จำเลยวิ่งไล่ลุงยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขัด รธน.หรือไม่ เหตุแค่ชวนหรือนัดถือเป็นผู้จัด-ต้องแจ้งชุมนุม

11-12 มิ.ย. 2563 ศาลจังหวัดนครพนมนัดสืบพยานในคดี “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ฟ้องนายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 4, 10, 14, 28 

ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ และให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (เลื่อนไปอ่านคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยย่อด้านล่าง)

หลังเสร็จการสืบพยานในวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาใจความว่า ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่ใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ก.ย. 2563 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีนั้น จัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 06.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน ออกวิ่งจากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราชไปตามทางสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายเลียบริมแม่น้ำโขง โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายรูปกิจกรรมร่วมร้อยนาย ก่อนวิ่งมีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล แต่ขณะจะเริ่มวิ่ง ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้นำประกาศให้เลิกการชุมนุมภายใน 08.00 น. มาให้ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งชุมนุม ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ออกวิ่ง ถ่ายรูปร่วมกัน และแยกย้ายกันในเวลาก่อน 08.00 น.

ทั้งนี้ กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จัดขึ้นในอย่างน้อย 39 จังหวัด ทั่วประเทศ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ริเริ่มจัดที่กรุงเทพฯ โดยการรวมตัวกันของนิสิต นักศึกษา สถาบันต่างๆ  มีวัตถุประสงค์ให้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และเพื่อ “ต่อต้านตัวถ่วงความเจริญของประเทศ” แม้กิจกรรมจะสามารถจัดขึ้นได้ในแทบทุกจังหวัด แต่ก็ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิในลักษณะต่างๆ อาทิ ปัญหาการข่มขู่ คุกคาม ติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ, การใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เข้าควบคุมปิดกั้น รวมทั้งการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมในหลายพื้นที่รวมอย่างน้อย 16 คดี โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม 14 คดี ในจำนวนนี้มี 7 คดี ที่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว 3 คดี คดีของพิศาลเป็นคดีแรกที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น และสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว 

 

ดำเนินคดีไม่แจ้งการชุมนุม เพราะจำเลยโพสต์ชวนผู้อื่น-จำเลยยืนยันสิทธิในการแสดงออกและการวิ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุม

พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมยื่นฟ้องนายพิศาลโดยระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม อันเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

นายพิศาลให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ตนเองเพียงไปวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสุจริตตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและเป็นไปโดยชอบตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

ในการสืบพยานโจทก์ 5 ปาก ได้แก่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม, ตำรวจผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย, ตำรวจผู้กล่าวหา และพนักงานสอบสวน 2 ปาก  โดยสรุปแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความสอดคล้องกันว่า ดำเนินคดีจำเลยเนื่องจากจำเลยโพสต์เชิญชวนให้ผู้อื่นมาวิ่งไล่ลุง แม้จำเลยไม่ได้ระบุในโพสต์ว่าเป็นผู้จัด ทั้งนี้ พยานตำรวจต่างรับว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงว่า เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว ทั้งไม่ได้เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ไม่ได้เป็นผู้ที่พูดคุยและรับหนังสือแจ้งให้เลิกการชุมนุมจากตำรวจ รวมทั้งไม่ได้จัดแจงขบวนวิ่ง ขณะวิ่งก็ไม่มีป้ายข้อความ เครื่องขยายเสียง หรือสัญลักษณ์ใดๆ และไม่มีความวุ่นวาย ปราศจากอาวุธ เช่นเดียวกับคำให้การของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเบิกความด้วยว่า มาร่วมกิจกรรมเนื่องจากเห็นตามเฟซบุ๊กทั่วไปว่า วันเกิดเหตุจะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงกิจกรรมออกกำลังกาย  และปกติพยานก็วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว คนที่ไปวิ่งในวันนั้นก็ต่างคนต่างมา ไม่ได้มีการนัดหมายกัน พยานไม่รู้มาก่อนด้วยว่า จะมีการอ่านแถลงการณ์ถึงนายกฯ  

