บันทึกการต่อสู้คดี “ตั้งโต๊ะปิดสวิตซ์ ส.ว.” ยาวเกือบ 3 ปี ก่อนศาลแขวงเชียงรายนัดพิพากษา

28 มี.ค. 2565 นี้ ศาลแขวงเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 7 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท แต่คดีนี้ก็ใช้เวลายืดเยื้อมากว่า 2 ปี 10 เดือนแล้วหากนับจากวันเกิดเหตุ ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและทนายความต้องเดินทางไปร่วมกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นต่างๆ นับ 10 ครั้ง

ประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ การยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวที่มีเป็นการตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อ ส.ว. ซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม ไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องมีการแจ้งการชุมนุม และผู้ถูกกล่าวหาหลายคนยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้ไปร่วมกิจกรรม แต่กลับถูกกล่าวหาเป็นผู้จัดกิจกรรมไปด้วย โดยที่ตำรวจก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ประสงค์จะจัดกิจกรรมตามกฎหมาย

นอกจากนั้น ทางตำรวจก็ได้เข้ามาดูแลความเรียบร้อยของกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก และกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายและปัญหาการจราจร ทำให้ถือได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว

.

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

.

ลำดับการสู้คดี: รายงานตัวอัยการรวม 10 ครั้ง ศาลส่งให้ศาลรธน.ตีความ คดีเว้นช่วงกว่า 1 ปี

ในคดีนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 7 คน ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”, ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล”, วิทยา ตันติภูวนารถ, สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์, สมสิน สอนดา, มะยูรี ธรรมใจ และจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ โดยนักกิจกรรมสองรายแรกเดินทางไปทำกิจกรรมจากกรุงเทพฯ ส่วนผู้ถูกกล่าวหา 5 รายหลัง เป็นประชาชนและคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ในช่วงดังกล่าวกลุ่ม Start Up People ได้เดินสายทำกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อ และเขียนข้อความลงในจดหมายเพื่อส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ถูกเลือกโดย คสช. เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย ในช่วงดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ทั้งในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ แต่มีเพียงกรณีที่จังหวัดเชียงรายที่ถูกดำเนินคดี

นักกิจกรรมและประชาชนทั้ง 7 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 หนึ่งเดือนเศษหลังเกิดเหตุ โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อหา จากนั้นตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562

สำนวนคดีได้ค้างอยู่ที่อัยการนานเกือบหนึ่งปี โดยอัยการได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในเชียงรายไปรายงานตัวทุกๆ เดือน รวมเป็นเวลา 10 ครั้ง กระทั่งก่อนคดีจะหมดอายุความไม่กี่วัน อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงรายเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 โดยจำเลยทั้ง 7 ยังยืนยันขอต่อสู้คดี

ในชั้นศาล คดีมีนัดสืบพยานโจทก์ในช่วงวันที่ 26-27 ส.ค. 2563 โดยวันดังกล่าวสืบพยานไปได้จำนวน 4 ปาก และมีพยานที่ติดภารกิจเข้ารับการฝึกของส่วนราชการในพระองค์ ทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกมาเป็นวันที่ 11 ก.ย. 2563 และสืบพยานโจทก์เพิ่มได้อีก 1 ปาก

ในนัดดังกล่าว ศาลเจ้าของสำนวนได้หารือทนายความ ในประเด็นการต่อสู้เรื่องปัญหาการตีความและการบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ศาลเห็นว่าประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจวินิจฉัย แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยถึงประเด็นนี้มาก่อนจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจึงเห็นว่าควรจะส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังการหารือ ศาลจึงมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาคดีให้มีการจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความชั่วคราว ระหว่างที่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยการตัดสินใจส่งคำร้องเป็นการตัดสินใจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเอง

หลังคดีเว้นช่วงไปกว่า 1 ปีเศษ วันที่ 28 ก.ย. 2564 ศาลแขวงเชียงรายได้นัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่าบทบัญญัติใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ทำให้คดีนี้ต้องกลับมาเริ่มนัดหมายสืบพยานต่อ

