วิ่งไล่ลุงทำได้ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

วิ่งไล่ลุงทำได้ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

วันที่ 12 มกราคม 2563 ประชาชนหลายกลุ่มได้พร้อมใจออกมาจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด รวมถึงในต่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าผู้จัดงานทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดกลับประสบความยากลำบากในการดำเนินการขอใช้สถานที่ ขอให้อำนวยความสะดวก ไปจนถึงถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม โดยข้อกล่าวอ้างหลักของเจ้าหน้าที่ที่นำมาใช้ กิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นการชุมนุมสาธารณะ เป็นกิจกรรมทางการเมือง จึงมีข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อไปนี้

1.วิ่งไล่ลุง ไม่ใช่การชุมนุม

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) กำหนดว่าการชุมนุมสาธารณะ จะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 อย่าง ดังนี้

1) จะต้องเป็นการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ
2) จะต้องเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป
3) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้น หากจัดกิจกรรมโดยขาดลักษณะข้อใดข้อหนึ่งไป เช่น จัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนตัวของบุคคล, จัดกิจกรรมวิ่งโดยไม่มีการเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง, จัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยบุคคลอื่นที่ไม่ได้ถูกนัดหมายมาก่อนไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ก็ไม่ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามคำนิยามที่กฎหมายกำหนด 

ทั้งนี้ กิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นมีการเปิดรับสมัครให้ลงทะเบียนอย่างชัดเจนบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมได้เช่นเดียวกับงานวิ่งทั่วไป ทำให้ไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว 

2.วิ่งไล่ลุงเป็นกีฬา ไม่อยู่ในบังคับพ.ร.บ.ชุมนุม

วิ่งไล่ลุง ถือเป็น กีฬา เหมือนกับกิจกรรมวิ่งอื่น ๆ ที่มีประเด็นการสื่อสารทางสังคม เช่น งานวิ่งรณรงค์ลดโลกร้อน วิ่งรณรงค์ต้านยาเสพติด วิ่งรณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว หรืองานวิ่งรณรงค์อื่น ๆ ซึ่งไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  เนื่องจาก มาตรา 3(3) กำหนดไม่ให้ใช้บังคับแก่การชุมนุมเพื่อกีฬา ดังนั้น เมื่อการวิ่งเป็นกีฬา เพียงแต่มีประเด็นสื่อสารกับสังคม เช่นเดียวกับงานวิ่งรณรงค์อื่น ๆ ตามความหมายดังกล่าว การวิ่งไล่ลุงจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้กับกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เพื่อให้แจ้งการชุมนุม หรือกำหนดเงื่อนไข หรือห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมได้

3.ไม่มีกฎหมายห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง

เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันจึงไม่มีกฎหมายฉบับใดห้ามประชาชนชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง หากเจ้าหน้าที่อ้างว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนก็ยังสามารถจัดกิจกรรมได้โดยชอบตามที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้

4. กฎหมายให้แจ้งการชุมนุมไม่ใช่ “ขออนุญาต”

กิจกรรมวิ่งไล่ลุง เป็นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ หากผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงต้องการจัดกิจกรรมในลักษณะการชุมนุม ก็จะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ตำรวจไม่มีอำนาจห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมและไม่มีอำนาจในการไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 กำหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง” ดังนั้นแล้ว กิจกรรมวิ่งไล่ลุง หากผู้จัดมีความประสงค์ต้องการจัดให้เป็นการชุมนุมสาธารณะย่อมสามารถทำได้ตามที่กฎหมายได้รับรองสิทธิเสรีภาพไว้ เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจห้ามจัดกิจกรรม และไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม เพียงแต่ว่าการจัดกิจกรรมนั้นจะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด

การแจ้งการชุมนุมสาธารณะนั้น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 กำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งการชุมนุมแล้ว ก็มีหน้าที่จะต้องส่งสรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะกลับมาให้ผู้แจ้งการชุมนุมทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง ไม่ใช่เรื่องการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ แต่เป็นเพียงการ “แจ้ง” เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมชุมนุมหรือห้ามไม่ให้จัดกิจกรรม ก็อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

5.ไม่แจ้งการชุมนุม “ผู้ชุมนุม” ไม่มีความผิด

กิจกรรมวิ่งไล่ลุง หากถูกจัดเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดเพียงแค่ผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 28 กำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีอัตราโทษจำคุกแต่อย่างใด ทั้งนี้ คดีที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยให้ความช่วยเหลือทางคดี ศาลจะสั่งปรับในอัตรา 1,000 , 2,000 , 3,000 บาท แล้วแต่คดี 

ส่วนผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมไม่มีความผิดด้วย ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ตามมาตรา 4 มาตรา 10 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

6.วิ่งบนถนนกีดขวางการจราจรไม่มีโทษจำคุก


หากสถานที่วิ่ง เป็นทางถนนสาธารณะ และกิจกรรมต้องมีการใช้พื้นที่ถนนดังกล่าว จำเป็นต้องมีการขออนุญาตการใช้พื้นผิวถนน ต่อเจ้าพนักงานจราจร ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522

กองบังคับการตำรวจจราจรมีการออกหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ผิวถนน โดยให้ยื่นคำขอก่อนวันที่มีการเดินแถวหรือขบวน ไม่น้อยกว่า 15 วัน (ดูเอกสารที่นี่)

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจราจรไม่อนุญาต ผู้ที่เดินแถว หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร มาตรา 148 กำหนดเป็นโทษปรับ ไว้ไม่เกิน 500 บาท เท่านั้น ไม่มีโทษจำคุก 

7. ไม่ได้รับอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ก็ไม่มีโทษจำคุก

1) ในเขตเทศบาล นายกเทศมนตรีถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
2) นอกเขตเทศบาล นายอำเภอหรือปลัดอำเภอประจำท้องที่ ถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
3) ในเขตกรุงเทพมหานคร หมายถึงสำนักงานเขตพื้นที่ ในพื้นที่ที่จะมีการใช้เครื่องขยายเสียงนั้น ๆ

การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาฯ กำหนดโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ไม่มีโทษจำคุก 

หากผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง  หรือประชาชนทั่วไป ประสบปัญหาการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการชุมนุมจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลหรือขอคำปรึกษาทางกฎหมายได้

ทางโทรศัพท์หมายเลข  096 7893173, 092 2713172
ทางอีเมล [email protected]
ทางเฟซบุ๊กเพจ“ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” https://www.facebook.com/lawyercenter2014/ หรือทวิตเตอร์ @tlhr2014

 

 

          

 

X