ขณะที่ตำรวจผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีเบิกความว่า ไม่ได้ดูโดยละเอียดว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นเพียงการเชิญชวนไปวิ่งออกกำลังกายหรือไม่ และจำไม่ได้ว่า ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  ระบุว่า การกีฬาไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ด้านนายพิศาลเบิกความว่า แม้จะเป็นผู้โพสต์ชวนผู้อื่นก็เป็นเพียงการชวนไปวิ่งออกกำลังกาย ที่โพสต์ไปเช่นนั้นเพราะทราบข่าวว่า กิจกรรมที่จะมีการจัดทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่ห้าม จึงคับข้องใจว่า รัฐบาลจำกัดแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน วันเกิดเหตุก็ไปวิ่งออกกำลังกายเช่นเดียวกับคนอื่น โดยไม่ได้มีป้ายหรือเสื้อสัญลักษณ์ ขณะมีการอ่านแถลงการณ์ซึ่งไม่ทราบมาก่อน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เตรียมมา ตนเองยืนอยู่ด้วยเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ยืนล้อมไว้อยู่โดยรอบ

 

ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรค 2, 14, 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เหตุขัดต่อหลักนิติธรรม จํากัดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินสมควร

นายพิศาล จำเลยในคดีนี้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  มาตรา  212 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่ใช้บังคับกับตนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยเป็นกรณีที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน คำร้องดังกล่าวมีเนื้อหาโดยย่อดังต่อไปนี้ 

ผู้ร้องขอโต้แย้งว่ามาตรา 10 วรรคสอง, มาตรา 14 และมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560  เนื่องจาก

1. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24  ชั่วโมง ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรม เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดกับหลักความได้สัดส่วน กล่าวคือ

       1.1 มาตรา 10 วรรคสอง ให้ถือว่า “ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาชุมนุม… ถือเป็นผู้ประสงค์จะจัดการการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง” ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวเกิดหน้าที่ที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วยนั้น เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น

       ในรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยนั้นการตรากฎหมายโดยองค์กรนิติบัญญัติจะต้องใช้มาตรการที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด การแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 นั้นเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เตรียมการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมไว้ล่วงหน้า  โดยบทบัญญัติในมาตรา 4 ได้กำหนดนิยามไว้ชัดเจนแล้วว่า “ผู้จัดการชุมนุม  หมายถึง ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น”  จากนิยามดังกล่าว  ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ใช่ผู้ที่เพียงแต่แสดงการเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุมเท่านั้น แต่ต้องมีเจตนาที่จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการชุมนุมสาธารณะครั้งนั้นด้วย โดยการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เช่น ขอใช้สถานที่ ขอใช้เครื่องเสียง หรือมีพฤติการณ์โดยปริยายอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดชุมนุม 

       พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มุ่งหมายให้เฉพาะแต่ผู้ที่มีเจตนาเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 วรรคแรก ดังนั้นการกำหนดนิยามของผู้จัดการชุมนุมตามมาตรา 4  ให้เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมก็ถือว่าเป็นมาตรการที่เพียงพอแล้วในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  บทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดไว้กว้างขวางเกินไปจึงขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเนื่องจากกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น โดยส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีเจตนาริเริ่มจัดให้มีการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมสาธารณะ แต่เป็นเพียงผู้เชิญชวนผู้อื่นมาชุมนุมหรือเผยแพร่ประกาศหรือประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะต้องกลายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม และต้องรับภาระทางกฎหมายในการแจ้งการชุมนุม ซึ่งหากฝ่าฝืนบุคคลนั้นต้องโทษอาญาตามมาตรา 28 

      องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe) ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไว้ว่า หน้าที่ในการแจ้งการชุมนุมควรเป็นของผู้จัดการชุมนุม (organizer) เท่านั้น และต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมชุมนุม (demonstrator) นั้นไม่ควรที่จะต้องแจ้งการชุมนุม  บทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้แสดงข้อความเชิญชวนหรือเผยแพร่การชุมนุมถือเป็นผู้จัดการชุมนุมและมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วยจึงเป็นการกำหนดให้เกิดผลประหลาดพิสดาร เพราะจะส่งผลให้เกิดผู้จัดการชุมนุมซึ่งมีความรับผิดทางกฎหมายจำนวนมาก ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ผู้จัดที่มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะในทางปฏิบัติที่แท้จริง

      ทั้งนี้ แม้ไม่มีบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคสอง กฎหมายก็ได้กำหนดนิยามผู้จัดการชุมนุมและผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมไว้ชัดเจนแล้วตามมาตรา 4  ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่จำกัดหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลน้อยกว่าและยังคงบรรลุวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มุ่งหมายได้อยู่นั่นเอง  

      1.2 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งกำหนดภาระให้ผู้เชิญชวนผู้อื่นมาชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วยนั้น กระทบกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการติดต่อสื่อสารของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