จนเมื่อวันที่ 1-2 มี.ค. 2565 ศาลได้สืบพยานโจทก์อีก 3 ปาก และพยานจำเลยอีก 6 ปาก จนเสร็จสิ้นในที่สุด และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาต่อมา

ทั้งนี้ เนื่องจาก “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทำให้การในสืบพยานช่วงหลัง เขาได้ยื่นขอพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งศาลอนุญาต และในนัดฟังคำพิพากษานี้ เขายังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ ทำให้ทนายจำเลยได้ยื่นขอเลื่อนฟังคำพิพากษาเอาไว้ ทำให้ยังต้องติดตามคำสั่งของศาลต่อไป

.

ภาพกิจกรรมจากเชียงใหม่นิวส์

.

ผกก.สภ.เมืองเชียงราย รับหน้าที่แจ้งการชุมนุม เฉพาะผู้จัดเท่านั้น ผู้เข้าร่วมไม่ได้มีหน้าที่แจ้ง

สำหรับการสืบพยานฝ่ายโจทก์รวมทั้งสิ้น 8 ปาก เป็นพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายต่างๆ รวม 4 ปาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองท้องถิ่น รวม 4 ปาก  

ส่วนฝ่ายจำเลย มีจำเลย 5 ราย ขึ้นเบิกความ และมีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อีก 1 ราย ขึ้นเบิกความในประเด็นข้อกฎหมายชุมนุมสาธารณะ

พยานโจทก์ปากสำคัญ ได้แก่ พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย เบิกความว่าช่วงวันที่ 13-15 พ.ค. 2562 ก่อนเกิดเหตุ พยานได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ว่ามีกลุ่มประชาชนที่ใช้ชื่อว่าStart Up Peopleจะมาจัดชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

พยานได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมการรับมือ โดยทราบว่าต้องมีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมือง ซึ่งคือตัวพยาน ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ไม่ได้มีผู้มาแจ้ง จากนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนไปหาข่าว และจัดกำลังเจ้าหน้าที่จราจรและชุดป้องกันปราบปราม ไปดูแลความปลอดภัยหากมีการจัดกิจกรรม

ในเย็นวันเกิดเหตุ 16 พ.ค. 2562 พยานได้รับแจ้งว่ามี “จ่านิว” สิรวิชญ์ นำโต๊ะ กล่องสีแดง และกระดาษมาที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนฯ โดยมีการตั้งโต๊ะและวางกระดาษให้ประชาชนมาร่วมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. ที่มาจากการสรรหา ซึ่งกลุ่มนี้เห็นว่าไม่ควรมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กลุ่มแกนนำได้มีการใช้โทรโข่งผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย

พยานได้สั่งให้ พ.ต.ท.คเชนทร์ เชิดชูตระกูลทอง และ พ.ต.ต.นฤภัทร เทียนชัยทัศน์ ไปสอบถามผู้ชุมนุมว่าได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เมื่อไม่ได้แจ้ง จึงสั่งให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ พยานจึงแจ้งให้รองผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ทำเรื่องยื่นต่อศาล ให้มีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมได้ยุติกิจกรรมไปก่อนศาลจะมีคำสั่ง  ภายหลังกิจกรรม พยานได้ให้ พ.ต.ท.คเชนทร์ ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คน

พ.ต.อ.กิตติพงษ์ รับในการตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หน้าที่ในการแจ้งการชุมนุมนั้น เฉพาะผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเพียงเท่านั้น ผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ได้มีหน้าที่นี้ตามกฎหมาย และพยานรับว่าในรายงานจากชุดสืบสวน ระบุว่ามีผู้จะจัดการชุมนุมคือสิรวิชญ์และธนวัฒน์ ไม่ได้มีรายชื่อจำเลยคนอื่นๆ และในรายงานการสืบสวนต่างๆ ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยคนอื่นๆ เป็นผู้จัดกิจกรรม

ส่วนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมกิจกรรมในเฟซบุ๊ก พยานก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีในเฟซบุ๊กของใคร และเหตุการณ์ที่ว่ามีผู้ขนโต๊ะและอุปกรณ์จัดกิจกรรมเข้ามา พยานก็ไม่ได้เห็นเอง เป็นเพียงรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชา

.

