We Walk ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ  

ทำไมจึงต้องยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำรัฐประหารโดยยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะถูกระงับบังคับใช้ในบางหมวดแล้ว กฎอัยการศึกซึ่งออกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457  ที่ประกาศใช้ล่วงหน้าการกระทำรัฐประหารเพียง 2 วัน ยังกลายเป็นมาตรการหลักทางกฎหมายที่ คสช. และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศที่ถูกระบุว่าอยู่ในภาวะฉุกเฉิน

แม้ประเทศไทยจะมีประสบการณ์การอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาแล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา และยังคงปรากฏเรื่องร้องเรียนว่ามีบุคคลถูกจับกุม ควบคุมตัว ค้นที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ซ้อมทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมตลอดระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม การปกครองภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2558 ก็ยังคงเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมายพิเศษเช่นนี้ไว้ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งคำสั่งฉบับดังกล่าว ออกโดยหัวหน้า คสช. อันผ่านความเห็นชอบของ คสช. โดยอาศัยฐานอำนาจตามกฎหมายในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และด้วยการรองรับความชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารผู้ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วย ยังคงมีอำนาจใช้มาตรการลิดรอนเสรีภาพบุคคลเช่นเดียวกับกฎหมายพิเศษข้างต้นจนถึงปัจจุบัน (อ่านเพิ่มที่ 3 ปี สิ่งเสมือนกฎหมาย: คำสั่ง 3/58 ให้อำนาจทหารกว้างขวาง ขาดการตรวจสอบ)

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 กลุ่มภาคประชาสังคม 3 กลุ่ม โดยการสนับสนุนทางกฎหมายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และโครงการอินเตอร์เนตกฎหมายเพื่อประชาชน ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า ข้อ 6 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงาน ควบคุมตัวบุคคลไว้ในสถานที่ที่มิใช่ที่คุมขังได้ถึง 7 วัน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 มาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน เนื่องจากข้อ 6 และข้อ 12 ของคำสั่งฉบับนั้น ขัดต่อเงื่อนไขการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แทรกแซงการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ (อ่านเพิ่มที่ ประชาชนฟ้องศาลยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกตาม ม.44)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีสถานะใช้บังคับตามกฎหมาย คำร้องดังกล่าวจึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติสิทธิในการตรวจสอบความชอบตามรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กล่าวคือ สามารถกระทำได้ด้วยการใช้สิทธิทางศาล โดยให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 212 และการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 231 (1) กลุ่มภาคประชาสังคมทั้งสามในฐานะผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

.

3 เหตุผลที่ต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

แม้แนวทางการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จะไม่สามารถกระทำได้โดยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งฉบับดังกล่าว ยังคงยืนยันที่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้องค์กรตุลาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวินิจฉัยทั้งรูปแบบและเนื้อหาของคำสั่งที่มีผลเป็นการจำกัดและแทรกแซงสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย เสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของกลุ่มภาคประชาสังคม ในนามเครือข่าย People GO Network ซึ่งภายหลังจากการจัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เพื่อรณรงค์และสื่อสารหลายประเด็นที่เป็นปัญหาต่อสังคมในวงกว้าง กรณีหลักประกันสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่นแล้วพบว่า เหตุแห่งการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวกลับนำมาสู่การถูกเจ้าหน้าที่ทหารร้องทุกข์และถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามมิให้บุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย ยิ่งไปกว่านั้น 1 ในผู้ถูกกล่าวหา ยังเคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญร่วมกลุ่มภาคประชาสังคมอื่น แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องด้วยเหตุผลข้างต้น (อ่านเพิ่มที่ กล่าวหา 8 ผู้ต้องหาเดินมิตรภาพ เหตุขายเสื้อ-ชวนลงชื่อเลิกคำสั่งคสช.-ปราศรัย’โจมตี’รัฐบาล)

ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว จึงยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีคำขอหลัก 2 ประการ คือ

1. ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มีข้อความหรือเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44  และ

2. ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายตลอดทั้งขั้นตอนการปฏิบัติใด ๆ อันเป็นเหตุมาจากการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ และขอให้เสนอแนะต่อหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ไปในคราวเดียวกัน โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีการทบทวนเพื่อยกเลิกคำสั่งนั้น และกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ ขอให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แทน

.

ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องทั้งหมด ให้เหตุผลประกอบคำร้องโดยสังเขป ดังนี้

1. ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ก่อให้เกิดการกระทำที่เป็นเหตุสร้างความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรม สร้างภาระแก่ผู้ร้อง หรือประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ และเป็นเหตุให้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรอง กล่าวคือ การที่รัฐห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ที่ประสงค์จะรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมกลุ่ม เพราะอาจเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ซึ่งหากไม่รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายก่อน ต้องรับโทษทางอาญา หรือต้องยอมรับว่ากระทำความผิดเพื่อเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน จึงจะถือว่าคดีเลิกกันนั้น ผู้ยื่นคำร้องเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะการบังคับใช้อยู่ในลำดับเดียวกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด และแม้เป็นคำสั่งแต่กลับมีมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุม ซึ่งผู้ร้องได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะตลอดระยะเวลาก่อนและระหว่างการชุมนุม แม้ผู้ร้องจะปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของพระราชบัญญัติดังกล่าว ตีความว่าการจัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ของผู้ร้องเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และเป็นที่มาของเหตุในการดำเนินคดีต่อผู้ร้องต่อมา

2.ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ตราขึ้นโดยมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะมาตรา 26 และมาตรา 44 กล่าวคือ รัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติ ซึ่งเนื้อหาของข้อ 12 ตามคำสั่งฉบับดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดหรือแทรกแซงการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบ แต่กลับไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในวรรคท้ายของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่บัญญัติว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสามารถกระทำได้ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น แต่เนื้อหาของข้อ 12 กลับออกมาเพื่อจำกัดหรือแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองที่กระทำโดยบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่มีเงื่อนไขใดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่าสามารถออกคำสั่งเช่นนี้ได้

นอกจากนั้น ถ้อยคำในข้อ 12 ของคำสั่งฉบับดังกล่าว เช่น การชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ซึ่งถูกนำมาบังคับใช้เป็นฐานความผิดทางกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ทั้งโทษปรับและโทษจำคุกนั้น นอกจากจะเป็นถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือแล้ว เมื่อเกี่ยวพันกับการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมของบุคคล ในเนื้อหาของคำสั่งเองกลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางเพื่อพิจารณาว่า การกระทำใดเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย หรือการใช้ดุลพินิจ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำดังกล่าวไม่เคยปรากฏว่าได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในของไทยมาก่อน ประกอบกับกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมเอง ก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้น เนื้อหาข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จึงไม่มีความแน่นอนชัดเจนและสร้างภาระต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินจำเป็น หรือขัดต่อหลักความได้สัดส่วน อันเป็นองค์ประกอบย่อยในทางเนื้อหาของหลักนิติธรรมนั่นเอง

3.ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ตราขึ้นและมีผลเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมของผู้ร้องและประชาชน กล่าวคือ ผู้ร้องทั้งหมดใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งยังปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ดังนั้น สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมของผู้ร้องจึงได้รับความคุ้มครองทั้งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และรัฐไทยเองมีข้อผูกพันที่จะรับรอง เคารพ และปกป้อง เสรีภาพดังกล่าวของผู้ร้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civils Rights and Political Rights หรือ ICCPR)  ซึ่งรับรองสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ผู้ร้องจึงเห็นว่า ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จึงเป็นคำสั่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 231 (1) ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันพิจารณาประกอบกับ มาตรา 23 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ผู้ร้องจึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าววินิจฉัยคำร้องของผู้ร้อง และเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาทบทวนยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ตลอดทั้งเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการบังคับใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่มีการทบทวนยกเลิกคำสั่งนั้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานของกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน “ตามรัฐธรรมนูญ” ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เพจ People Go Network Forum https://goo.gl/bDw9AJ

.

หมายเหตุ

ข้อ 6 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กำหนดว่า

“ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

เมื่อมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กำหนดว่า

“ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529”

มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า

“การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

มาตรา 212 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า

“ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ…”

มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”

มาตรา 231 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า

“ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้

(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ…”

.

X