ฟ้องแล้วรายแรก “ไม่แจ้งชุมนุม” แค่ #วิ่งไล่ลุง ที่นครพนม

20 ก.พ. 2563 พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมมีความเห็นสั่งฟ้องนายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ ในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุม ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีที่นายพิศาลโพสต์เฟซบุ๊กว่า “วิ่งไล่ลุง 12 ม.ค. 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” และเข้าร่วมวิ่งในวันดังกล่าวพร้อมกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน 

วันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายพิศาลในข้อหาดังกล่าว ต่อศาลจังหวัดนครพนม โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม อันเป็นที่สาธารณะ และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

 

ขังใต้ถุนศาล 4 ชม. ก่อนปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน

10.35 น. หลังศาลประทับรับฟ้อง พิศาลถูกควบคุมตัวเข้าห้องขังใต้ถุนศาล ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า ข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อันเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 5.1 ได้  โดยจำเลยยินดีปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือคำสั่งของศาล และปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด 

ต่อมา ศาลเบิกตัวจำเลยมายังห้องพิจารณาคดี อ่านฟ้องให้ฟัง แจ้งสิทธิของจำเลย และประโยชน์ทางคดีหากให้การถูกต้อง เช่น หากทำจริงตามฟ้อง และให้การรับสารภาพ ก็จะได้ลดโทษ รวมทั้งได้รับอภัยโทษตามวาระต่างๆ จากนั้น ศาลถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งพิศาลยืนยันให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ศาลนัดสอบคำให้การอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 มี.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

เวลา 13.50 น. ศาลจังหวัดนครพนมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพิศาลโดยไม่มีหลักประกันตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง แต่ให้พิศาลสาบานตนว่าจะมารายงานตัวต่อศาลตามนัด จากนั้น พิศาลได้รับการปล่อยตัวในเวลา 14.30 น. รวมถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 4 ชม. โดยเจ้าหน้าที่ศาลนำไปสาบานตัวที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 บริเวณประตูทางเข้าอาคารศาล

 

ถูกฟ้องคดี เพราะ 15 คน วิ่ง-แสดงความอึดอัดใจรัฐบาล: หรือปัญหาอยู่ที่กฎหมาย

กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ที่เป็นเหตุในการฟ้องคดีนี้นั้น เริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 6.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน ออกวิ่งจากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราชไปตามทางสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายเลียบริมแม่น้ำโขง โดยก่อนวิ่งมีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล แต่ขณะจะเริ่มวิ่ง ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้นำประกาศให้เลิกการชุมนุมภายใน 8.00 น. มาให้ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งชุมนุม

ล่าสุด ตัวเลขผู้ถูกกล่าวหาว่า “ไม่แจ้งการชุมนุม” จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” พุ่งเป็น 18 ราย รวม 14 คดี ใน 13 จังหวัด ทั้งนี้ มี 13 ราย ที่ยืนยันขอต่อสู้คดี และพิศาลเป็นรายแรกที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่นครพนมอีกรายก็ได้รับหมายเรียกให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าตำรวจจะดำเนินคดีหรือไม่

เมื่อครั้งถูกส่งตัวให้อัยการ พิศาลกล่าวว่า “ผมมองว่า ตำรวจในพื้นที่ไม่อยากจะสั่งฟ้อง แต่ก็มีความลำบากใจ หากอัยการจะสั่งฟ้องอีก ผมก็ไม่แปลกใจ เพราะตามความเห็นของผม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ที่จะทำให้ประชาชนหวาดกลัว จำยอม ไม่กล้าลุกมาแสดงความเห็นหรือแสดงออก ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การที่มีคนหลายคนถูกดำเนินคดีทั้งที่แค่ออกมาวิ่งและแสดงความอึดอัดใจต่อรัฐบาล ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี อนาคตทุกฝ่ายต้องผลักดันกฏหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ด้วยกันอย่างเท่าเทียม”

พิศาล บุพศิริ เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษารามคำแหง โดยเข้าร่วมชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน นอกจากนั้น ยังรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ตระเวนเล่นดนตรีตามงานกิจกรรมนักศึกษา หรือวงเสวนาเล็กๆ จนกระทั่งกลายเป็นแนวรบด้านวัฒนธรรมของงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนเรื่อยมา ก่อนที่จะผันตัวเองมาเริ่มงานด้านการเมืองร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ และกลายเป็นจำเลยในคดี “ไม่แจ้งการชุมนุม” ในที่สุด

 

ส่งตัวให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องอีกสอง

วันเดียวกันนี้ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย ผู้ริเริ่มและประสานงานกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในกรุงเทพฯ เข้ารายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ นัด จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวธนวัฒน์ส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมสำนวนการสอบสวน ซึ่งตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้องในความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุม  

ทั้งนี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้มีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม 1 ปาก คือ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบปากคำ ผศ.ดร.จันทจิรา ตามที่ธนวัฒน์ได้ยื่นคำร้องไว้ เบื้องต้นพนักงานอัยการได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมไว้เพื่อพิจารณา ก่อนจะนัดให้ธนวัฒน์เดินทางมาฟังคำสั่งของอัยการในวันที่ 30 มี.ค. 2563 

เช่นเดียวกับที่ จ.พังงา พนักงานสอบสวน สภ.ตะกั่วป่า ส่งตัวนายประเสริฐ กาหรีมการ อีก 1 ผู้ต้องหา คดี “ไม่แจ้งการชุมนุม” กรณี “วิ่งไล่ลุง” พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่าแล้ว โดยอัยการนัดฟังผลการพิจารณาสั่งคดีในวันที่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 10.00 น. 

 

 

X