ภาพกิจกรรมจากเชียงใหม่นิวส์

.

ตร.ผู้กล่าวหารับ ไม่ได้มีบันทึกในเอกสารว่าใครทำหน้าที่อะไรในกิจกรรม เพียงแต่รายงานผู้บังคับบัญชาด้วยวาจา

พ.ต.ท.คเชนทร์ เชิดชูตระกูลทอง เคยเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงราย และเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่าตนได้รับหน้าที่จากผู้กำกับให้เข้าไปเก็บภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และระบุตัวบุคคลที่เข้ามาจัดกิจกรรมนี้

พยานระบุเหตุการณ์ว่า กิจกรรมได้มีสิรวิชญ์เป็นผู้ใช้โทงโข่งคนแรก ในการพูดเชิญชวนให้ประชาชนมาเขียนแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นก็มีการสลับกันพูดเชิญชวน จำได้ว่ามีนายวิทยา, จิตต์ศจีฐ์ และธนวัฒน์ ที่ได้พูดปราศรัย พยานอ้างว่าจากรายงานทางการข่าว ผู้ที่จัดกิจกรรมครั้งนี้คือสิรวิชญ์ ส่วนจำเลยคนอื่นๆ พบว่ามาช่วยขนโต๊ะ ขนอุปกรณ์ และใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัย พร้อมมีการตะโกนให้ ส.ว. ไม่ร่วมโหวตนายกฯ แต่พยานก็จำไม่ได้ชัดเจนว่าใครทำอะไรบ้าง กิจกรรมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 10 กว่าคน ไม่รวมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าติดตามกิจกรรม

พ.ต.ท.คเชนทร์ ตอบคำถามค้านว่า ในตอนแรกยังไม่ทราบว่ากิจกรรมของจำเลยจะเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ และไม่ได้มีการสอบถามหรือหารือไปยังสถานีตำรวจอื่นๆ เรื่องกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ หรือตรวจสอบว่ากลุ่มที่ชื่อ Start Up People จะมีใครเป็นสมาชิกบ้าง พยานยังเบิกความว่าลักษณะกิจกรรมไม่ได้มีการตั้งเวที เพียงแต่เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมเขียนข้อความหย่อนลงกล่อง

พ.ต.ท.คเชนทร์ ยังรับว่าจากคลิปวิดีโอพยานหลักฐาน ไม่ได้มีภาพจิตต์ศจีฐ์ ร่วมใช้โทรโข่งในการปราศรัย และทางตำรวจก็ไม่ได้ถอดเทปเนื้อหาคำปราศรัยในกิจกรรมนี้ นอกจากนั้น ยังมีบุคคลในคลิปวิดีโอ ที่ขึ้นพูดปราศรัยด้วย แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีนี้ เนื่องจากทางตำรวจไม่ทราบว่าเป็นใคร

พ.ต.ท.คเชนทร์ยังรับว่า ในวันจัดกิจกรรม ไม่ได้มีผู้บริหารจัดการว่าใครจะขึ้นปราศรัยหรือไม่ อย่างไร ทั้งไม่ทราบว่าใครจัดเตรียมโทรโข่งหรืออุปกรณ์ต่างๆ มา ขณะที่รายงานการสืบสวนที่อยู่ในสำนวนคดี พยานยังรับว่าเป็นไปโดยสังเขป ไม่ได้มีการบรรยายพฤติการณ์หน้าที่ของจำเลยทั้ง 7 ในกิจกรรมแต่อย่างใด แต่มีการรายงานทางวาจากับผู้บังคับบัญชา

พยานยังรับว่า ถ้าเพียงแต่จำเลยบางคนเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นผู้จัดการชุมนุมแล้ว โดยที่ในการดำเนินคดีนั้น พยานได้แจ้งความจำเลยที่ 1-4 ก่อน ต่อมาจึงทราบตัวตนของนายสราวุทธิ์, สมสิน และมะยูรี จึงได้แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติม

.

