“เดินมิตรภาพ” เฮ ศาลปกครองมีคำสั่งให้ ตร.ดูแลตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ห้ามปิดกั้น

ตามที่เมื่อวันที่ 26 ม.ค.61 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ก่อนการพิพากษา โดยศาลมีคำสั่งเรียกผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 เข้าให้ถ้อยคำต่อศาล (อ่านสรุปถ้อยคำผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่นี่)

ต่อมาในช่วงดึก ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา รายละเอียดดังนี้

 

ในชั้นนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กับเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 กับพวกแล้ว จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและอาจมีการปิดกั้นขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 รู้สึกหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุมอีกต่อไป แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 กับพวกได้เดินทางผ่านจังหวัดปทุมธานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 5 ไปแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนว่าปัจจุบันผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 กับพวกได้เดินทางมาถึงในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และเดินทางไปต่อในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จึงน่าเชื่อว่าอาจจะมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้องซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 กับพวกได้รับความเสียหายต่อไปได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งและวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ. ศ. 2558 ได้มีคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือห้ามมิให้มีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายตามแผนการชุมนุม ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ที่มีการแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งจะมีการเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น หรือประกาศให้เลิกการชุมนุมประกาศให้แก้ไขหรือมีคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมแต่อย่างใด และการมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในชั้นนี้จึงมีเหตุอันสมควร ที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ทั้งนี้ตามในมาตรา 66  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ. ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 75 และข้อ 77 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ 2543

จึงมีคำสั่ง กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ. ศ. 2558 หรือผู้ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิให้กระทำการใดๆที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนการดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัดจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้

 

ดาวน์โหลดคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาได้ที่ http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/InjunctionOrder-WewalkPeopleGo-AdminCourt.pdf

 

 

 

X