำว่าถ้าฟ้องคดีไปในชั้นศาล จะถูกปรับไม่มากนัก หากให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ จะต้องปรับเต็มจำนวนของโทษ คือปรับ 1 หมื่นบาท ทางนายสุรชัยจึงยินยอมให้ทางตำรวจทำสำนวนส่งฟ้องศาล

ต่อมาวันที่ 24 ม.ค. 63 พนักงานสอบสวนได้นัดหมายนายสุรชัยไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำพูน เพื่อส่งสำนวนคดีให้อัยการ เมื่อทางอัยการได้พิจารณาสำนวน ได้สอบถามพบว่าทางผู้ต้องหาไม่มีทนายความและให้ปากคำเพียงลำพัง จึงได้ส่งเรื่องกลับมาให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบปากคำใหม่ ซึ่งนายสุรชัยก็ได้ไปว่าจ้างทนายความที่รู้จักกันเพื่อมาช่วยเหลือคดี

ป้ายวิ่งสำหรับติดเสื้อในกิจกรรมวิ่งไล่ลุงของจังหวัดลำพูน

ในวันที่ 25 ม.ค. 63 สุรชัยพร้อมกับทนายความได้เดินทางไปพบกับพนักงานสอบสวนอีกครั้ง โดยหลังจากปรึกษาทนายความ เขาคิดว่าน่าจะต่อสู้คดีได้ จึงกลับคำให้การเดิมเป็นปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ทางตำรวจได้ระบุว่าถ้าปฏิเสธข้อกล่าวหา อาจจะต้องเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงคนอื่นๆ มาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วย ทำให้สุรชัยเกิดความลังเลกับการต่อสู้คดี เพราะไม่อยากให้คนอื่นๆ เดือดร้อนและเสียเวลา

จนวันที่ 27 ม.ค. 63 เมื่อทางตำรวจนัดส่งสำนวนคดีให้กับอัยการ สุรชัยได้ขอกลับคำให้การอีกครั้งเป็นยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทางตำรวจและอัยการจึงมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดลำพูน

ในวันเดียวกันนั้น ศาลได้รับฟ้องคดีไว้และดำเนินการถามคำให้การในห้องพิจารณา เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงได้พิพากษาคดีทันที โดยให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้ลงโทษปรับ 400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 200 บาท ซึ่งเขาก็ได้ชำระค่าปรับ และคดีสิ้นสุดลง

สุรชัยให้ข้อมูลด้วยว่าในช่วงระหว่างที่เขาถูกดำเนินคดีนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจากสภ.ป่าซาง 3 นาย เดินทางไปที่บ้านของเขา โดยพบกับแม่ของเขาที่อยู่ลำพัง และสอบถามแม่เรื่องการมาเป็นแกนนำจัดวิ่งไล่ลุงของเขา โดยตำรวจอ้างว่าเป็นการมาเยี่ยมเยือนประชาชน ทั้งที่เป็นการเจาะจงมาที่บ้านของสุรชัยโดยตรง ไม่ได้มีการไปเยี่ยมเยือนบ้านอื่นๆ อีก

สุรชัยระบุว่าเขารู้สึกเฉยๆ และไม่ได้หวาดกลัวจากการถูกดำเนินคดี แต่ก็มีความกังวลว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ ทำให้ในที่สุดจึงตัดสินใจรับสารภาพให้เรื่องจบที่ตัวเขาเอง นอกจากนั้นในช่วงระหว่างต้องไปสถานีตำรวจและศาลหลายวัน เขายังต้องฝากคนอื่นไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ทำให้ได้รับผลกระทบต่อครอบครัวระดับหนึ่ง และยังต้องเสียค่าจ้างทนายความเข้าช่วยเหลือคดีด้วย

นอกจากนั้น สุรชัยยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในคำฟ้องที่ศาลอ่านให้เขาฟัง ยังกล่าวถึงการที่เขาเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาร่วมทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เพื่อแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปจากการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งที่ในตลอดกิจกรรมวิ่งที่เกิดขึ้น และในโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุงของตัวเขา ก็ไม่ได้มีข้อความที่กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ในลักษณะดังกล่าวโดยตรงแต่อย่างใด

อ่านสถานการณ์การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนจากกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ได้ในรายงาน การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

 

X