ตำรวจที่เข้าแจ้งให้ยุติชุมนุม รับใช้คำว่า “ไม่ขออนุญาต” ทั้งที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพียงให้ “แจ้ง” ชุมนุม

พ.ต.ท.นฤภัทร เทียนชัยทัศน์ เป็นอดีตสารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่าได้รับการมอบหมายจากผู้กำกับ ให้จัดชุดสายตรวจไปตรวจสอบกิจกรรมนี้ และพยานได้เข้าไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบว่ากิจกรรมครั้งนี้มีการแจ้งขออนุญาตการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ โดยสวมชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบไป

พยานได้เข้าไปสอบถามกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องการแจ้งการชุมนุม โดยในตอนแรกไม่ทราบว่าต้องคุยกับใคร จึงเข้าไปถามว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือเป็นแกนนำ ตอนแรกได้สอบถามจิตต์ศจีฐ์ แล้วสิรวิชญ์ได้หันเข้ามาพูดคุยด้วย โดยยืนยันว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นการชุมนุมสาธารณะ และยืนยันจะจัดกิจกรรมต่อไป พยานได้ระบุว่าหากยังไม่ได้ขออนุญาต ก็ให้ไปขอให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมาจัด แต่จำเลยก็ได้จัดกิจกรรมต่อไป เมื่อพยานเดินออกมาแล้ว ก็ได้รายงานกับ พ.ต.ท.คเชนทร์ และโทรแจ้งผู้กำกับด้วยวาจา โดยไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีการดำเนินการใดต่ออีก

พ.ต.ท.นฤภัทร ได้ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่าตนไม่ทราบว่าใครทำหน้าที่อะไรในการชุมนุมนี้ และไม่ทราบว่าใครจัดหาโทรโข่ง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ทราบว่าใครขึ้นปราศรัยบ้าง และไม่ทราบว่าจำเลยคนอื่นๆ นอกจากสิรวิชญ์และจิตต์ศจีฐ์ จะอยู่ในที่ชุมนุมนี้หรือไม่

พยานยังรับว่าตามข้อกฎหมายในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ใช้คำว่าให้ผู้จัดการชุมนุมไป “ขออนุญาต” แต่ใช้คำว่า “แจ้ง” การชุมนุม แต่ยืนยันว่ากิจกรรมนี้เป็นการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากมีการเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมแสดงความคิดเห็น และมีการสื่อสารประเด็นทางการเมือง ถูกจัดขึ้นในที่สาธารณะ แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการประกาศว่าการชุมนุมนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีแต่เพียงที่พยานเข้าไปพูดคุยกับสิรวิชญ์ให้ยุติกิจกรรม

.

จำเลยที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายต้องรายงานตัวต่ออัยการทุกๆ เดือน รวม 10 ครั้งก่อนมีคำสั่งฟ้อง

.

พนักงานสอบสวน รับไม่มีเอกสารที่ระบุหน้าที่จำเลยแต่ละคนยื่นต่อศาล

ร.ต.อ.ศรีเดช สุวรรณ์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย เบิกความว่าตนเป็นผู้รับแจ้งความคดีนี้ จาก พ.ต.ท.คเชนทร์ เชิดชูตระกูลทอง เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 โดยตอนแรกมีการแจ้งความผู้ต้องหา 4 คน เนื่องจากทราบชื่อแค่นั้น โดยผู้กล่าวหาเห็นว่าผู้ชุมนุมมีการแบ่งหน้าที่กันทำในการจัดกิจกรรม จากนั้น ผู้กล่าวหาได้มาแจ้งความผู้ต้องหาเพิ่มอีก 3 คน เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มาร่วมเชิญชวนให้ชาวบ้านทำกิจกรรม ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่จะมาเขียนแสดงความคิดเห็นใส่กล่อง และตรวจสอบแล้ว ไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย

ร.ต.อ.ศรีเดช ตอบคำถามทนายจำเลยรับว่า ในเอกสารคดีนี้ ไม่ได้มีการระบุว่าจำเลยที่ 2-7 ได้ร่วมบริการประชาชน อำนวยความสะดวกในการชุมนุมตามที่พยานเบิกความ แต่จำได้ว่ามีอยู่ในคำให้การของผู้กล่าวหา ซึ่งฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยื่นส่งเข้ามาในสำนวน แต่พยานไม่ทราบว่าชัดเจนว่าจำเลยคนไหนจะทำหน้าที่อะไร และแบ่งหน้าที่กันอย่างไร

พยานยังทราบว่ามีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ในที่อื่นๆ แต่ไม่แน่ใจว่ามีการดำเนินคดีที่ใดอีกบ้าง และไม่ได้มีการหารือกับพนักงานสอบสวนในท้องที่อื่นๆ

ร.ต.อ.ศรีเดชรับว่าบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ก็ไม่ต้องไปแจ้งการชุมนุมแต่อย่างใด โดยผู้ที่จับโทรโข่งพูด เขาก็อาจไม่ใช่เป็นผู้จัดการชุมนุมก็ได้ และผู้ที่ไปร่วมอยู่ในการชุมนุม ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม

.

ตำรวจเข้ามาดูแลกิจกรรมกว่า 40 นาย ขณะผู้ร่วมกิจกรรมมีเพียง 10 กว่าคน

ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ยังเบิกความในลักษณะเดียวกันว่า มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่จราจรประมาณ 20 คน เจ้าหน้าที่ชุดป้องกันและปราบปรามประมาณ 20 คน และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่ง เข้ามาติดตามกิจกรรม ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีราว 10 กว่าคน ทำให้มีกำลังเจ้าหน้าที่มารวมตัวชุมนุมมากกว่าผู้เข้าร่วมเสียอีก

พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกปาก รับว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรง หรือการกีดขวางการจราจร แต่มีเหตุที่กลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างเข้ามาโต้เถียงกันช่วงสั้นๆ แต่ก็ไม่ได้มีความวุ่นวายตามมา

ส่วนพยานโจทก์อีก 4 ปาก ได้แก่ปลัดจังหวัดเชียงราย, นายอำเภอเมืองเชียงราย, รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย, เจ้าหน้าที่จาก อบจ.เชียงราย ได้มาเบิกความกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือสอบถามว่าลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายฯ ได้เคยมีการประกาศจัดให้เป็นสถานที่ใช้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ โดยไม่พบว่าสถานที่ดังกล่าวถูกประกาศให้ใช้จัดการชุมนุม และไม่พบว่าพื้นที่ใดในจังหวัดเชียงรายถูกประกาศด้วย

ทั้งนี้ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เป็นสถานที่ในความดูแลของเทศบาลนครเชียงราย โดยได้รับมอบพื้นที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.) ประมาณปี 2538

.

.

5 จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ไม่ได้มีหน้าที่ชุมนุม และตำรวจก็มาดูแลเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนการเบิกความของฝ่ายจำเลยนั้น จำเลย 5 ราย ที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย ได้ขึ้นเบิกความในลักษณะเดียวกันว่า ตนเพียงแต่ทราบข่าวการจัดกิจกรรมจากโลกออนไลน์ และสนับสนุนการเรียกร้องให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ควรมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมาร่วมกิจกรรมและแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ละคนก็ไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด และไม่เคยได้มีการพูดคุยเตรียมการจัดกิจกรรมใดๆ

จำเลยยังเห็นว่ากิจกรรมไม่ได้มีการตั้งเวที ไม่ใช่ลักษณะการชุมนุมขนาดใหญ่ มีเพียงการตั้งโต๊ะให้ลงชื่อ ไม่ได้มีการจัดระบบการชุมนุมต่างๆ จึงคิดว่าไม่ใช่ลักษณะการชุมนุมสาธารณะที่ต้องไปแจ้งการชุมนุม