       การที่มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ “ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ถือเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ด้วย  มิใช่เฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น เช่น กรณีที่มีการโพสต์ในสื่อออนไลน์หรือเฟซบุ๊กเชิญชวนผู้อื่นไปร่วมการชุมนุมเพื่อให้การชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์ซึ่งต้องมีการเข้าร่วมของประชาชนจำนวนมาก  ผู้โพสต์เพียงแต่แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือต้องการสนับสนุนการชุมนุมเท่านั้น แต่ก็จะกลายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่ต้องมีหน้าที่ที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายด้วยทันที  

      ในประเด็นนี้องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า มาตรการที่มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนั้นไม่ควรมีผลกระทบในทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประการอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญไปด้วย เว้นแต่มีเหตุผลอันจำเป็นอย่างยิ่ง  การกำหนดขอบเขตความหมายให้แก่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่กว้างขวางเกินไปโดยมิได้พิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลว่าต้องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนหรือต้องการจัดการชุมนุมสาธารณะดังที่บัญญัติอยู่ในมาตรา 10 วรรคสองนี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคล ทำให้ประชาชนที่เพียงแต่ต้องการไปชุมนุมและนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมกับตนไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสิ้นเชิง เนื่องจากกลัวว่าอาจจะถูกตีความว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมและควบคุมดูแลการชุมนุมตามกฎหมาย  ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีและมีบทลงโทษทางอาญาด้วย  

      กรณีดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 1229/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 2254/2562  ของศาลแขวงดุสิต ซึ่งผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแล้ว แต่โจทก์ยังได้ยื่นฟ้องผู้ชุมนุมที่โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ผู้อื่นไปชุมนุมให้รับผิดในฐานะผู้จัดการชุมนุมด้วย  ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ใช่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่แท้จริง  ทำให้มีภาระต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและต่อสู้คดีในศาล  และกรณีเช่นนี้อาจมีผู้ที่ชักชวนผู้อื่นไปชุมนุมต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเป็นจำนวนมาก บทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคสองดังกล่าว  จึงเป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามมาตรา 44 เกินสมควรและไม่ได้สัดส่วน  ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 

2. มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 44 เนื่องจากเป็นการละเมิดต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลในที่สาธารณะ

      มาตรา 14 ที่กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ถือเป็น “การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ในทุกกรณีนั้น  ทำให้เกิดสภาพบังคับทางกฎหมายจนกลายเป็นระบบการขออนุญาตใช้เสรีภาพในการชุมนุมไปโดยปริยาย  เนื่องจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจในการสั่งเลิกการชุมนุมที่ไม่แจ้งการชุมนุมหรือแจ้งน้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุม   ตามมาตรา 21 ได้  ทั้งนี้ การชุมนุมโดยไม่แจ้งไม่ควรมีผลที่นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ  สภาพบังคับทางกฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการชุมนุมจนเกินสมควรเช่นนี้  เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของบุคคล และขัดกับหลักความได้สัดส่วนตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

      ทั้งนี้ หากระบบการแจ้งการชุมนุมกลายเป็นระบบขออนุญาตในการชุมนุมแล้วย่อมมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2549 ซึ่งได้วางแนววินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดให้ประชาชนต้องขออนุญาตเพื่อชุมนุมบนทางหลวงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเกินความจำเป็น

      การกำหนดมาตรการให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้เฉพาะการชุมนุมที่มีการแจ้งการชุมนุมเท่านั้น  มิเช่นนั้นจำต้องเลิกการชุมนุมทันที  ซึ่งทำให้การแจ้งการชุมนุมมีลักษณะเป็นกรณีที่ต้องขออนุญาตนั้นเป็นมาตรการที่ขัดกับหลักความจำเป็น  เนื่องจากมีมาตรการที่จำกัดสิทธิที่น้อยกว่าได้  นั่นคือการกำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมแจ้งการชุมนุมโดยไม่ต้องบัญญัติผลทางกฎหมายให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปทั้งหมด  แต่กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจผ่อนผันของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน และผู้จัดการชุมนุมที่ไม่แจ้งการชุมนุมก็มีบทบัญญัติให้ต้องรับผิดแยกต่างหากอยู่แล้ว  

      หากกำหนดให้การชุมนุมที่ไม่แจ้งหรือแจ้งไม่ทันเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้เกิดการสั่งเลิกการชุมนุมตามมาแล้ว ย่อมทำให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอันเป็นเสรีภาพที่มีคุณค่ายิ่งในระบอบประชาธิปไตยย่อมถูกกระทบอย่างรุนแรงเพียงเพราะความบกพร่องในการแจ้งการชุมนุมของผู้จัดการชุมนุมเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วน ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 

3. มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาให้กับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมหรือที่แจ้งการชุมนุมไม่ครบกำหนด 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม  ขัดต่อหลักนิติธรรม  เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ  และกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 44 

      การไม่แจ้งการชุมนุมนั้น ไม่ใช่การกระทำที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) แต่เป็นความผิดที่มาจากการถูกกำหนดขึ้น (mala prohibita) ทั้งนี้ ในการกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดทางอาญานั้นต้องเป็นไปเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการคุ้มครองการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคม กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษอาญาเท่าที่จำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น เพราะหากบัญญัติโทษทางอาญาขึ้นใช้อย่างพร่ำเพรื่อแล้ว สิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะถูกกระทบกระเทือนจนเกินความจำเป็นอันไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญาจึงไม่เพียงแต่มุ่งจะลงโทษบุคคลเท่านั้น แต่จะต้องเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลด้วย

      มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาให้กับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมหรือที่แจ้งการชุมนุมไม่ครบ 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุมเป็นบทบัญญัติที่มีผลในทางจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เกินสมควรแก่เหตุ และขัดกับหลักความได้สัดส่วนเนื่องจาก

       3.1 ทำให้บุคคลต้องตกอยู่ในสถานะผู้กระทำความผิดคดีอาญาซึ่งส่งผลร้ายต่อปัจเจกบุคคลเป็นอย่างมาก

       มาตรา 28 ได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุม หรือแจ้งก่อนน้อยกว่า 24 ชั่วโมง เป็นโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 10,000 บาท แม้ไม่มีโทษจำคุก แต่การตกอยู่ในสถานะผู้กระทำความผิดทางอาญานั้นก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคลในหลายแง่มุม เช่น ผู้ต้องหาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและตรวจประวัติอาชญากรรม อาจถูกควบคุมตัวได้นานมากที่สุดถึง 48 ชั่วโมง  หากผู้ต้องหาต้องการสู้คดีในศาลก็ต้องมีความยุ่งยากในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัว และในท้ายที่สุดหากถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดก็จะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวตลอดไป ซึ่งส่งผลร้ายต่อบุคคลผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างยิ่ง

      สำนักงานศาลปกครองเคยให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “โทษทางอาญาทำให้ผู้รับโทษเสียประวัติจนส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการประกอบวิชาชีพบางประเภท เช่น งานราชการ เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วการชุมนุมสาธารณะเป็นการใช้เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งไม่ควรมีโทษทางอาญามาเกี่ยวข้องกับบริบทของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ” ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมทำงานในหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว การตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาส่งผลให้บุคคลผู้นั้นอาจถูกดำเนินการทางวินัยบางอย่าง หรืออาจถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง

      นอกจากนี้การเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญายังส่งผลกระทบอื่น ๆ เช่น ในการขออนุญาตเพื่อเดินทางเข้าเมืองในต่างประเทศ สำหรับบางประเทศอาจกำหนดให้เป็น “บุคคลไม่พึงให้เข้าประเทศ” หรือในบางรัฐจะกำหนดกระบวนการให้มีการสอบประวัติเพิ่มเติมหรือเรียกร้องเอกสารที่ยุ่งยากกว่าปกติ หากผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลที่เคยกระทำความผิดทางอาญามาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดภาระแก่บุคคลเกินสมควรแก่เหตุโดยไม่เป็นธรรม

      แม้โทษทางอาญาดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อควบคุมให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เตรียมการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมและประชาชน แต่การบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มีมาตรการอื่นที่จำกัดสิทธิของประชาชนน้อยกว่าการกำหนดโทษทางอาญา นั่นคือการกำหนดโทษปรับทางปกครอง ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมให้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน 

       และแม้การอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับประชาชนผู้สัญจรไปมาและผู้เข้าร่วมชุมนุมจะมีความสำคัญ แต่การกำหนดให้การไม่แจ้งการชุมนุมมีโทษทางอาญาดังกล่าว ส่งผลร้ายแก่ผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา เกินกว่าสัดส่วนที่ประโยชน์สาธารณะจะได้รับ บทบัญญัติมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 26 

       3.2 ส่งผลให้เกิดสภาวะที่ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

       ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ปกครองมีจุดยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้งนั้น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นสากล เช่น กฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีบัญญัติว่า “ชาวเยอรมันทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธโดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแจ้งล่วงหน้า” รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกาบัญญัติไว้ว่า “สภาครองเกรสต้องไม่ตรากฎหมายที่เป็นจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ” รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและและสิทธิทางการเมืองก็ได้บัญญัติรับรองไว้ในข้อ 21 ว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย..” 

