เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 61 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีได้ยื่นฟ้องคดีของ 5 สมาชิกเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อศาลจังหวัดนาทวี ในความผิดฐานชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม และเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากกรณีการทำกิจกรรมเดินเท้าไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการประชุมครม.สัญจร เมื่อปี 2560
ภาพจากเพจหยุดถ่านหินสงขลา
คดีนี้เหตุสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 – 27 พ.ย. 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาเพื่อไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในตัวอำเภอเมืองสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. 60 ชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ร่วมกันเข้าสกัดกั้นและใช้กำลังเข้าจับกุม จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านเครือข่าย จำนวน 17 คน (หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี) ในหลายข้อหา ทั้งความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ข้อหากีดขวางการจราจร, ข้อหาพกพาอาวุธ (ไม้คันธง) ไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้ต่อมามีการสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลา และมีการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย ใช้เวลากว่า 5 เดือน จนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เวลา 9.00 น.
อ่านบทความว่าด้วยการใช้กฎหมายในคดีนี้เพิ่มเติมโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เส้นทาง “เดิน..เทใจให้เทพา” ภายใต้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ
ภาพเหตุการณ์การเข้าจับกุมและสลายการชุมนุมของเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยเจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่าย เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 60
ระหว่างการถูกดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนสภ.เทพา ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ นายเอกชัย อิสระทะ, นายดิเรก เหมนคร, นายหมิด ชายเต็ม, นางรอกีเยาะ สะมะแอ และนายอัยโยบ มุเซะ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีก โดยสามรายในจำนวนนี้ ได้แก่ นายเอกชัย นายดิเรก และนายอับโยบ ได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในคดีแรกที่ศาลจังหวัดสงขลามาแล้ว
คดีใหม่นี้ มีพ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาเป็นผู้กล่าวหา ในความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และเดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
ในชั้นสอบสวนทั้งห้าคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 61 พนักงานสอบสวนสภ.เทพา ได้นัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งห้าคนให้อัยการ ผู้ต้องหาทั้งห้าได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ โดยขอให้อัยการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกสี่คน และขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นผู้ปกป้องชุมชน มิได้กระทำความผิดหรือมีเจตนากระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อประสงค์จะปิดกั้นการใช้สิทธิของชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งยังอ้างอิงถึงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ
หนังสือขอความเป็นธรรมยังระบุว่าคดีนี้มีพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีเทใจให้เทพาคดีแรก ที่กำลังต่อสู้คดีในศาลจังหวัดสงขลา และกำลังรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ จึงเป็นการดำเนินคดีที่ขัดต่อหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ และยังก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีอาญาซ้ำในชั้นเจ้าพนักงานตามมาอีกด้วย
แต่หลังจากการส่งสำนวนให้อัยการเพียง 3 วัน พนักงานอัยการก็ได้มีการพิจารณาสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนาทวีทันที โดยไม่ได้มีการเรียกพยานฝ่ายผู้ต้องหามาสอบสวนเพิ่มเติม และพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว
ภายหลังการสั่งฟ้อง จำเลยทั้ง 5 คน ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ และในช่วงเย็น ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวทั้งห้าคน โดยให้ทั้ง 5 คน สาบานตัวมาตามนัดศาล และต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
อ่านเรื่องราวปัญหาการใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะตลอดสามปีที่ผ่านมา
3 ปี พระราชบัญญัติการชุมนุมฯ: ห้ามเคลื่อนไหว ห้ามชุมนุม ห้ามคิดต่าง คสช.