ข้อสังเกตทางกฎหมาย : กรณีผู้กำกับสภ.เมืองอุบลราชธานีไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะจากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง

ข้อสังเกตทางกฎหมาย : กรณีผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะจากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง คำสั่งดังกล่าวถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สืบเนื่องจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ได้ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะ เลขที่11/2563 ลงวันที่ 6 มกราคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า “พิจารณาคำร้องของผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ มีวัตถุประสงค์วิ่งเพื่อสุขภาพ และวิ่งเก็บขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการสืบสวนติดตามพฤติการณ์ชักชวนประชาชน “วิ่งไล่ลุง” อันหมายถึงการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งกับกล่มบุคคลที่มีความเห็นต่างสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและอาจจะไปสู่ความวุ่นวายยากต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย….จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมสาธารณะ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 กำหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง” การชุมนุมสาธารณะจึงเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรและกติการะหว่างประเทศ ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ถูกตราขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์ปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติว่า“สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี”การตีความและบังคับใช้กฎหมายจึงต้องตีความไปในทางที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการชุมนุม ไม่ได้กำหนดให้การชุมนุมจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยเหตุดังกล่าวพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงไม่มีมาตราใด เขียนไว้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้างว่าการชุมนุมสาธารณะ “อาจมีการกระทบกระทั่งกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและอาจจะไปสู่ความวุ่นวายยากต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย” ก็ไม่ถือเป็นเหตุผลตามกฎหมายที่จะอ้างไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมได้

ในทางกลับกันเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างนั้นตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการอำนวยความสะดวกความปลอดภัยแก่ประชาชน
ที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม และรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วไป อำนวยความสะดวกใน
การจราจร รวมทั้งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุมให้สามารถจัด
กิจกรรมขึ้นได้อย่างสะดวกและปลอดภัย กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อำนาจในการไม่อนุญาตให้ชุมนุมหรือ
กำหนดให้ออกคำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะแต่ประการใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเห็นว่า คำสั่งของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีที่ไม่อนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เพราะการชุมนุมสาธารณะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนที่ได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิเมืองทางการเมือง ข้อ 21 ประกอบกับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งว่าจะอนุญาตให้ชุมนุมสาธารณะหรือไม่

“คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีสภาพบังคับประชาชนสามารถชุมนุมสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”

X