ประมวลสถานการณ์คุกคามสิทธิฯ “วิ่งไล่ลุง” ภาคกลาง

ตั้งแต่ 28 พ.ย. 62 หลังจากที่ บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย และคณะนักศึกษา ประกาศจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็มีการพยายามแทรกแซงและกีดกันการจัดกิจกรรมจากทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด (9 ม.ค.62) มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ใน 34 จังหวัด 39 จุด (บางจังหวัดมีหลายจุด) แบ่งเป็น
ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, พะเยา, แพร่, เชียงใหม่, ตาก และ พิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, มหาสารคาม,
กาฬสินธ์ุ, ร้อยเอ็ด, อุดรธานี, บุรีรัมย์, นครพนม, ยโสธร, สกลนคร และ บึงกาฬ
ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี, นครศรีธรรมราช, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี
ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, นครปฐม, นครนายก, ปทุมธานี, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, นครสวรรค์ และชลบุรี

โดยในพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ติดตามการแทรกแซงและกีดกันของเจ้าหน้าที่กรณีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ดังนี้

ในกรุงเทพฯ มีการกดดันสถานที่ไม่ให้จัดแถลงข่าวงานวิ่งไล่ลุงถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก คณะผู้จัดติดต่อจะจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม ก่อนสองวันก่อนจัดแถลงข่าว FCCT ออกแถลงการณ์เรื่องการยกเลิกการขอใช้สถานที่แถลงข่าวงานวิ่งไล่ลุง ว่า ทางสมาคมฯ ได้รับแรงกดดันจากตำรวจสน. ลุมพินี ให้ยกเลิกการใช้สถานที่

ครั้งที่ 2 คณะผู้จัดติดต่อขอให้สถานที่แถลงข่าวที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยในคืนก่อนวันแถลงข่าว ทางโรงแรมรัตนโกสินทร์แจ้งไปยังผู้จัดว่า ผู้มีอำนาจกดดันอย่างหนัก ไม่ให้ใช้สถานที่จัดแถลงข่าว โดยคณะผู้จัดก็ได้แจ้งว่า ตำรวจ สน.ชนะสงคราม มาเจรจากับทางโรงแรมรัตนโกสินทร์ไม่ให้ใช้สถานที่แถลงข่าวงานวิ่งไล่ลุง ท้ายที่สุด คณะผู้จัดจึงต้องเดินจากหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปจัด live แถลงข่าวที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แทน

ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดงานวิ่ง จนต้องเปลี่ยนไปวิ่งในสวน

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเพิกเฉยต่อการตอบกลับเอกสารแจ้งขอใช้สถานที่ของผู้จัด และลงเอยด้วยการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ จนคณะผู้จัดต้องยกเลิกเส้นทางเดิม 6 กม. ที่เริ่มต้นจากบริเวณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผ่านถนนพระอาทิตย์ และกลับมาสิ้นสุดที่เดิม เปลี่ยนเป็นจัดใน สวนรถไฟ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพิจารณาไม่อนุเคราะห์เรื่องการอำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมเข้าลักษณะการชุมนุม

  

ภาคกลาง มีจัดงานวิ่งไล่ลุง ใน 9 จังหวัด

ขณะเดียวกัน ก็มีคณะผู้จัดคณะอื่นที่ประกาศจัดงานตามต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน และก็มีการคุกคามในรูปแบบที่ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกันไป

อย่างในภาคกลาง จะมีการจัดงาน “วิ่งไล่ลุง” ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครสวรรค์ และชลบุรี โดยคณะผู้จัดแตกต่างกันออกไป และเป็นอิสระต่อกัน