       ขณะที่สภาพบังคับของกฎหมายอาญาส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมากเพราะเป็นการบังคับเอากับชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินของบุคคล ดังนั้น การที่รัฐจะกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดทางอาญานั้นจึงต้องคำนึงถึงหลักการกำหนดความผิดทางอาญา มิใช่มุ่งแต่จะควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมโดยไม่สนใจสภาพหรือกลไกบังคับของกฎหมายอาญา Helbert L. Packer นักกฎหมายอาญาประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นว่า ความผิดอาญาควรจะสงวนไว้ใช้กับความผิดร้ายแรงเท่านั้นเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดอย่างชั่วร้ายและลงโทษเพื่อป้องกันอาชญากรรม เนื่องจากการเลือกใช้มาตรการบังคับทางอาญาจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากการป้องกันการกระทำกับต้นทุนที่สังคมจะเสียไปจากการบังคับใช้กฎหมายอาญา

      ต้นทุนที่สังคมจะเสียไปจากการกำหนดโทษทางอาญาแก่การไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะคือ การก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่บุคคลไม่กล้าใช้สิทธิในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองและเป็นเสรีภาพที่สำคัญ ในขณะที่ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับคือการอำนวยความสะดวกจากการแจ้งเท่านั้น การกำหนดโทษทางอาญาตามมาตรา 28 จึงขัดกับหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26

      3.3 ทำให้การชุมนุมบางลักษณะไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยสิ้นเชิง

      การกำหนดโทษทางอาญาส่งผลให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะบางลักษณะได้   เช่น  การชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือ Flash Mob อันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในลักษณะที่เชิญชวนผู้อื่นมาชุมนุมในระยะเวลาอันสั้นแล้วเลิกกันไป โดยไม่มีการปักหลักชุมนุมที่ยืดเยื้อและไม่มีการเคลื่อนขบวนร่วมด้วย ซึ่งการชุมนุมลักษณะนี้ไม่อาจแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าได้ถึง 24 ชั่วโมง เช่น การชุมนุมของแรงงานเพื่อเรียกร้องต่อนายจ้างในกรณีที่เกิดการปิดสถานประกอบกิจการอย่างฉับพลัน หากปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าไปเพราะต้องรอการแจ้งการชุมนุมก่อน การแสดงพลังเรียกร้องของแรงงานต่อนายจ้างย่อมไม่เป็นผล หรือการชุมนุมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่แสดงจุดยืนบางประการเป็นเวลาสั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อเรียกร้อง  การกำหนดโทษทางอาญาย่อมเป็นการสร้างภาระและส่งผลเสียแก่บุคคลผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวซึ่งไม่อาจแจ้งการชุมนุมได้ตามที่กฎหมายกำหนด จนเกินสมควรกว่าเหตุ และก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศและเป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่กล้าใช้สิทธิ เนื่องจากอาจจะต้องโทษคดีอาญาได้ตามมาตรา 28 

      ทั้งนี้ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม ไมนา คาย (Maina Kiai) ได้แสดงความเห็นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในรายงานลงวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 หน้า 29 ว่า “หากผู้จัดการชุมนุมไม่สามารถที่จะแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายได้ การชุมนุมนั้นก็ไม่สมควรที่จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติและผู้จัดการชุมนุมก็ไม่ควรที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการรับโทษทางอาญาหรือการรับโทษทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือการจำคุก..” ดังนั้น การกำหนดบทลงโทษของผู้จัดการชุมนุมที่ไม่แจ้งการชุมนุมจึงควรเป็นโทษปรับทางปกครอง ซึ่งจะเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนและพอสมควรแก่เหตุ

       ดังนั้น  การบัญญัติมาตรา 28 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่มีข้อความกำหนดโทษในทางอาญาดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ที่เกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนตามมาตรา 26 และเป็นบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยหลักการทางรัฐธรรมนูญในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ด้วยเหตุผลนานาประการดังกล่าวแล้วข้างต้น   ผู้ร้องจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มาตรา 10 วรรคสอง, มาตรา 14 และมาตรา 28  ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษผู้ร้องนั้น เป็นบทกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 ศาลจึงนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ตามมาตรา 5 

 

ดาวน์โหลดคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มที่นี่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เพิ่มเติม

ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ยืนยันสู้คดี “ไม่แจ้งชุมนุม”

ฟ้องแล้วรายแรก “ไม่แจ้งชุมนุม” แค่ #วิ่งไล่ลุง ที่นครพนม

จำเลยยืนยัน “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุม

 

X