วันที่ 5 พ.ค. 63 ที่ศาลแขวงเชียงราย อัยการคดีศาลแขวงเชียงรายได้ยื่นฟ้อง 7 ผู้ต้องหาในคดีไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 ด้านจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
(ภาพจำเลยทั้ง 7 พร้อมทนายความหลังได้รับการปล่อยตัวจากศาลแขวงเชียงราย)
วันนี้ หลังผู้ต้องหาทั้ง 7 คน นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” สองนักกิจกรรม เดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลแขวงเชียงรายตามนัดหมายของอัยการ ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องควบคุมตัวของศาลแขวง เพื่อรอขั้นตอนการส่งฟ้องและรอคำสั่งในคดีของศาล ระหว่างนั้นทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน เนื่องจากข้อกล่าวหาที่ถูกฟ้องมีเพียงอัตราโทษปรับ ประกอบกับจำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีได้ พร้อมกับคำให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาของจำเลยทั้ง 7 ราย เพื่อให้ศาลพิจารณา
ต่อมาศาลแขวงเชียงรายได้รับฟ้องของอัยการไว้เป็นคดีดำเลขที่ อ.680/2563 โดยคำฟ้องของอัยการ บรรยายฟ้องจำเลยทั้ง 7 เพียงสั้นๆ โดยสรุปว่า ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งเจ็ดได้ทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมและได้ร่วมกันจัดการชุมนุม เพื่อกระตุกมโนสำนึกของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จากนั้น ศาลแขวงเชียงรายทำการสอบถามคำให้การจำเลยทั้ง 7 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่ศาลจะได้พิจารณาคำให้การและคำร้องของจำเลยแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เพียงแต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัดหมายของศาล พร้อมกำหนดวันนัดหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในวันที่ 25 พ.ค. 63 เวลา 9.00 น. และนัดสอบถามคำให้การจำเลยในวันที่ 1 มิ.ย. 63 เวลา 9.00 น. ต่อไป
คดีนี้นับตั้งแต่พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 คน และส่งสำนวนคดีให้กับอัยการพร้อมตัวผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 62 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงรายได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาต้องเดินทางเข้ารายงานตัวเดือนละครั้ง ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมีภาระในการไปรายงานตัวในแต่ละเดือน จนถึงการสั่งฟ้องคดีรวมเป็นจำนวน 10 ครั้ง
อีกทั้งเนื่องจากคดีจะหมดอายุความ คือครบ 1 ปี หลังเกิดเหตุในวันที่ 16 พ.ค. นี้ ทำให้อัยการทำการนัดหมายสั่งฟ้องคดีในช่วงนี้ โดยผู้ต้องหา 2 ราย ที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ นายสิรวิชญ์ และนายธนวัฒน์ ต้องเดินทางข้ามจังหวัดไปรายงานตัวตามนัดหมายของอัยการ ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่นี้
(ภาพกิจกรรมปิดสวิตซ์ ส.ว. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62)
สำหรับกิจกรรมปิดสวิตช์ ส.ว. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 62 ในช่วงก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย ได้เดินทางมาตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความในจดหมาย ส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดย คสช. เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งยังมีการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากจังหวัดเชียงรายอีก 5 คน ด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวแต่อย่างใด
ผู้ตกเป็นจำเลย 7 คน ในคดีนี้ ได้แก่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรม, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิทยา ตันติภูวนารถ, นายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์, นายสมสิน สอนดา, นางสาวมะยูรี ธรรมใจ และนางสาวจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์
สำหรับข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 28 กำหนดโทษปรับไว้ ไม่เกิน 1 หมื่นบาท