แถลงการณ์ กรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุม P-Move

แถลงการณ์ กรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุม P-Move

จากกรณีที่ประชาชนในเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ซึ่งประสงค์จะเดินทางจากภาคเหนือไปร่วมการชุมนุม “ลดความเหลื่อมล้ำ คืนความเป็นธรรม ปกป้องชุมชน” กับประชาชนที่เดินทางมาจากภาคอื่น ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ถูกเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 40 นายสกัดกั้นการเดินทาง บางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปพูดคุย ณ ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ และบางส่วนถูกกักตัวไว้ตั้งแต่กลางคืนของวันที่ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเหตุเกิด ณ บริเวณด่านตรวจแม่ทา จังหวัดลำพูน และด่านตรวจใกล้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวพนักงานขับรถโดยสารคันที่ผู้ชุมนุมเดินทางมาโดยอ้างว่าจะนำตัวไปตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะพร้อมทั้งยึดกุญแจรถไว้เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมตัดสินใจค้างคืนในจุดที่ถูกกักตัวนั้น และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ทา ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อประชาชนผู้ถูกกักตัวว่าให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หากประสงค์จะรออยู่ ณ ด่านตรวจดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเวลาประมาณ 15.00 น.เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกลับอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 และกล่าวหาว่าการรวมตัวของประชาชนซึ่งเป็นผลจากการกักตัวของเจ้าหน้าที่เองละเมิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวและขัดต่อคำสั่งข้างต้น พร้อมทั้งใช้กำลังจับกุม นายสุแก้ว ฟูงฟู นายประยงค์ ดอกลำไย และนายรังสรรค์ แสนสองแคว ซึ่งเป็นนักพัฒนาเอกชนที่ร่วมเดินทางมากับประชาชนกลุ่มดังกล่าว และนำตัวไปควบคุมไว้ ณ ที่ทำการอำเภอแม่ทา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบังคับใช้กฎหมายโดยบิดเบือนต่อวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุม กล่าวคือ นำกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาควบคุมตัวพนักงานขับรถ เพื่อให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางไปชุมนุมยังทำเนียบรัฐบาล และบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ประชาชนต้องค้างคืนรอเพื่อขอทราบชะตากรรมของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้า ตลอดทั้งขอผ่อนผันตามมาตรา 10 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทั้งที่ในทางกฎหมายแล้ว การเดินทางของประชาชนโดยการใช้บริการรถและคนขับรถ ไม่ได้อยู่ในนิยามของการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด และการติดค้างอยู่บริเวณดังกล่าวก็เกิดจากปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 เพื่อจับกุมและควบคุมตัวนักพัฒนาสังคมทั้ง 3 คน ยิ่งทำให้เห็นว่าลักษณะการเขียนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกาย และความมั่นคงปลอดภัยของบุคคลอย่างชัดเจน เพราะพฤติการณ์ของประชาชนซึ่งมีแต่เพียงป้ายกระดาษและป้ายผ้าซึ่งมีข้อความรณรงค์ มิได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติซึ่งอยู่แนบท้ายคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด

ด้วยเหตุและผลข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐแสดงความผิดชอบต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจซึ่งทำหน้าที่สกัดกั้น กักตัว จับกุม และควบคุมตัวขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตร่างกายและความมั่นคงปลอดภัย ตลอดทั้งสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการรับรองว่าชอบด้วยกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการจับกุมควบคุมตัวให้สาธารณชนได้ทราบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบและให้คำมั่นว่ารัฐจะเคารพการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนโดยไม่กีดกันและอยู่บนฐานของการไม่เลือกปฏิบัติทุกประเภท

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

X