วันที่ 11 ก.ย. 63 ที่ศาลแขวงเชียงราย นัดหมายสืบพยานโจทก์ต่อในคดีของจำเลย 7 คน นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “เป็นผู้ร่วมประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง” ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62
หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26-28 ส.ค. 63 ศาลแขวงเชียงรายได้นัดหมายสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ แต่เนื่องจากพยานโจทก์ได้แจ้งว่าติดราชการไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลได้จำนวน 3 ปาก โดยส่วนหนึ่งติดภารกิจเข้ารับการฝึกของส่วนราชการในพระองค์ ทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกมาก่อน
ในวันนี้ศาลแขวงเชียงรายได้ทำการสืบพยานโจทก์ต่ออีกจำนวน 1 ปาก จนเสร็จสิ้น ก่อนที่ในช่วงท้ายของการพิจารณาคดี
ศาลจะได้หารือทนายความ เรื่องแนวทางการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย ซึ่งจะมีการนำพยานนักวิชาการเข้าเบิกความถึงปัญหาการตีความและการบังคับใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะด้วย ทั้งในเรื่องปัญหาการนิยามการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย และปัญหาเรื่องการแจ้งการชุมนุมของผู้จัดการชุมนุม ว่ามีลักษณะขัดต่อหลักนิติธรรม เพิ่มภาระและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ศาลเห็นว่าประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจวินิจฉัย แต่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยถึงประเด็นนี้มาก่อนจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจึงเห็นว่าควรจะส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หลังการหารือ ศาลจึงมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาคดีให้มีการจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความชั่วคราว ระหว่างที่ศาลแขวงเชียงรายได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 4 และมาตรา 10 นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลจะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินัจฉัยก่อน จึงมีกำหนดวันนัดคดีต่อไป ทำให้คดีนี้จะถูกพักการพิจารณาไปไม่มีกำหนด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกลับมาที่ศาลแขวงเชียงรายอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตั้งแต่นัดพร้อมถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยได้แถลงประเด็นต่อสู้คดี คือ เรื่องเจตนาของกิจกรรมที่จัดขึ้นและลักษณะของกิจกรรมไม่เข้าข่ายเป็นการ “ชุมนุมสาธารณะ” อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงอีกว่าจำเลยที่ถูกฟ้องร้องหลายรายเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด (อ่านรายงานก่อนหน้านี้)
สำหรับกิจกรรมปิดสวิตช์ ส.ว. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 ในช่วงก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย สองนักกิจกรรม ได้เดินทางไปตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความในจดหมายส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดย คสช. เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งยังมีการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากจังหวัดเชียงรายอีก 5 คน ด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวแต่อย่างใด
ผู้ตกเป็นจำเลย 7 คน ในคดีนี้ ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรม, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิทยา ตันติภูวนารถ, นายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์, นายสมสิน สอนดา, นางสาวมะยูรี ธรรมใจ และนางสาวจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 เรื่องการแจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อน 24 ชั่วโมง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และเป็นข้อกล่าวหาที่ประสงค์จะลงโทษปรับแต่เพียง “ผู้จัดการชุมนุม” เท่านั้น ไม่รวมไปถึงผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะด้วย