จิตต์ศจีฐ์ ยังยืนยันว่าเธอไม่ได้ใช้โทรโข่งปราศรัยใดๆ ตามที่ตำรวจอ้าง  ส่วนวิทยายอมรับว่า ได้ไปร่วมใช้โทรโข่งปราศรัยจริง เนื่องจากต้องการแสดงควาเห็นส่วนตัวต่ออำนาจของวุฒิสภาที่ไม่ชอบธรรม จึงได้ขอใช้โทรโข่งพูด โดยไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน ทั้งเขาก็ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ทั้งเชื่อว่าการพูดดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนสราวุทธิ์ ยืนยันว่าตนเพียงแต่ไปเดินถ่ายรูปและคลิปวิดีโอกิจกรรม เพื่อโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นพูดหรือปราศรัยใดๆ  ด้านสมสินและมะยูรี เบิกความว่า ทั้งสองเพียงแต่ไปยืนฟังการปราศรัย และร่วมเขียนข้อความถึง ส.ว. หย่อนลงกล่องเท่านั้น ไม่ได้ร่วมทำอะไรอย่างอื่นแต่อย่างใด

ทุกคนยังเบิกความถึงภาระทางคดีที่เกิดขึ้นจากการถูกกล่าวหา ทำให้ต้องใช้เวลามาขึ้นศาล โดยไม่คิดว่าตนเองมีความผิดแต่อย่างใด จึงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่เลือกเจาะจงมาดำเนินคดีกับพวกตน

ขณะที่ฝ่ายจำเลย ยังมีพยานอีก 1 ปาก คือนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ขึ้นเบิกความถึงวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศฯ

พยานยังให้ความเห็นในเรื่องความหมายของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ที่ไม่ได้เท่ากับผู้เข้าร่วม หรือเพียงแต่ไปร่วมปราศรัย แต่ต้องเป็นผู้ที่จัดและรู้รายละเอียดของกิจกรรมทั้งหมด การตีความกฎหมายที่มีโทษทางอาญา จึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด

ขณะเดียวกันพยานยังเห็นว่าในกิจกรรมนี้ เท่าที่ทราบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มาดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยของกิจกรรมแล้ว ก็น่าจะถือได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติเรื่องการแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว ที่ต้องการให้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัย การจราจร และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสาธารณะ

.

ศาลไม่จดบันทึกคำถามค้านทนายจำเลย และต่อมาไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา

มีข้อน่าสังเกตว่าในการสืบพยานโจทก์ช่วงแรกในปี 2563 ทนายจำเลยได้โต้แย้งศาลเรื่องการจดบันทึกคำเบิกความพยานหลายครั้ง เนื่องจากศาลไม่ยอมจดบันทึกคำเบิกความพยานโจทก์ที่ตอบคำถามทนายจำเลย โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดี อาทิ เช่นเรื่องการสืบสวนหาข่าวของเจ้าหน้าที่ เรื่องการเจาะจงดำเนินคดีต่อ “เป้าหมายทางการเมือง” หรือเรื่องกรณีกิจกรรมลักษณะเดียวกันที่จัดในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีรายงานการดำเนินคดีเกิดขึ้นเหมือนคดีนี้ จนทนายความได้เขียนคำร้องเรื่องการที่ไม่บันทึกคำเบิกความของศาล ยื่นเข้าไปในสำนวนด้วย

ต่อมาในการสืบพยานช่วงหลัง คือต้นเดือนมีนาคมปี 2565 ศาลได้ใช้วิธีการบันทึกภาพและเสียงการสืบพยานในรูปแบบใหม่ แทนการบันทึกโดยศาลเองแบบเดิม ทำให้การเบิกความของพยานทั้งหมดถูกบันทึกเป็นภาพและเสียง

นอกจากนั้น ในช่วงของการสืบพยานจำเลย ศาลยังได้สั่งไม่ให้ผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึกในห้องพิจารณา โดยไม่ได้ระบุเหตุผลหรืออำนาจแน่ชัด เพียงแต่ระบุว่าสามารถเชิญออกจากห้องพิจารณาได้หากทำการจดบันทึก แม้ว่าในช่วงการสืบพยานโจทก์ ศาลจะไม่ได้มีการห้ามการจดบันทึกก็ตาม

.

X