ในภาคกลาง เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตาม มีคณะผู้จัด 3 จังหวัด ที่กรณีมีการแทรกแซงการจัดกิจกรรม ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ที่นำโดย ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่นครปฐม โดยในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ได้มีตำรวจในท้องที่ไป “สวัสดีปีใหม่” ที่บ้านของคุณพ่อ สส.อมรัตน์ ซึ่งเป็นอดีตกำนันเก่า และรู้จักกับตำรวจในพื้นที่อยู่แล้ว ตำรวจมาที่บ้าน 2 ครั้ง ครั้งแรกพูดคุยผ่านคุณพ่อในลักษณะที่ว่า “อย่าจัดวิ่งที่นครปฐมเลย เดี๋ยวเดือดร้อน” และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 3 ม.ค.62 นำกระเช้าปีใหม่มาอวยพร มาถามถึงเรื่องกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ว่าขอให้ไปจัดที่อื่น โดยมีตำรวจ มาด้วยรถตำรวจ ใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องแนะนำตัวเพราะรู้จักกันมาก่อน เป็นผู้กำกับ สภอ.เมืองนครปฐม และเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 5 คน

จังหวัดชลบุรี พัทยา จัดที่สามแยกพัทยากลาง-ถนนเลียบชายทะเลเมืองพัทยา-ลานกิจกรรมแหลมบาลีฮายเวลา 16.00 – 18.00 น. กิจกรรมจัดโดยภาคประชาชน​ นักศึกษา​ และคนหนุ่มสาวในจังหวัดชลบุรี​ แจ้งชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ​ฯ ต่อสภ.เมืองพัทยาโดยมี อนุรักษ์ เจนตะวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) เป็นผู้ตัวแทนผู้จัดแจ้งการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 62

สภ.ทำหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมในวันเดียวกัน ห้ามปราศรัยโจมตีสถาบันและผู้อื่น, ห้ามแสดงป้ายสัญลักษณ์, ห้ามปิดบังใบหน้า, ให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางและรูปแบบกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว, ทบทวนวัตถุประสงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ

วันที่ 7 ม.ค. 63​ สภ.เมืองพัทยาได้ตอบรับการจัดกิจกรรม​วิ่งไล่​ลุงพัทยาในวันที่​ 12​ ม.ค.แล้ว​ และเชิญฟอร์ดซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มไปประชุมเพื่อซักซ้อมความพร้อมในการจัดกิจกรรม​ในวันพฤหัสบ​ดีที่​ 9​ ม.ค. ​ที่สภ.เมืองพัทยา​ เวลา​ 13.30​ น.​

จังหวัดปทุมธานี ผู้จัดได้ทำหนังสือแจ้งการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 ต่อ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และเจ้าที่ตำรวจได้มีหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ และวันที่ 8 ม.ค. 63 ตำรวจมีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ โดยแจ้งว่าเป็นการชุมนุมที่อาจขัดต่อมาตรา 8 (การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่)

โดยภายในวันที่ 9 มกราคม ทีมงานจะทำเรื่องแก้ไขการชุมนุม เปลี่ยนสถานที่สิ้นสุดการวิ่ง เป็นที่อื่นแทนในภาคอื่นๆ ก็มีกรณีถูกคุกคามเช่นกัน อย่างกรณีที่จังหวัดพะเยา อุบลราชธานี

 

ไม่ใช่แค่ผู้จัดที่โดนกดดัน ผู้จะเข้าร่วมงานก็ถูกติดตาม

ไม่เพียงแต่จะมีการคุกคามหรือแทรกแซงผู้จัดงานเท่านั้น แต่ยังเลยไปถึง กลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดิมที่เจ้าหน้าที่จับตาอยู่ เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มีตำรวจไป “เยี่ยมบ้าน” กดดันไม่ให้ไปเข้าร่วมกิจกรรม และอ้างว่าจะเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรไปสอบถามว่าจะไปเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ โดยอ้างว่าเจ้านายให้โทรมาสอบถาม นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่ไม่มีการจัดงาน เช่น จังหวัดเพชรบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถ่ายรูป สส. พรรคอนาคตใหม่ และถามว่ามีการจัดงานหรือไม่

 

ในขณะเดียวกัน ที่กรุงเทพฯ ยังมีการจัด “วิ่งเชียร์ลุง” ในวันเดียวกัน ที่สวนลุมพินี ลงทะเบียน 6.30 เริ่มเดิน 9.00 น. มีการเตรียมเสื้อ หมวก เข็มกลัด แจกกว่า 5,000 ชิ้น พร้อมติด #รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ.

 

 

 

 

 

X