อัยการสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา “วิ่งไล่ลุงเชียงราย” ก่อนครบ 1 ปี คดีจะขาดอายุความ

วันที่ 5 ม.ค. 64 ที่ศาลแขวงเชียงราย อัยการเจ้าของสำนวนคดี วิ่งไล่ลุงที่จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นฟ้อง 5 ผู้ต้องหาจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ด้วยข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก่อนที่คดีจะขาดอายุความการฟ้องร้องภายใน 1 ปี ด้านจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวทั้งห้า พร้อมนัดสอบถามคำให้การวันที่ 7 เม.ย. 64

 

ภาพจำเลยทั้ง 5 รายพร้อมด้วยทนายความ หลังได้รับการปล่อยตัวจากศาลแขวงเชียงราย

 

สำหรับกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง เชียงราย” มีผู้ถูกกล่าวหา 5 คนด้วยกัน คือ นายเอกรัฐ มัชฌิมา, นางสาวนรินนิราน์ แสงขาม, นายกฤตตฤณ สุขบริบูรณ์, นายภัทรกฤต ดวงสนิท และนายนิรุตติ์ แก้วกันทา ได้ถูก พ.ต.ท.เทพสวัสดิ์ สุภาวรรณ กล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” จากการร่วมกันยืนอ่านแถลงการณ์ก่อนการปล่อยตัวนักวิ่งที่สวนสาธารณะหาดเชียงราย (พัทยาน้อย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 โดยนับตั้งแต่ผู้ต้องหาทั้งห้าได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63 และได้ถูกพนักงานสอบสวนส่งตัวพร้อมสำนวนคดีที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องให้พนักงานอัยการเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 63 ผู้ต้องหาทั้งห้ามีภาระต้องเดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานอัยการเดือนละครั้ง เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนจะถูกส่งฟ้องต่อศาลในวันนี้

>> ผู้ร่วมอ่านแถลงการณ์ “วิ่งไล่ลุง เชียงราย” เข้าปฎิเสธข้อกล่าวหาไม่แจ้งชุมนุม ยันกิจกรรมกีฬาไม่ต้องแจ้ง

>> ตร.เห็นควรสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา“วิ่งไล่ลุง เชียงราย” ด้านอัยการเตรียมส่งฟ้องศุกร์ 13 มี.ค.

เวลา 9.30 น. พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงรายได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าต่อศาลแขวงเชียงราย โดยศาลแขวงเชียงรายรับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.122/2564

คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปกล่าวหาว่า “เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยได้ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมโดยใช้ชื่อว่า “วิ่งไล่ลุง เชียงราย” และได้ร่วมกันจัดการชุมนุมดังกล่าวเพื่อเรียกร้อง คัดค้านและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หยุดใช้กฎหมายคุกคาม ประชาชน และขับไล่ลุงที่ทําให้ประเทศตกต่ำ ย่ำแย่ ล้าหลังและเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและให้บุคคลอื่นเข้าร่วมชุมนุมได้ ถือเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยที่จำเลยทั้งห้าไม่แจ้งการชุมนุมดังกล่าวต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย”

จากพฤติการณ์ดังกล่าว อัยการคดีศาลแขวงเชียงรายฟ้องว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คือไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่มีโทษจำคุกแต่อย่างใด

ด้านจำเลยเมื่อได้ทราบคำฟ้องของพนักงานอัยการแขวงแล้ว ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวโดยไม่มีหลักประกันต่อศาล โดยระหว่างรอการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าคนได้ถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังของศาลแขวงเชียงรายตั้งแต่เวลาประมาณ 10.15 น.

ต่อมาเวลาประมาณ 11.50 น. ศาลแขวงเชียงรายได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยโดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ให้จำเลยแต่ละคนทำสัญญาประกันตนเองไว้เป็นหลักฐานต่อศาล โดยกำหนดวงเงินประกัน  10,000 บาท หากผิดนัดของศาล ต้องชำระค่าปรับ ก่อนที่จะกำหนดนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งห้าต่อไปในวันที่ 7 เม.ย. 64 เวลา 9.00 น.

อย่างไรก็ตามแม้จำเลยทั้งห้าจะได้ทำสัญญาประกันตัวแล้ว แต่ทั้งห้ายังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังของศาล จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.15 น. ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของศาล ทำให้จำเลยทั้งห้าต้องถูกควบคุมตัวจนถึงเวลาประมาณ 13.50 น.จึงได้รับการปล่อยตัวจากห้องควบคุมตัว

 

(ภาพกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเชียงราย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63)

 

สำหรับความคืบหน้าหลังกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” (Run Against Dictatorship) จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 16 คดี และผ่านไปหนึ่งปี ยังมีคดีวิ่งไล่ลุงอีก 7 คดีที่ต่อสู้คดีและคดียังไม่สิ้นสุด ได้แก่ คดีที่กรุงเทพฯ, นครพนม, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์, พังงา, นครสวรรค์ และเชียงราย โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล

> ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

 

X