26 ม.ค.61 เวลา 13.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ก่อนการพิพากษา โดยศาลมีคำสั่งเรียกผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ถูกฟ้องคดีเข้าให้ถ้อยคำต่อศาล พร้อมกันนี้ ศาลได้มีคำสั่งเรียกผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 3 และ 4 เข้าเป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5-7 ตามลำดับ
ฝ่ายผู้ฟ้องคดี มีผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ 4 และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 มาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-5 และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 มาศาล ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่มาศาล
ตามที่เครือข่าย People Go ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2), ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่ดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดคำฟ้องที่นี่) พร้อมกันนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในระหว่างการเดินเท้า ให้การรับรองเสรีภาพการชุมนุม และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุม รวมทั้งขอให้ศาลปกครองได้ดำเนินการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในวันเดียวกัน ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยระบุเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม เป็นที่มาของการนัดไต่สวนในวันนี้
ศาลไต่สวนฝ่ายผู้ฟ้องคดีก่อน โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่คนที่ 1 นายสุรชัย ตรงงาม เป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อศาล นายสุรชัยเเถลงถึงความจำเป็นที่ต้องขอให้ศาลสั่งบรรเทาทุกข์ เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามที่เเจ้งไว้ในหนังสือแจ้งการชุมนุมที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานได้ ประกอบกับทางวัดที่เคยติดต่อไว้จะเข้าพักก็ไม่สามารถให้ผู้ชุมนุมเข้าพักได้เพราะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่
ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 คน ให้ถ้อยคำต่อศาลรายบุคคล มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีตั้งเเต่วันที่ 19 ม.ค. 61 ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 20 ม.ค. 61 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เนื่องจาก
- มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อออกกฎหมายให้ยกเลิกคำสั่ง/ประกาศ คสช. ซึ่งเข้าข่ายเป็นการมั่วสุม ชุมนุมทางการเมือง
- ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีการอ่านแถลงการณ์เเละสลับกันปราศรัย ปลุกระดม
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดอ้างว่า การติดตามเฝ้าระวังการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการประสานงานของ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยในวันที่ 20 ม.ค. มีทหารร่วมพูดคุยประเมินสถานการณ์กับตำรวจโดยตลอด เเต่ทหารที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบ เนื่องจากห่วงภาพลักษณ์ที่จะออกไปสู่ภายนอก
นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ให้ถ้อยคำปฏิเสธการเข้ากดดันวัด เเละอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดที่เเสดงตนในวันนั้นราว 200 นาย ตลอดจนสายสืบนอกเครื่องแบบอีก 15 นาย เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม
การไต่สวนเสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 18.00 น. นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความของเครือข่าย People Go ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการในห้องพิจารณาคดีว่า “วันนี้เป็นการไต่สวนระหว่างผู้ชุมนุมและผู้ถูกฟ้องคือตำรวจที่เกี่ยวข้อง ผู้พิพากษาได้เรียนให้ทราบว่า เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องเดินผ่านไปยังตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงมีหมายเรียกไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,3,5 ไปจนถึงขอนแก่น ให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย รวมเป็นผู้ถูกฟ้อง 7 ราย ซึ่งทั้ง 7 ราย ก็ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลเช่นเดียวกัน
ด้านผู้ชุมนุมได้ยืนยันเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและได้มีการแจ้งการชุมนุมถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามที่ตำรวจได้กล่าวหาว่าการชุมนุมขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นั้น เรายืนยันว่าการชุมนุมของผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เพราะว่าการตีความแบบนั้นจะทำให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือการชุมนุมไม่สามารถกระทำได้ หากมีความเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมันกระทบสาระสำคัญทางสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ซึ่งหลังจากไต่สวนทั้งสองฝ่ายเสร็จในวันนี้ ศาลก็จะมีคำสั่ง เกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวภายในคืนนี้ โดยส่งทางอีเมลล์หรือโทรสาร นอกจากนี้ ศาลได้กำหนดให้ฝ่ายผู้ชุมนุมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดจากการปิดกั้นการชุมนุมจำนวน 100,000 บาท ตามที่ระบุในคำฟ้อง ภายใน 7 วัน” ทนายกล่าวทิ้งท้าย
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวในขณะรอฟังคำสั่งศาลว่า เรายังขอยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราทำนั้น เป็นไปตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเอกสารต่างๆ ที่กล่าวอ้างว่าเราไม่สามารถไปชุมนุมได้ ก็ไปอ้างเรื่องที่เราดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยไปบอกว่าการระดมลายมือชื่อที่จะให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูก ทำไม่ได้ ทั้งที่มันถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เราจึงยืนยันว่าเราทำตามสิทธิและเสรีภาพ
นิมิตร์กล่าวอีกว่า การดำเนินการของเราในวันนี้ถือเป็นขั้นที่สำคัญมากที่เราจะรู้ว่า เรายังคงมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลได้หรือไม่ วันนี้เราคงได้พอเห็นเค้ารางว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับคำสั่ง 3/58 อะไรจะยังไง สิ่งที่อยากพูดคือ การมีเสรีภาพคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ และเรากำลังพยายามจะถามหาเสรีภาพของเราผ่านกลไกและกระบวนการของศาลปกครอง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 61 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 7 ของกิจกรรม ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ ซึ่งเครือข่าย People GO Network Forum ออกเดินเท้ารณรงค์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะใน 4 ประเด็นหลัก ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ความมั่นคงทางอาหาร, กฎหมายสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอด 6 วันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พยายามปิดกั้นสกัดไม่ให้มีการเดินตั้งแต่เริ่มแรก จนถึงรบกวนเพื่อไม่ให้กิจกรรมบรรลุเป้าหมาย ทั้งปิดล้อมประตูมหาวิทยาลัยไม่ให้ออกเดิน โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แม้ผู้จัดจะมีการแจ้งจัดกิจกรรมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว, ตรวจค้นรถของทีมงาน, คุมตัวทีมสวัสดิการไปสอบปากคำ, ติดตามถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดตลอดการเดิน, กดดันวัดไม่ให้ที่พัก จนถึงแจ้งความดำเนินคดี 8 ตัวแทนเครือข่ายฯ ข้อหา ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. รวมทั้งมีการติดตามกดดันผู้ที่เข้าร่วมการเดิน, ผู้สนับสนุนโดยการออกแถลงการณ์ และองค์กรที่มีชื่อเป็นองค์กรเครือข่าย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประมวลสถานการณ์กิจกรรม We Walk: เมื่อตำรวจยังไม่ให้เดินสู่ถนนมิตรภาพ
ก้าวแรกเริ่มแล้ว: ตัวแทน We Walk ออกเดินมุ่งหน้าสู่ถนนมิตรภาพ
กักรถ-สอบทีมเสบียง กดดันวัดไม่ให้ที่พัก: มาตรการรัฐต่อ “เดินมิตรภาพ” วันที่ 2
Joint Statement: Asserting the right to freedom of assembly “We Walk…Solidarity Walk”