1 ปี “วิ่งไล่ลุง” กับ 8 คดีที่ยังไม่จบ และรอจับตาศาลรธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ครบรอบ 1 ปี การจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) กิจกรรมการวิ่งออกกำลังกายเพื่อส่งสารทางการเมือง ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค. 63
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายสิทธิฯ ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง อย่างน้อยใน 39 จังหวัด ในพื้นที่อย่างน้อย 49 จุด ในทุกภาคของประเทศ โดยบางจังหวัดมีการจัดในหลายจุดหรือหลายช่วงเวลา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่หลัก 10 คน ไปจนถึงหลายหมื่นคนอย่างกิจกรรมในกรุงเทพฯ
.
ท่ามกลางการปิดกั้นการจัดกิจกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จนภายหลังการวิ่งแล้วก็ตาม ตำรวจยังมีการดำเนินคดีกับผู้จัด และผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” เป็นจำนวนอย่างน้อย 16 คดี ในพื้นที่ต่างๆ
.
.
จำนวนนี้มี 14 คดี ที่ถูกแจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดี 18 ราย โดยหลังผ่านไป 1 ปี คดีความเหล่านั้นก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง
.
ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดี ครึ่งหนึ่งได้ให้การรับสารภาพ ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ หรือให้ปรับในชั้นศาล เพื่อให้คดีสิ้นสุด เนื่องจากไม่ต้องการเป็นภาระทางคดี โดยมีการปรับตั้งแต่ 400 บาท ไปจนถึง 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และศาลในแต่ละพื้นที่
.
ในขณะที่ยังมีอีก 8 คดี รวมจำนวนผู้ถูกกล่าวหา 12 คน ที่ยังยืนยันต่อสู้คดีต่อ เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นกิจกรรมการกีฬา ซึ่งได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม รวมทั้งบางคนยืนยันว่าเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด
.
ในจำนวน 8 คดี มีเพียงคดีวิ่งไล่ลุงนนทบุรี ซึ่งมีการต่อสู้คดี จนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ลงโทษปรับ 3,000 บาท โดยศาลเห็นว่าผู้ถูกดำเนินคดีเข้าข่ายเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากมีการพูดเชิญชวนผู้เข้าร่วมให้ทำกิจกรรมต่างๆ แต่คดีนี้ไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมาย ว่าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยกเว้นกับกิจกรรมกีฬาลักษณะนี้หรือไม่ และยังต้องติดตามว่าคดีนี้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ (ศูนย์ทนายสิทธิฯ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีนี้)
.
ในส่วนอีก 7 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุด ล้วนอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลชั้นต้นทั้งหมดแล้ว
.
1-2. คดีที่จังหวัดนครพนมและพังงา มีการสืบพยานไปจนเสร็จสิ้น แต่ผู้ถูกดำเนินคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 กรณีการกำหนดให้ผู้ที่เพียงเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นถือเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ต้องแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เป็นการเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่ ทำให้ในทั้งสองคดีนี้ ศาลได้ให้รอการพิพากษาไว้ชั่วคราว เพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
.
3. เช่นเดียวกับคดีที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันก่อนเริ่มการสืบพยาน ทำให้ทั้งสามคดีนี้ ศาลให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว โดยเบื้องต้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา
.
4. คดีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” เป็นผู้ถูกกล่าวหา อยู่ระหว่างรอการสืบพยานที่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันที่ 19-21 ม.ค. 64 แต่ยังต้องติดตามว่าจะมีการเลื่อนนัดหมายหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
.
5. คดีวิ่งไล่ลุงของกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิ่งมากที่สุด ก็ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี โดยผู้ดำเนินคดี ได้แก่ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย แกนนำผู้จัดกิจกรรม คดีนี้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือ และมีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 21-23 เม.ย. 64
.
.
6. คดีที่จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่งมีการสั่งฟ้องคดีในช่วงปลายปี 2563 ก่อนคดีหมดอายุความ (1 ปี) คดีนี้แตกต่างจากคดีจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากตำรวจมีการกล่าวหาผู้จัดกิจกรรมถึง 4 ข้อหา ได้แก่ ไม่แจ้งการชุมนุม, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน, ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และกีดขวางการจราจร โดยข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 วันด้วย คดีนี้ศาลแขวงนครสวรรค์นัดหมายตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 ก.พ. 64
.
7. คดีสุดท้ายที่อัยการเพิ่งมีการสั่งฟ้องเข้ามาเมื่อต้นปี 2564 นี้เอง ได้แก่ คดีวิ่งไล่ลุงเชียงราย ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ 5 ราย ซึ่งร่วมอ่านแถลงการณ์ก่อนการวิ่ง คดีนี้ถูกสั่งฟ้องต่อศาลแขวงเชียงรายก่อนจะหมดอายุความเพียง 1 สัปดาห์ โดยศาลนัดถามคำให้การต่อไปในวันที่ 7 เม.ย. 64
.
ในปี 2564 นี้ ชวนจับตากลุ่มคดีวิ่งไล่ลุงที่ยังค้างคาอยู่เหล่านี้ ทั้งในแง่ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นบางส่วนของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ว่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแนวทางคำวินิจฉัยของศาลต่างๆ ที่จะพิจารณาว่ากิจกรรมกีฬาครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่
.
.
.
อ่านภาพรวมสถานการณ์สิทธิเสรีภาพและคดีความในกิจกรรมวิ่งไล่ลุง
.
.
.
.
X